- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ผ่าปฏิบัติการซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ดีเอสไอล่าตัว‘มือมืด’-กรมบัญชีกลางไม่รู้?
ผ่าปฏิบัติการซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ดีเอสไอล่าตัว‘มือมืด’-กรมบัญชีกลางไม่รู้?
"...มีผู้บริหารภายในกรมบัญชีกลางที่ถือพาสเวิร์ดในการดูรายละเอียดตอนประมูล e-bidding อย่างน้อย 2 ราย โดยเป็นพาสเวิร์ดไว้ดูรายละเอียดการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขเซิร์ฟเวอร์ได้ ส่วนเวลาเปิดประมูลวิธี e-bidding สามารถส่งต่อพาสเวิร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ทราบได้หรือไม่นั้น กรมบัญชีกลาง ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้เป็นทางการรวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่ถือพาสเวิร์ดใหญ่ที่ใช้แก้ไข หรือปรับปรุงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ คือ บริษัทเอกชนที่เข้ามาสร้างเซิร์ฟเวอร์ ด้วย? ..."
เป็นอีกประเด็นใหญ่ที่กระเทือนทุกกระทรวง ทบวง กรม ?
กรณีต้นเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) บุกจับกุมผู้ถูกกล่าวหาลักลอบซื้อขายข้อมูลการประกวดราคาโครงการต่าง ๆ ของรัฐผ่านระบบ e-bidding หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ซื้อพาสเวิร์ด e-bidding ที่ จ.ยโสธร รายหนึ่ง ซึ่งมีพฤติการณ์ซื้อรายชื่อบริษัทที่ยื่นซองประกวดราคาผ่านกรมบัญชีกลาง และโทรเสนอเงินให้บริษัทต่าง ๆ ร่วมกันฮั้วประมูล หากบริษัทใดร่วมจะได้รับส่วนแบ่ง แต่ถ้าบริษัทที่ยื่นซองไม่ร่วมฮั้ว ในวันประมูลจะมีผู้เข้ารหัส e-bidding โทรมาแจ้งบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในโครงการนั้น ๆ แก่ผู้ต้องหา เพื่อให้ข้อมูลกับบริษัทที่ดีลเอาไว้แล้ว เข้าประมูลในราคาต่ำสุดได้
เบื้องต้น ผู้ถูกกล่าวหารายนี้ยังให้การปฏิเสธ แต่ดีเอสไอดำเนินการอายัดทรัพย์สินไปแล้วประมาณ 58 ล้านบาท เนื่องจากพบว่า อาจได้มาจากการกระทำความผิดกรณีนี้
(อ่านประกอบ : ดีเอสไอสาวลึกปมซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ยึดแล้ว 58 ล.-กรมบัญชีกลางยันโปร่งใส)
ขณะที่ล่าสุด มีแหล่งข่าวจากบริษัทเอกชนบางรายที่เคยเข้าร่วมประกวดราคาโครงการต่าง ๆ ผ่านระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ให้ข้อมูลสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า อาจมีบางบริษัทดีลงานกับ ‘ตัวกลาง’ ที่สามารถทราบรหัสในการประมูลโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐในระบบ e-bidding ได้ ทำให้มีเอกชนหลายแห่งไม่สามารถประมูลงานได้ตามกระบวนการ เพราะต่อให้เสนอราคาไปเท่าไหร่ เอกชนที่ดีลกับตัวกลางไว้ก็สามารถทราบราคา และเคาะราคาให้ต่ำกว่าตลอด จนคว้างานดังกล่าวไป
นอกจากนี้ในขั้นตอนการประมูลปกติ เอกชนเกือบทุกแห่ง มักเสนอราคากันช่วงก่อนปิดประมูล คือช่วง 15.00-16.00 น. แต่หากเอกชนรายใดไม่ได้ดีลงานกับตัวกลางไว้ จะไม่สามารถเสนอราคาช่วงเย็น หรือช่วงท้ายการประมูลได้ เบื้องต้นมีเอกชนบางรายทำหนังสือขอความเป็นธรรม และขอให้กรมบัญชีกลางชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว แต่ปัจจุบันยังมีคำชี้แจงแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการประมูลแบบ e-bidding พบว่า เริ่มดำเนินการเปิดใช้ตั้งแต่หลังวันที่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นมา โดยสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าเป็น ‘ไอเดีย’ ของ นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งระบบ e-bidding ดังกล่าว เป็นวิธีการซื้อหรือการจ้างที่มีรายละเอียดคุณลักษณะที่มีความซับซ้อน หรืองานก่อสร้างที่ต้องใช้ความประณีตเป็นพิเศษ โดยใช้วิธีให้เอกชนยื่นประกวดราคาผ่านทางระบบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง โดยรัฐบาลคาดหวังว่าระบบนี้สามารถขจัดการรั่วไหลของงบประมาณภาครัฐให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรมได้มากยิ่งขึ้น
ขั้นตอนการประมูลวิธี e-bidding คือ เปิดโอกาสให้เอกชนสามารถดำเนินการยื่นซองเสนอราคาผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์กลางที่เปิดไว้ดำเนินการ e-bidding โดยเฉพาะ เท่าที่ทราบขณะนี้กรมบัญชีกลางอ้างว่า มีอยู่เครื่องเดียว เพื่อใช้ดำเนินการทั่วประเทศ
และไม่มีการระบุว่า มีเจ้าหน้าที่กี่รายที่ดำเนินการในเรื่องนี้
ทั้งนี้กรมบัญชีกลาง ได้ออกคำสั่งเวียนภายในเกี่ยวกับวิธีการประมูลแบบ e-bidding ถ้าเปิดประมูลไปแล้ว ห้ามเจ้าหน้าที่เข้าห้องเซิร์ฟเวอร์โดยเด็ดขาด และให้ล็อคประตูไว้ จนกว่าการประมูลจะเสร็จสิ้น และโดยมากเจ้าหน้าที่จะมาเข้าไปในห้องดังกล่าวได้ในช่วงเช้าอีกวันหนึ่งหลังการประมูลเสร็จสิ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งหนึ่ง ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า มีผู้บริหารภายในกรมบัญชีกลางที่ถือพาสเวิร์ดในการดูรายละเอียดตอนประมูล e-bidding อย่างน้อย 2 ราย โดยเป็นพาสเวิร์ดไว้ดูรายละเอียดการประมูลเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขเซิร์ฟเวอร์ได้
ส่วนเวลาเปิดประมูลวิธี e-bidding สามารถส่งต่อพาสเวิร์ดให้กับเจ้าหน้าที่ทราบได้หรือไม่นั้น กรมบัญชีกลาง ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้เป็นทางการ
รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ที่ถือพาสเวิร์ดใหญ่ที่ใช้แก้ไข หรือปรับปรุงเครื่องเซิร์ฟเวอร์ คือ บริษัทเอกชนที่เข้ามาสร้างเซิร์ฟเวอร์ ด้วย?
ล่าสุด มีรายงานความคืบหน้าว่า ดีเอสไอ ได้ทำหนังสือขอให้กรมบัญชีกลางชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และขอติดตั้งระบบตรวจสอบเครื่องเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าวแล้ว แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่
หลังปรากฎข้อมูลเชิงลึกว่า การกระทำเหล่านี้ทำกันเป็นขบวนการ โดยเริ่มมาตั้งแต่ระบบ e-bidding เปิดใช้ใหม่ ๆ และมีหลายหน่วยงานภาครัฐที่ใช้วิธีนี้ในการประมูลเกือบทุกวัน ซึ่งในช่วงเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา อาจมีการซื้อขายพาสเวิร์ดไปแล้วไม่รู้กี่ร้อยครั้ง และมีการจ่ายเงินในการร่วมฮั้วประมูล หรือซื้อพาสเวิร์ดไปแล้วจำนวนไม่นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ ‘ปลาใหญ่’ ยัน ‘ปลาเล็ก’
พร้อมยืนยันว่า มีความไม่ชอบมาพากลในการซื้อขายพาสเวิร์ดในระบบ e-bidding อย่างแน่นอน และกำลังล่าตัว ‘มือมืด’ ที่เป็นตัวการใหญ่ของเรื่องอยู่
และเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่กรมบัญชีกลาง จะต้องออกมาชี้แจงให้สังคมรับทราบโดยเร็ว
ว่าแท้จริงแล้ว ระบบ e-bidding มีช่องโหว่ในกระบวนการทำงาน จนกลายเป็นช่องว่างให้กลุ่มคนที่ไม่หวังดี เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ได้จริงหรือไม่?