นายกฯไม่ปิดช่องเอาผิด "นายหน้า" พาหญิงชายแดนใต้ทำงานผิดกฎหมายมาเลย์
หลังจากที่ “ทีมข่าวอิศรา” เปิดประเด็นกรณีหญิงไทยกว่า 200 คนถูกนายหน้าชักชวนไปทำงานผิดกฎหมายในประเทศมาเลเซีย จนถูกจับกุม และทางการมาเลเซียดำเนินคดี “ผู้นำพา” ในข้อหาค้ามนุษย์ พร้อมกักตัวหญิงไทยเป็นพยานในชั้นศาล ทำให้ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้นั้น ล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้แล้ว
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 31 ม.ค.60 ว่า เรื่องการจับหญิงไทยที่มาเลเซีย ตนทราบเรื่องแล้ว และได้สั่งการให้ข้างล่าง (หมายถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจากทางการมาเลเซียว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เป็นนายหน้ามาเลเซียหรือนายหน้าไทย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการแก้ปัญหาต้องทำให้ครบวงจร คือแก้ใน 3 ส่วน ได้แก่ ผู้ประกอบการ นายหน้า และเหยื่อ
“อยู่ๆ จะให้ผมไปดำเนินดคีเลยคงไม่ได้ ก็มันอยู่ฝั่งโน้น (หมายถึงฝั่งมาเลเซีย) ทางโน้นก็ทำไป ถ้ามันโยงฝั่งนี้ (หมายถึงฝั่งไทย) ก็ส่งข้อมูลมา ผมก็จับ ส่วนเรื่องเหยื่อก็ให้ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ไปดูแล สร้างรายได้ สร้างงาน ขณะที่กระทรวงมหาดไทยก็ดูแลเรื่องการเดินทางไปทำงาน ต้องแก้ปัญหาทั้ง 3 ส่วน คือผู้ประกอบการ ถ้าทำผิดกฎหมายก็ว่าไปตามผิด นายหน้าก็เช่นกัน ส่วนเหยื่อก็ต้องดูแลตามที่บอก” นายกรัฐมนตรี ระบุ
พม.พร้อมจัดทีมสหวิชาชีพเข้าช่วยเหลือ
ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศปก.พม.) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ประชุมหารือร่วมกับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการช่วยเหลือหญิงไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และไปทำงานโดยไม่ได้ตรวจลงตราหนังสือเดินทาง โดยบางรายอาจเข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวพบหญิงไทยจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกกักตัวไว้เป็นพยานในฐานะผู้เสียหายจากค้ามนุษย์ จำนวน 177 คน กระจายอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ หลายเมืองในประเทศมาเลเซีย ทั้ง ปีนัง กัวลาลัมเปอร์ มะละกา และยะโฮร์บารูนั้น ทาง พม.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกระทรวงการต่างประเทศแล้วพบว่า หญิงไทยกลุ่มดังกล่าวเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซียโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่ยืนยันว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น และมีบางส่วนได้รับการช่วยเหลือเดินทางกลับประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว
“เมื่อหญิงไทยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกลับถึงประเทศไทย ทาง พม.จะประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยส่งทีมสหวิชาชีพเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ พร้อมทั้งมอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) 3 จังหวัด ได้แก่ จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านหญิงไทยทั้งหมด เพื่อติดตามให้การช่วยเหลือตามภารกิจของกระทรวงต่อไป” พล.ต.อ.อดุลย์ ระบุ
ศอ.บต.ว่องไวรีบประชุม-สั่งแจ้งเตือนประชาชน
ที่ จ.ยะลา นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหญิงจากชายแดนใต้ข้ามไปทำงานที่มาเลเซียจนถูกจับกุม ทั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สำนักงานจัดหางานใน 5 จังหวัดภาคใต้ นายอำเภอชายแดนทั้งหมด และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองทุกด่านชายแดน ร่วมกันหารือเพื่อวางแนวทางป้องกันปัญหา และเร่งสร้างความเข้าใจในการเดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย
"อยากฝากทุกท่านทำความเข้าใจร่วมกันว่า กรณีที่ปรากฏข่าว คนไทยที่ถูกกักตัวในมาเลเซีย และได้รับการปล่อยกลับมาจำนวน 12 คนนั้น ไม่ได้ถูกจับกุม แต่ถูกกักตัวเป็นพยานในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์" นายศุภณัฐ ระบุ
เขาย้ำว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าการไปทำงานที่มาเลเซียโดยไม่มีการขอใช้ใบอนุญาตทำงาน หรือ Work Permit อย่างถูกต้องนั้น ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งทางรัฐบาลมาเลเซียมีมาตรการจับกุมอย่างเข้มงวด และมีโทษหนักมาก ซึ่งทางศอ.บต.ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำหนดให้มีการติดป้ายประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมจัดทำเอกสารเผยแพร่ให้ความรู้แก่คนไทยและผู้ประกอบการที่ประสงค์ไปประกอบธุรกิจในมาเลเซีย รวมถึงให้หน่วยงานและทุกเครือข่ายร่วมทำความเข้าใจกับประชาชน
ขณะเดียวกัน ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงฐานข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้คนไทยที่เคยถูกจับกุม หรือเคยเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับไปทำงานอีก พร้อมได้เน้นย้ำให้ผู้ที่ประสงค์ไปทำงานยังประเทศมาเลเซียต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง
นอกจากนั้น ศอ.บต.ได้เตรียมแผนพัฒนาแหล่งงาน ตลาดนัดพบแรงงาน การส่งเสริมการมีอาชีพ และการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อเกิดการสร้างงานให้คนในพื้นที่อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องไปทำงานต่างประเทศ
9 หญิงไทยล็อตแรกยังไม่มีกำหนดกลับ
สำหรับหญิงสูงอายุจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดแรก 9 คนจาก 21 คนที่ยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องรอขึ้นศาลในฐานะพยานในคดีค้ามนุษย์ที่รัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซียนั้น
มีรายงานจากเจ้าหน้าที่กงสุลไทยในมาเลเซียว่า หญิงกลุ่มดังกล่าวยังไม่มีกำหนดเดินทางกลับประเทศไทย เพราะต้องขึ้นศาลเป็นพยานในวันที่ 27-28 ก.พ.ที่จะถึงนี้ โดยปัจจุบันยังคงพำนักอยู่ในบ้านพักฉุกเฉินสตรี เมืองยะโฮร์บารู ส่วน “ผู้นำพา” จำนวน 2 คนซึ่งเป็นชายจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ และถูกทางการมาเลเซียดำเนินคดีค้ามนุษย์นั้น ล่าสุดได้รับการประกันตัวจากศาลแล้ว 1 คน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จากเว็บไซต์รัฐบาลไทย
อ่านประกอบ :
ร้องช่วย 21 หญิงชราชายแดนใต้ หวั่นถูกหลอกไปขอทานมาเลย์
พบแล้ว21หญิงชราถูกกักบ้านพักฉุกเฉินรัฐยะโฮร์ – แฉเส้นทางค้ามนุษย์ชายแดนใต้
เปิดรายชื่อ 21 หญิงชายแดนใต้ถูกกักในมาเลย์ จนท.ทูต-ศอ.บต.รุดเยี่ยม
ปากคำ 21 หญิงไทยในมาเลย์...ขอทานในคราบขายข้าวเกรียบ!
21 หญิงไทยปลอดภัย แต่ป่วย 13 คน - ครอบครัวเตรียมแจ้งจับ "นายหน้า"
นายกฯสั่งคุ้มครองพยานคดี21หญิงถูกลวงขายแรงงาน – ยอดผู้เสียหายพุ่งนับร้อย
ครอบครัว 21 หญิงไทยแจ้งจับ"นายหน้า" ลุ้นกลับกลุ่มแรกก่อนปีใหม่
โทรศัพท์ลึกลับอ้างเป็น จนท.สถานทูต ขอพบญาติ บอกจะพาเยี่ยม 21 หญิงไทย!
จนท.ป้องนายหน้า-วิบากกรรม21หญิงไทย แฉให้ทำงานถึงตี2 – เอ็นจีโอยันค้ามนุษย์
21 หญิงไทยยังไม่ได้กลับบ้าน...
หญิงไทยกลุ่มแรกได้กลับบ้าน...อุทาหรณ์ถูกลวงขายแรงงาน – นายหน้าลอยนวล!
พบอีก! 177 หญิงไทยเหยื่อค้ามนุษย์ในมาเลย์ – 53 คนร่วม Thai Festival ถูกรวบ
ไม่สงบ ไม่มีเงิน ไม่มีงาน...ชะตากรรมหญิงชาวบ้านต้องไปขายแรงงาน-ขอทานมาเลย์