- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'
สำรวจ 'ทางเลือก-ทางรอด' ค่ายสื่อ ยุควิกฤตศก.พ่นพิษ! นักวิชาการชี้รุนแรงกว่า 'ต้มยำกุ้ง'
“..วิกฤตสื่อครั้งนี้ เชื่อว่ารุนแรงกว่าสมัย “ต้มยำกุ้ง” เพราะคราวนั้น สื่อล้มเพราะเศรษฐกิจทรุด เงินโฆษณาไม่เข้าตามเป้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ผู้บริโภคสื่อยังเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อ นิยมของ “ฟรี” เสพจาก Social media..”
วงการ “สื่อมวลชน” ของประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง ภายหลังการเกิดขึ้นของ “สื่อใหม่” จำนวนมาก ขณะที่แหล่งเงินหรือค่าโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้นตาม ทำให้สื่อหลายสำนักต้องปรับตัวตามสถานการณ์
เมื่อรายจ่ายของสื่อเกือบทุกสำนักมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ คำนวณบัญชีติด “ตัวแดง” ทางเลือกแรกที่ต้องทำคือการเกลี่ย “พนักงาน” ออกจากบริษัท แต่ยังไม่ถึงขั้นบีบบังคับให้ลาออก เพียงแต่ให้สมัครใจลาออก โดยรับเงินเดือนชดเชยตามที่บริษัทกำหนดหรือตามกฎหมายแรงงาน
(อ่านประกอบ : วิกฤต ศก.สื่อพ่นพิษ! เครือมติชน-เนชั่น เออรี่รีไทร์พนง.-ชดเชยสูงสุด12-17เดือน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สำรวจแนวทางการปรับลดคอร์สของสื่อหลายสำนัก เพื่อสะท้อนให้เห็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อครั้งนี้ ให้เห็นทางเลือก-ทางรอด ในการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
- บริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) :
ได้แจ้งให้พนักงานของบริษัทที่ต้องการสมัครใจลาออก ให้ยื่นความจำนงได้ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 โดยบริษัทตั้งเป้าลดรายจ่าย 5% ของรายจ่ายเงินเดือนรวม และไม่ได้ตั้งเป้าเป็นจำนวนคน โดยมีอัตราเงินค่าชดเชยมีบวกเพิ่มจากกฎหมายแรงงาน
โดยบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย ได้แบ่งเกณฑ์ของสถานการณ์สื่อเอาไว้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มรอดแน่ 2.เชื่อว่าจะรอด 3.ไม่รอดแน่
ซึ่งบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย ประเมินแล้วว่าตัวเองอยู่ในกลุ่ม “เชื่อว่ารอด” แต่ต้องรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น อีกทางหนึ่งบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย มีพนักงานกลุ่มเป้าหมายที่จะปรับลดอยู่ในใจแล้ว โดยเฉพาะพนักงานที่มีฐานเงินเดือนค่อนข้างสูง จะเห็นจากรับพนักงานเข้าโครงการสมัครใจลาออก โดยกำหนดให้มีอายุงาน 6 ปีขึ้นไป
เพราะผู้บริหารบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย เชื่อว่าจะอยู่รอดด้วยคนรุ่นใหม่ ที่มีอายุงานน้อย ที่สำคัญฐานเงินเดือนยังต่ำอยู่
- บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) :
ได้แจ้งโครงการสมัครใจลาออก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ระบุว่า เนื่องจาก บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และในเครือมีนโยบายให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ พนักงานท่านใดประสงค์จะเข้าร่วมโครงการ โปรดทำหนังสือแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา และส่งที่ฝ่ายบุคคลตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2559 เพื่อนำเสนอให้กรรมการผู้จัดการพิจารณา
สิ่งที่บริษัท มติชน แตกต่างจากบริษัท เนชั่นมัลติมีเดีย คือ รับพนักงานที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 3 ปี ให้จ่ายเงินชดเชย 3 เดือน
หมายความว่าบริษัท มติชน ไม่ได้มีพนักงานกลุ่มเป้าหมายเฉพาะที่ต้องการให้เข้าโครงการสมัครใจลาออก เพราะเปิดโอกาสให้ทั้งพนักงานที่เพิ่งเริ่มงานกับพนักงานที่มีอายุงานเยอะแล้ว
อีกทั้งจำนวนเงินชดเชยของบริษัท มติชน จะน้อยกว่าบริษัทอื่น เพราะบริษัท มติชน ไม่ได้จ่ายฐานเงินเดือนเต็มให้กับพนักงาน ซึ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งถูกจ่ายเป็นค่าซองรายสัปดาห์ จึงทำให้ฐานเงินเดือนจริงของพนักงานบริษัท มติชน ค่อนข้างต่ำกว่าบริษัทอื่น
-บริษัท สี่พระการพิมพ์ จำกัด (นสพ.เดลินิวส์) :
ยังไม่มีนโยบายให้พนักงานสมัครใจลาออก และยังไม่มีนโยบายลดเบี้ยเลี้ยงพนักงาน แต่ก็ลดเงินโบนัสลงจากเดิม เหลือเพียงครึ่งเดือนจากฐานเงินเดือนของพนักงาน รวมถึงลดเงินให้เปล่ากับพนักงานที่ทำงานเกิน 5 ปีลงด้วย
-บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)
มีสื่อโทรทัศน์อยู่ในมือ 2 ช่อง คือ ช่อง 8 ซึ่งเป็นทีวีดิจิตอล กับช่อง 2 ซึ่งเป็นทีวีดาวเทียม ทั้ง 2 ช่อง เน้นเสนอข่าวบันเทิงในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่เมื่อนำเรตติ้งของช่อง 8 ที่ลงทุนเยอะกว่าช่อง 2 มาเปรียบเทียบกับกลับพบว่าเรตติ้งของช่อง 8 ต่ำกว่าเรตติ้งของช่อง 2 บริษัทจึงมีนโยบายโละทีมงานข่าวบันเทิงช่อง 8 ออกเกือบหมด แล้วให้ทีมงานของช่อง 2 เข้ามาทำ เพื่อหวังปั้นเรตติ้งให้ดีขึ้น
โดยยุทธศาสตร์หลังจากนี้จะค่อยๆปิดตัวช่อง 2 ลง ไม่ผลิตรายการใหม่ออกอากาศ นำเทปเก่ามารีรัน เพราะแม้เรตติ้งดีแต่เป็นช่องดาวเทียมความคาดหวังจึงน้อยกว่าช่องทีวีดิจิตอลอย่างช่อง 8 ที่สำคัญนักข่าวสายบันเทิงของช่อง 8 ไม่ได้ระบุว่าอยู่ในตำแหน่งของฝ่ายข่าวบันเทิง จึงสามารถย้ายคนไปทำที่ไม่ได้ถนัดได้ โดยอ้างว่าให้เรียนรู้สิ่งใหม่ สุดท้ายหากพนักงานคนไหนอยู่ไม่ได้ ก็ต้องลาออกไปโดยปริยาย เพื่อกำจัดจุดอ่อนพยุงให้บริษัท อาร์เอส อยู่ต่อไปได้
- บริษัท ทริปเปิลวี จำกัด (ไทยรัฐทีวี)
ยังไม่มีนโยบายไล่ออกหรือจ้างคนออก แต่ได้ตัดเบี้ยเลี้ยงต่างจังหวัดไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเบี้ยเลี้ยงพนักงานจะได้รับเงินออกปฏิบัติจังหวัด 600 บาทต่อวัน เหลือ 400 บาทต่อวัน และวันเดินทางกลับจากต่างจังหวัดพนักงานจะไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยง เหลือแต่ผู้ช่วยช่างภาพที่ได้รับเบี้ยเลี้ยง เนื่องจากต้องเป็นขับรถกลับมายังกทม. ขณะที่โบนัสพนักงานยังไม่เคยได้รับโบนัสตั้งแต่เปิดสถานีมา
ขณะที่ นายมานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวแสดงความเห็นในเฟซบุ๊คส่วนตัว ไว้อย่างน่าสนใจ ต่อกรณีนี้ ว่า “วิกฤตสื่อครั้งนี้ เชื่อว่ารุนแรงกว่าสมัย “ต้มยำกุ้ง” เพราะคราวนั้น สื่อล้มเพราะเศรษฐกิจทรุด เงินโฆษณาไม่เข้าตามเป้าอย่างเดียว แต่ตอนนี้นอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว ผู้บริโภคสื่อยังเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อ นิยมของ “ฟรี” เสพจาก Social media”
ทั้งหมดนี่ คือ สถานการณ์การปรับตัวของ สื่อมวลชน หลายค่าย ที่กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจสื่อ ยุคใหม่ ที่เริ่มต้นเปิดฉากอย่างเป็นทางการแล้ว
อ่านประกอบ :
เจาะงบการเงิน นสพ.ปี 58-59สื่อใหญ่พาเหรด กำไรหด-ขาดทุนพุ่ง!
เจาะงบดุล"นสพ."ยุคภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยน รายได้ลดขาดทุนยับ "ข่าวสืบสวน" ช่วยได้!