- Home
- Thaireform
- สัมภาษณ์ - ปาฐกถา
- สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ "ฆ่าช้าง เอางา"
สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ "ฆ่าช้าง เอางา"
งานวิจัยมหาลัยเลได้ชี้ให้เห็นว่า บริเวณคลองปกาสัยมีวังต่างๆ และมีป่าชายเลนรอบๆ ที่เป็นแหล่งอาศัย หากิน และวางไข่ของปลาบริเวณชายฝั่งทะเลที่อพยพเข้ามาในบริเวณนี้ เช่น ปลาดุกทะเล ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ฯลฯ ก่อนจะกลับไปเติบโตในท้องทะเล
หนึ่งในเหตุผลการตัดสินใจเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของรัฐบาลคือข้ออ้างว่าเทคโนโลยีสะอาด และมีการศึกษาทางวิชาการอย่างรอบด้านแล้ว
คำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่จริง สามาถพิสูจน์ได้จากข้อมูลเชิงวิชาการ ไม่ใช่การกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีหลักฐาน
ต่อไปนี้คือผลการวิจัยที่ผมร่วมกับชาวบ้านชายฝั่งทะเลอันดามันได้ทำวิจัยเรื่อง “อันดามัน : ความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม การเมืองเรื่องความรู้ และความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ” หรือที่เรียกว่า “งานวิจัยมหาลัยเล” ในหัวข้อการเมืองเรื่องความรู้ งานวิจัยนี้ได้อาศัยข้อมูลที่ระบุไว้ใน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญที่สุดของราชการในกรณีของผลกระทบจากโครงการ และการเก็บข้อมูลสนามโดยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมพบว่า เทคโนโลยีที่ว่าสะอาดนั้น เป็นกล่าวอ้างมุมเดียวคือมุมของผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ ขณะที่ประเด็นที่ภาครัฐไม่ได้กล่าวถึงเลยในการพูดถึงโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่คือผลกระทบจากกระบวนการหล่อเย็น
งานวิจัยมหาลัยเลพบว่า ป่าชายเลนบริเวณคลองปกาสัย-เกาะหม้อ ที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และจะได้รับผลกระทบจากกระบวนการหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าคือพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ที่มีความสำคัญระหว่างปะเทศหรือ Ramsar Site บริเวณนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงโดยสำรวจพบปลา 104 ชนิด หอย 18 ชนิด กุ้ง 10 ชนิด ปู 7 ชนิด หมึก 4 ชนิด ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นสัตว์น้ำที่ชาวบ้านจับมาเป็นอาหารและขายเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ
ที่สำคัญ ในช่วงฤดูแล้งที่เกิดน้ำทะเลหนุนเข้ามาและน้ำมีความเค็มกว่าปกติ บริเวณนี้จะเป็นแหล่งอาศัยของโลมาที่อพยพเข้ามาตามปากช่องเภาและช่องแหลมหินเข้ามาหากินถึงเกาะหม้อและหาดหน้าเกาะหม้อใกล้กับปากคลองปกาสัยที่รับน้ำหล่อเย็นจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
ขณะที่รายงาน EHIA (หน้า3-105 ถึง 3-129) ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพเชิงพื้นที่ของระบบนิเวศน์บริเวณนี้ที่มีป่าไม้ชายเลนหนาแน่นตลอดแนวลำคลอง และมีกลุ่มชาวประมงประกอบอาชีพจับสัตว์น้ำอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉพาะบริเวณสะพานช้างไปจนถึงปากคลองปกาสัย บริเวณบ้านแหลมกรวด รายงาน EHIA ยังกล่าวว่า คลองปกาสัยมีบทบาททั้งด้านแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่เปราะบาง หรือเป็นรอยต่อของระบบนิเวศน์ที่เชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศน์บนบกหรือเขตป่าเขากับระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ด้านการถ่ายทอดพลังงานต่อวงจรชีวิตสัตว์น้ำ และสัมพันธ์เชื่อมโยงต่อเนื่องกับการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านเป็นสำคัญ
นั่นหมายความว่า รายงาน EHIA ก็ยอมรับว่าบริเวณนี้มีคุณค่าทั้งในเชิงนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจของชุมชนเป็นอย่างสูง
ในส่วนของผลกระทบจากระบบหล่อเย็น รายงาน EHIA หน้า5-203 ถึง 5-204 ระบุว่า โรงไฟฟ้าได้ออกแบบให้ชักน้ำจากคลองปกาสัยไปใช้ในกระบวนการหล่อเย็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อนที่จะระบายน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นลงสู่คลองปกาสัยอีกครั้ง โดยมีน้ำระบายออกมา 66,960 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจะมีการควบคุมอุณหภูมิน้ำที่จุดปล่อยน้ำทิ้งให้อุณหภูมิน้ำที่ปล่อยแตกต่างกับอุณหภูมิน้ำตามสภาพธรรมชาติไม่เกิน 3 องศาเซลเซียส โดยน้ำที่ปล่อยจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ
ขณะที่รายงาน EHIA หน้า 5-226 ระบุว่า การสูบน้ำจากคลองปกาสัยไปใช้ในระบบหล่อเย็น และการระบายน้ำจากระบบหล่อเย็นลงสู่คลองปกาสัยอาจส่งผลกระทบต่อการลดลงของปริมาณสัตว์น้ำวัยอ่อน แพลงค์ตอนพืชและแพลงค์ตอนสัตว์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ของชาวประมง
อย่างไรก็ตาม รายงาน EHIA ทั้งสองหัวข้อมีแนวโ้นมเป็นอย่างสูงว่า การประเมินผลกระทบต่ำกว่าความเป็นจริง โดยนอกระบุว่าผลกระทบต่อแพลงค์ตอนอยู่ในระดับที่ยอมรับได้โดยอ้างการพัดพาของน้ำทะเลที่นำแพลงค์ตอนเข้ามาในคลอง และน้ำจากต้นคลองปกาสัยและลำคลองสาขาพัดพาสารอาหารหรืออินทรียสารและแพลงค์ตอนน้ำจืดมาจากภูเขาหรือต้นน้ำ กอปรกับแพลงค์ตอนพืชมีวงจรชีวิตที่สั้น (ประมาณ 3-4 วัน) สามารถเติบโตทดแทนได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ EHIA ได้ ระบุถึงมาตรการป้องกันเพื่อมิให้ปนเปื้อนลงสู่ลำคลองซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งผสมพันธุ์ วางไข่ อนุบาลสัตว์วัยอ่อน และปริมาณสัตว์น้ำโดยมีการกำหนดมาตรการส่งเสริมการประกอบอาชีพประมง เช่น การเลี้ยงปลากระชัง การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ จึงคาดว่าผลกระทบจากโครงการต่อการประมงอยู่ในระดับยอมรับได้
จากข้อมูลดังกล่าว เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการประเมินผลกระทบจากโครงการทำเฉพาะผลกระทบต่อแพลงค์ตอนเท่านั้น ไม่ได้ประเมินผลกระทบจากการสูบน้ำในปริมาณถึง 66,960 ลูกบาศก์เมตรต่อวันที่มีผลต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ถูกสูบเข้าไปในระบบหล่อเย็นด้วย ขณะที่การระบายน้ำออกที่อุณหภูมิสูงกว่าปกติก็ประเมินเฉพาะผลกระทบต่อแพลงค์ตอนเช่นกัน ไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์น้ำที่โตแล้ว
สำหรับการประเมินผลกระทบต่อแพลงค์ตอน สามารถกล่าวได้ว่าประเมินผลกระทบต่ำเกินจริงเพราะ EHIA ระบุว่า แพลงค์ตอนพืชมีวงจรชีวิตที่สั้น (ประมาณ 3-4 วัน) สามารถเติบโตทดแทนได้อย่างรวดเร็ว แต่ในความเป็นจริงโครงการมีการสูบและปล่อยน้ำหล่อเย็นที่อุณหภูมิสูงกว่าน้ำปกติทุกวัน ไม่ใช่สูบน้ำและปล่อย 1 วัน เว้น 3-4 วัน ดังนั้นแพลงค์ตอนจึงไม่มีโอกาสเติบโตทดแทนได้
การทำลายแพลงค์ตอนจึงเท่ากับทำลายห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเล และจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ทะเล ตั้งแต่หอยสองฝาที่กินแพลงค์ตอนเป็นอาหารและมีชุกชุมบริเวณวังและหาดในคลองปกาสัย ปลา หมึก กุ้ง ไปจนถึงโลมา
ขณะที่งานวิจัยมหาลัยเลได้ชี้ให้เห็นว่า บริเวณคลองปกาสัยมีวังต่างๆ และมีป่าชายเลนรอบๆ ที่เป็นแหล่งอาศัย หากิน และวางไข่ของปลาบริเวณชายฝั่งทะเลที่อพยพเข้ามาในบริเวณนี้ เช่น ปลาดุกทะเล ปลากะพงขาว ปลากะพงแดง ฯลฯ ก่อนจะกลับไปเติบโตในท้องทะเล
ในมิติเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร บริเวณนี้เป็นแหล่งปูดำและหอยชนิดต่างๆ ซึ่งสัตว์น้ำเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำที่ชาวบ้านที่ทำประมงในบริเวณนี้และชาวบ้านอีกหลายพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างไกลต้องพึ่งพาทั้งการเป็นอาหารและขายเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจ ขณะที่การทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อนที่อพยพมาจากชายฝั่งทะเล จะทำให้ต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ และจะส่งผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านที่ทำประมงบริเวณชายฝั่งในระยะยาว
ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่นี้ ไม่สามารถทดแทนด้วยมาตรการส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงเพื่อทดแทนผลกระทบต่อชาวประมง เช่น การเลี้ยงปลากระชังและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำได้
ที่ผ่านมา บทเรียนจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำลายแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งคนท้องถิ่นต้องพึ่งพา และมาตรการส่งเสริมการประกอบอาชีพประมงเพื่อทดแทนผลกระทบต่อชาวประมง เช่น การเลี้ยงปลากระชังและการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำไม่สามารถทดแทนได้ก็คือ กรณีของเขื่อนปากมูล ซึ่งผลกระทบเกิดขึ้นกับแม่น้ำ แต่ กฟผ.ก็ไม่สามารถแก้ไขด้วยมาตรการดังกล่าวได้ และทุกวันนั้น วิถีชีวิตของชาวปากมูลก็ล่มสลาย โดยไม่มีใครเหลียวแล ดังนั้น ในกรณีของชายพื้นที่ชุ่มน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อน และมีคนนต้องพึ่งพาทรัพยากรมากกว่า มาตราการดังกล่าวก็ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้
ดังนั้น การผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยอ้างว่า เทคโนโลยีสะอาด และมีการศึกษาทางวิชาการอย่างรอบด้าน จึงเป็นการพูดฝ่ายเดียวและมองมุมเดียว ซึ่งหากมองหลายๆ มุม โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ก็คือ “ฆ่าช้าง เอางา” และงาที่ได้นั้นก็เอาไปประดับบ้านของคนรวยซึ่งก็คือพ่อค้าถ่านหิน
ภาพ พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากระบบหล่อเย็นโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ คือ แหล่งประมงพื้นบ้านและแหล่งวางไข่และอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนของชายฝั่งทะเลอันดามัน
อ่านประกอบฉบับเต็ม :http://www.socialresearchjournal.com/documents/archive/journal-59-02-04.pdf