เจาะมาตรการ 3 บิ๊กทีวีดิจิทัล ฝ่ามรสุมวิกฤตเศรษฐกิจสื่อ
"..ช่อง ทีเอ็นเอ็น ได้รับโจทย์จากฝ่ายบริหารของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องลดรายจ่ายให้ได้ 30 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ โดยเหลือเวลาอีก 6 เดือนก่อนสิ้นปี คำนวณคร่าวๆช่อง ทีเอ็นเอ็น จะต้องลดรายจ่ายอย่างต่ำเดือนละ 4-5 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทแม่ได้ให้โจทย์ไว้.."
วงการสื่อสารมวลชนเข้าสู่ช่วงผ่าตัดใหญ่อีกครั้ง เพื่อปรับสภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านสื่อที่เริ่มหันมาจำกัดจำนวนพนักงานมากขึ้น ส่งผลให้องค์กรขนาดใหญ่ต้องออกโครงการสมัครใจให้พนักงานลาออกมาแล้วหลายแห่ง
อีกทั้งบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่เริ่มหันมองหา “นายทุนรายใหม่” ให้เข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์ด้านการเงิน เพื่อให้ตัวเองยังสามารถประกอบกิจการได้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงรวบรวมสถานการณ์ล่าสุดของ 3 บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่มาประมวลให้รับทราบ เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับคนในวงการสื่อสารชน
บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) :
มีข่าวลือหนาหูว่าจะมี “นายทุนยักษ์ใหญ่” เข้ามาเพิ่มทุน เพื่อสิทธิในการบริหารสื่อในเครือเนชั่นทั้งหมด จนกระทั่งวันที่ 14 มิถุนายน มีไลน์หลุดส่งต่อกันว่ามีการเจรจาปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และเจรจาขายช่องทีวีดิจิตอล ช่อง Now 26
ซึ่งการปิดหนังสือพิมพ์คมชัดลึกนั้น อยู่ระหว่างการเจรจา อาจจะปิดหรือไม่ปิดก็ได้ โดยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ “นายทุน” กลุ่มใหม่ด้วย ขณะที่ช่อง Now 26 ค่อนข้างชัดเจนว่าจะถูกขายให้กับกลุ่มทุนบีทีเอส โดยมีโมเดลจะนำไปเป็นช่องสารคดีแทน
ส่วนกระแสปรับลดพนักงานจากเดิมที่เนชั่น ทีวี มีพนักงาน 400 คน ช่อง Now ทีวีมีพนักงาน 143 คน รวมมีพนักงาน 543 คน ฝ่ายบริหารต้องการให้เหลือแค่ 300 ยังอยู่ในช่วงตัดสินใจ โดยมีโมเดลดึงพนักงานจาก ช่อง Now ทีวี มาทำงานร่วมกับช่องเนชั่น ทีวี โดยอาจจะใช้รูปแบบดึงพนักงานจากช่อง Now ทีวี มาทำช่วงรายการล่าความจริงต่อ
ขณะที่ข่าวคราวการเปิดโครงการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจรอบที่ 3 โดนคอนเฟิร์มจากการประชุมของผู้บริหารเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ได้ประกาศโครงการเออรี่รีไทร์ โดยจะจ่ายชดเชยพนักงาน ดังนี้ อายุงานต่ำกว่า 10 ปี จ่ายตามกฎหมาย, อายุงาน 10-15 ปีจ่าย 12 เดือน, อายุงาน 15-20 ปี จ่าย 13 เดือน, อายุงาน 20 ปีขึ้นไปจ่าย 15 เดือน
ทั้งนี้ การเปิดเออรี่รีไทร์ครั้งนี้พนักงานจะได้รับเงินชดเชยน้อยกว่าครั้งก่อน 1 เดือน ทำให้ทางสหภาพต่อรองให้ทางผู้บริหารจ่ายเงินชดเชยเท่าครั้งก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องรอติดตามว่าสุดท้ายแล้วการจ่ายชดเชยจะได้ตามที่สหภาพเรียกร้องหรือไม่ ทั้งนี้พนักงานสามารถยื่นความจำนงเข้าโครงการเออรี่รีไทร์ได้ภายในวันที่ 16-30 มิถุนายน มีผลระหว่างวันที่ 16-30 กรกฎาคม
ซึ่งความเคลื่อนไหวของเครือเนชั่น หากติดตามข่าวสารจะพบว่าการเปิดโครงการเออรี่รีไทร์ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มทุนครั้งใหญ่ โดย “นายทุนรายใหม่” จะเข้ามามีบทบาทในการปรับโครงการสร้างของบริษัทในเครือทั้งหมดว่าจะจัดให้อยู่ในรูปแบบใด โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ควบรวมบริษัทในเครือทั้งหมด ให้เหลือเพียงบริษัทเดียว เพื่อจะได้บริหารให้สอดคล้องกันในทิศทางเดียวกัน
ช่อง ทีเอ็นเอ็น :
การบริหารงานของช่อง ทีเอ็นเอ็น จะอิงจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทแม่ โดยจะมีการจ้างงานอยู่ 2 รูปแบบคือ พนักงานประจำ และพนักงานชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) ซึ่งพนักงานของช่อง ทีเอ็นเอ็น ก่อนจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานประจำต้องผ่านการจ้างงานรูปแบบฟรีแลนซ์ทุกคน ซึ่งไม่มีการระบุว่าจะต้องผ่านโปรจำนวนกี่เดือนถึงจะปรับให้เป็นพนักงานประจำ โดยจะให้ขึ้นอยู่กับหัวหน้างานที่จะต้องเสนอชื่อพนักงานฟรีแลนซ์ให้ผู้บริหารอนุมัติปรับให้เป็นพนักงานประจำ
ทั้งนี้ พบว่าระยะเวลาที่พนักงานฟรีแลนซ์จะถูกปรับให้เป็นพนักงานประจำ อย่างน้อยจะเป็นการจ้างงานรูปแบบฟรีแลนซ์อยู่ 7 เดือน โดยมีพนักงานที่ถูกจ้างรูปแบบฟรีแลนซ์บางคนต้องทำงานถึง 3 ปี ก่อนจะถูกปรับให้เป็นพนักงานประจำ ในส่วนของการจ่ายเงินเดือนพนักงานฟรีแลนซ์จะมีเงินโอนเข้าบัญชีตามที่ตกลงกันไว้ทุกเดือน แต่จะไม่ได้รับเงินค่าสวัสดิการอื่น ไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือน ไม่มีประกันสังคม หากพนักงานฟรีแลนซ์อยากมีประกันสังคมก็ต้องไปดำเนินการเองทั้งหมด
โดยช่อง ทีเอ็นเอ็น ได้รับโจทย์จากฝ่ายบริหารของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องลดรายจ่ายให้ได้ 30 ล้านบาท ภายในสิ้นปีนี้ โดยเหลือเวลาอีก 6 เดือนก่อนสิ้นปี คำนวณคร่าวๆช่อง ทีเอ็นเอ็น จะต้องลดรายจ่ายอย่างต่ำเดือนละ 4-5 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ได้ตามเป้าหมายที่บริษัทแม่ได้ให้โจทย์ไว้
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า ทางผู้บริหารของช่อง ทีเอ็นเอ็น แจ้งกับพนักงานว่าช่วงสิ้นเดือนมิถุนายน จะเลิกจ้างพนักงานฟรีแลนซ์จำนวน 9 คน จากพนักงานฟรีแลนซ์ทั้งหมดกว่า 110 คน โดยอาจจะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยให้ เนื่องจากไม่ถือว่าเป็นพนักงานประจำที่จะต้องอยู่ในความดูแลของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าภายในเดือนมิถุนายนจะเลิกจ้างพนักงานฟรีแลนซ์ 9 คนแล้ว จะไม่มีการเลิกจ้างพนักงานฟรีแลนซ์อีก ขณะที่การจ่ายเงินที่ผ่านมา ก็ไม่มีสลิปเงินเดือนด้วย
ส่วนก่อนหน้านี้ช่อง ทีเอ็นเอ็น ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมาแล้ว โดยเริ่มจากค่าล่วงเวลาที่ปรับลดในช่วงต้นปี 2560 ที่ไม่จ่ายเงินให้กับพนักงานที่ทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้จะจ่ายเงินให้กับพนักงานที่ทำงานวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน โดยคำนวณจากฐานเงินเดือน แต่ทางผู้บริหารจะให้พนักงานที่ทำงานวันหยุดไปเลือกหยุดวันอื่นแทน และในช่วงประมาณช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ได้ขอความร่วมมือขอไม่ให้เบิกเงินค่าล่วงเวลา หากจำเป็นจริงๆก็จะต้องผ่านการอนุมัติจากหัวหน้างานและกระบวนการต่างๆ ก่อนที่จะได้อนุมัติค่าล่วงเวลา
นอกจากนี้ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้วยการออกประกาศไม่ให้พนักงานเบิกค่ารถเดินทางสำหรับคนเลิกงานหลัง 4 ทุ่ม ซึ่งปกติสามารถเบิกได้วันละ 150 บาท หนึ่งเดือนสามารถเบิกได้คนละ 3-4 พันบาท แต่สำหรับพนักงานที่เงินเดือนไม่ถึง 20,000 บาท สามารถเบิกได้ตามเกณฑ์เดิม โดยประกาศไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม
ที่สำคัญได้ปรับลดค่าข่าวจากผู้สื่อข่าวต่างจังหวัด (สติงเกอร์) ทั่วประเทศ จากเดิมกำหนดให้กองบรรณาธิการสามารถเบิกจ่ายเงินให้กับสติงเกอร์ทั่วประเทศได้เดือนละ 4-5 แสน เพื่อตอบโจทย์สถานีข่าว 24 ชั่วโมง ที่ต้องการปริมาณข่าวจากต่างจังหวัดจำนวนมาก แต่ขณะนี้มีนโยบายให้ปรับลดการเบิกจ่ายเงินค่าข่าวให้สติงเกอร์ทั่วประเทศเหลือเดือนละ 2 แสนบาท ส่งผลกระทบให้สติงเกอร์ได้รับค่าข่าวน้อยลงครึ่งหนึ่ง
บริษัท ทริปเปิลวีบรอดคาสต์ จำกัด (ไทยรัฐทีวี) :
สถานการณ์ภายหลังประกาศให้พนักงานยื่นความจำนงเข้าโครงการลาออกโดยสมัครใจ โดยกำหนดให้พนักงานที่อายุงานไม่ครบ 1 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน, อายุงาน 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน, อายุงาน 3 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน, อายุงาน 6 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน และอายุงาน 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินช่วยเหลือเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หมดเขตไปเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2560
โดยปรากฏว่ามีพนักงานไปยื่นเข้าโครงการจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ทางไทยรัฐทีวีจะต้องประกาศโครงการอีกครั้งหนึ่ง โดยมีทางออก 2 ทางคือ 1.ขยายเวลาโครงการลาออกโดยสมัครใจออกไปอีก 2.มอบหมายให้หัวหน้าข่าว-หัวหน้าส่วนงาน คัดเลือกพนักงานในความดูแลออกจากการเป็นพนักงาน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของไทยรัฐทีวีที่ต้องการลดรายจ่ายให้น้อยลงท่ามกลางสถานการณ์ที่รายได้จากโฆษณายังเข้ามาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งหมดคือสถานการณ์ล่าสุดของวงการสื่อสารมวลชน ที่ยังอยู่ในภาวะสั่นคลอน แทบจะไม่มี "บริษัทสื่อ" สำนักใดที่ไม่ปรับโครงสร้าง เพื่อลดรายจ่ายเลยแม้แต่บริษัทเดียว
อ่านประกอบ:
เนชั่นประกาศ 'เออรี่ รีไทร์' ล๊อต 3-จ่ายสูงสุด 15 เดือน
เบื้องลึก! ไทยรัฐทีวีลด พนง.-ปิดเนชั่นสุดสัปดาห์-นสพ.บอลปลดคนฟ้าแลบ
ไทยรัฐทีวี เออรี่รีไทร์ ตั้งเป้า 15%-ให้เวลาสมัคร 20 วัน
ขาดทุน-ปลดคน-เลิกช่อง! บทเรียนสะท้อนทีวีดิจิตอลสะเทือนวงการสื่อ?
'วอยซ์ ทีวี' ปลดพนักงาน 57 คน อ้างปรับโครงสร้างองค์กร
ช็อควงการสื่อ! สปริงนิวส์ปลดฟ้าผ่า 'นักข่าว-ช่างภาพ' ครึ่งร้อย
วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน
สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'