เครือข่ายสตูลฯ วอน รัฐหยุดเวทีค.1ปากบารา16มี.ค.
เครือข่ายสตูลฯ วอน หยุดเวทีรับฟังความเห็นค.1 ปากบารา16 มี.ค.นี้ ก่อน เหตุพบความไม่ชอบในกระบวนการที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเต็มที่
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล เผยบนเวทีเสวนา นับถอยหลัง EIA/EHIA ชี้ชะตาอนาคตใต้ เมกะโปรเจกต์มัดมือชกประชาชน? ถึง ประเด็นท่าเรือน้ำลึกปากบารา
นายสมบูรณ์ กล่าวว่าในวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะเริ่มมีการจัดเวทีรับฟังความเห็น ค.1ของโครงการท่าเรือปากบารา ทางเครือข่ายฯต้องชี้แจงไปยังหน่วยที่รับผิดชอบเรื่องนี้ว่า เวทีนี้ไม่ควรที่จะเกิด อยากให้หยุดไปก่อน ที่ผ่านมาโครงการฯนี้ใช้งบศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปแล้วกว่าพันล้านบาท ตั้งแต่ปี 2549 ยุครัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งล่าสุด รัฐบาลคสช.เพิ่งอนุมัติงบในการศึกษาอีกกว่า ร้อยล้านบาท ขณะที่EIA ตัวแรกทำเสร็จในปี 2552 ซึ่งน่าสังเกตว่าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา กับโครงการแลนด์ บริดจ์ที่จะเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามันเข้าด้วยกัน กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบที่เป็นชุดเดียวกัน คือมีสามโครงการก็ทำแยกสามโครงการ ทั้งๆ ที่ทั้งหมดคือโครงการเดียวกัน ถามว่าทำไมไม่ทำรวมกันทีเดียว
นายสมบูรณ์ กล่าวต่ออีกว่า กรมเจ้าท่าพยายามบิดเบือนที่จะไม่ทำ EHIA อ้างว่าใช้ EIA ที่ทำเสร็จตอนปี 52 ทั้งที่โครงการขนาดใหญ่ขนาดนั้นควรทำการประเมินในระดับยุทธศาสตร์ SEA ก่อน ต่อมาปรากฎว่า มีการอนุมัติงบใหม่ให้มีการทำSEA แต่กรมเจ้าท่ากลับทำไปพร้อมกันทั้ง SEA, EIA, EHIA โดยให้เหตุผลว่า กลัวไม่ทันตามกำหนดการ
ขณะเดียวกันเราพบว่า กระบวนการจัดทำ EHIA ผิดเพี้ยนจากที่อื่นจากเดิมที่บริษัทที่ปรึกษาจะต้องทำ แต่กลายเป็นว่าให้บริษัทตัวแทนอีกทอดในการทำเวทีรับฟังความเห็น เกณฑ์เอาเฉพาะคนที่เห็นด้วยไป กลายเป็นว่าบริษัทเหล่านั้นแทนที่จะทำตัวเป็นคนกลาง กลายเป็นบริษัทที่ปรึกษาไปจ้าง เกิดวิวาทะ คนท้องถิ่นก็ทะเลาะกัน คิดว่า 16 มี.ค.ที่จะมีการรับฟังความเห็นจึง ไม่ควรเกิดขึ้นอย่างยิ่ง
“เราปฏิเสธเครื่องมือกลไกเหล่านี้ไม่ได้ ซึ่งมุมหนึ่งของคนสังคมมองว่าการออกมาคัดค้านทำให้ประเทศไม่ได้พัฒนา ต้องขอบอกว่า เราไม่ปฏิเสธการพัฒนา เราทุกคนต้องการกินดีอยู่ดี” นายสมบูรณ์ กล่าว และว่า ถ้าเรามาโฟกัสที่เครื่องมือทั้งสอง(EIA/EHIA) ทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับให้ได้ สิ่งที่นายกฯพูดถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ แล้วยอมรับว่าการทำรายงานฯที่ผ่านมาไม่ได้เรื่อง เสมือนว่าวันนี้เป็นการยอมรับโดยผู้นำประเทศว่า กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เรื่อง ไม่ใช่ที่กระบี่ แต่คือทั้งปะรเทศ เรากล้าปฏิรูปเรื่องนี้อย่างจริงจังไหม กล้าที่จะนำเอา SEA มาใช้ไหม กล้าที่จะสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมกันไหม เปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น สุดท้ายคนในพื้นที่มีส่วนคิดกับบริษัท
อ่านประกอบ
รัฐพัฒนาแบบมัดมือชก นักวิชาการชี้ EIA ตัวปัญหาปชช.ไม่ได้ร่วมตัดสินใจ
ไทยก้าวไปไกลเกิน EIAเอาอยู่ นักวิชาการชี้ถึงจุดทำประเมินสวล.เชิงยุทธศาสตร์ SEA
ไม่ใช่เรื่องของเสียงส่วนมาก นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ EIA ต้องเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม