องค์การสมุทรศาสตร์สหรัฐฯ รายงาน มิ.ย.ร้อนสุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์โลก
องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศสหรัฐฯ รายงานเดือนมิถุนายนร้อนสุดอันดับสามในประวัติศาสตร์โลก คาดปี 2017 อุณหภูมิสูงเฉลี่ยติดอันดับสองเท่าที่เคยบันทึกมา ส่งผลต่อการเปลี่ยนของระบบนิเวศรุนแรง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US National Oceanic and Atmospheric Administration (Noaa)) ออกรายงานถึงสภาพภูมิอากาศในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดอันดับสามในประวัติศาสตร์โลก และยังคาดว่าปี 2017 นี้จะทำสถิติร้อนสุดในประวัติศาสตร์ทำลายสถิติเดิมของปี 2015 และ 2016 นับตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา
รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุอีกด้วยว่า อุณหภูมิผิวโลกและในมหาสมุทรในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นถึง 0.82 องศาเซลเซียส เทียบค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในช่วงศตวรรษที่ 20 ขณะที่มิถุนายนปี 2016 อุณหภูมิความร้อนวัดได้ที่0.92 องศาเซลเซียสและย้อนหลังไปมิถุนายนปี 2015 ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยที่ 0.89 องศาเซลเซียส
ขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องไปกับรายงานของ นาซ่า ที่ระบุว่าเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดอันดับสี่ในประวัติศาสตร์
(แผนที่แสดงอุณหภูมิโดยสีแดงแสดงถึงจุดที่มีความร้อนที่สุดไปจนถึงสีน้ำเงินแสดงถึงความเย็น)
ทั้งนี้ ข้อมูลของนาซ่า โดยสถาบัน Nasa’s Goddard Institute for Space Studies คาดการณ์ไว้ว่า ปี 2017 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองประวัติศาสตร์ รองจากปี 2016 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้สภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ภายใต้ข้อตกลงพันธสัญญาปารีส (Paris Agreement )ที่มีเป้าหมายจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
ในรายงานเรื่อง “A Region at Risk: The Human Dimensions of Climate Change in Asia and the Pacific.” จัดทำโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ร่วมกับ สถาบันโพสต์ดามพ์เพื่อการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Potsdam Institute for Climate Impact Research : PIK) ระบุว่า แม้ว่าจะสามารถจำกัดการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิได้ที่ 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส แต่ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบปัจจุบัน คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 6 องศาเซลเซียส ทั่วทั้งภูมิภาคพื้นดินของเอเชียภายในสิ้นศตวรรษนี้ บางประเทศในภูมิภาค เช่น ทาจิกิซสถาน อัฟกานิซสถาน ปากีสถาน และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาจจะเผชิญกับอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรุนแรงถึง 8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่ภูมิภาค ทั้งสภาพอากาศ การเกษตร การประมง ความหลากหลายทางชีวภาพทางพื้นดินและทางทะเล ความมั่นคงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค การค้า การพัฒนาเมือง การอพยพเคลื่อนย้าย และการสาธารณสุข
อ่านประกอบ
คาดปี2050 กทม.จมบาดาล ด้านADB ชี้เหตุนโยบายโลกร้อนในเอเชียไม่กระเตื้อง
ไม่สนโลกร้อน 'ทรัมป์' ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
จับตาทิศทางพลังงานไทยกับคำสัญญาในเวที COP21
"เราหนีไม่พ้นเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญภาวะโลกร้อน" ถาม-ตอบกับผู้ช่วยเลขายูเอ็น
ธรรมมาภิบาลที่หายไปจากการลงทุนด้านพลังงานไทย
บลูมเบิร์กควักเงินเข้ากองทุนแก้โลกร้อน-นิคารากัวเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด
สมาคมถ่านหินโลกตำหนิทรัมป์ถอนตัว อาจส่งผลการพัฒนาเทคโนโลยีลดคาร์บอน
ที่มาข่าวhttps://www.ncei.noaa.gov/news/global-climate-201706