นายกฯ ยันให้ไปศึกษาทำความเข้าใจ EIA-EHIA โรงไฟฟ้ากระบี่ใหม่
นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำ EIA และ EHIA ใหม่ กรณีก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม-ตัดสินใจ ขออย่าปลุกระดมประชาชน
เมื่อวันที่ 21 ก.พ.2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขั้นตอน ที่ผ่านมาต้องเข้าใจว่าเราให้มีการชะลอในเรื่องการทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไว้ และวันนี้ไม่ต้องชะลอให้ไปศึกษาทำความเข้าใจกันใหม่ หากอีไอเอผลออกมาว่าทำไม่ได้ก็สร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้ รวมทั้งให้มีคณะกรรมการไตรภาคีมาทำงาน เพราะที่ผ่านมาถูกครหาว่าทำงานไม่ได้จริง
"ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ในอนาคต ใครจะรับผิดชอบ เดิมที่ผ่านใช้เวลาก่อสร้างในปี 2565 แต่ในกรอบใหม่ก็จะเสียเวลาไป 1 ปี อาจจะเปิดใช้ในปี 2566-2567" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนกรณีการชุมนุม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลใช้การบังคับใช้กฎหมายเท่าที่จำเป็น ไม่อยากให้มีปัญหาเกิดขึ้น จึงใช้ม.44 ดำเนินการปลดล็อค ตอนนี้ก็มาพูดว่าม.44 ไม่มีความหมาย ก็ขออย่ามาปลุกปั้นยุยง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ขอถามว่าหากราคาน้ำมัน แก๊ส สูงขึ้น ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ราคาค่าไฟสูงขึ้นด้วย แล้วมาเรียกร้องจะให้ค่าไฟถูก จะทำกันอย่างไร มันทำให้คนทั้งประเทศเดือดร้อน ข้าราชการเขาทำมาก็ต้องฟังเขาบ้าง
"ผมทำเพื่อคนไทยประเทศไทย ผมไม่ทำเพื่อตัวเองหรอก พวกโฆษกฯก็ชี้แจงไม่ได้เรื่อง ให้ผมชี้แจงเองจะดีกว่า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้านพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ว่า
- ที่ประชุม ครม.รับทราบตามที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงานเกี่ยวกับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยนำมติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ 400 ประเด็น และกลุ่มผู้ชุมนุมเสนอ เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง
- นายกรัฐมนตรีต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันกลับไปแก้ปัญหา จึงมีเวลาทบทวนและข้อมูลจากบุคคลรอบข้าง เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเคยมีในพื้นที่จังหวัดกระบี่ปี 2507 ย้อนไปดูมาเลเซียมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 7 แห่งตลอดแหลมมลายู ในแถบรัฐสิมิลัน ซาราวัค ยะโฮ
- หากไทยมีปัญหากระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ต้องรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินของมาเลเซียหรือไม่
- ที่ประชุม ครม.วันนี้ไม่ได้มีมติเกี่ยวกับแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ให้ยึดมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำผลศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ตามที่ศึกษามาแล้ว เพียงแต่นำข้อเสนอของกลุ่มชาวบ้านมาประกอบเพิ่ม 2-3 ขั้นตอน
- ยอมรับว่า แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าไปอีก 2 ปี หรือเปิดใช้ภายในปี 2566-2567 แต่หากก่อสร้างไม่ได้คงต้องใช้แนวทางอื่น
- การศึกษา EHIA ไม่ต้องเริ่มศึกษาใหม่ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กพช.มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการตามขั้นตอนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
- ดังนั้น จึงมอบให้กลับไปศึกษาร่วมกัน ตามที่กลุ่มผู้ชุมชนเสนอขอให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมศึกษาEHIA
- หากผลสรุปร่วมกันให้สร้างได้เดินหน้าต่อไปได้ ก็เดินหน้าต่อไป แต่หากสร้างไม่ได้จะใช้พลังงานอื่น หรือสถานที่อื่น ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาร่วมกัน
- หากก่อสร้างไม่ได้ต้องยอมรับเพื่อเผชิญร่วมกัน หลังจากแผนการผลิตไฟฟ้าระยะยาวปี 2015 ( PDP 2015) กำหนดให้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เริ่มส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบปี 2562
- และขอให้นำผลการศึกษาของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งฝ่ายรัฐบาล นักวิชาการ กลุ่มผู้ชุมชน ร่วมกันศึกษาระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาพิจารณาร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล แกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินกระบี่ โพสต์ข้อความถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 ก.พ.ว่า ได้กลิ่นไม่ค่อยดีข่าวว่าโฆษกรัฐบาลบอกว่าไม่แน่ใจจะเอารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมโรงไฟฟ่าถ่านหินกระบี่เข้าสู่ครม.เพื่อยกเลิกหรือไม่ และรายงานฉบับนี้เป็นเรื่องเก่า สามารถปรับปรุงได้
นายประสิทธิ์ชัย กล่าวถึงวันเจรจาเพื่อยุติการชุมนุมนั้น "ผมก็อยู่ คุณก็อยู่ ถ้าพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรียังจำได้ มีการย้ำกันหลายรอบว่า ต้องยกเลิกเท่านั้นไม่ใช่ทบทวน หรือปรับเปลี่ยน รัฐมนตรีพลังงานเสนอเองว่า ให้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี"
อ่านประกอบ:
ประชุมกพช. ไฟเขียวโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-ภาคปชช.ปักหลักค้างทำเนียบ
บทเรียนความขัดแย้งจากบ้านกรูด-บ่อนอกถึง “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่”
กพช.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดกระบี่ ตามแผน PDP 2015
จากกระบี่ถึงเทพา...กระแสต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินลามทั่วใต้!
ฟังเหตุผล ปมขัดแย้ง คณะกรรมการไตรภาคี โรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่
เครือข่ายปกป้องอันดามันฯ ขอ 3 ปี พิสูจน์กระบี่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100% ไม่พึ่งถ่านหิน
"เราควรสงวนทรัพยากรให้รุ่นต่อไปทำมาหากิน" คุยกับปธ.หอการค้า กระบี่ ในหลากมุมมอง