เจ็บปวดรวดร้าว-ขออยู่ที่เดิมไม่ให้อยู่! คำต่อคำ‘ศิริชัย’เปิดใจไม่ได้นั่ง ปธ.ศาลฎีกา
“ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ยังรักสถาบันนี้ อยู่มาเกือบ 40 ปี ยังไม่อยากพูดอะไรที่มันอยู่ในอกให้เสื่อมเสียสถาบันนี้ แม้เจ็บปวดรวดร้าว ถ้าพูดไปสถาบันนี้จะเสีย อาจไม่เชื่อว่าเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสุดท้ายจริง ๆ ไม่ไหวจริง ๆ ถือว่าผมโดนกระทำอยู่ตลอด ขออยู่ที่เดิมก็ไม่ให้อยู่ ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีมีกระแสข่าวว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เสนอให้เปิดตำแหน่งใหม่ คือ ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา และมีความเห็นให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายศิริชัย กรณีถูกกล่าวหาเพิกถอนโอนย้ายสำนวนคดี และอาจให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา (อ่านประกอบ : สะอื้น!‘ศิริชัย’ลั่นไม่อยากพูดให้เสีย-ขอสื่อสืบที่มาปมถูกย้ายนั่งที่ปรึกษา ปธ.ศาลฎีกา)
----
นายศิริชัย เริ่มต้นแถลงว่า ในการประชุม ก.ต. เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่ (นายชีพ จุลมนต์) และตั้งตำแหน่งใหม่ เช่น ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา แล้วมีกระแสข่าวให้ผมไปดำรงตำแหน่งนั้น และมีการตั้งกรรมการสอบผมด้วย เท่าที่ทราบจากข่าวเบื้องต้น เชื่อว่า คงมีมูลความจริง เพราะถ้าไม่จริง สื่อคงไม่เขียนเป็นข่าว
ขอเรียนว่า ที่ผ่านมาผมทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็งทำงาน ทุกคนรู้หมด ทุจริตไม่เคยมี พิสูจน์ได้ ถามได้ทุกที่ทุกแห่งหนที่เคยทำงาน สมัยอยู่ต่างจังหวัดนอกจากขยันแล้ว ยังถูกบัตรสนเท่ห์เยอะ แต่ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ไม่เคยทุจริต ถือว่าตัวเองเข้ามาอายุยังน้อย แต่อาจจะได้เป็นประธานศาลฎีกา พยายามขยัน ทำมากกว่าคนอื่นกี่เท่าสุดแท้แต่ จนตำแหน่งเลื่อนไหลมาได้เป็นรองประธานศาลฎีกา เมื่อปี 2556 และได้รับความไว้วางใจจาก ก.ต. ให้เป็นประธานศาลอุทธรณ์เมื่อปี 2558
ตอนนั้นได้รับการคาดหวังจาก ก.ต. ว่า ถ้ามาทำงาน บริหารงานศาลอุทธรณ์ได้ดี จะได้เป็นประธานศาลฎีกา จุดนี้ทำให้พยายามทุกอย่างที่จะทำให้ศาลอุทธรณ์ เป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทุกหน่วยด้วยความยากลำบาก ศาลอุทธรณ์เมื่อก่อนมีคดีค้าง ไม่เคยเป็นปัจจุบัน ผมพยายามปรับระบบการทำงาน ให้มีระบบเขียนคำพิพากษาลื่นไหล เมื่อคำพิพากษาลื่นไหลแล้ว กลับมาที่ตัวเอง ตรวจด้วยตัวเอง สุดท้ายในคดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีที่มีข้อโต้แย้งต้องผ่านศาลอุทธรณ์ ดูตรงนี้มาตลอด ดูด้วยตัวเอง ไม่มีใครกรองงาน
“บางวันตอนมาใหม่ ๆ ต้องนอนที่ศาลอุทธรณ์ เพราะฝนตก รถติด เสียเวลาทำงาน”
ผมทำทุกอย่าง มีนโยบายประหยัดพลังงาน ทั้งค่าประปา และค่าไฟฟ้า เพื่อช่วยศาล สามารถขอความร่วมมือจากข้าราชการในศาลอุทธรณ์ ลดค่าไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1.6 ล้านบาท อาจเป็นแค่ศาลเดียวของไทยที่ลดกระแสไฟฟ้าได้ และลดค่าน้ำประปาได้อีก รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดกระดาษ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับซอง เพราะใช้อีเมล์นัดฟังคำพิพากษาล่วงหน้า
นอกจากนี้ยังจัดระบบนัดฟังคำพิพากษาล่วงหน้าทุกคดี เพื่อให้ผู้พิพากษารู้ ช่วยกันเขียนคำพิพากษา ทำให้สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นได้ คดีของศาลอุทธรณ์เมื่อปี 2559 เป็นปัจจุบันทั้งหมด ไม่มีคดีปี 2558 ค้างอยู่ ปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน เป็นคดีปี 2560 ทั้งหมด ไม่มีคดีปี 2559 ค้างอยู่ และได้นำระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้มากมาย
“ช่วงผมมาอยู่ศาลอุทธรณ์ปีเศษ ดูแลตัดสินคดีไปประมาณ 36,000-37,000 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด สามารถทำให้เสร็จได้ รวมถึงการระงับข้อพิพาท นัดคู่ความมาไกล่เกลี่ยให้คดีเสร็จจำนวนมากเช่นกัน เมื่อเทียบกับทุกศาล”
“ทำให้มีความหวังว่า ถ้าบริหารงานดีอาจได้เป็นประธานศาลฎีกา”
ส่วนประเด็นถ้าหาก ก.ต. ให้เป็นที่ปรึกษาประธานศาลฎีกานั้น นายศิริชัยมองว่า อาจขัดกับข้อกฎหมายได้
“ยังไม่แน่ใจว่าตำแหน่งที่เปิดมานี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะดูแล้วเห็นว่าศาลจะตั้งตำแหน่งใหม่เองโดยไม่ผ่านรัฐสภาหรือไม่ มีคนทักท้วงมาเหมือนกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 8 บัญญัติเกี่ยวกับศาลฎีกาว่า ให้มีประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกาหนึ่งคน ให้มีรองประธานศาลฎีกาประจำศาลฎีกาหนึ่งคน แต่ไม่เกินหกคน เมื่อตำแหน่งประธานศาลฎีกาว่างลง หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน”
“ตามแนวปฏิบัติเดิม หากไม่ถูกแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ต้องปฏิบัติหน้าที่เดิมต่อไป และประธานศาลอุทธรณ์เป็นรองแค่ประธานศาลฎีกาเท่านั้น จึงไม่มีทางต่ำกว่าตำแหน่งอื่นได้เลย นอกจากนี้ยังเป็นประธานกรรมการศาลยุติธรรมโดยตำแหน่ง ดูแลฝ่ายธุรการ และเป็นอุปนายกของเนติบัณฑิตยสภาโดยตำแหน่งด้วย แต่ที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา มีตรงนี้หรือไม่ ทำให้คิดว่าที่ปรึกษาประธานศาลฎีกาสูงกว่าจริงหรือ เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกัน”
“ตำแหน่งที่ผมอยู่ตอนนี้คือ ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นรองแค่ประธานศาลฎีกา ถ้าเปิดตำแหน่งใหม่ให้ผมเป็นที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา ตำแหน่งผมจะเท่าเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ถ้าประธานศาลฎีกาไม่อยู่ แล้วรองประธานศาลฎีกา ซึ่งตามปกติอาวุโสน้อยกว่าอยู่แล้ว จะปฏิบัติราชการแทนประธานศาลฎีกาได้หรือไม่ และใครเป็นผู้บังคับบัญชาใคร นี่คือปัญหาที่ขัดข้องในทางปฏิบัติ”
อย่างไรก็ดี นายศิริชัย ยืนยันว่า ปัจจุบันยังไม่รับทราบมติอย่างเป็นทางการของคณะอนุกรรมการ ก.ต. และ ก.ต. ว่า มีคำวินิจฉัยถึงเหตุผลที่ตนไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกาเพราะอะไร อยู่ระหว่างทำหนังสือสอบถามเหตุผลอยู่ อย่างไรก็ดีหากมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่เคยกลัว ชีวิตไม่เคยทำสิ่งไม่ดี จะสอบอย่างไรก็ไม่กลัว
กระทั่งถึงช่วงหนึ่งทำให้นายศิริชัยต้อง ‘ครุ่นคิด’ อยู่นาน ก่อนจะพูดว่า ไม่ทราบว่านักข่าวสืบดูบ้างหรือเปล่าว่า เหตุที่ ก.ต. ไม่เห็นชอบผมนั่งประธานศาลฎีกาเพราะอะไร ให้ไปสืบมา ไม่เห็นตรงนี้
สื่อมวลชนถามว่า คาดเดาได้หรือไม่ว่าเพราะอะไร นายศิริชัย ยืนยันว่า ไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะเป็นผู้พิพากษา ไม่กล้าคาดเดา เดี๋ยวผิด
จนมาถึงคำถามที่ทำให้นายศิริชัยถึงขั้น ‘สะอื้น’ ตาเริ่มแดง และพูดเสียงสั่นเครือ คือ หากมีการเปิดตำแหน่งที่ปรึกษาประธานศาลฎีกา และมีการพิจารณาโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งใหม่นี้จริง จะมีทางออกอย่างไร
“ตอนนี้ยังคิดไม่ออก ยังรักสถาบันนี้ อยู่มาเกือบ 40 ปี ยังไม่อยากพูดอะไรที่มันอยู่ในอกให้เสื่อมเสียสถาบันนี้ แม้เจ็บปวดรวดร้าว ถ้าพูดไปสถาบันนี้จะเสีย อาจไม่เชื่อว่าเป็นแบบนี้ แต่ถ้าสุดท้ายจริง ๆ ไม่ไหวจริง ๆ ถือว่าผมโดนกระทำอยู่ตลอด ขออยู่ที่เดิมก็ไม่ให้อยู่ ถ้าเกิดขึ้นจริง ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน”
เมื่อถามว่า อาจเป็นเพราะผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์หลายรายกดดัน ไม่ต้องการให้อยู่หรือไม่ นายศิริชัย กล่าวว่า จะมีใครเอา หรือไม่เอา ไม่ใช่ตรงนั้น นับตั้งแต่ผมมาเป็นประธานศาลอุทธรณ์ มีนโยบายช่วยกันประหยัดไฟฟ้า หลายคนบอกห้ามเปิดไฟ ห้ามอะไร มีคนบ่นกัน ทำให้เสีย แต่ผมเคยเป็น ก.ต. เก่า เป็นหัวหอกที่เอาคนทุจริตเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว ระดับใหญ่ ๆ ทำให้เขาต้องออกไป
ส่วนกังวลหรือไม่หากมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง นายศิริชัย ยืนยันหนักแน่นชัดเจนว่า ไม่มี ก.ต. คนไหนบอกว่าผมทุจริต ไม่เคยทุจริต แต่ถ้าจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ไม่ขัดข้อง เพราะไม่มีสิทธิมีเสียงไปบอกว่า ตั้งหรือไม่ตั้ง อยู่ที่ ก.ต. ไม่สามารถลิขิตเองได้
ทางออกของเรื่องนี้จะถึงขั้นต้องฟ้องกลับหรือไม่นั้น นายศิริชัย กล่าวว่า มติ ก.ต. คงไม่สามารถทำอะไรได้ แต่มีอีกทางคือยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิด และขอเก็บเอาไว้ก่อน จนกว่าจะทนไม่ไหว
----
ทั้งหมดคือความรู้สึกที่อัดแน่นอยู่ในอกของ ‘ศิริชัย วัฒนโยธิน’ จากเส้นกราฟชีวิตราชการที่พุ่งสูงมาตลอด เมื่อปี 2556 เป็นรองประธานศาลฎีกา เมื่อปี 2558 เป็นประธานศาลอุทธรณ์ พร้อมความคาดหวังจาก ‘ผู้ใหญ่’ ในศาลยุติธรรมว่า นี่คือประธานศาลฎีกาคนต่อไป
กลับต้องดิ่งลงมา จนเก้าอี้ประธานศาลอุทธรณ์ที่ตัวเองนั่งอยู่ตอนนี้เริ่มสั่นคลอน รวมถึงอาจถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการการบริหารงานในศาลอุทธรณ์ด้วย
ท้ายสุดบทสรุปจะจบลงอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไปอย่ากระพริบตา!
อ่านประกอบ :
เบื้องหลัง วางหมาก เด้ง 'ศิริชัย'-ตั้งกก.สอบซ้ำ ศึกชิงเก้าอี้ปธ.ศาลฎีกา เจ็บแต่(ไม่)จบ!
สะพัด! ก.ต.เด้ง 'ศิริชัย' พ้น ประธานศาลอุทธรณ์นั่งที่ปรึกษาปธ.ฎีกา-ตั้ง กก.สอบซ้ำ
อยู่ที่วาสนา! ‘ศิริชัย’เคารพมติ ก.ต.ไม่เลือกนั่ง ปธ.ศาลฎีกา ปัดฟ้องกลับ-ลาออก
‘ศิริชัย' ร้องขอความเป็นธรรม ปธ.ศาลฎีกา-เข้าชี้แจงก.ต.ปมถูกร้องเพิกถอนโอนสำนวน!
สนง.ศาลยุติธรรม ตั้งแท่นชงชื่อ 'ชีพ จุลมนต์' ปธ.ศาลฎีกาคนใหม่แล้ว
ระวัง! ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการ เมื่อ อนุก.ต.ไม่เห็นชอบเสนอชื่อ'ศิริชัย วัฒนโยธิน' ปธ.ศาลฎีกา