ไร้อำนาจส่งศาล รธน.ตีความ!ผู้ตรวจฯยุติเรื่องปมซื้อเรือดำน้ำจีน-ปัดสร้างภาระให้ ปชช.
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้ยุติเรื่องส่งศาล รธน.-ศาล ปค. ตีความ ปมกองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำ ชี้ไม่มีอำนาจ เหตุทำตามยุทธศาสตร์ความมั่นคง ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับ ม.178 ที่ต้องส่งรัฐสภาเห็นชอบ ครม.อนุมัติตามกรอบเวลางบผูกพัน ไม่ได้สร้างภาระกับประชาชนเกินสมควร
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2560 ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการดำเนินโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่ได้เป็นไปตามมาตรา 230 และมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญปี 2560
จากกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง เพื่อพิจารณาวินิจฉัยว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T ระหว่างกองทัพเรือ กับประเทศจีน ตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพจัดซื้อเรือดำน้ำโดยมิได้ขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น ขัดต่อมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยถึงผลการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินกรณีดังกล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบข้อเท็จจริงและวินิจฉัยร่วมกันแล้วเห็นว่า กองทัพเรือเสนอการจัดซื้อเรือดำน้ำไว้ในคำของบประมาณของกองทัพเรือประจำปีงบประมาณ 2560 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ 2560-2566 ซึ่งเป็นไปตามภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบและยุทธศาสตร์กองทัพเรือ (พ.ศ.2558-2567) และสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) ที่ต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาการก่อหนี้ผูกพันภายใน 60 วันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ใช้บังคับ โดย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ต.ค .2560 และคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณดังกล่าว วงเงินประมาณ 13,500 ล้านบาท ในวันที่ 25 ต.ค. 2559 จึงอยู่ในกรอบเวลาดังกล่าว
ส่วนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2560 นั้น เป็นการรับทราบและเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณ เนื่องจากเป็นโครงการที่ก่อหนี้ผูกพันมีวงเงินรวมเกิน 1,000 ล้านบาท ดังนั้นกรณีนี้จึงมิได้ขัดต่อกฏหมายวิธีการงบประมาณแต่อย่างใด
ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีได้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำมีลักษณะเป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาประกอบการพิจารณา แสดงว่าคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วว่าการดำเนินโครงการนี้มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 กรณีนี้จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
นอกจากนี้มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินในการพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองเพื่อพิจารณาวินิจฉัยแต่อย่างใด ดังนั้นกรณีที่มีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 231 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560
นายรักษเกชา กล่าวอีกว่า กองทัพเรือได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำเพื่อศึกษาทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงภาวะขัดแย้ง โดยโครงการนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 และปรับปรุงแปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสถานภาพของงบประมาณที่คาดว่าจะได้รับมาโดยตลอด และสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า เรือดำน้ำเป็นยุทโธปกรณ์ที่เปี่ยมประสิทธิภพตามแนวความคิดรักษาความมั่นคงทางทะเล จึงเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับกองทัพเรือในการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบการจัดซื้อดังกล่าว มิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด
ดังนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินโครงการนี้ มิได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด กรณรีนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 230 และมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญปี 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 178 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจในการทําหนังสือสัญญาสันติภาพสัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอํานาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วมหรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทําให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฎหมายกําหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จําเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทําหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน
นับแต่วันที่ได้รับคําขอ
อ่านประกอบ :
ถูกต้องทุกขั้นตอน! สตง.ยันปมจัดซื้อเรือดำน้ำจีนไม่ขัด รธน.-ครม.ไฟเขียวเหมาะสม
วิเคราะห์ ข้อดี-เสีย“เงินเผื่อเหลือเผื่อขาด”จากกรณีศึกษาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีซื้อเรือดำน้ำจีน
การชี้แจงเรื่องสัญญาซื้อเรือดำน้ำไม่ขัด รธน. ยังไม่ตรงประเด็น
ดูข้อโต้แย้งแง่มุม กม.ปมเรือดำน้ำจีนซื้อได้ไหม? ก่อนผู้ตรวจฯ-สตง.ลุยสอบ
สรุปทางการไม่พบผิดปกติ! สตง.นัดผบ.ทร.แจ้งผลซื้อเรือดำน้ำจีน 22 พ.ค.นี้
ทำไมจึงค้านการซื้อเรือดำนํ้า S26T
โครงการเรือดำน้ำ (จีน) การแข่งขันที่โปร่งใสยุติธรรมจริงหรือ?
กองทัพเรือตั้งแท่นซื้อแล้ว 'เรือดำน้ำ' จีทูจี!เผยราคากลาง1.3หมื่นล.-จีนตัวเต็ง
มองย้อนเวลาโครงการเรือดำน้ำจีน...สิ่งที่คุณเห็น...กับสิ่งที่เป็นจริง