กรมบัญชีกลางใกล้สรุปผลสอบคนพันซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding-รองอธิบดียันโปร่งใส
รองอธิบดีกรมบัญชีกลางยัน ระบบ e-bidding โปร่งใส ห้องเซิร์ฟเวอร์มีกล้องวงจรปิด-ห้าม จนท.เข้าช่วงท้ายการเสนอราคา เปิดได้อีกทีหลังเที่ยงคืน ผู้เชี่ยวชาญระบบตรวจสอบแล้วไม่ผิดปกติ ร่วมมือดีเอสไอสอบสวนคดีเต็มที่ ตั้ง กก.สอบข้อเท็จจริงหาตัวคนผิดใกล้เสร็จแล้ว
จากกรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขยายผลสอบสวนเพิ่มเติมจากการจับกุมผู้ต้องหาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายพาสเวิร์ดระบบการประมูล e-bidding ผ่านกรมบัญชีกลาง เบื้องต้นพบพฤติการณ์ว่า ซื้อรายชื่อบริษัทที่ยื่นซองประกวดราคาผ่านกรมบัญชีกลาง และโทรเสนอเงินให้กับบริษัทต่าง ๆ ร่วมกันฮั้วประมูล หากบริษัทใดให้ความร่วมมือจะได้ส่วนแบ่ง แต่ถ้าบริษัทที่ยื่นซองไม่ยอมฮั้ว ในวันประมูลจะมีผู้เข้ารหัส e-bidding โทรมาแจ้งบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในโครงการนั้น ๆ แก่ผู้ต้องหา เพื่อให้ข้อมูลกับบริษัทที่ดีลเอาไว้แล้ว เสนอราคาต่ำสุดได้ เบื้องต้นผู้ต้องหารายนี้ให้การปฏิเสธ แต่ดีเอสไอดำเนินการอายัดทรัพย์สินไปแล้วประมาณ 58 ล้านบาท เนื่องจากพบว่า อาจได้มาจากกระทำความผิดดังกล่าวนั้น
เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2560 นายพรชัย หาญยืนยงสกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายตรวจสอบภายใน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เดินทางมาที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับกรณีนี้ โดยนายพรชัย กล่าวว่า ภายหลังกรมบัญชีกลางเปิดระบบ e-bidding ขึ้นเมื่อปี 2558 มีการร้องเรียนบางปัญหาเข้ามา กระทั่ง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เข้ามาตรวจสอบ และทำเรื่องถึง พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ขณะนั้น เพื่อให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบด้วย โดย พ.ต.อ.ดุษฎี ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอินเทอร์เน็ต และระบบอิเล็กทรอนิกส์ วิเคราะห์ และตรวจสอบช่องโหว่ของ e-bidding เป็นเวลานานประมาณ 4 เดือน จนได้ข้อสรุปว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่มีข้อสังเกตบางประการ กรมบัญชีกลางจึงรับมาเพื่อปรับปรุง
นายพรชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ภายในห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ใช้เป็นระบบ IP ไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต มีการติดกล้องวงจรปิดทุกตัว เพื่อดูว่า มีเจ้าหน้าที่รายใดเข้าไปในห้องบ้าง ขณะเดียวกันมีการออกคำสั่งว่าในช่วงเวลา 15.00-16.00 น. ที่จะปิดการเสนอราคา ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รายใดเข้าออกห้องเด็ดขาด มีการล็อคห้อง และหลังเวลา 00.00 น. จึงอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุภาครัฐ เข้าไปดูข้อมูลการประมูลของวันที่ผ่านมาได้ ดังนั้นการทำระบบ e-bidding จึงโปร่งใส เพราะแทบไม่ผ่านกระบวนการของเจ้าหน้าที่เลย
นายพรชัย กล่าวด้วยว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ดีเอสไอบุกจับกุมผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับการซื้อขายพาสเวิร์ดระบบ e-bidding ที่ จ.ยโสธร เมื่อเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงในทันที โดยเชิญเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกเป็นกรรมการสอบ เท่าที่ทราบล่าสุด ใกล้จะดำเนินการเสร็จแล้ว แต่ไม่ทราบในรายละเอียดว่า มีใครเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง
ส่วนกรณีที่ดีเอสไอเข้าไปสอบสวนเรื่องนี้นั้น นายพรชัย กล่าวว่า ปัจจุบันดีเอสไอขอข้อมูลไปแล้ว 2 ครั้ง กรมบัญชีกลางให้ความร่วมมือด้วยดีมาตลอด และเตรียมประสานให้ดีเอสไอมาเป็นที่ปรึกษาหรือ partner เพื่อประชุมร่วมและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งนี้ยืนยันว่า กรมบัญชีกลางพร้อมให้ความร่วมมือดีเอสไออย่างเต็มที่
อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า ดีเอสไออยู่ระหว่างขยายผลการสอบสวนเพิ่มเติมถึงตัวการใหญ่ที่อาจเกี่ยวข้องในกระบวนการซื้อขายพาสเวิร์ดระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง และขณะนี้ได้ส่งหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว อย่างไรก็ดียังไม่ได้รับความร่วมมือจากกรมบัญชีกลางแต่อย่างใด โดยกรมบัญชีกลางส่งหนังสือชี้แจงว่า มีคำสั่งเวียนภายในเกี่ยวกับระบบ e-bidding ว่า หากเปิดประมูลแล้ว ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าห้องเซิร์ฟเวอร์ระบบโดยเด็ดขาด และให้ล็อคประตูไว้ จนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้น และจะเข้าห้องดังกล่าวได้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นเท่านั้น พร้อมกับยืนยันว่า กระบวนการประมูลแบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลางทำอย่างโปร่งใส และยุติธรรม
อ่านประกอบ :
ผ่าปฏิบัติการซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ดีเอสไอล่าตัว‘มือมืด’-กรมบัญชีกลางไม่รู้?
ดีเอสไอสาวลึกปมซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ยึดแล้ว 58 ล.-กรมบัญชีกลางยันโปร่งใส