เอาจริง! มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าฟ้องผู้ให้บริการโทรศัพท์ คิดค่าบริการเกินจริง
เอาจริง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้ายื่นฟ้อง4 บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์ เหตุคิดค่าบริการเกินจริง "สารี" เผยใช้รูปแบบการฟ้องแบบกลุ่ม ลดความยุ่งยากเรื่องคดี ป้องสิทธิผู้บริโภค
จากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) มีมติ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2560 โดยระบุว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะต้องกำหนดแพกเกจโปรโมชันที่คิดค่าโทร.ตามจริงเป็นวินาทีไม่น้อยกว่า 50% และมีโปรโมชันคิดค่าโทร.ตามจริงเป็นนาที 50% จากเดิมที่ ได้เคยมีมติให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz (คลื่น 4G) จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมเสริมการขาย
น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ว่า ขณะนี้มูลนิธิฯได้เปิดช่องให้ผู้ใช้บริการสามารถลงทะเบียนเพื่อขอยื่นฟ้องผู้ให้บริการได้ ภายหลังจากมติของ กทค.เมื่อวันที่ 11ม.ค.ที่ผ่านมา กลับมติค่าโทรเป็นวินาที ซึ่งขณะนี้มีผู้เสียหายแสดงความจำนงแล้ว 385 ราย โดยขอยื่นฟ้องใน 4 บริษัท ได้แก่ เอไอเอส 127 ราย ดีแทค 121 ราย ทรู133 ราย และ Cat 4 ราย ซึ่งสาเหตุนอกเหนือจากปัญหาเรื่องการปัดเศษโทร ยังมีปัญหาอย่างเช่น เรื่อง SMS ที่โดนคิดเงินทั้งๆ ที่ไม่เคยสมัครสมาชิก สัญญาณการโทรไม่ดี หรือไม่มีสัญญาณแต่โดนคิดเงิน เน็ตไม่เสถียร ใช้ไม่ได้ แต่คิดเต็ม เป็นต้น
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมถึงการยื่นฟ้องครั้งนี้จะเป็นการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ซึ่งเป็นการฟ้องคดีครั้งเดียว สามารถคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหมดได้ ทั้งนี้ความหมายคดีแบบกลุ่ม กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องกี่คน แต่ต้องยื่นคำร้องว่าศาลจะอนุญาตฟ้องแบบกลุ่มหรือไม่
สำหรับหลักพิจารณาว่าคดีดังกล่าวเข้าข่ายการฟ้องแบบกลุ่มหรือไม่ เช่น ความเหมือนของข้อเท็จจริง กฎหมายของสมาชิกที่จะฟ้องร่วมกัน อย่างการที่ทุกคนถูกปัดเศษ ข้อเท็จจริงคือเหมือนกัน เป็นคดีที่ผู้เสียหายหลายคนประสงค์จะเข้าร่วม ฟ้องคดีเป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าใช้แบบทั่วไป ทำให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งต่อศาลและการดำเนินคดี เกิดความซับซ้อน
"การฟ้องแบบกลุ่มจะช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพ และเป็นธรรมมากกว่าซึ่งโจทก์ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกลุ่ม"
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงข้อดีของการฟ้องแบบกลุ่มคือ ช่วยลดคดีที่ต้องขึ้นสู่ศาล ลดภาระของผู้ฟ้องคดี ซึ่งบางคนหากจะมาเรียกค่าเสียหาย เช่นคดีนี้ บางคนอาจจะถูกเกินค่าโทรศัพท์ 60 บาท ถ้าไปฟ้องคดีความคุ้มค่าในการดำเนินคดีก็จะจำกัด การทำแบบนี้ก็จะช่วยลดภาระของผู้เสียหาย ที่ไม่ต้องไปดำเนินคดีเองช่วยผลักดันให้ผู้ให้บริการกังวล และระมัดระวังในการเอารัดเอาเปรียบมากขึ้น
น.ส.สารี กล่าวถึงการที่มูลนิธิฯ จะทำหน้าที่ฟ้องแทน ซึ่งถ้าผู้พิพากษาอนุญาต มูลนิธิมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หลักเกณฑ์ตรงนี้คือ ต้องประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 3 ฉบับ ต่อเนื่องติดต่อกัน 3วัน โดยระบุข้อความเช่น จะฟ้องเรื่องอะไร ข้อความที่ศาลอนุญาต กำหนดวันที่ให้สมาชิกแจ้งความประสงค์ในการออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งตรงนี้ศาลให้ 45 วัน ผลของการออกจากสมาชิกกลุ่ม และผลพิพากษาที่มีต่อสมาชิกกลุ่มชื่อตำแหน่งของผู้พิพากษา
"ตอนนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังรวบรวมข้อมูลทั้งหมดเพื่อยื่นของอนุญาตจากศาลต่อไป และยังคงเปิดรับผู้เสียหายที่ต้องการฟ้อง สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางเเฟนเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค"
อ่านประกอบ
คิดค่าโทรเป็นวินาที ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
ประวิทย์ยันคิดเป็นวินาที ไม่เกี่ยวค่าโทรแพง พร้อมช่วยผู้บริโภคได้นาทีคืนมา30%
เกือบ 2 ปีไม่คืบ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ชี้ผู้บริโภคเสียหายพุ่ง 7.6 หมื่นล.
กทค. ส่อเบี้ยวสภาปฏิรูปประเทศ ฉีกมติค่าโทรเป็นวินาที
“เลิกปัดเศษค่าโทร” ฝันที่ กทค. ทิ้งขว้าง
เครือข่ายสื่อฯร้อง กสทช.-สคบ. 'รื้อใหม่ค่าโทรเป็นวิฯ ซัดค่ายมือถือได้
กสทช.เผยวันดีเดย์ 1 มี.ค. คิดค่าโทรมือถือเป็นวินาที
หมอลี่ยืนยันคิดค่าโทรเป็นวินาทีต้องเปลี่ยนทั้งระบบ
ทรูมูฟฯค้านคิดค่าโทรเป็นวินาที อ้างปชช.จ่ายแพงขึ้น
ขอบคุณภาพประกอบจากhttp://cdn.cfo.com/