- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ไทยก้าวไปไกลเกิน EIAเอาอยู่ นักวิชาการชี้ถึงจุดทำประเมินสวล.เชิงยุทธศาสตร์ SEA
ไทยก้าวไปไกลเกิน EIAเอาอยู่ นักวิชาการชี้ถึงจุดทำประเมินสวล.เชิงยุทธศาสตร์ SEA
เวทีวิชาการ สะท้อนปัญหา EIA ชี้ไทยเดินทางถึงจุดที่ควรทำประเมินเชิงยุทธศาสตร์ ก่อนกำหนดว่าโครงการไหนจะทำเมื่อไร ด้านแกนนำเครือข่ายอันดามันฯ ยืนยันจัดทำEIAฉบับใหม่ต้องอยู่ภายใต้กติกาใหม่ เพื่อลดความขัดแย้ง
เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2560 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคี จัดเวทีระดมความเห็น “ยกเครื่องระบบEIA เดินหน้า SEA : เริ่มต้นจากโรงไฟฟ้ากระบี่"
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวถึงช่วงพ.ศ.2535 ไทยเริ่มมีการบังคับใช้รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของไทย จนกระทั่งตอนนี้ไทยเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจมาถึงจุดที่เราควรมีการวางกรอบ การประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment (SEA) ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันเรื่องนี้ เคยมีการพูดคุยนอกรอบอยู่บ้างในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทุกคนไม่ปฏิเสธความสำคัญ แต่ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้มี SEA เพราะหากต้องมีการประสานงานหน่วยงานราชการจำนวนมากเขาไม่อยากทำ เราเลยเห็นงานที่ต้องจบภายในกรม การจะไปประสานงานเช่น สภาพัฒน์ฯ กรมโยธาธิการ การไฟฟ้าฯ เมื่อพูดเรื่องการประสานงานนอกองค์กรก็เป็นเรื่องยาก เพราะราชการไทยไม่ได้ออกแบบมาให้ทำงานแบบนี้
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม SEA สามารถอุดช่องโหว่ได้ เพราะจะประเมินว่าขีดความสามารถในการรองรับมลพิษในแต่พื้นที่เป็นอย่างไร เช่น มาบตาพุด ทุกโรงงานผ่านEIAหมด แต่พอเอามารวมกัน พื้นที่รองรับมลพิษขนาดนั้นไม่ได้
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตัว EIA มีปัญหาเยอะ หากจะวิเคราะห์จะพบ 3 จุดสำคัญ นั่นคือ
(1) EIA เป็นการทำงานเชิงนโยบาย แต่ปล่อยให้หน่วยงานรัฐทะเลาะกัน หน่วยงานด้านบนปล่อยเกียร์ว่าง ลอยตัว อย่างนี้ไม่ถูก ด้วยเหตุผลอย่างนี้ เราอยากให้ขยับ SEA คือการ ครม.รับผิดชอบความขัดแย้งเกิดขึ้น บ้านเราล้าช้าไม่ได้เตรียมการระดับนโยบายที่ดี
(2) การคัดกรองEIA เจ้าของโครงการที่มีเงินแทบไม่เสียตังค์ใดๆ เลย ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบไม่มีงบประมาณในการจ้างผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นควรมีการจัดทำระบบการเงิน การทำรายงานEIA ต้องบวกลงไปในต้นทุนว่าค่าพิจารณาเท่าไหร่
(3) เรื่องของการเฝ้าติดตาม จะเห็นได้ว่า EIA ไม่มีเขี้ยวเล็บ หมายถึงทำไป ทำดีแค่ไหนก็เป็นแค่เอกสารฉบับหนึ่ง เพราะหากไม่ทำตามก็ไม่เห็นมีใครทำอะไร เช่น รับฟังเสียงประชาชน มลพิษ ไม่ค่อยมีใครสนใจว่าทำตามหรือเปล่า
"อย่างวันนี้มีโรงงานมากมายปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน และแม้กรมควบคุมมลพิษตรวจได้ แต่ไม่มีอำนาจในการสั่งปิด ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วันนี้ EIA อาจจะไม่เหมาะ เพราะไทยก้าวไปไกลเกินกว่าที่ EIA จะเอาอยู่ ต้องมีมาตรการที่เข้ามาจัดการมากกว่านั้นในระดับยุทธศาสตร"
ด้านนายประสิทธิชัย หนูนวล เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน กล่าวว่า มี EIA ที่ไรก็ทะเลาะกันทุกที่ เพราะมีปัญหาว่า บริษัทที่รับจ้างมาต้องออกแบบคนที่มารับฟังเพื่อให้ผ่านไปได้ EIA คือการประเมินเชิงโครงการ ที่ผ่านมาไม่มีโครงการไหนไม่ผ่าน อย่างโรงไฟฟ้ากระบี่หากดูในเรื่องประเด็นสาธารณะ(Public scooping) จะพบว่า ข้อมูลคัดลอกกันมามั่วไปหมด นำเอาระบบนิเวศจากอีกแห่งมาใส่อีกแห่ง
“ประเทศเราจะยุ่งยากมาก ถ้าเราไม่มีตัวยุทธศาสตร์ เรามีสิ่งแวดล้อมเหลือไม่มาก หากเราไม่กำหนดว่าควรใช้ไปทางไหน พัฒนาไปในทางที่เหมาะสม เราไม่มีหลักตรงนี้ แล้วตีกัน เหตุการณ์แบบนี้จะไม่จบ หากเราไม่มีการประเมินเชิงยุทธสาสตร์ หรือ SEA”
นายประสิทธิชัย กล่าวถึงเงื่อนไขที่เสนอภายหลังจากการต่อรองตกลงว่า ถ้าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะทำEIA ต้องทำภายใต้กติกาใหม่เท่านั้น เพราะกติกาเดิมคือเงื่อนไขของความขัดเเย้ง เงื่อนไขไม่เป็นธรรมก็ต้องเปลี่ยน จังหวะนี้เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างEIA ต้องมีการประเมินทางเลือกอื่นใช้ SEA ไม่ใช่ประเมินแค่ว่า โครงการจะสร้างได้ไม่ได้ เพราะหากใช้กระบวนการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่กระบี่ก็จะพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินหมดสิทธิ์ไปตั้งแต่ขั้นยุทธศาสตร์
ส่วนนายศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวถึงการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ SEA จะต้องมีการวิเคราะห์ทางเลือกพลังงานต่างๆ วิเคราะห์ประเด็นที่ว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ทั้งกระบี่และสงขลา ความมั่นคงทางไฟฟ้าในภาคใต้ รวมถึงยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนที่กระบี่แต่ต้องตอบโจทย์ภาคใต้ ที่ผ่านมาเรามีระบบโครงการก่อนจะมีมาเป็นโครงการโรงไฟฟ้า แต่ความเป็นจริงต้องมีระดับก่อนหน้านั้น คือยุทธศาสตร์แผนงาน นโยบายที่จะกำหนดทิศทางในอนาคต ไม่ได้เป็นระบบตรงๆ
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า ในระบบนโยบายและการวางแผนพลังงานปัจจุบัน ไม่มียุทธศาสตร์พลังงานของจังหวัด หรือภูมิภาค เรามีแผนพลังงานระดับชาติ PDP มีแผนอนุรักษ์พลังงาน อื่นๆ คือมีในระดับชาติแล้วลงมาเป็นโครงการเลย เรื่องพลังงานโดยภาครวมเป็นการรวมศูนย์ระดับชาติ เพราะฉะนั้น กระบวกการ SEA คือการทำร่วมกันไม่ใช่กำหนดจากส่วนกลางอย่างเดียว
“การประเมินSEA จะเกิดก่อนที่จะกำหนดว่าจะมีโครงการที่ไหน เพื่อเป็นการเปรียบเทียบทางเลือกของยุทธศาสตร์ที่หลากหลายว่าอันไหนสามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง” นายศุภกิจ กล่าว และว่า ประเด็นสำคัญคือการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทั้งกระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สภาพัฒน์ฯ ประชาชน โดยอาศัยจุดสำคัญในการเรียนรู้ข้อมูลจากฝ่ายต่างๆ ในการประเมินผลกระทบในระดับยุทธศาสตร์
นายศุภกิจ กล่าวถึงกรณีที่นายกฯ สั่งการให้จัดทำ EIA ฉบับใหม่นั้น ผู้ศึกษารายงานต้องไม่มีความสัมพันธ์ในฐานะลูกค้าของเจ้าของโครงการ ต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมของคณะกรรมการต่างๆ โดยให้จัดตั้งชุดเฉพาะกิจขึ้นมาในการเปิดเวทีรับฟังความเห็น ไม่ใช่ให้บริษัที่ถูกจ้างมาเปิดเวทีชี้แจงเอง ทั้งนี้เพื่อการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ฝ่ายรัฐเองต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยไม่ต้องร้องขอ ให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ขณะเดียวกันการกำหนดบริเวณที่จะได้รับผลกระทบไม่ควรจำกัดแค่เพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น ต้นทุนเนื่องจากผลกระทบของโครงการ ต้องมีการประเมินออกมาเป็นตัวเลขที่สามารถตัดสินใจได้ สุดท้ายเรื่องของติดตามตรวจสอบผลกระทบที่มีช่องโหว่ การยึดใบอนุญาตหากพบว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
สุดท้ายดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ปัญหาในกระบวนการได้มาซึ่งEIAที่ผ่านมา คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเวทีรับฟังความเห็นไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการทำรายงาน
"การทำEIA ต้องมีความรู้หลากหลาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ ต้องมีความรู้ในส่วนของภาคพลเมือง การพิจารณาต้องมีที่ยืนให้ความรู้เหล่านี้ด้วย ขณะเดียวกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยระบบประชาพิจารณ์ กรณีแหลมหิน ที่ตีกัน เพราะเจ้าของโครงการจัดเวทีเอง กำหนดการทั้งหมดเเละเป็นแค่การชี้แจงว่าโครงการคืออะไรแล้วถามว่าจะเอาหรือไม่ ซึ่งต้องแก้ตรงนี้ไปใช้ระเบียบปี 2539 ต้องรื้อใหม่ เพื่อลดความขัดแย้งไม่ใช่เพิ่มความขัดแย้ง ทั้งหมดนี้เพื่อให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืน"