3 ปมเงื่อนที่ยังไม่ชัดเจน กรณีจัดซื้อฝูง ฮ.AW 12 ลำ 9 พันล.?
ขมวดกองทัพบกจัดซื้อ ฮ.AW 12 ลำ ช่วง ปี 55-60 ประมาณ 9 พันล. จาก บ.AGUSTAWESTLAND 3 ปมเงื่อนหลักที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน ?
การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไปทางธุรการและขนส่งแบบ AW ของกองทัพบกที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2560 จนถึงขณะนี้ มีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่า
1.กองทัพบกได้ทำสัญญาจัดซื้อ ฮ.AW 139 2 ลำแรก ได้แก่ หมายเลข 31520 และ 31525 จัดซื้อจากบริษัท AGUSTAWESTLAND S.p.A. สาธารณรัฐอิตาลี เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2555 วงเงิน 43,548,387.10 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท ตามสัญญาส่งมอบภายใน 530 วัน หรือ 11 มี.ค. 2557
2.วันที่ 28 ก.ค. 2557 จัดซื้ออีก 2 ลำ ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ขณะเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) รับคำสั่ง ผบ.ทบ. อนุมัติจัดซื้อเมื่อ 28 ก.ค. 2557 วงเงิน 1,474 ล้านบาท หรือประมาณ 46,062,500 เหรียญสหรัฐ กำหนดเวลาส่งมอบไม่เกิน 900 วัน ได้รับการส่งมอบ ฮ.ทั้งสองลำมาประจำการเรียบร้อยแล้ว (โดยใช้งบประมาณของสำนักนายกรัฐมนตรีแต่กองทัพบกบำรุงรักษาดูแล)
3.การจัดซื้อ AW 139 2 ลำแรก นั้น บริษัท AGUSTAWESTLAND S.p.A. สาธารณรัฐอิตาลี ส่งชิ้นส่วนล่าช้าเกินกว่ากำหนดในสัญญา 5 ครั้งรวด 6-255 วัน และกองทัพบกได้ทำหนังสือแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับ กรณีผิดสัญญาส่งมอบของล่าช้าเกินกำหนดเวลาในสัญญา
4.การจัดซื้อ ฮ.AW 2 ลำที่ใช้งบประมาณของสำนักนายกฯ มีราคาแพงกว่า 2 ลำแรก ประมาณ 2,514,113 เหรียญสหรัฐ หรือราว 124 ล้านบาท ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกชี้แจงผ่านไลน์ว่า เป็นการจัดซื้อพร้อมแพ็คเกจ การฝึกนักบิน และช่าง, ชิ้นส่วนซ่อมควบคู่, เครื่องมือซ่อมบำรุง และ บริภัณฑ์ภาคพื้น (TOTAL PACKAGE) และมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับบุคคลสำคัญ ทำให้ราคาสูงกว่าประมาณ
ขณะที่ มีข้อมูลเครื่องเคียงระบุว่า ผู้บริหารของ AgustaWestland ถูกเจ้าหน้าที่อิตาเลียนจับกุมพร้อมด้วยนายจูเซปเป้ ออร์ซี่ ประธานบริษัทแม่ ด้วยข้อหาติดสินบนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอินเดียเกือบ 3,600 ล้านรูปีกรณีซื้อขายเฮลิคอปเตอร์รุ่นAW101 จำนวน 12 ลำ กับกองทัพอากาศอินเดีย เพื่อใช้ในภารกิจขนส่งบุคคลระดับสูงและภารกิจอื่น ๆ รวมเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นห้าพันล้านรูปี (แต่กรณีของประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว)
ข้อมูลที่ยังเป็นปริศนาในขณะนี้คือ
1.การจัดซื้อ ฮ.AW 139 จำนวน 6 ลำ มีข้อมูลว่าจัดซื้อในช่วงปี 2559-2560 และการจัดซื้อ ฮ. AW 149 จำนวน 2 ลำก็จัดซื้อในปี 2559 เช่นเดียวกัน รวม 2 รุ่น 8 ลำ มีความเป็นมาอย่างไร ? มีการจัดซื้อในราคาเท่าไหร่ ใช้งบประมาณจากส่วนไหน ?
2.การจัดซื้อลอตหลัง นั้น เป็นแบบเอาของมาก่อน แพ็กเกจความพร้อมในการฝึกนักบินค่อยดำเนินการทีหลัง จริงหรือไม่ ?
3.ฮ.AW 139 อย่างน้อย 3 ลำ ได้แก่ หมายเลข 41520, 41522 และ 41523 อยู่ระหว่างงดบินไม่มีกำหนด เนื่องจากชิ้นส่วนชำรุด ต้องรอชิ้นส่วน ทั้งที่ มีชั่วโมงบินเพียง 115.6 ,58.9 และ 32.10 ตามลำดับ
น่าสังเกตว่า มีชั่วโมงบินไม่มาก เหตุไฉนถึงมีปัญหารอชิ้นส่วน หรือเป็นการบำรุงซ่อมตามวงรอบระยะเวลา ?
หากคำนวณงบประมาณในการจัดซื้อ AW 139 จำนวน 10 ลำ (กรณีที่จัดซื้อมาแล้วทั้งหมด) บนพื้นที่ฐาน ราคาลำละประมาณ 700 ล้านบาท (อ้างอิงราคา 2 ลำปี 2557) เป็นเงินรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท จำแนกเป็นจัดซื้อปี 2555 และ 2557 จำนวน 4 ลำ และปี 2559-2560 จำนวน 6 ลำ ไม่รวม AW 149 อีก 2 ลำ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า 139 ทำให้มีราคาสูงกว่าแบบ 139 เบ็ดเสร็จ 12 ลำ คร่าว ๆ ประมาณ 9 พันล้าน หรือเกือบหมื่นล้านบาท
เห็นได้ว่างบประมาณจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ต้องตระหนักถึงจำเป็นต้องอธิบายต่อสาธารณะให้ชัดเจนหรือไม่ ?
อ่านประกอบ:
ปริศนา! ฮ.AW 8 ลำ โผล่มาได้อย่างไร?
บ.ขาย ฮ.AW139 มีคดีติดสินบน จนท.ระดับสูงอินเดีย 3,600 ล.รูปี ก่อนโผล่ไทย
โฆษก ทบ.ยันสำนักนายกฯซื้อ ฮ.AW 1.4 พันล.ตามระเบียบ-เพิ่มอุปกรณ์วีไอพี
ฮ.AW สำนักนายกฯ พล.อ.ฉัตรชัยอนุมัติ 2 ลำ 1,474 ล. หลังรัฐประหาร 65 วัน
จัดซื้อ 12 ลำ ฮ.AW ทบ.- รุ่น 139 ล่าสุด บินได้ 5 - งด 5 ‘รอชิ้นส่วน-ซ่อมบำรุง’
อ้างหนังสือลับมาก ผบ.ทบ. ก่อนเคาะซื้อ ฮ.AW 139 2 ลำ 1.3 พันล.
ละเอียดยิบ! หนังสือ ทบ.เรียกค่าปรับ บ.ผู้ขาย ฮ. AW 139 2 ลำ ทำผิดสัญญา
บ.ออกุสตาฯ ผู้ขาย ฮ.AW 139 ทบ. 2 ลำ ส่งมอบชิ้นส่วนล่าช้า 5 ครั้งรวด
เปิดสัญญา ฮ.AW 139 ทบ. 2 ลำ ปี 55 ส่งมอบใน 530 วัน-จ่ายเงินหมดแล้ว
โฆษก ทบ.รับเอกสาร AW 139 อิศรา ของจริง-ยันเป็นบันทึกส่งผู้บังคับบัญชา แค่อาจงดบิน
เปิดเอกสารชัด! ฮ. AW 139 ทบ. 2 ลำ งดบิน-มีปัญหาขัดข้องเคลมอะไหล่
โฆษก ทบ.ยัน100% ฮ.AW 139 ไม่เคยเสีย-ใช้งานปกติ หวั่นผู้ไม่หวังดีขยายผลโจมตี
ใช้งานปีเดียวจอดในโรงซ่อม! เฮลิคอปเตอร์ AW 139 ทบ. 2 ลำ 1.3 พันล.