บลูมเบิร์กควักเงินเข้ากองทุนแก้โลกร้อน-นิคารากัวเดินหน้าสู่ยุคพลังงานสะอาด
ผู้นำสหรัฐฯ หันหลังให้แผนลดโลกร้อน ขณะที่มหาเศรษฐี ไมเคิล บลูมเบิร์กควักกระเป๋าจ่ายเงินเข้ากองทุนตามข้อตกลงปารีสแทนรัฐบาล เฉลยข้อสงสัยทำไม "นิคารากัว" ไม่ร่วมด้วย แล้วนโยบายด้านพลังงานไทยอยู่จุดไหน
นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวให้กับข้อตกปารีสที่ว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส โดยพยายามจะคงระดับให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ระดับดังกล่าวยังมากกว่าในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยซ้ำ
อย่างที่ได้ทราบไปแล้วว่า การถอนตัวของสหรัฐฯครั้งนี้สร้างปฏิกิริยาไปทั่วโลก โดยผู้นำส่วนใหญ่ต่างผิดหวังกับนโยบายของทรัมป์ (อ่านประกอบ :ตามดูปฏิกิริยา ผู้นำทั่วโลก หลังทรัมป์หันหลังให้แผนลดโลกร้อน)
ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวภายในสหรัฐฯ ก็น่าสนใจพอสมควร นับตั้งแต่การที่ชาวเมือง พิตต์เบิร์กโดนอ้าง จนนายกรัฐมนตรีต้องออกมาโต้กลับพร้อมประกาศว่า ชาวเมืองจะเดินหน้าตามข้อตกลงปารีสต่อไป (อ่านประกอบ: โต้กลับ‘ทรัมป์’นายกพิตต์เบิร์ก ยันเดินหน้าตามข้อตกลงปารีส )
เห็นได้ชัดว่า แม้ผู้นำประเทศจะไม่เอาด้วยกับข้อตกลงดังกล่าว ซ้ำร้ายยังมองว่าเรื่องสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องโกหกทั้งเพอีก แต่พลังของประชาชนในสหรัฐฯรวมถึงกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่เองกลับประกาศจุดยืนชัดเจนว่า งานนี้ของเดินสวนทางนโยบายท่านผู้นำแน่นอน
ไม่เว้นแม้แต่ มหาเศรษฐี อย่างนาย ไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีเมืองนิวยอร์กและผู้ก่อตั้งศูนย์กลางข้อมูล และเว็ปไซต์ด้านเศรษฐกิจชื่อดังอย่าง Bloomberg Philanthropies ที่งานนี้ออกโรง ประกาศตอกหน้ารัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะยินดีควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเงิน 15 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อเข้ากองทุนกรอบข้อตกลงว่าด้วยการจัดการปัญหาโลกร้อนของสหประชาชาติ ที่ทรัมป์อ้างว่านี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ออกจากข้อตกลง เพราะไม่อยากให้คนสหรัฐฯต้องเสียเงินหลายล้านดอลล่าร์ฯไปกับเรื่องนี้
ทั้งที่ในความจริงแล้วหากดูในระดับต่อหัวประชากรแล้ว สหรัฐฯจ่ายเงินเข้ากองทุนนี้เพียง 9.41 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า สวีเดนที่จ่ายต่อหัวมากที่สุดในโลกที่ 59.31 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
ทางกลับกันสหรัฐฯ เองกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอับดับ 2 ของโลก จากการสำรวจพบว่าแต่ละปีสหรัฐฯ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5.2 พันล้านตันเลยทีเดียว
ในข้อตกลงปารีส ซึ่งมีเพียงสามประเทศที่ไม่ร่วม นอกเหนือจากสหรัฐเเล้ว ก็คือ ซีเรียและนิคารากัว
กระนั้นก็มีคำถามต่อไปว่า เหตุใดอีกสองประเทศถึงไม่ร่วม ซึ่งแน่นอนว่ากรณีของซีเรียที่กำลังเผชิญกับสงครามกลางเมืออย่างรุนแรงจนมีผู้อพยพออกจากประเทศมากกว่า 300,000 คนไปแล้ว ลำพังเรื่องนี้ก็หนักหนาสาหัสมากพอ
แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ ประเทศในอเมริกากลาง อย่างนิคารากัว ซึ่งการไม่ร่วมข้อตกลงนี้ไม่ใช่ผู้นำประเทศเขาไม่สนใจเรื่องโลกร้อน เพียงแต่ว่าประเทศนี้ทำได้มากกว่าที่ข้อตกลงปารีสฝันอยากไปถึงด้วยซ้ำ
ปัจจุบันนิคารากัวมีพลังงานหมุนเวียนใช้ในประเทศกว่า 50% พลังงานทั้งหมดในประเทศ ทั้งยังตั้งเป้าเดินหน้าให้มีการใช้พลังงานสะอาดพวกนี้ให้ได้ 90% ภายในปี 2020
ความก้าวหน้าด้านพลังงานสะอาดของนิคารากัวโดนเด่นถึงขั้นที่ว่า เมื่อปี 2013 ในรายงานของธนาคารโลกระบุว่า ที่นี่คือสวรรค์ของพลังงานหมุนเวียนอเมริกาที่แท้จริง
ดร.Paul Oquist (Minister, Private. Secretary for National Policy, Presidency) ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลนิคารากัวในการประชุมที่ปารีสบอกว่าการให้สัตยาบันของแต่ละประเทศตามข้อตกลงปารีสที่เป็นลักษณะตามสมัครใจ(voluntary) และจะเริ่มบังคับใช้จริงในปี2050 ตอนนั้นเราคงเดินไปถึงจุดที่โลกร้อนไปเพิ่มขึ้น 3 องศาไปแล้ว
นอกจากนั้น เขายังมองว่าประเทศที่พัฒนาเเล้วยิ่งต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมจากการพัฒนาเหล่านั้น
ย้อนกลับมามองที่นโยบายด้านพลังงานของบ้านเรากันดูบ้าง ในฐานะเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุงเป็นอันดับที่ 21 ของโลก หรือประมาณ 350 ล้านตันต่อปี ว่านับจากวันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้แสดงจุดยืนว่าประเทศไทยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซที่ 20-25% ภายในปี 2030 โดยจะมีมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ใช้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่
แต่กลับกันหากใครได้ติดตามข่าวคราวก็พอจะทราบว่า รัฐบาลมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มอีก 9 โรง แต่ที่เป็นข่าวและรู้จักกันมากได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ที่สั่งให้ไปศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ใหม่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ตอนนี้ยังคงมีปัญหากับชุมชนในพื้นที่
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า นโยบายด้านพลังงานในประเทศจะไปสู่ทิศทางไหน จะเดินตามสัตยาบันที่ให้ไว้ได้หรือไม่ แล้วในบริบทของโลก ประเทศมหาอำนาจต่างๆ จะแสดงพลังอะไรออกมาเพื่อรักษาไม่ให้อุณหภูมิร้อนเกินไปกว่าที่มนุษย์จะมีชีวิตอยู่
อ่านประกอบ
ไม่สนโลกร้อน 'ทรัมป์' ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส
จับตาทิศทางพลังงานไทยกับคำสัญญาในเวที COP21
"เราหนีไม่พ้นเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องเผชิญภาวะโลกร้อน" ถาม-ตอบกับผู้ช่วยเลขายูเอ็น
ธรรมมาภิบาลที่หายไปจากการลงทุนด้านพลังงานไทย
http://www.greenclimate.fund/partners/contributors/resources-mobilized
ที่มาภาพ: BBC
http://clas.berkeley.edu/research/opportunity-include-people-nicaragua%E2%80%99s-low-carbon-energy-transition