ธรรมมาภิบาลที่หายไปจากการลงทุนด้านพลังงานไทย
เรามีพลังทางเลือกมากมาย และราคาไม่ได้แพง ทำไมถึงมีการลงทุนพลังงานที่ไม่นำไปสู่ความยั่งยืน เพราะเหตุใดการลงทุนในภาคพลังงานจึงไม่เป็นไปในเรื่องการดูเเลสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลที่หายไปตรงนี้เกิดจากอะไร
“ หากดูตามแผน PDP 2015 ที่เพิ่งอนุมัติไป สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทยน่าเศร้า” ประโยคแรกที่ "ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน" นักวิชาการอิสระด้านนโยบายและการวางแผนพลังงาน กล่าวบนเวทีเสวนา “บนเส้นทางสู่ความยั่งยืน: การลงทุนพลังงานและธรรมาภิบาลเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
ก่อนอธิบาย... วันนี้ไทยกำลังจะมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งประเทศทั้งหมด 9 โรง หากโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมด เกิดขึ้นจริง เราจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ไปจนถึง 2045 คือ ปล่อยไป 25 ปี ในขณะที่ผู้นำไทยร่วมลงนามที่ข้อตกลงปารีสจะลดการปล่อยคาร์บอน และจะรักษาให้อุณหภูมิของโลกไม่เกิน 1.5 องศา ก็ไม่มีทางทำได้แน่นอน
ในเมื่อในเรามีพลังทางเลือกมากมาย และราคาไม่ได้แพง ทำไมวันนี้ประเทศไทยถึงมีการลงทุนในพลังงานที่ไม่นำไปสู่ความยั่งยืน เป็นคำถามที่ชวนคิดเพื่อให้เราได้ลองทบทวนว่า เหตุใดการลงทุนในภาคพลังงานจึงไม่เป็นไปในเรื่องการดูเเลสิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาลที่หายไปตรงนี้เกิดจากอะไร
การลงทุนในภาคพลังงาน สิ่งแรกที่ควรจะทำคือการจัดการเรื่องการใช้พลังงาน การประหยัดที่ต้นทางหนึ่งหน่วยจะสามารถลดการใช้พลังงานไปได้ถึง 10 เท่า
ยกตัวอย่างเรื่องของการใช้แอร์ ถ้าบ้านมีฉนวนกันความร้อน ก็จะลดการใช้แอร์แค่หนึ่งหน่วย แต่การลดในระดับที่โรงไฟฟ้ากลับทวีคูณ ดังนั้นรูปแบบการจัดพลังงานที่ถูกที่สุด คือการประหยัดพลังงาน
ในขณะที่ต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองร้อน การไฟฟ้าฯ แทบจะแจกฟรีในเรื่องฉนวนกันความร้อน หรืออย่างน้อยฉนวนกันความร้อนมีราคาถูก ซึ่งรูปแบบการลงทุนในลักษณะแบบนี้ เธอชี้ว่า ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
มีข้อมูลน่าสนใจว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินหนึ่งโรง เมื่อนำไปถ่านหินเผา พลังงานกว่า 70% จะสูญเสียไปกับการปล่อยออกมาทางปล่อง และอีก 30% เท่านั้นที่กลายมาเป็นไฟฟ้า และในระหว่างทางเกิดจะการสูญเสีย ทั้งในระบบส่ง ระบบจำหน่าย ตลอดกระบวนการที่ทำให้เกิดการใช้งานในระยะสุดท้าย ซึ่งหากเราสามารถประหยัดจากปลายทาง ผลจะสะท้อนก็จะกลับไปยังต้นทาง
ในแง่การใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ คือการใช้พลังงาน รูปแบบผลิตไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์ทั้งในรูปแบบของไฟฟ้าและความร้อน หรือ Combined Heat and power (Cogeneration) นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน บอกว่า หากดูในแผน PDP 2015 พบว่า โรงไฟฟ้ากว่าครึ่งในเทคโนโลยีแบบเดียวแบบเก่า แค่เฉพาะในส่วนของถ่านหินและก๊าซ มีการใช้รูปแบบนี้มีมากถึงกว่า 28,000 เมกกะวัตต์
ในขณะที่รูปแบบประหยัดพลังงานมีบรรจุในแผนเพียง 4,000 เมกกะวัตต์ ต่างกัน7 เท่า
ขณะประเทศแถบยุโรปและอเมริกา Cogeneration คือรูปแบบการผลิตหลัก ในการผลิตไฟฟ้า ในเมืองไทยก็มีการใช้เทคโนโลยีลักษณะนี้อยู่บ้าง เช่นที่สนามบินสุวรรณภูมิใช้ผลิตทั้งไฟฟ้าและเครื่องทำความเย็น เป็นการใช้ความร้อนที่ปกติเหลือทิ้ง เอากลับมาใช้ให้เป็นประโยชน์
“ จริงๆ ศักยภาพของไทยมีมากมาย อย่าง 'เอสซีจี' ที่ก็ใช้ลักษณะแบบนี้ และกำลังจะหมดอายุ ก็ลุ้นว่ารัฐบาลจะต่ออายุสัญญาให้หรือไม่ ซึ่งกลับกลายเป็นว่าระบบที่ใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพไม่สามารถเติบโตได้ในไทย ทั้งยังถูกกีดกั้นด้วยซ้ำ ทั้งหมดก็เพื่อเปิดทางให้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้สร้างขึ้น” ชื่นชมกล่าว พร้อมแสดงความห่วงใยที่เรายังต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพราะไม่ใช่แค่ทำลายระบบสิ่งแวดล้อม ยังสร้างมลพิษให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอีกด้วย
ขณะที่ ผลการศึกษาของ WWF เสนอว่า ประเทศไทนยสามารถที่จะตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า ในเชิงกายภาพประเทศสามารถสนองการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น กว่าเท่าตัวได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงพลังงานฟอสซิลเลย
"แสดงว่าเรื่องศักยภาพการใช้พลังงานหมุนเวียน ประเทศไทยมีเพียงพอ หากเราอยากจะนำมาใช้จริงๆ” ชื่นชม กล่าว
ส่วนของคำถามที่ว่า เพราะอะไรการลงทุนในภาคพลังงานของไทย จึงเน้นถ่านหิน เน้นก๊าซ เธอมองว่า เป็นเรื่องของธรรมภิบาล เป็นเรื่องของการเอื้อประโยชนของการลงทุนในระบบปัจจุบันที่ให้ผลประโยชน์ต่อกลุ่มที่อยู่ในภาคธุรกิจพลังงานในขณะนี้ ความพยายามเปรียบเทียบการใช้พลังงานจากโซล่าร์เซลล์กับถ่านหิน ทางกฝผ.มักเทียบแค่ต้นทุนการผลิต แต่ไม่ได้เทียบกับต้นทุนอื่นๆ เลย ทั้งๆ เป็นต้นทุนที่เราต้องจ่ายทั้งสิ้น ขณะที่ต่างประเทศจะมีการเปรียบเทียบทั้งในเรื่องของการผลิต การขนส่ง การจำหน่าย ซึ่งหากมองในอีกมุมก็จะได้คำตอบที่ว่า ทำไมกฟผ.ถึง อุดหนุนให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่การลงทุนโรงไฟฟ้าอย่างถ่านหินที่ต้องใช้สายส่ง สร้างสายส่งรองรับ เดินทางไกล กว่าจะถึงผู้ใช้ไฟ ก็มีการสูญเสียระหว่างทาง
"การผลิตพลังานแสงอาทิตย์ หากเราติดอยู่บนหลังคาบ้าน ไม่ต้องมีการลงทุนในเรื่องของสายส่ง เราใช้และผลิตในที่เดียวได้เลย การเดินทางของอิเล็กตรอนก็สั้นมาก จึงสามารถประหยัดได้มากกว่า กรอบในการเปรียบเทียบเรื่องต้นทุนที่ผ่านมาจึงไม่มีความยุติธรรม ทำให้พลังงานหมุนเวียนในไทยดูเเพงกว่าที่ควรจะเป็น" นักวิชาการอิสระ ระบุ และว่า เราไม่เคยเอามาตรการในลดพลังงานเข้ามาประกอบเพื่อสร้างแรงจูงใจ และประสิทธิภาพพลังงานทางเลือกการจัดการที่ถูกที่สุด อยู่บนผลการเปรียบในฐานเดียวกัน จึงไม่แปลกหากรูปแบบการวางแผน PDP ของไทยจึงเต็มไปด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมาตการต่างๆ ก็ไม่ได้ถูกบรรจุในแผน PDP เป็นโครงสร้างการตัดสินใจที่มีปัญหา
ในแผน Reserve Margin หรือเกณฑ์ในการวางแผนพลังงานไฟฟ้าสำรองของไทย โดยปกติเกณฑ์การวางแผน ระดับไฟฟ้าสำรองควรมีอยู่ใน 15% แต่ในแผน PDP ฉบับใหม่พลังงานสำรองสูงกว่า 2 เท่าของระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งส่วนที่เกินขึ้นมาคือกำลังผลิตที่ลงทุนไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้งานเต็มที่ แน่นอนส่วนที่เกินมา จะอยู่ในค่า FT นั่นคือค่าใช้ไฟที่เราทุกคนต้องจ่าย
จริงๆ คนไทยอาจไม่ต้องจ่ายแต่แรก หากระบบไฟฟ้าของไทยเป็นไม่เป็นระบบผูกขาด ในกรณีของภาคไฟฟ้าผู้ใช้กลับไม่สามารถเลือกได้ เพราะเป็นระบบผูกขาด ค่า FT จะขึ้นจะลงอย่างไร เรามีหน้าที่จ่ายอย่างเดียว นี่คือภาวะจำยอมของผู้บริโภค ที่จำเป็นที่จะต้องรับภาระ จากการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพของฝ่ายผลิต
เธอ ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นในเรื่องของธรรมาถิบาล เรื่องการวางแผนภาคการทำงานที่ไม่ได้วางแผนบนพื้นฐานของความต้องการใช้ไฟอีกต่อไป แล้วที่ผ่านมากฟผ.ใช้อะไรเป็นตัวกำหนดในการลงทุนภาคไฟฟ้า คำตอบก็คือ ผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภาคไฟฟ้า
"แม้ว่าขณะนี้ กฟผ.ยังไม่ได้แปรรูปองค์กร แต่ลักษณะการผูกขาดแบบนี้ การลงทุนจึงตั้งอยู่บนการประกันกำไร ประกันผลตอบแทนของการไฟฟ้า นี่คือเกณฑ์ในการกำหนด ค่าไฟ โดยใช้ผลตอบแทนจากเงินลงทุนหรือ Return on Invested capital ซึ่งมีการตั้งเป้าว่า กำไรของ กฟผ.หลังจากหักภาษีเเล้วจะต้องคิดเป็นประมาณ 6.4% และ กฟน.และกฟภ. 5.8% ของเงินลงทุน เพราะฉะนั้นหากการไฟฟ้าต้องการโบนัสมากขึ้น หลักการง่ายๆ คือการทำให้แผนการลงทุนสูงขึ้น"
ฉะนั้นกลายเป็นว่า สิ่งนี้เป็นตัวเลือกที่กฟผ.ทำเพื่อเน้นผลกำไรจากการลงทุนที่ใช้เงินที่สูง เน้นการลงทุนที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ เพราะว่าในภาคส่วนอื่นๆ หากไม่มีประสิทธิภาพ เขาก็จะเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่เรื่องไฟฟ้ากลับกัน ยิ่งไม่มีประสิทธิภาพยิ่งลงทุนมาก
นี่คือคำถามเรื่องธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นในภาคพลังงาน
ถึงแม้ว่าการไฟฟ้าจะไม่ถูกแปรรูปเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ในเรื่องของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดของตลาดหลัดทรัพย์ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง กฟผ.มีกำลังผลิตของตัวเอง 46% แต่กฟผ.ไม่ได้มีมีในส่วนการผลิตเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้ดูเเล ระบบส่ง และเป็นผู้ดำเนินการรักษาความมั่นคงของระบบด้วย
และเนื่องจากที่ กฟผ. มีผลประโยชน์จากการผลิต ยิ่งผลิตมาก ขายมาก ก็ได้กำไรมาก บวกกับอำนาจผูกขาดในการจัดหา ตรงนี้กลายเป็นผลประโบนข์ทับซ้อน ซึ่งไม่ใช่แค่พยายามจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเดียว แต่ กฟผ. ยังมีบริษัทลูกอย่างเช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จํากัด (มหาชน) บริษัท เอ็กโก กรุ๊ป บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด
ตรงนี้จะแทรกซึมในผู้ผลิตเอกชนอิสระ รวมไปถึงการนำเข้าจากประเทศเพื่อบ้านด้วย บริษัทลูกก็ไปลงทุนในโรงไฟฟ้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือนอกประเทศ เสร็จเเล้วบริษัทลูกเหล่านั้นซึ่งมีอดีตกฟผ.นั่งอยู่ ก็มาเจรจากับบริษัทแม่โดยตรง นำมาสู่การทำสัญญาที่เกินต่อความจำเป็น เกินหลายต่อการใช้ไฟในประเทศ
เธอ ทิ้งท้ายว่า การผู้ขาดในระดับสายส่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน แม้ว่าแม่จะไม่เข้าตลาดหลัดทรัพย์ แต่บริษัทลูกอยู่ในตลาดหลักทรัพย์หมดเเล้ว เราอยากเห็นการลงทุนในเรื่องพลังงานหมุนเวียน มาตรการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจำเป็นต้องปลดล็อคการผูกขาด พ.ร.บ. กฟผ. ให้อำนาจผู้ขาดแต่เพียงผู้เดียว
"ถ้าเราสามารถจะปลดล็อคตัวนี้ เปิดช่องให้ท้องถิ่น สามารถที่จะหาไฟฟ้าแข่งกับกฟผ.ได้ หากกฟผ.ไม่สามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราก็สามารถเราลงทุน ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ได้เลย จะเกิดการลงทุนพลังงานทางเลือกได้อย่างรวดเร็วมากกว่าที่เราเป็นอยู่ ณ วันนี้"
ขอบคุณภาพประกอบจาก :
หัวเรื่องจาก http://breakingenergy.com/wp-content/uploads/sites/2/2014/01/163083980.jpg
ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน http://www.greenpeace.org/seasia/th/