- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- ขาดทุน-ปลดคน-เลิกช่อง! บทเรียนสะท้อนทีวีดิจิตอลสะเทือนวงการสื่อ?
ขาดทุน-ปลดคน-เลิกช่อง! บทเรียนสะท้อนทีวีดิจิตอลสะเทือนวงการสื่อ?
“…สาเหตุสำคัญที่ทำให้แต่ละช่องมีโฆษณาเข้ามาค่อนข้างน้อย หรือค่าโฆษณาราคาค่อนข้างถูกกว่าช่องฟรีทีวีนั้น เป็นเพราะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร เนื่องจาก ‘Content’ หรือเนื้อหาในรายการต่าง ๆ ของช่องทีวีดิจิตอล ที่ยังคงซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีอะไรแปลกใหม่…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ออกแถลงการณ์นโยบายปรับกลยุทธ์การบริหารและโครงสร้างองค์กรปี 2559 โดยปรับลดพนักงานลงจำนวน 57 อัตรา
โดยระบุว่า เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวการณ์แข่งขันอย่าง ‘สูงมาก’ ในธุรกิจทีวีดิจิตอล
(อ่านประกอบ : 'วอยซ์ ทีวี' ปลดพนักงาน 57 คน อ้างปรับโครงสร้างองค์กร)
นับเป็นรายที่สองแล้วในแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอล ที่ปรับลดพนักงานลง ตามหลังสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ และหากนับในแวดวงสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมถือว่าเป็นรายที่สาม ต่อจากสถานีโทรทัศน์ทีนิวส์
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ไล่เรียงไทม์ไลน์มาให้เห็น ดังนี้
หนึ่ง สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์
เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2558 ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์รายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า มีการปลดผู้สื่อข่าว ช่างภาพ ผู้ช่วยช่างภาพ และพนักงานอื่น ๆ จำนวนประมาณ 48 คน จากพนักงานกว่า 400 คน โดยเงื่อนไขจะจ่ายเงินชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ระหว่าง 3-6 เดือน และบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 1 เดือน
“ส่วนสาเหตุที่มีการปลดพนักงานออก นอกจากต้องการลดภาระของบริษัทที่มีผลประกอบการขาดทุน และต้องการปรับโครงสร้างการบริหารให้มีความกะทัดรัด และคล่องตัวมากขึ้น” ผู้บริหารรายนี้ ระบุ
ท่ามกลางกระแสข่าวขณะนั้นว่า สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลหลายแห่งมีผลประกอบการขาดทุนและภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมยังไม่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อกิจการของสถานีโทรทัศน์ในอนาคตมากยิ่งขึ้นอีกด้วย !
(อ่านประกอบ : ช็อควงการสื่อ! สปริงนิวส์ปลดฟ้าผ่า 'นักข่าว-ช่างภาพ' ครึ่งร้อย)
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เป็นของบริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ร่วมกับบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ 1998 จำกัด (มหาชน)) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2553 ทุนปัจจุบัน 200 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 333 อาคารเล้าเป้งง้วน 1 ชั้น 11 ซอยเฉยพ่วง ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. แจ้งประกอบธุรกิจงานโฆษณาสินค้าบริการทุกรูปแบบของการสื่อสาร
ปรากฎชื่อนายศุทธิชัย บุนนาค และ นายพรประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ มีบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นใหญ่สุด
แจ้งผลประกอบการธุรกิจ ปี 2557 ว่า มีรายได้จากการบริการ 100,202,106.29 บาท รวมรายได้อื่น 138,817,288.93 บาท รวมรายจ่าย 491,115,451.65 บาท
ขาดทุนสุทธิ 407,727,346.24 บาท
ส่วนปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 87,794,048.57 บาท รวมรายจ่าย 207,267,955.06 บาท ขาดทุนสุทธิ 142,760,455.85 บาท
สอง สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี
เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2559 นายพยุงศักดิ์ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ออกแถลงการณ์ เรื่อง นโยบายการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ในปี 2559 โดยปรับลดพนักงาน 57 อัตรา เพื่อให้องค์กรมีขนาดที่เหมาะสมต่อการทำงานในภาวะการแข่งขันอย่างสูงมากในธุรกิจทีวีดิจิตอล
ขณะเดียวกัน เตรียมจะแถลงข่าวถึงทิศทางนโยบายของสถานีโทรทัศน์ในวันที่ 29 ก.พ. 2559
ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี เป็นของบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2546 ทุนปัจจุบัน 2,310 ล้านบาท (เพิ่มทุนเป็น 2,310 ล้านบาท เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2557 จากทุนเดิม 810 ล้านบาท) ตั้งอยู่เลขที่ 414 ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. แจ้งประกอบธุรกิจผลิตรายการเพื่อออกอากาศทั่วไป
ปรากฏชื่อ นายพานทองแท้ ชินวัตร (บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย นายเฉลิม แผลงศร นายประทีป คงสิบ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (ปัจจุบันแต่งงานแล้ว) และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (บุตรสาวนายทักษิณ) ร่วมเป็นกรรมการด้วย
แจ้งรายได้เมื่อปี 2557 ระบุว่า มีรายได้จากการบริการ 106,916,623.52 บาท รายได้อื่น 10,406,523.12 บาท รวมรายได้ 117,323,146.64
ส่วนรายจ่ายแจ้งว่า มีต้นทุนบริการ 235,229,469.76 บาท ค่าใบอนุญาต 60,973,515.98 บาท ค่าใช้จ่ายในการขาย 37,556,374.30 บาท ค่าใช้จ่ายในการบริหาร 79,709,134.51 บาท รวมรายจ่าย 413,468,494.55 บาท
ขาดทุนสุทธิ 310,128,621.59 บาท
ขณะที่ผลประกอบการในช่วงปี 2556 แจ้งว่า มีรายได้รวม 157,261,307.28 บาท มีรายจ่ายรวม 289,953,144.45 บาท ขาดทุนสุทธิ 134,094,264.39 บาท
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากตัวเลขรายรับ-รายจ่าย ของ 2 บริษัทข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า อยู่ในเกณฑ์ ‘ขาลง’ และขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง 2 ปีซ้อน โดยวอยซ์ทีวีขาดทุนเมื่อปี 2557 กว่า 310 ล้านบาท ส่วนสปริงนิวส์ขาดทุนเมื่อปี 2557 กว่า 407 ล้านบาท
และนี่หากไม่นับเฉพาะในแวดวงทีวีดิจิตอล ยังมีสถานีโทรทัศน์อีกแห่งที่เพิ่งปรับลดพนักงานออกเมื่อช่วงปลายปี 2558 นั่นคือ สถานีโทรทัศน์ทีนิวส์
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2558 นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้บริหารสำนักข่าวทีนิวส์ ออกแถลงการณ์ขอโทษพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการปลดพนักงานในส่วนของช่างภาพวีดีโอ ตัดต่อ ออกจำนวนกว่า 40 คน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัท
สำหรับสาเหตุสำคัญที่สถานีโทรทัศน์ทีนิวส์ต้องปรับพนักงานออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล มีปัญหาขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท ทำให้ต้องยอดตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต
"วันนี้ผมต้องขอโทษพวกเราทุกคนในชีวิตของลูกผู้ชายน้ำตาไม่เคยหลั่งไหลก็ต้องหลั่งไหลลงด้วยความเจ็บปวด ที่ไม่มีความสามารถพอที่จะนำพาพวกเราให้ก้าวเดินไปด้วยกันได้จนถึงที่สุด" นายสนธิญาณ ระบุ
(อ่านประกอบ : ด่วน!ทีนิวส์สั่งปลดพนง. 40 คน สนธิญาณ หลั่งน้ำตาขอโทษ แบกหนี้ 100 ล. )
ปัญหาในแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอล ยังไม่หมดแค่เพียงเรื่องการขาดทุนหนักจนต้องปลดคนออกเท่านั้น แต่สาหัสถึงขั้นต้องขอ ‘คืนช่อง’ กันเลยทีเดียว !
หากใครยังจำกันได้ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือ ‘เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทยทีวี จำกัด ได้ชนะการประมูลทีวีดิจิตอล 2 ช่อง ได้แก่ ช่องข่าว THV และช่องเด็ก LOCA
อย่างไรก็ดีต่อมาเกิดสารพัดปัญหาทั้งเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจไม่ลงตัวในช่องข่าว พยายามหาพันธมิตรใหม่แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้กลางปี 2558 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ทำหนังสือถึงสำนักงานกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
แจ้งยกเลิกประกอบกิจการทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่อง พร้อมขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ในกรณีที่ กสทช. ไม่ดำเนินการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ ‘เจ๊ติ๋ม’ เปิดใจว่า การดำเนินธุรกิจในทีวีดิจตอลในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทขาดทุนเป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท จึงตัดสินใจยกเลิกประกอบกิจการ และไม่จ่ายเงินงวดที่สองกว่า 288 ล้านบาทให้กับ กสทช. รวมทั้งยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองแล้ว
อย่างไรก็ดี กสทช. ได้ออกคำสั่งถึงบริษัท ไทยทีวี จำกัด กรณีมีมติเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอลจำนวน 2 ช่องของ ‘เจ๊ติ๋ม’ โดยเรียกเก็บหลักทรัพย์ค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ที่ทำไว้กับธนาคารกรุงเทพ เป็นเงินกว่า 1,748 ล้านบาท แล้ว โดยฝั่ง ‘เจ๊ติ๋ม’ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน โดยศาลนัดไต่สวนนัดแรก ในวันที่ 23 ก.พ. 2559
ทั้งหมดคือสารพัดปัญหาในแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอล ที่ยังคงไม่เติบโต และเกิดการขาดทุนอย่างหนักในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้หลักของบรรดาธุรกิจทีวีดิจิตอลคือค่าโฆษณา ?
ทว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แต่ละช่องมีโฆษณาเข้ามาค่อนข้างน้อย หรือค่าโฆษณาราคาค่อนข้างถูกกว่าช่องฟรีทีวีนั้น เป็นเพราะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าที่ควร เนื่องจาก ‘Content’ หรือเนื้อหาในรายการต่าง ๆ ของช่องทีวีดิจิตอล ที่ยังคงซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีอะไรแปลกใหม่
นี่ยังไม่นับรายการข่าว ที่แทบไม่แตกต่างอะไรกับช่องฟรีทีวี และแทบไม่นำเสนอเนื้อหาประเด็นแหลมคม หรือประเด็นผลประโยชน์สาธารณะ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ประชาชนจะเบื่อ และไม่จำเป็นต้องแสวงหาช่องใหม่ ๆ ในการชม
เชื่อได้ว่าแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอลคงจะรู้ปัญหาและสาเหตุกันอยู่แล้ว แต่จะปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นหรือไม่
ช่องไหนจะ ‘ล้ม’ ช่องไหนจะ ‘ยืนหยัด’ อยู่ได้บ้าง ต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : สำรวจอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลล่าสุด "GMM-MONO-AMARIN" ขาดทุน"ตัวแดง" พรึบ!