เปิด 10 เอกชนผ่านรอบสุดท้ายร่วมทุน ‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ.-2 บริษัท กก.เดียวกันได้ด้วย
เปิดรายชื่อ 10 เอกชนผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายร่วมลงทุนโครงการ ‘โซลาร์ฟาร์ม’ อผศ. จำนวน 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี พบมี 2 บริษัทใช้กรรมการคนเดียวกันได้ด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ประกาศผลการคัดเลือกเอกชนผู้ร่วมลงทุน โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 กับ อผศ. รวม 100 เมกะวัตต์ สัญญา 25 ปี จำนวน 25 โครงการ โดยรอบนี้ถือเป็นรอบสุดท้ายก่อนที่ อผศ. จะนำรายชื่อเอกชนผู้ร่วมทุนทั้งหมดไปยื่นกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อดำเนินโครงการต่อไป พบว่า มีเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย 10 แห่ง (เดิมที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก 21 แห่ง) ได้แก่
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงทุน 6 แห่ง แบ่งเป็น 1.โรงพยาบาลทหารผ่านศึก พื้นที่ตั้งโครงการ เขตลาดกระบัง กทม. 5 เมกะวัตต์ 2.สำนักงานรักษาความปลอดภัย พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี 5 เมกะวัตต์ 3.สำนักงานกิจการโรงงานในอารักษ์ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 5 เมกะวัตต์ 4.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตชลบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.เมือง จ.ฉะเชิงทรา 3.58 เมกะวัตต์ 5.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตตาก พื้นที่ตั้งโครงการ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ 4 เมกะวัตต์ 6.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครศรีธรรมราช พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี 5 เมกะวัตต์
รองลงมาคือ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้ทั้งหมด 5 แห่ง แบ่งเป็น 1.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสุพรรณบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี 3.94 เมกะวัตต์ 2.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลพบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี 5 เมกะวัตต์ 3.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครสวรรค์ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ 5 เมกะวัตต์ 4.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตพิษณุโลก พื้นที่ตั้งโครงการ อ.บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ 5 เมกะวัตต์ 5.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตกระบี่ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ 5 เมกะวัตต์
นอกจากนั้นเป็นบริษัท บางจาก โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี่ (ปราจีนบุรี) จำกัด ได้ 3 แห่ง แบ่งเป็น 1.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตนครราชสีมา พื้นที่ตั้งโครงการ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 4 เมกะวัตต์ 2.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตลำปาง พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง 5 เมกะวัตต์ 3.สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตเชียงราย พื้นที่ตั้งโครงการ อ.เทิง จ.เชียงราย 5 เมกะวัตต์
มี 4 บริษัท ได้งานอย่างละ 2 แห่ง คือ บริษัท กันกุล โซลาร์ พาวเวอร์ 5 จำกัด ได้ที่สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตขอนแก่น พื้นที่ตั้งโครงการ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น 5 เมกะวัตต์ และสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสงขลา พื้นที่ตั้งโครงการ อ.สะเดา จ.สงขลา 3 เมกะวัตต์ บริษัท เข็มเหล็ก จำกัด ได้ที่สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตเชียงใหม่ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 5 เมกะวัตต์ และศูนย์ฝึกอบรมและนันทนาการ จ.กาญจนบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 5 เมกะวัตต์
บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ 1 จำกัด 2 แห่ง ได้ที่สำนักงานกิจการการเกษตรการอุตสาหกรรมและการบริการ พื้นที่ตั้งโครงการ เขตหนองจอก กทม. 5 เมกะวัตต์ และสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตชุมพร พื้นที่ตั้งโครงการ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร 5 เมกะวัตต์ บริษัท เสริมสร้าง โซลาร์ จำกัด ได้ที่สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตราชบุรี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.จอมบึง จ.ราชบุรี 5 เมกะวัตต์ และสำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตอุดรธานี อ.โพนพิไสย จ.หนองคาย 5 เมกะวัตต์
ส่วนที่เหลืออีก 3 บริษัท ได้รายละ 1 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไพร์ม โรด กรุ๊ป จำกัด ได้ที่สำนักงานสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเขตสุรินทร์ พื้นที่ตั้งโครงการ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ 4 เมกะวัตต์ บริษัท เอส ที เอฟ อี โซล่า จำกัด ได้ที่นิคมอุตสาหกรรมทหารผ่านศึกอุดรธานี พื้นที่ตั้งโครงการ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 5 เมกะวัตต์ และบริษัท อีเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด ได้ที่สำนักงานกิจการพลังงาน พื้นที่ตั้งโครงการเขตหนองจอก กทม. 5 เมกะวัตต์ (ดูเอกสารประกอบท้ายข่าว)
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า มีอย่างน้อย 2 บริษัทในจำนวน 10 บริษัท ที่ปรากฏชื่อกรรมการคนเดียวกัน ได้แก่ บริษัท อิเลคตริก้า เอเชีย เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท เอส ที เอฟ อี โซล่า จำกัด ที่มีนายจอมทรัพย์ โลจายะ เป็นกรรมการ
ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อสำนักงานกิจการพลังงาน อผศ. เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
อนึ่ง ก่อนหน้านี้กลุ่มธรรมาภิบาล ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมีนายทหารยศพลเอกชื่อย่อ ‘เสธ.จ.’ แอบอ้างชื่อ คสช. และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เรียกรับผลประโยชน์ให้เอกชนเข้ามาวิ่งเต้นเพื่อให้ได้ร่วมทุนโครงการนี้
ขณะที่ พล.อ.อำนาจ รอดสวัสดิ์ ผอ.อผศ. และ พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เคยชี้แจงก่อนหน้านี้ว่า โครงการนี้คัดเลือกเอกชนด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ตรวจสอบได้ และไม่มีประเด็นการเรียกรับผลประโยชน์อย่างแน่นอน
อ่านประกอบ :
ไทม์ไลน์-เบื้องหลัง!ปม‘โซลาร์ฟาร์ม’อผศ. ข้อสงสัยถึงกระบวนการคัดเอกชนร่วมทุน?
ทำธุรกิจให้คำปรึกษา!พบอีก2เอกชนร่วมทุน 'โซลาร์เซลล์'อผศ.ใช้ที่อยู่-กก.เดียวกัน
พบเอกชน4รายผ่านการคัดเลือกร่วมทุน ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.ใช้ กก.คนเดียวกัน
เบื้องหลัง!อผศ.ร่วมเอกชนลงทุน‘โซลาร์เซลล์’ -เปิด 21 บริษัท ก่อนถูกร้องปมเรียกเงิน?
ปูดชื่อ‘เสธ.จ.’คนอ้าง คสช.-ประวิตร เรียกเงิน ‘โซลาร์เซลล์’ อผศ.-ร้อง‘บิ๊กตู่-กห.’สอบ
ยื่น ป.ป.ช.ไต่สวน ผอ.อผศ.-จนท.ปม ‘โซลาร์เซลล์’ให้ กห.สอบเชิงลึกหาตัว ‘เสธ.จ.’
เปิดบันทึก-ประกาศ กกพ.! ชัดๆ อผศ. เอา‘ที่ดิน’จากไหนมาทำ‘โซลาร์เซลล์’?
ส่งหลักฐานได้ทุกช่องทาง!ผอ.อผศ.ลั่นเอาผิดคนอ้างชื่อคสช.-ประวิตรรับปย.โซลาร์เซลล์
คำชี้แจง กห.เทียบข้อมูล‘อิศรา’ปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-2 ข้อสงสัยที่ยังไม่เคลียร์?
ไร้กลุ่มอิทธิพลแทรกแซง!โฆษก กห.แจงปม ‘โซลาร์เซลล์’อผศ.-ยันคัดเอกชนโปร่งใส