ตัวเลข "คนกลับบ้าน" จ่อครึ่งหมื่น!
"โครงการพาคนกลับบ้าน" ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 (1 ต.ค.53 ถึง 31 มี.ค.56) ถึงวันนี้ปรากฏผลเป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจน
จากการเข้าแสดงตัวของผู้เห็นต่างจากรัฐล็อตใหญ่ล็อตแรก 93 คน เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2555 ซึ่งว่ากันว่ามีบรรดานักรบติดอาวุธ "ตัวจริง" ที่มีหมายจับในคดีความมั่นคงราวๆ ครึ่งหนึ่ง รวมทั้ง แวอาลีคอปเตอร์ วาจิ ที่มีหมายจับในคดีปล้นปืนร่วมกับ มะแซ อุเซ็ง (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) จนถึงวันนี้ยอดผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโครงการพุ่งสูงถึง 4,432 คน (นับถึงวันที่ 5 ก.พ.60)
ตัวเลขที่รวบรวมโดยฝ่ายความมั่นคงเอง ระบุว่า ยอดผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมโครงการฯ นับจากวันที่ 11 ก.ย.55 จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2558 (30 ก.ย.58) รวมเวลาประมาณ 3 ปี มีผู้เห็นต่างเข้าโครงการฯทั้งสิ้น 1,996 คน จากนั้นในปีงบประมาณ 2559 เพียงปีเดียว (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.58 ถึง 30 ก.ย.59) ยอดผู้เห็นต่างที่เข้ารายงานตัวพุ่งสูงถึง 2,407 คน (มากกว่า 3 ปีก่อนหน้ารวมกัน) ซึ่งเป็นการดำเนินการในยุคที่รัฐบาล คสช.มีอำนาจเต็มมือ ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงอย่างน่าตกใจ ทำให้มีเสียงวิจารณ์เชิงตั้งคำถามว่า ผู้เข้าร่วมโครงการฯ เป็น "ตัวจริง" หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวกระเซ็นกระสายทำนองว่ามีการปั่นตัวเลขกันพอสมควร
แต่ไม่ว่าเสียงวิจารณ์จะเป็นอย่างไร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ก็ยังคงยืนยันความสำเร็จของโครงการฯ และให้เหตุผลว่าเป็นเพราะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเริ่มเบื่อหน่ายกับการต่อสู้ที่ดูจะไม่มีวันสิ้นสุด และไร้วี่แววแห่งชัยชนะ ประกอบกับบรรดานักรบที่เติบโตขึ้น แต่งงานมีลูกเมีย ก็อยากกลับมาอยู่กับครอบครัว ไม่อยากหลบหนีหรืออยู่หลบๆ ซ่อนๆ อีกต่อไป
นับจากวันแสดงตัวของผู้เห็นต่างล็อตแรก 93 คนเมื่อ 11 ก.ย.55 มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างภาครัฐกับผู้เห็นต่าง สรุปได้ว่าเงื่อนไขสำคัญของการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ คือรัฐต้องให้ความมั่นใจเรื่อง "ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี" พร้อมดูแลเรื่องอาชีพ
วันนี้ข้อเรียกร้องจากอดีตอาร์เคเคที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการฯสดๆ ร้อนๆ ก็ดูจะยังเป็นเรื่องเดิม (อ่านประกอบ "เจ็บที่ถูกเขาหลอก-ร้องไห้คิดถึงลูกเมีย" ความในใจอดีตอาร์เคเคกลับบ้าน) ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อธิบายว่าได้ปรับปรุงโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพขึ้นตามลำดับ โดยเน้นคุณภาพ เพื่อป้องกันการเข้ามาของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือแสวงประโยชน์
ปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อ.) จัดตั้ง "ชมรมพาคนกลับบ้าน" ครบทั้ง 37 อำเภอ พร้อมขับเคลื่อนกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการฝึกอบรมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 800 คน
นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเพื่อมาช่วยเหลืองานของรัฐ โดยเฉพาะงานด้านความมั่นคง เช่น การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้บุคคลมาเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเป็นล่ามแปลเอกสาร เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ตามหลักศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง ให้ข้อมูลข่าวสารทั้งเชิงกว้างและเชิงลึกกับหน่วยในพื้นที่ และเป็นกำลังภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนงานควบคุมพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุในเมืองเศรษฐกิจ เช่น อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ชคต. (ชุดคุ้มครองตำบล) รวมทั้งขับเคลื่อนงานสร้างความเข้าใจตามนโยบายประชารัฐสรางอำเภอสันติสุข
สำหรับการดาเนินการต่อผู้เห็นต่างที่มารายงานตัว มีเรื่องสำคัญ 5 เรื่องซึ่งจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้น ได้แก่
1.การปลดเปลื้องพันธะทางกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น
2.การพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนและสังคม
3.การฝึกอบรมอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
4.ขยายการขับเคลื่อนชมรมพาคนกลับบ้านทั้ง 37 อำเภอให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
5.การมาร่วมสร้างสันติสุข เพื่อสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน
ส่วนผู้เห็นต่างที่ยังไม่ออกมารายงานตัว ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ดำเนินการ 2 เรื่อง คือ
1.ขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านทางเปิด โดยการสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ผู้นำศาสนา เพื่อให้เข้าใจนโยบาย เปลี่ยนแนวคิดการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงหรือใช้อาวุธ มาเป็นการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ ภายใต้สโลแกน "อดีตไม่สาคัญ ปัจจุบันฉันรักเธอ อนาคตเรารักกัน" และสามารถอยู่ร่วมกันได้ในสังคมแบบพหุวัฒนธรรม
2.การขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้านทางปิด มุ่งกระทาต่อเป้าหมายที่มีหมายจับ ป.วิอาญา ในคดีความมั่นคงที่ยังเคลื่อนไหวก่อเหตุ หรือยุติการก่อเหตุแล้ว แต่ไม่มีช่องทางออกมารายงานตัว โดยจะแต่งตั้งคณะทำงานทางลับเพื่อพูดคุยทางลับกับเป้าหมายหรือบุคคลที่เป้าหมายให้ความเชื่อถือและไว้วางใจ เพื่อสร้างความเข้าใจ และอำนวยความสะดวกให้ออกมารายงานตัว และต่อสู้ตามกฎหมายผ่านทางมาตรา 21 พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) และมาตรา 21 พระราชบัญญัติองค์กรอัยการ พ.ศ.2553
พ.อ.สมชาย โปณะทอง ซึ่งเคยขับเคลื่อนงาน "พาคนกลับบ้าน" ของ จ.นราธิวาส จนมีผู้เข้าร่วมโครงการฯจำนวนมาก เล่าว่า เป้าหมายผู้เข้าร่วมโครงการฯ ครอบคลุมทั้งผู้มีหมายจับ ป.วิอาญาในคดีความมั่นคง, ผู้ที่มีหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกลุ่มผู้ที่ตกใจ หวาดระแวง แล้วหลบหนี
"วันนี้เราดำเนินการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ ให้ ศปก.อำเภอเป็นศูนย์กลาง เมื่อผู้เห็นต่างเข้ามาแสดงตัว ก็จะมอบหนังสือรับรองอำนวยความสะดวกในการเดินทาง พร้อมแจ้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการประสานงาน 3 เรื่อง คือ กรณีติดหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ยื่นเรื่องต่อศาลขอเพิกถอนหมาย, กรณี ป.วิอาญา ให้ดูแลเรื่องการประกันตัว ต่อสู้คดี แต่ถ้าศาลยกฟ้องหรือคดีสิ้นสุดแล้ว ให้ลบชื่อจากฐานข้อมูลตำรวจ ตลอดจนกรมกงสุล และตรวจค้นเข้าเมืองด้วย"
"ปัจจุบันถือว่าเราทำแบบครบวงจร มีขั้นตอนการอบรมปรับความคิดความเชื่อ ส่งเข้าโรงเรียนการเมือง ส่วนการช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรม ก็มีคณะกรรมการอำนวยความสะดวกฯ เพื่อกลั่นกรองคดี ประกันตัว สนับสนุนทนายความ เงินประกันตัว การเดินทาง และอื่นๆ นอกจากนั้นยังมีขั้นการฝึกอบรมอาชีพและหาอาชีพให้ทำเพื่อส่งเสริมรายได้ ก็ประสานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแบบบูรณาการ" พ.อ.สมชาย ระบุ
หลายฝ่ายเชื่อว่าโครงการพาคนกลับบ้าน จะเป็น "ธงนำ" ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้นับจากนี้ไป เพราะจะเป็นช่องทางรองรับบรรดา "นักรบกลับใจ" ทั้งที่เบื่อหน่าย อยากวางปืนด้วยตนเอง หรือเป็นผลจากโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
"รับฟังเสียงที่แตกต่าง-พาคนกลับบ้าน" วิสัยทัศน์ดับไฟใต้ของแม่ทัพภาค 4 คนใหม่
80สมาชิกป่วนใต้ถกแม่ทัพภาค4 เสนอปลด "หมายจับ" แลกวางปืน
แม่ทัพ4พร้อมเลิก พ.ร.ก.รับกลุ่มป่วนใต้วางมือ แย้ม "สะแปอิง-มะแซ"รอดูท่าที
เปิดใจ"อาร์เคเค"กลับใจ "ลูก-เมีย"เงื่อนไขนักรบวางปืน
สำรวจความเห็น"ชาวบ้าน-แนวร่วมพันธุ์ใหม่" เชื่อ-ไม่เชื่อ 93 สมาชิกป่วนใต้ยุติรุนแรง
เปิดตัวเลข "ผู้เห็นต่าง" เข้าร่วมโครงการ "พาคนกลับบ้าน" 983 ราย
วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
อดีตผู้ต้องสงสัยฯงงถูกเกณฑ์พบ"ประวิตร" เหมาร่วม"พาคนกลับบ้าน" เบี้ยเลี้ยง200