ไม่สนโลกร้อน 'ทรัมป์' ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
ไม่แคร์โลกร้อน ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงที่ปารีส เตรียมเดินหน้าพลังงานฟอสซิลในประเทศ ย้ำนโยบายอเมริกามาก่อน ด้านประชาคมโลกยังเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแม้ไม่มีสหรัฐฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 60 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศถอนสหรัฐฯออกจากข้อตกลงป้องกันโลกร้อนปารีสครั้งที่ 21 หรือ COP21 โดยให้เหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้ว่า สหรัฐต้องการเจรจาเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใหม่ พร้อมทั้งยังเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพรรคและประเทศมากกว่านี้
“จะเป็นเรื่องดี หากเราสามารถเจรจาข้อตกลงใหม่ได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็เป็นไม่เป็นไร” นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวและว่า อีกเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจถอนตัวครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ช่วงเลือกตั้งว่า คนงานของอเมริกาต้องมาก่อน
นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวอีกว่าเขาอยากคุยกับประชาชนเมืองพิตต์สเบิร์ก มากกว่าคนที่ปารีส ทั้งยังมองว่าการประกาศเรื่องสภาวะโลกร้อนที่ผ่านมานั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เป็นการแต่งเรื่องมาทั้งนั้น
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เขาเตรียมเดินหน้าอุตสาหกรรมถ่านหินในประเทศอย่างเต็มที่ โดยปฏิเสธข้อเท็จจริงที่มีการแย้งในประเด็นเรื่องเม็ดเงินลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่กำลังมาแรงแซงหน้าการลงทุนกับพลังงานฟอสซิล ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า 350 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
ขณะที่ทางด้านผู้บริหารบริษัทยักษ์ในสหรัฐฯ อย่างแอปเปิ้ล กูเกิ้ล วอลล์มาร์ท และแม้กระทั่งกลุ่มบริษัทด้านพลังงานฟอสซิลอย่าง แอ๊กซ่อน โมเบิล บีพีและเชลล์ ต่างยืนยันที่จะให้สหรัฐฯอยู่ในข้อตกลงปารีสต่อไป ด้านนาย อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า ประกาศลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของตัวเองและบริษัทในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
ด้าน นายอัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต กล่าวถึงการถอนตัวครั้งนี้ของผู้นำสหรัฐฯว่า สหรัฐฯควรยืนหยัดในการเป็นผู้นำเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน การประกาศถอนตัวครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรงของประธานาธิบดี ทั้งๆ ที่คนในประเทศ ไม่ว่าจะผู้ว่าการรัฐ ราชการ ผู้บริหารองค์กรเอกชน ต่างพร้อมใจที่จะเดินไปยังการใช้พลังงานทางเลือกให้มากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นหากทรัมป์ไม่อยากเป็นผู้นำในเรื่องนี้ไม่เป็นไร พวกเราประชาชนชาวสหรัฐฯพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน
ด้าน นายหลี่ เค่อเฉียง(Li Keqiang) นายกรัฐมนตรี จีนกล่าวถึงกรณีปัญหาโลกร้อนระหว่างเยือนกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ว่า ปัญหานี้เป็นความรับผิดชอบของทุกประเทศในโลกนี้ จีนยังคงอยู่ในข้อตกลงปารีส และมีความตั้งใจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง
ด้านนางแองเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เผยว่า ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ได้มีความพยายามโน้นมน้าวให้ นายโดนัลด์ ทรัมป์ไม่ถอนตัวออกจากข้อตกลงที่ปารีส ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะมาจากความเห็นของรัฐบาลทั่วโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังจากที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศถอนตัวเพียงหนึ่งชั่วโมง รัฐบาลฝรั่งเศส อิตาลีและเยอรมนี ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในยุโรป ได้ออกแถลงต่อกรณีดังกล่าวว่า ข้อตกลงปารีสหรือ COP 21 นั้นไม่สามารถที่จะกลับมาเจรจาใหม่ได้อีกตามที่ทรัมป์ต้องการ เพราะข้อตกลงดังกล่าวทุกประเทศต่างเห็นฟ้องต้องกันในประเด็นการป้องกันสภาวะโลกร้อน และเรียกร้องให้ทุกประเทศเร่งจัดการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ทางด้าน นายมาครอง ประธานาธีบดีฝรั่งเศส กล่าวถึงการตัดสินใจของทรัมป์จากการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ว่าเขาเคารพในการกระทำครั้งนี้แต่ก็เสียใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ยังเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักลงทุน รวมไปถึงประชาชนชาวสหรัฐที่ผิดหวังกับทรัมป์ ยินดีหากพวกเขาเหล่านี้จะย้ายมาทำงานขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยกัน โดยระบุว่าฝรั่งเศสจะเป็นบ้านหลังที่สองให้พวกเขา
ทั้งนี้ที่ผ่านมา นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับการกดดันอย่างหนักจากนานาชาติภายหลังเขามีปฏิกิริยาว่าจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส การตัดสินใจครั้งนี้ ทำให้สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่สามที่ไม่ได้อยู่ในข้อตกลงปารีส ซึ่งมี 200 ประเทศจากทั่วโลกลงนามข้อตกลงที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาไม่ให้โลกมีอุณภูมิสูงขึ้น 2 องศาเซลเซียส โดยก่อนหน้าสหรัฐฯถอนตัว มี 2 ประเทศ นั่นคือ นิคารากัว และซีเรีย
สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ขั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับสองของโลก ดังนั้นการประกาศไม่ร่วมครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อความพยายามในการจัดการปัญหาโลกร้อนต่อไปในอนาคต