ดีเอสไอสาวลึกปมซื้อขายพาสเวิร์ด e-bidding ยึดแล้ว 58 ล.-กรมบัญชีกลางยันโปร่งใส
ดีเอสไอยันมีทุจริตการซื้อขายพาสเวิร์ดให้เอกชนเสนอราคาวิธี e-bidding จริง อยู่ระหว่างขยายผลจากการจับกุมที่ภาคอีสาน เบื้องต้นอายัดทรัพย์แล้ว 58 ล้าน ด้านกรมบัญชีกลางยัน จนท. ทุกคนโปร่งใส ช่วงประกวดราคาไม่อนุญาตให้ใครเข้าห้องเซิร์ฟเวอร์ได้
จากกรณีเมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สนธิกำลังบุกจับกุมผู้ลักลอบซื้อขายข้อมูลการประกวดราคาโครงการต่าง ๆ ของรัฐผ่านระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลาง ที่ จ.ยโสธร โดยเป็นการขยายผลสืบเนื่องจากการสอบสวนของ พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม พบพฤติการณ์เบื้องต้นคือ ผู้ต้องหาจะซื้อรายชื่อบริษัทที่ยื่นซองประกวดราคาผ่านกรมบัญชีกลาง และโทรเสนอเงินเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ร่วมฮั้วประมูล หากบริษัทใดร่วมจะได้รับส่วนแบ่ง แต่ถ้าบริษัทที่ยื่นซองไม่ร่วมฮั้ว ในวันประมูลจะมีผู้ที่เข้ารหัส e-bidding โทรมาแจ้งบริษัทที่เสนอราคาต่ำสุดในโครงการนั้น ๆ ให้แก่ผู้ต้องหา เพื่อให้บริษัทที่ดีลกับผู้ต้องหาไว้ เข้าไปประมูลในราคาต่ำที่สุดได้ อย่างไรก็ดีผู้ต้องหารายดังกล่าวยังให้การปฏิเสธ
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้ากรณีนี้ว่า เบื้องต้นดีเอสไอยึดทรัพย์ผู้ต้องหาไปแล้วประมาณ 58 ล้านบาท เนื่องจากพบว่า มีเงินไหลเวียนในบัญชีของผู้ต้องหาที่อาจได้มาจากการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ดียืนยันว่า มีพฤติการณ์ทุจริตในการซื้อขายพาสเวิร์ดในระบบ e-bidding ของกรมบัญชีกลางจริง แต่จากการสอบสวนของดีเอสไอยังไม่สามารถระบุรายละเอียดได้ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างขยายผลการสอบสวนไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายพาสเวิร์ด รวมถึงเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาวิ่งเต้นในกรณีนี้
รายงานข่าว ระบุอีกว่า นอกจากนี้ดีเอสไอ ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีนี้แล้ว แต่กรมบัญชีกลางยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ในกรมบัญชีกลางทุกราย ทำหน้าที่อย่างโปร่งใส และยุติธรรม นอกจากนี้เซิร์ฟเวอร์ของกรมบัญชีกลางที่ทำ e-bidding มีเพียงเครื่องเดียว และในช่วงเสนอราคากันนั้น มีข้อสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปในห้องดังกล่าวเด็ดขาด จนกว่าจะประกวดราคาแล้วเสร็จ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจากเอกชนบางรายที่เข้าร่วมประกวดราคาในระบบ e-bidding ว่า อาจมีการซื้อขายพาสเวิร์ดเพื่อเข้ารหัสถึงการประกวดราคาในระบบ e-bidding ด้วย
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ พ.ต.อ.ดุษฎี ระบุว่า พฤติการณ์ในคดีนี้ คือ ผู้ต้องหาต้องทราบถึงผู้เข้าระบบกรมบัญชีกลาง หรือเจาะข้อมูล e-bidding ของกรมบัญชีกลางได้ เพราะบริษัทผู้ร่วมประกวดราคาไม่มีทางทราบราคา หรือบริษัทคู่แข่งเองได้ เบื้องต้นตรวจสอบพบว่า ผู้ต้องหาได้ส่วนแบ่งจากการฮั้วประมูลโครงการละ 1% และนำไปแบ่งให้กับผู้ขายข้อมูลของกรมบัญชีกลางคนละครึ่ง โดยมีการทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2558 เบื้องต้นที่พบเป็นโครงการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทางหลวงชนบท รวมถึงการก่อสร้างโรงพยาบาล แต่ละเดือนผู้ต้องหารายนี้มีเงินหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านบาท (อ้างอิงจาก สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ออนไลน์)