แม้ยุ่งยากแต่ขอโปรดเมตตา!‘ปู’ยื่นซ้ำรอบ3ขอศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว
‘ยิ่งลักษณ์’ ขอความเมตตา! ยื่นคำร้องถึงศาลฎีกาคดีอาญานักการเมือง ให้เพิกถอนคำร้องไม่ส่งศาล รธน. ตีความข้อกฎหมายคดีจำนำข้าว ชี้ตาม ม.212 รธน.ใหม่ ต้องส่ง ศาลฎีกาฯไม่มีอำนาจวินิจฉัยเอง กราบประทานอภัยแม้การยื่นครั้งนี้จะลำบากใจ เกรงสร้างความยุ่งยาก-รบกวนองค์คณะฯ แต่ขอศาลให้ความเป็นธรรมด้วย
จากกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกคำร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ยื่นตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 ขอให้ศาลฎีกาฯส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 3, 25, 29 และ 235 วรรคหก หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ศาลให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว และศาลฎีกาฯได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ส.ค. 2560 นั้น
(อ่านประกอบ : ไม่ส่งศาล รธน.ตีความ!พิพากษาคดีข้าว‘ยิ่งลักษณ์’-พร้อมจีทูจี'บุญทรง' 25 ส.ค.นี้)
รายงานข่าวจากศาลฎีกาแจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งเพิกถอนคำร้องและกระบวนพิจารณาที่ศาลฎีกาฯยกคำร้องไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฏหมายก่อนหน้านี้ และโปรดส่งคำร้องของจำเลยที่ได้โต้แย้งดังกล่าว ไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212
ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ด้วยเหตุที่ศาลฎีกาฯยกคำร้องดังกล่าว และสั่งนัดฟังคำพิพากษาในกระบวนพิจารณาในวันที่ 21 ก.ค. 2560 อันเป็นวันและคราวเดียวกัน กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นและเร่งด่วนอย่างยิ่งที่ต้องยื่นคำร้องฉบับนี้ จึงขอความเมตตาจากศาลให้พิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยฉบับนี้โดยเร่งด่วน เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาคดีของศาลนี้หากมีคำพิพากษาจะทำให้คดีถึงที่สุด โดยที่จำเลยจะไม่มีโอกาสที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก ‘สิทธิในกระบนการยุติธรรม’ ที่คุ้มครองจำเลยไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้นจะเสียสิทธิไป
“แม้ว่าการตัดสินใจยื่นคำร้องฉบับนี้จะสร้างความลำบากใจต่อจำเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากและรบกวนจนเป็นภาระต่อองค์คณะของศาลฎีกาฯที่เคารพ จำเลยจึงประทานกราบขออภัย และขอศาลได้โปรดเมตตาประทานความเป็นธรรมต่อจำเลยด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง” ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุผลที่ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ยกคำร้องเดิม และขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง มี 5 ประเด็น ได้แก่
หนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 บัญญัติว่า ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
อันเป็นกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นสภาพบังคับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ศาลที่พิจารณาคดีนั้น ๆ ส่งความเห็นที่คู่ความโต้แย้งนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ โดยเฉพาะการที่ศาลนี้ได้ยกคำร้องที่โต้แย้งของฝ่ายจำเลย อันเป็นผลโดยตรงว่า ศาลนี้ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 212 ดังกล่าว
สอง โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 และบทบัญญัติอื่นใด ไม่ได้ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีจะวินิจฉัยคำร้องขอที่จำเลยโต้แย้งดังกล่าวได้ และส่งยกคำร้องเสียเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยเสียเองว่า คำร้องของจำเลยที่โต้แย้งดังกล่าว ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะยื่นเพื่อให้ศาลส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212
สาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 212 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่จะมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งรับเรื่องไว้ทำการพิจารณาหรือจะสั่งไม่รับเรื่อง ศาลอื่นไม่มีอำนาจในการสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแต่อย่างใด
สี่ เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกประกาศใช้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2560 โดยในข้อ 4 ระบุว่า การยื่นคำร้องต่อศาลตามข้อ 17 ให้เป็นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดนี้ โดยข้อ 17 (11) ระบุว่า ให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหาร ที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฏหมายบังคับแก่คดีส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งการยื่นคำร้องตามข้อ 17 (11) คือการที่จำเลยในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 นั่นเอง
ห้า เนื้อหาของการโต้แย้งจากคู่ความที่จำเลยต้องร้องขอตามมาตรา 212 เพื่อให้ศาลที่นั่งพิจารณาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการโต้แย้งต่อการนำเอากฎหมายใด ๆ มาบังคับใช้ต่อคดี โดยอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลที่นั่งพิจารณาจึงไม่ควรเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเสียเอง เพราะอาจขัดต่อหลักนิติธรรม และการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางในฐานะตุลาการได้ (ดูเอกสารประกอบท้ายข่าว)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2560 ทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาฯส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฏหมายในคดีนี้แล้ว ต่อมาฝ่ายพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องคัดค้าน หลังจากนั้นทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาฯวินิจฉัยให้ยกคำร้องดังกล่าว กระทั่งล่าสุดทนายความฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ยื่นคำร้องอีกเป็นครั้งที่ 3
อ่านประกอบ :
ล้วงเหตุผล! ทำไม‘ปู’ต้องยื่นศาลฎีกาฯส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว ก่อนอัยการค้าน
แค่ประวิงเวลา!อัยการยื่นศาลฎีกาฯค้านคำร้อง‘ปู’ส่งศาล รธน.ตีความคดีข้าว-ทนายยื่นซ้ำ