ทำไมจึงค้านการซื้อเรือดำนํ้า S26T
ช่วงนี้เรื่องที่รัฐบาลเร่งดำเนินการเกือบทุกเรื่องถูกต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตั้งแท่นซื้อเรือดำนํ้าจีนที่เดินหน้ามานานและใกล้สำเร็จรอเพียงเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเท่านั้น แต่การคัดค้านในสื่อต่างๆยิ่งมากขึ้น จนนายกรัฐมนตรีถึงกับกล่าวว่า “.... เห็นมีคนโพสต์ตามเวปไซต์ เป็นอดีตทหาร คนเหล่านี้ใช้ไม่ได้ ต้องไปดูว่ามีอะไรในใจหรือไม่ คนเก่าๆที่ออกไปแล้ว อย่าพูดอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงมาทำลายระบบกองทัพ ...” แสดงว่านายกรัฐมนตรีทราบแล้วว่า (1) มีคนไม่เห็นด้วย (2) เข้าใจว่าคนไม่เห็นด้วยคืออดีตทหาร (3) คนที่คัดค้านเป็นคนใช้ไม่ได้และจะทำลายระบบกองทัพ และ (4) ข้อมูลที่นำมาคัดค้านเป็นข้อมูลเท็จ
น่าคิดว่าทั้ง 4 ประเด็นเหล่านี้มีนัยยะอย่างไร
(1) ใครที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้าน
ในอดีตกองทัพเรือเป็นหน่วยงานที่ประชาชนให้ความเชื่อถือในความเป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์ โปร่งใส และให้การสนับสนุนอย่างดีตลอดมา การคัดค้านต่อต้านการดำเนินการของทหารเรือโดยมวลชนจึงแทบจะไม่มีเลย แม้การพยายามซื้อเรือดำนํ้าในครั้งก่อนๆที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่เห็นด้วย แต่มวลชนส่วนใหญ่กลับสนับสนุน ซึ่งตรงข้ามกับปัจจุบันที่รัฐบาลสนับสนุนแต่กลับมีกระแสคัดค้านจำนวนมาก
การคัดค้านส่วนใหญ่ปรากฏตามสื่ออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นปกติในยุคปัจจุบัน เมื่อลงไปอ่านจะเห็นว่ามีทั้งสำนวนที่เป็นคนทั่วไป นักวิชาการ และทหาร (อาจจะเก่าหรือใหม่คงแยกไม่ได้) ซึ่งคนแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างในการเขียนที่อาจจะพอแยกแยะได้ แต่จำนวนข้อเขียนที่น่าจะเป็นทหารก็มีน้อยกว่ากลุ่มอื่นแต่จะมีข้อมูลที่หนักแน่นกว่า อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มใดพวกเขาคือประชาชนที่เสียภาษีให้รัฐเหมือนกัน การออกมาคัดค้านหรือสนับสนุนน่าจะเป็นวิวัฒนาการที่ดีของการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย
(2) อดีตทหารที่คัดค้านเป็นคนใช้ไม่ได้และจะทำลายระบบกองทัพ
อดีตทหารน่าจะหมายถึงนายทหารที่เกษียณแล้วซึ่งตามระบบจะเกษียณเมื่ออายุ 60 ปีโดยมีอายุราชการเฉลี่ย 35-38 ปี ถ้านับรวมโรงเรียนทหารด้วย จะประมาณ 40-43 ปี หากนับเวลาทวีคูณจะประมาณ 45-53 ปี ระยะเวลากว่าครึ่งชีวิตของการเป็นทหาร ระบบของทหารย่อมฝังแน่นอยู่ในจิตวิญญาณ ทั้งลักษณะท่าทาง การแสดงออก และความคิด ซึ่งยากที่จะหันเหออกไปจากความเป็นทหาร และย่อมมีความผูกพัน ความรักในกองทัพอย่างบริสุทธ์เพราะไม่มีอำนาจบริหาร ไม่มีผลประโยชน์จากการซื้ออาวุธใดๆของกองทัพ การออกมาคัดค้านย่อมแสดงถึงการมีความรู้ มีความกล้าหาญที่จะแสดงความเห็น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม การกล่าวว่าคนที่คัดค้านใช้ไม่ได้น่าจะหมายความว่าเป็นคนไม่ดี จึงน่าจะไม่ถูกต้อง ยิ่งถ้ากล่าวว่าจะทำลายระบบกองทัพยิ่งเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจอิทธิพลใดๆ แล้ว แต่คนที่จะทำได้คงเป็นอดีตทหารส่วนน้อยที่ยังมีอำนาจและหวังผลประโยชน์บางอย่างทำให้สามารถกระทำการที่ทำลายระบบกองทัพได้
การแสดงความเห็นคัดค้านของอดีตทหารในคราวนี้อาจมีมากกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าน่าจะมีสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่บ้าง ควรคิดทบทวนสักนิดว่าเขาเหล่านั้นต้องการทำลายระบบหรือต้องการปกป้องระบบ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็ไม่ต่างจากการแสดงความเห็นของประชาชนทั่วไป โดยอาจมีความรู้ทางทหารมากกว่า มีข้อมูลที่ดีกว่า แต่ไม่มีข้อผูกพันใดๆกับกองทัพเช่นเดียวกัน กองทัพและรัฐบาลจะเชื่อหรือไม่ก็ได้ แต่การรับฟังไว้น่าจะมีประโยชน์มากกว่าการตัดสินใจโดยไม่ฟังใครเลย การเชื่อแต่คนใกล้ตัวที่ไม่กล้าเห็นแย้งอาจอันตรายมากกว่า ยิ่งตำแหน่งใหญ่ยิ่งเสียหายมากถ้าตัดสินใจผิดพลาด
คุณค่าของอดีตทหารต่อรัฐบาลชุดนี้คือเป็นกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลอย่างเหนียวแน่นมาตั้งแต่ต้นจึงเป็นแนวร่วมที่สำคัญ ควรรักษาไว้ดีกว่า
ระบบของกองทัพเรือเป็นระบบที่ดีที่สุดที่ควรรักษาไว้อย่าให้อิทธิพลภายนอกแทรกแซงเช่นเดียวกัน
(3) คนคัดค้านอะไร
กระแสต่อต้านของประชาชนผ่านสื่อมีประเด็นหลักๆคือ
- ไม่เห็นด้วยกับเรือดำนํ้าจีน จากตัวอย่างในคุณภาพที่ประสบมาแล้วจากเรือที่ต่อจากจีน
- ไม่เชื่อว่าการคัดเลือกแบบเรือของจีนโปร่งใส
- ไม่เชื่อว่าเรือดำนํ้า S26T ของจีนเหมาะกับอ่าวไทย
- ไม่เห็นด้วยกับการใช้งบประมาณมากจนเกินไป
- ไม่เชื่อว่าเรือดำนํ้าจำเป็นสำหรับประเทศไทย
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสถึงความไม่เหมาะสมที่จะซื้อเรือดำนํ้า
กองทัพเรือและรัฐบาลน่าจะเคลียร์ประเด็นที่ถูกต่อต้านเหล่านี้ก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสการต่อต้านเรือดำนํ้าจีน อย่าอ้างแค่เพื่อความมั่นคง หรือประเทศอื่นมีเราต้องมีด้วย และต้องซื้อจากจีน เพราะความจำเป็นของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ถ้าต้องยืดเวลาออกไปอีกก็ไม่เสียหาย หยุดคิดสักนิด เปลี่ยนวิธีการที่ใช้เงินน้อยลงก็ได้ เช่นการซื้อเรือดำนํ้าขนาดเล็กที่ราคาถูกกว่านี้ พอเหมาะกับงบประมาณมาทดลองจนมั่นใจจึงค่อยลงทุนซื้อเรือดำนํ้าราคาสูง อย่าปล่อยให้การต่อต้านเรือดำนํ้าจีนขยายวงกลายเป็นการต่อต้านไม่ให้กองทัพเรือมีเรือดำนํ้า และกลายเป็นการต่อต้านรัฐบาลในที่สุดเลย
(4) ข้อมูลที่นำมาคัดค้านเป็นข้อมูลเท็จ
ข้อมูลในสังคมออนไลน์มีทั้งเท็จ (โดยเจตนาหรืออาจไม่รู้จริง) และจริง ผู้ที่เสพย์จึงต้องใช้วิจารณญาณตัดสินเอง แต่ไม่ใช่ข้อมูลที่คัดค้านทั้งหมดเป็นเท็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวที่เจาะลึกมักมีรายละเอียดที่ดี น่าจะรับฟังทั้งข้อมูลสนับสนุนและคัดค้านแม้จะมีทั้งข้อมูลเท็จและจริง เช่น (ข้อมูลเหล่านี้ค้นและศึกษาได้จาก Google)
- อาวุธปราบเรือดำนํ้าที่ดีที่สุดคือเรือดำนํ้าเพราะอยู่ในมิติเดียวกัน (เท็จ) ความจริงตอร์ปิโดของเรือดำนํ้าที่เราจะซื้อยิงเป้าใต้นํ้าไม่ได้ อุปกรณ์ในเรือก็ไม่ได้ออกแบบสำหรับปราบเรือดำนํ้า และการปราบเรือดำนํ้าด้วยเรือดำนํ้ายังเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังไม่มีการปฏิบัติในการรบจริง
- ในอ่าวไทยเรือดำนํ้าถูกตรวจจับด้วยโซนาร์ยากเพราะนํ้าทะเลมี Layer Depth (ความแตกต่างของอุณหภูมิทำให้นํ้าทะเลมีความหนาแน่นต่างกัน) ทำให้คลื่นเสียงหักเห (เท็จ) ความจริงอ่าวไทยนํ้าตื้น ความแตกต่างของอุณหภูมิน้อยจึงไม่มี Layer Depth
- เรือดำนํ้าขนาดใหญ่ของสหรัฐฯยังเข้ามาปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ (เท็จ) ความจริงเมื่อเข้าอ่าวไทยเรือดำนํ้าสหรัฐฯจะแล่นบนผิวนํ้า เพราะอ่าวไทยมีนํ้าลึกเฉลี่ย 44 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีความลึกสูงสุดประมาณ 40 เมตรทางฝั่งขวาของอ่าว ส่วนฝั่งซ้ายจะตื้นเขินกว่า ความลึกเฉลี่ยในอ่าวไทยตอนบนเพียง 15 เมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) เมื่อสหรัฐฯจะฝึกร่วมกับเราก็จะไปฝึกบริเวณตะวันออกของเกาะสมุยที่นํ้าลึกกว่า 50 เมตร และฝึกอย่างจำกัดแค่ฝึกให้เรือผิวนํ้าใช้โซนาร์ตรวจหาเรือดำนํ้าเท่านั้นเพราะนํ้าตื้นเกินไปสำหรับเรือดำนํ้าขนาดใหญ่ แม้การนำเรือเข้าใกล้กันยังห้ามเพราะเกรงว่าเรือผิวนํ้ากับเรือดำนํ้าจะชนกัน
- เรือดำนํ้าเป็นอาวุธป้องปราม มีเรือดำนํ้าแล้วชาติอื่นจะกลัว (เท็จ) ความจริง เรือดำนํ้าในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้งานคือ
(1)เรือดำนํ้าทางยุทธศาสตร์ (Ballistic Missile Submarine) เป็นเรือดำนํ้าขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ ติดตั้งอาวุธนำวิถีข้ามทวีป (Submarine-Launched Ballistic Missiles – SLBMs) หัวรบนิวเคลียร์ (nuclear warheads) ภารกิจของเรือดำนํ้าทางยุทธศาสตร์คือการป้องปรามทางยุทธศาสตร์โดยเป็นฐานยิงอาวุธนำวิถีข้ามทวีปหัวรบนิวเคลียร์ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงการป้องปรามด้วยเรือดำนํ้าจึงหมายถึงเรือดำนํ้าชนิดนี้
(2) เรือดำนํ้าโจมตี (Attack Submarine) เป็นเรือดำนํ้าที่ออกแบบสำหรับโจมตีเรือทั้งเรือผิวนํ้าและเรือดำนํ้า มีอาวุธที่สำคัญคือ ตอร์ปิโด และอาวุธปล่อยนำวิถี (cruise missile) แต่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เรือดำนํ้าโจมตีทุกลำจะโจมตีเรือดำนํ้าได้ และบางลำก็ไม่มีขีดความสามารถในการยิงอาวุธปล่อยนำวิถี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแบบของเรือนั้น การมีเรือดำนํ้าจึงไม่ใช่จะมีขีดความสามารถทุกชนิด และจุดมุ่งหมายของเรือดำนํ้าโจมตีคือการขัดขวางเส้นทางลำเลียง เป้าของเรือดำนํ้าคือเรือลำเลียงหรือเรือสินค้าไม่ใช่เรือรบ เรือดำนํ้าปฏิบัติภารกิจได้จำกัดเฉพาะการโจมตีเรือลำเลียงเท่านั้น และง่ายต่อการถูกทำลายด้วยเรือปราบเรือดำนํ้าธรรมดา เรือดำนํ้าโจมตีจึงไม่ใช่อาวุธที่จะสร้างความยำเกรงให้กับเรือรบผิวนํ้า และเรือดำนํ้าโจมตีไม่ใช่อาวุธป้องปรามแต่อย่างใด
- เรือดำนํ้าใช้สำรวจสมุทรศาสตร์ใต้นํ้าได้ (เท็จ) ความจริงการสำรวจสมุทรศาสตร์ใต้นํ้าใช้ยานใต้นํ้าที่ออกแบบโดยเฉพาะซึ่งมีราคาตํ่ากว่าเรือดำนํ้าโจมตีมาก การนำไปใช้ในการนี้ต้องดัดแปลงและซื้ออุปกรณ์เพิ่มจึงไม่คุ้มค่า
- เรือดำนํ้าเป็นเรือรบที่มีศักยภาพสูงสุด (เท็จ) ความจริงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือดำนํ้าของทุกชาติประสบความสูญเสียมากกว่าความสำเร็จ บทบาทของเรือดำนํ้าในสงครามโลกครั้งที่สองที่ชัดเจนคือ เหยื่อของเรือดำนํ้าเกือบทั้งหมดเป็นเรือลำเลียงและเรือสินค้าที่ไม่มีอาวุธ เมื่อเผชิญกับเรือปราบฯ เรือดำนํ้ากลับเป็นเหยื่อเสียเอง ความสูญเสียของเรือดำนํ้าจึงสูงกว่ากำลังรบอื่นๆ เฉพาะ U-boat ของเยอรมัน 1,208 ลำ โดนจมไป 1,060 ลำ ที่เหลือโดนยึด กำลังพลเรือดำนํ้าทั้งหมด 40,090 คน ตาย 28,000 คน ถูกจับเป็นเชลย 5,000 คน จมเรือลำเลียงข้าศึกได้แค่ 2,973 ลำ
- การมีเรือดำนํ้าจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต (เท็จ) ความจริงถ้าซื้อเรือดำนํ้าต้องจ่ายเงินออกนอกประเทศ 36,000 ล้านบาท เท่ากับราคาข้าวประมาณ 6 ล้านตัน (ตันละ 6,000 บาท) ถ้าเงินจำนวนนี้อยู่ในประเทศจะสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจได้มหาศาล นอกจากนั้นการซื้อเรือดำนํ้า 3 ลำ ยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกนอกประเทศตามมาอีกมาก
- เรือดำนํ้า S26T ไม่เหมาะกับอ่าวไทย (จริง) คุณสมบัติของเรือดำนํ้า S26T ในการเดินเรือ ต้องการความลึกของนํ้าอย่างตํ่า 30 เมตรในการดำระดับ periscope และต้องการความลึกอย่างตํ่า 50 เมตรในการปฏิบัติการใต้นํ้า ซึ่งอัตราขั้นตํ่าหมายความว่ามีข้อจำกัดในการเดินเรือให้ปลอดภัย ในขณะที่อ่าวไทยมีความลึกเฉลี่ยแค่ 44 เมตร แม้บางบริเวณจะมีความลึกมากกว่าค่าเฉลี่ยแต่จะเป็นข้อจำกัดในการเดินเรือใต้นํ้าอย่างมาก การปฏิบัติทางยุทธวิธีจึงทำได้ยากและเป็นอันตรายกับเรือดำนํ้าเอง เรือดำนํ้า S26T จึงไม่เหมาะกับอ่าวไทย
อดีตทหารก็รักกองทัพ รักชาติ และในส่วนลึกก็รักรัฐบาลนี้ แต่คิดรอบคอบแล้วต้องค้านเรือดำนํ้า S26T ของจีน