นับถอยหลัง ก่อนเสาต้นแรกปักลงแม่น้ำเจ้าพระยา
จินตนาการภาพต่อม่อหลายร้อยต้นเรียงราย สองฝั่งเจ้าพระยากับโครงการทางเลียบแม่น้ำ และจะอยู่ไปอีกไม่รู้กี่สิบปี นับจากกันยายนนี้ ถึงตอนนั้นคงมีการฟ้องร้อง โครงการฯหยุดชะงัก และหากท้ายสุดต้องรื้อเราจะเสียอีกหมื่นล้านบาทไป เพื่อให้ได้บทเรียน
“โครงการนี้มีกลิ่นตุๆ มาตั้งแต่แรก” ประโยคแรกที่ "ดวงฤทธิ์ บุนนาค" สถาปนิกชื่อดัง กล่าวถึงโครงการสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่รัฐบาลและกรุงเทพมหานครกำลังพยายามสร้าง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อการเข้าถึงแม่น้ำของทุกคนอย่างเท่าเทียม
กลิ่นตุๆ ที่ว่า เขามองผ่านมุมมองด้านวิชาชีพที่ตัวเองสังกัด โดยตั้งข้อสังเกตจากแบบที่มีการเสนอในช่วงแรกของโครงการว่า ตอนนั้นทางโครงการมีแบบแปลนออกมาเรียบร้อยเเล้ว ซึ่งเหมือนทางด่วนเป๊ะ เลยเกิดความสงสัยว่า ทำไมโครงการทางเลียบแม่น้ำฯถึงมีลักษณะดังกล่าว ก็พบว่าเอาแบบทางด่วนทำจริงๆ คือเอามาตัดต่อเพราะเร็ว
ดวงฤทธิ์ พยายามตั้งข้อสงเกตให้เห็นอีกว่า ทำไมทางเลียบถึงสูงสามเมตรจากตลิ่ง เพราะพบว่าแปลนต่อม่อทางด่วนระยะเดียวกันพอดี เมื่อปักลงแม่น้ำก็พอดีเป๊ะ
“พวกเราสถาปนิก ตกใจว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีการออกแบบที่ถูกต้อง มีการประกวดแบบเรื่องก็เลยแดง กลายเป็นว่าต้องมาประกวดแบบ ก็เรียกมาประกวดกัน ปรากฏว่า ไม่มีใคร เพราะเขาบอกว่าโครงการต้องเสร็จใน 6 เดือน ซึ่งโดยทางวิชาชีพทำไม่ได้ ไม่มีใครยอมทำ จากวันนั้นเลยต้องล้มประกวดแบบ” ดวงฤทธิ์ อธิบายถึงความพยายามออกมาส่งเสียงคัดค้าน และเล่าต่อว่า จากวันนั้นทางการก็หันมาใช้วิธีเรียก สถาบันการศึกษามาทำ เรียกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาทำ คุยกับอธิบการบดี ปรากฏว่า อยากทำ แต่พอไปถามคณะสภาปัตยกรรมปรากฏว่า ไม่มีใครอยากทำ กลายเป็นว่าโครงการนี้ทำโดยไม่มีสถาปนิกสักคน ถามทำได้อย่างไร สุดท้าย เราก็เห็นแบบที่ดูเหมือมีสถาปนิกมาออกแบบ
ดวงฤทธิ์ ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เช่น คุณให้สถาบันการศึกษามารับงานออกแบบ ซึ่งเขาทำไม่ได้ตามพ.ร.บ.วิชาชีพ เขาต้องรับใบประกอบวิชาชีพก่อน สถาบันศึกษาไม่มีใบประกอบนั้น ก็หมายความว่า ทำไม่ได้ แต่ทำไม สจล.ทำได้ และทำโดยไม่มีสถาปนิกด้วย คือลับหลังไปจ้างคนอื่นออกแบบ คนที่จ้างออกแบบก็ไม่กล้าออกมา เพราะถ้าออกมาว่า รับจ้างออกแบบคือสัญญาเช่าช่วงจะผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นแบบออกมาได้อย่างไรไม่รู้ ไม่มีสถาปนิกออกแบบ ออกมาถึงมีแค่วิศกรและนักตกแต่งภายในอย่างละคนเซ็นแบบ
(อ่านประกอบ จาก มช.สู่ สจล. มหาวิทยาลัยรับงานออกแบบ-คุมงานก่อสร้าง ได้หรือไม่? )
“คือโครงการนี้กลิ่นตุๆ คุ้นๆ อันนี้ผมไม่บอกว่าคอร์รัปชั่นนะ แต่กลิ่นมันคล้ายๆ กัน มีความไม่ชอบมาพากลตั้งแต่ต้นทางยันตอนนี้ แต่คราวนี้ไม่ใช่นายทุน คอร์รัปชั่น แต่เป็นข้าราชการคอร์รัปขั่น (แต่ผมไม่บอกว่าทำนะ เพียงแค่กลิ่นมันคล้ายๆ ) และทำไมไม่ยอมเลิก ไม่ยอมฟังเสียที ก็เพราะรับเงินไปหมดเเล้ว ก็ต้องสู้ เป็นแพทเทิร์นเดิม ทุกยุคทุกสมัย งานราชการ เป็นแบบนี้เสมอ ไม่ได้มีอะไรแปลกประหลาด” ดวงฤทธิ์ ระบุ
นอกจากนี้เขายังมองเห็นถึงความพยายามในการก่อสร้างโครงการฯนี้ในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยตั้งคำถามว่า ทำไมต้องอยากสร้างที่นี่ ก็เพราะไม่ต้องเวนคืน ทำได้เร็ว โครงการขนาดใหญ่ หวานหอมที่สุด โครงการนี้ถึงมีมาทุกยุคทุกสมัย ลองนึกภาพสร้างโครงการฯ 1.4 หมื่นล้านบาท ที่ตอนนี้ลดลงช่วงโปรโมชั่นเหลือ 8 พันล้านบาท ซึ่งก็งงๆ ว่า ครม.อนุมัติ 1.4 หมื่นล้านบาท แต่ทำไมอยู่ดีๆ จะลดลงเหลือ 8 พันล้านบาท จะสร้างทำไม จะดิ้นร้นทำไม ถ้าการสร้างครั้งนี้คุณไม่ได้ประโยชน์
“อย่าลืมว่า โครงการนี้ไม่มีสถาปนิกคนไหนเลยที่เห็นด้วย ผมถามว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชนเมือง ถ้าดีจริง เป็นไปได้ไหมที่จะไม่มีใครเห็นด้วยเลยสักคน” ดวงฤทธิ์ ระบุ และว่า แนวทางที่จะหยุดโครงการนี้คืออย่างไร ต้องมาดูว่าต้นทางที่เริ่มผิดมาตั้งแต่ตอนนั้น กระบวนทั้งหมดก็ผิด ตอบคำถามให้ได้ว่า ถ้าไม่ผิด ตรงไหนที่ไม่ผิด
“ผมว่ากระบวนการวิธีเดียวที่จะชนะโครงการนี้คือการใช้กฎหมาย ต้องฟ้องทางกฏหมายอย่างเดียว”
ด้าน ยศพล บุญสม สถาปนิกและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River ระบุถึงความหวังในการหยุดโครงการนี้ว่า ข่าวร้ายคือเราอาจจะหยุดยั้งไม่ได้ คือเราจะได้เห็นต่อม่อตอกลงในแม่น้ำจริงในเดือนกันยายนนี้ การจราจรในแม่น้ำที่สัญจรไม่ได้ ผลกระทบมหาศาลที่เกิดกับคนริมน้ำ ธุรกิจท่องเที่ยว แล้วต่อมา เราจะเห็นการฟ้องร้อง
"โครงการก็จะถูกระงับเพื่อไต่สวนฉุกเฉิน การก่อสร้างจะหยุดชะงัก ดังนั้นสิ่งที่ อ.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัน บอกว่านี่จะกลายเป็นโฮปเวลล์2 ก็จะเกิดเพราะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อไปได้ เนื่องจากผิดทั้งกระบวนการ ทั้งกฎหมาย และรูปแบบต่างๆ นึกสภาพ เราจะเห็นต่อม่อหลายร้อยต้นเรียงราย สองฝั่งเจ้าพระยาไปอีกไม่รู้กี่สิบปี นับจากกันยายนนี้ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริง” เขาชวนคิดตาม
“ผมไม่อยากบอกว่าเราจะสามารถยับยั้งได้ เพราะจะเป็นการให้ความหวังเกินไป แต่เมื่อทุกคนได้ตระหนักว่า ตอนที่ต่อม่อเริ่มปักลงในแม่น้ำ เราจะมาคิดได้ว่า เราจะเดินหน้าต่อหรือไม่ หรือจะเก็บออกไป ซึ่งกลายเป็นว่า ต้องใช้งบประมาณอีกมหาศาลในการรื้อออกไป เราไม่เรียนรู้ต่อข้อผิดพลาดที่เคยเกิดซ้ำเเล้ว ซ้ำเล่าในอดีต” ยศพล กล่าว
สำหรับการทำงานรณรงค์คัดค้านโครงการนี้ช่วงสองปีที่ผ่านมา เขาบอกว่า ทำมาแล้วแทบทุกวิถีทาง ลงพื้นที่ชุมชน เปิดเวที ติดตามการทำงานของรัฐบาล ร้องกรรมการสิทธิมนุษยชน ร้องทุกหน่วยงาน กลไกของรัฐที่เปิดให้เราใช้ตามรัฐธรรมนูญ และสิทธิของพลเมืองเราได้ใช้ครบถ้วนหมดเเล้ว ซึ่งเหลือช่องทางเดียวคือ ศาลปกครอง
และถ้าโครงการนี้ดีจริง ยศพล บอกว่า เราเลิกต่อต้านไปนานแล้ว
“สังคมไทยอาจต้องเรียนรู้ที่จะเห็นก่อน ประจักษ์ต่อหน้า ว่าเกิดขึ้นจริงแล้วอึ้ง คือต้องได้อึ้ง จากนั้นถึงจะดำเนินการอะไรบางอย่าง”
พร้อมกันี้ เขาได้ยกตัวอย่างสมมติว่า หากระหว่างการก่อสร้างเกิดเหตุภัยพิบัติร้ายแรง มีพายุเข้ามา เราจะโทษใครถ้ากรุงเทพฯน้ำจะท่วมใหญ่อีกครั้ง เราจะยอมเสี่ยงทำลายแม่น้ำ เสียเงินหมื่นกว่าล้านบาท เพื่อที่จะเรียนรู้อย่างนั้นหรือ
“ถ้าจะพูดในเจ็บปวดกว่านั้นคือ สิ่งนี้สะท้อนการทำงานของรัฐไม่ว่าในยุคไหนก็ตาม ท่านผู้นำคิดไอเดีย สั่งการมาที่ระดับปฏิบัติการ แล้วค่อยไปศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อให้สร้างได้ ไม่เคยศึกษาว่า สร้างไม่ได้ สุดท้ายคนที่เจ็บปวดที่สุดคือพวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นผู้เสียภาษี ในฐานะที่เป็นคนเมืองที่มีสิทธิ์”
ยศพล มองว่า ที่นายกฯออกมาบอกว่ามีคน 95% เห็นชอบให้สร้างได้ จริงๆ แล้วเป็นตรงกันข้ามมากกว่า ขณะเดียวกันไม่มีหลักประกันอะไรเลย นายกฯอาจจะอยู่อีกสองปีเเล้วไป แต่ประชาชนต้องอยู่กับต่อม่อตรงนั้นไปตลอดชีวิต เราจะอยู่กับแม่น้ำที่จำไม่ได้ จะบอกว่านี่คือแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างนั้นหรือ นี่คือสิ่งที่รัฐต้องคิดดีๆ ก่อนที่เสาต้นแรกจะปักลงในเดือนกันยายนนี้ แต่เราไม่รับประกันว่าจะหยุดได้
ที่ผ่านมาข้อเสนอต่างๆ ที่ทางกลุ่มสปานิก ภาคประชาสังคมยื่นไปให้รัฐบาลและกรุงเทพฯพิจารณา ยศพล ย้ำชัดว่า มีเอกสารที่ทาง กทม.ตอบกลับมา 4 ประเด็นสั้นๆ ระบุว่า
(1) โครงการนี้ส่งเสริมภูมิทัศน์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และส่งเสริมการท่องเที่ยว จะเป็นการปรับปรุงเอาสิ่งรุกล้ำออกไป
(2) ส่งเสริมมรดกชาติ เพราะโครงการนี้จะทำให้เเม่น้ำเจ้าพระยาปรากฏชัดในการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมของชาติให้เห็นชัดมากขึ้น
(3) รับฟังกระบวนการความคิดเห็นเรียบร้อยหมดเเล้ว ผ่านทั้งสามครั้ง ไม่มีการคัดค้าน
(4) ทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และส่งให้ สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (สวผ.)ตรวจแล้ว
“สิ่งที่น่าประหลาด คือ เอกสารที่ส่งมาขี้เเจงมีแค่กระดาษ A4 สองแผ่น ไม่มีแผน ไม่มีอะไรแนบมาให้เลย เคยทำเอกสารขอข้อมูลไป บอกไม่ได้เป็นความลับของราชการ เพราะฉะนั้นเรากำลังถูกละเมิดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลลับราชการแต่กลับจะเปิดประมูลผู้รับเหมา ประชาชนเป็นคนรู้สุดท้าย ไม่ยุติธรรม”
ดังนั้น ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายเราจะสามารถเบรกโครงการนี้ได้ทันก่อนที่ต่อม่อต้นแรกจะปักลงในแม่น้ำเจ้าพระยาหรือไม่ หรือต้องรอให้ต้นแรก ต้นสองและสาม สี่เรื่อยไปจนครบ ก่อนที่เราจะได้เรียนรู้ว่า คิดผิด
อ่านประกอบ
สมัชชาแม่น้ำ เล็งฟ้องศาลปกครอง หากรัฐยังดื้อตอกเสาเข็มทางเลียบเจ้าพระยา
จากทางเลียบเจ้าพระยา ถึง 3 ปีคสช. รัฐเข้าใจการมีส่วนร่วม = “ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม”
สมัชชาแม่น้ำยันค้านสุดตัว ยุติโครงการทางเลียบเจ้าพระยา
คุณค่าวัฒนธรรมสูญหาย โจทย์ใหญ่ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ไม่เชื่อมโยงชุมชน
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
กลุ่มสมัชชาแม่น้ำ เดินหน้ายับยั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
เหล่านักวิชาการรวมตัว ค้านทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จี้สจล.ถอนตัว
2 ศิลปินดังร่วมค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
คนดังร่วมค้าน "หยุดทางเลียบก่อนที่จะสาย"
พื้นที่ริมเจ้าพระยาพัฒนาได้ 'ไกรศักดิ์' แนะต้องดูบริบทให้เข้ากับชุมชน
ภาพประกอบจาก thaitribune.org