ตามดูปฏิกิริยา ผู้นำทั่วโลก หลังทรัมป์หันหลังให้แผนลดโลกร้อน
ปฏิกิริยาผู้นำโลก ต่อการตัดสินใจหันหลังให้แผนลดโลกร้อน และเมื่อสหรัฐฯปล่อยก๊าซมากอันดับสองของโลก แต่ทรัมป์ลั่นอเมริกาต้องมาก่อน แล้วแบบนี้จะทำอย่างไร
กลายเป็นเรื่องใหญ่ของสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายน เมื่อ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัดสินใจประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งถือเป็นข้อตกลงร่วมกันของ 200 ประเทศทั่วโลก ในการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส
การประกาศออกจากข้อตกลงในครั้งนี้ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่ 3 ถัดจาก นิคารากัว และซีเรียที่ไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้
สิ่งที่ทั่วโลกต่างกังวลคือ สหรัฐฯเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับสองของโลก ดังนั้นการเดินหน้านโยบายแบบไม่สน ไม่แคร์ของ ทรัมป์ จึงถูกวิพากษ์อย่างหนักทั้งในประเทศและนานาชาติ
(อ่านประกอบ :ไม่สนโลกร้อน 'ทรัมป์' ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส )
ปฏิกิริยาแรกที่เริ่มเห็นหลังจากทรัมป์ประกาศถอนตัวคือ การออกมาแถลงของท่านผู้นำในแต่ละประเทศยักษ์ ทั้งฝั่งยุโรป อเมริกา เอเชีย รวมไปถึงการประกาศลาออก อีลอน มัสก์ ซีอีโอเทสล่า ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทรัมป์
มาดูเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า พวกเรารู้สึกเสียใจและผิดหวังเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจดังกล่าว ถึงกระนั้นรัฐบาลแคนาดายังคงเดินหน้าเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสรรค์ธุรกิจสีเขียวให้เพิ่มขึ้น โดยมีความตั้งใจเปิดโอกาสในการร่วมมือของภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยินดีที่จะร่วมงานกับกลุ่มบริษัทในสหรัฐฯที่มีความตั้งใจในการลดสภาวะโลกร้อนนี้
อย่างไรก็ตามการพัฒนาพลังงานสะอาดรวมไปถึงความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ใช่ทำเพียงเพื่อเม็ดเงินทางเศรษฐกิจเท่านั้นแต่คือการสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานต่อไป
ด้าน มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ออกมาแถลง โดยระบุชัดว่า เคารพในการตัดสินใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ก็มองว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของสหรัฐฯเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้มาครอง ยังเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักลงทุน รวมไปถึงประชาชนชาวสหรัฐฯ ที่ผิดหวังกับทรัมป์ ยินดีหากพวกเขาเหล่านี้จะย้ายมาทำงานขับเคลื่อนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยกัน
โดยระบุว่า ฝรั่งเศสจะเป็นบ้านหลังที่สองให้พวกเขา
ขณะที่ทางด้าน ผู้ว่าการเมืองปารีส Anne Hidalgoให้ความเห็นว่า นี่คือสิ่งที่พวกเราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งการเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจก ตัวการโลกร้อนจะสำเร็จไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือของสหรัฐฯ ดังนั้นการตัดใจครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุดต่อโลก
ฟากรัฐบาลบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศขนาดใหญ่ท่ีมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก แสดงความเห็นในทำนองเดียวกันคือ ผิดหวังกับนโยบายของทรัมป์ โดยเฉพาะในเรื่องนี้
ทั้งยังระบุว่ารัฐบาลบราซิลให้ความสำคัญในการร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด
ด้านสหภาพยุโรป นายMiguel Arias Cañete กรรมาธิการด้านพลังงานและสภาวะอากาศโลก อียู ทวีตข้อความระบุว่า วันนี้ถือเป็นความน่าเศร้าอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯหันหลังให้กับการต่อสู้เรื่องโลกร้อน
ฝั่งโฆษกประจำนายกรัฐมนตรีเยอรมนี นายSteffen Seibert ทวีตข้อความระบุว่า นางแองเกล่า แมร์เคิล นายกฯ ย้ำว่านับจากนี้เราจำเป็นต้องทำงาน ผลักดันประเด็นนี้ให้มากขึ้น โดยอาศัยความร่วมมือทางการเมืองของแต่ประเทศ เพื่อช่วยรักษาโลก
ด้านนาย Martin Schulz หัวหน้าพรรค Social Democratic กล่าวว่า ทรัมป์อยู่แต่ในโลกเฟ้อฝัน ไม่รู้ความจริง หากทรัมป์จะตัดสินใจหันหลังให้ข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมย่อมทำได้ แต่จะหันหลังให้กับการรักษาสภาวะแวดล้อมที่ดีไม่ได้
ด้านอดีตผู้นำเม็กซิโก Vicente Fox Quesada มองว่า การดูแลโลกเป็นสาระสำคัญเพื่ออนาคตของคนยุคต่อไป ดังนั้นการกระทำดังกล่าวของทรัมป์ย่อมหมายความว่า "เขาได้ประกาศทำสงครามกับธรรมชาติไปแล้ว"
ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดน Margot Wallström พูดในทำนองเดียวกันว่า การหันหลังให้ข้อตกลงครั้งนี้ซึ่งเป็นโอกาสเดียวในการรักษาความเป็นอยู่ของมนุษยชาติ เท่ากับทำลายอนาคตโดยเฉพาะกับลูกหลานรุ่นต่อไป
แม้แต่นักแสดงรางวัลออสการ์ อย่าง ลีโอนาโด ดิคาปริโอ ก็ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า เราเข้าใกล้ความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นจากการตัดสินใจครั้งนี้ และความท้าทายอย่างหนึ่งคือทำอย่างไรให้ผู้นำที่ไม่เชื่อเรื่องโลกร้อนได้เข้าใจความจริงเสียที โดยเรียกร้องให้ทุกคนลุกขึ้นมาแสดงพลังเพื่อต่อสู้กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกเหนือจากปฏิกิริยาจากเหล่าผู้นำทั่วโลกแล้ว อาคารหลายแห่งในสหรัฐฯ และทั่วโลกต่างพากันเปลี่ยนสีเป็นสีเขียว เพื่อเป็นการประท้วงที่รัฐบาลหันหลังให้กับข้อตกลงปารีส
https://www.facebook.com/LeonardoDiCaprio/?fref=nf&pnref=story