รัฐพัฒนาแบบมัดมือชก นักวิชาการชี้ EIA ตัวปัญหาปชช.ไม่ได้ร่วมตัดสินใจ
นักวิชาการชี้กระบวนการ EIA ไทย ชนวนความขัดแย้ง เพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมตัดสินใจในการพัฒนา ซ้ำยังไม่สนใจฐานทรัพยากรเดิมในพื้นที่
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิต ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกัยมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต จัดเสวนา “นับถอยหลัง EIA/EHIA ชี้ชะตาอนาคตใต้ เมกะโปรเจกต์มัดมือชกประชาชน?”
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า การพัฒนาของรัฐไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กระบี่ หรือ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา หรือที่สวนกง จะนะ จะเห็นว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับฐานทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทนไม่ได้ของคนในพื้นที่ มิหน่ำซ้ำกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพหรือ EIA และ EHIA เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น
นพ.สุภัทร กล่าวอีกว่า หากลองดูในรายงาน EIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามีการระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเต็งรัง รวมถึงปลาที่พบในลำคลอง แม่น้ำ คือ ปลานิล แต่หากดูในพื้นที่จริงผิดหมดเลย ไม่เป็นความจริง
"เทพาอยู่ริมทะเล แม่น้ำก็เป็นกร่อย ป่าก็เป็นป่าชายเลน แสดงว่าการทำข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จ แบบนี้สะท้อนความไม่โปร่งใส ซึ่งหน่วยงานที่ดูเเลเรื่องนี้ต้องรับผิดชอบ ความไร้จริยธรรมดังกล่าว"
นพ.สุภัทร กล่าวว่า หากดูตัวอย่างจากประเทศอิตาลี จะพบว่าไม่เหมือนบ้านเรา ตรงที่บ้านเราจะพัฒนา ก่อสร้างโครงการอะไรมีธงไว้เเล้วว่าจะสร้างที่ไหน ใช้พลังงานอะไรแต่ที่อิตาลีรัฐบาลจะประกาศว่าต้องการไฟฟ้า 1,000 เมกกะวัตต์ สิ่งที่เกิดขึ้นฝ่ายบริษัทถ่านหินก็มาเสนอ ฝ่ายแสงอาทิตย์ก็เสนอ บริษัทพลังงานลมก็เสนอ กลายเป็นรัฐมีหลายตัวเลือก รัฐบาก็ตั้งกระบวนการมีส่วนร่วมว่าชาวบ้านจะเอาอะไร คำตอบคือได้ไฟตามจำนวนที่รัฐต้องการ ขณะเดียวกันชาวบ้านมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
“ภาคใต้ใน2-3ปีนี้ ถ้าหากรัฐทำสำเร็จในการพัฒนาเมกะโปรเจ็ค ใต้จะกลายเป็นเหมือนมาบตาพุด จ.ระยอง รัฐบอกว่าจะใช้อุตสาหกรรมดับไฟใต้ เนื่องจากคนไม่มีงานทำ เศรษฐกิจไม่ดี เลยเอาอุตสาหกรรมเข้าไป แต่วันนี้คนในพื้นที่มองว่าจะเป็นการซ้ำเติมเสียมากกว่า” นพ.สุถัทร กล่าว
ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการพัฒนาระบบและติดตามตรวจสอบ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า วันนี้ EIA มีความขัดแย้งกันเยอะ แสดงว่าระบบปัจจุบันมีข้อบกพร่องบางประการ โดยเฉพาะ การรับฟังความเห็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กระบวนการดังกล่าวไม่ใช่การมีส่วนร่วม เพราะวันนี้เวลาจัดทำเวทีรับฟังความเห็น เราเอาคำตอบไปเป็นคำถาม ว่าจะเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ มีให้เลือกมารับหรือไม่รับ ถ้าจะให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง ก่อนจะพัฒนาอะไรต้องไปศึกษาว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้คนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ ให้คนในพื้นที่เป็นคนกำหนด
“การจัดทำ EIA / EHIA ไม่ได้กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บริษัทที่ปรึกษามีหน้าที่ทำให้ผ่าน ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ของรสช. คิดไม่รอบคอบ เอาของสหรัฐฯมาแต่เอามาไม่หมด” นายสนธิ กล่าว และว่าเรามีเวทีที่ฟังแต่ความเห็น รับฟังความเห็นของประชาชนเท่านั้น แต่ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งโดยความหมายคือการทำงานร่วมกันหรือPartnership คือต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถือเป็นหัวใจหลักของการทำรายงานที่ต่างชาติให้ความสำคัญ ซึ่งถ้าหากประชาชนไม่เอา ก็สร้างไม่ได้
นายสินธิ กล่าวถึงร่าง EIA/EHIA ประชาชนไม่เคยได้เห็นว่า ร่างสุดท้ายเป็นอย่างไร การพิจารณารายงานเป็นระบบปิดระหว่างคชก. สผ. และเจ้าของโครงการและที่ปรึกษาเท่านั้น โดยอ้างเป็นเรื่องวิชาการเชิงลึก ประชาชนในพื้นที่ไม่มีสิทธิร่วม ทั้งยังไม่ได้กำหนดให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการ หลังจากที่รายงานผ่านความเห็นชอบแล้ว รวมถึงไม่มีการเปิดเผยร่างรายงานฉบับที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว.