- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- เกือบ 2 ปีไม่คืบ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ชี้ผู้บริโภคเสียหายพุ่ง 7.6 หมื่นล.
เกือบ 2 ปีไม่คืบ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ชี้ผู้บริโภคเสียหายพุ่ง 7.6 หมื่นล.
ผ่านมาเกือบ 2 ปีเรื่องไม่คืบ มูลนิธิผู้บริโภค เตือน กทค. ต้องทำตามมติ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที เฉลี่ยมูลค่าความเสียหายกว่า 3,200 ล้านบาทต่อเดือน ประธาน คอบช. ระบุ 3 ข้อเสนอ ในการคุ้มครองผู้บริโภค
วันที่ 14 ธ.ค. 2559 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) แถลงข่าวในหัวข้อ 'ผู้บริโภค เตือน กทค. ต้องทำตามมติ บังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที หากเปลี่ยนมติจะทำให้รัฐ ผู้บริโภคเสียหาย เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ เตรียมหารือเพื่อฟ้อง ป.ป.ช. และสตง.' ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สืบเนื่องมาจากวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 29/2559 ได้พิจารณาเรื่องแนวทางบังคับผู้ให้บริการคิดค่าบริการเสียงตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยเรื่องนี้สืบเนื่องจากที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อ 17 พ.ค.2559 ได้เคยมีมติให้ผู้รับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz (คลื่น 4G) จะต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมเสริมการขาย ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการให้ใช้คลื่นความถี่ที่กำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด” โดยมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่าต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง
ผศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานอนุกรรมการฯ ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม คอบช. กล่าวว่าเมื่อปลายปี 2558 ก่อนการประมูลคลื่น 4G กสทช.ประกาศบอกว่า ผู้ชนะการประมูลจะต้องคิดค่าบริการตามจริง ซึ่งคือการคิดเป็นวินาที ต่อมา เมื่อ 17 พ.ค. 2559 กทค. มีมติย้ำออกมาว่าต้องคิดค่าบริการเป็นวินาทีทุกโปรโมชั่น แต่เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 ปรากฏว่ามีการชงเรื่องเข้าไปในที่ประชุม กทค. ในเชิงขอให้ทบทวนมติเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2559 โดยให้ใช้โปรฯ วินาทีเฉพาะบางส่วน ไม่ใช่ทุกส่วน
ผศ.รุจน์ กล่าวถึงรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของ สปช. รายงานเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2557 ยกตัวอย่างผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งถูกเอาเปรียบจากผู้ให้บริการในการใช้งานค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภครายดังกล่าวต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่เกินมาจากโปรโมชั่นใช้งานปัจจุบัน
“ผู้บริโภครายหนึ่งซื้อบริการในราคา 899 บาท ได้ค่าโทรไม่เกิน 500 นาที โดยกำหนดว่าถ้าเกิน 500 นาที เป็นต้นไปจะถูกคิดค่าบริการนาทีละ 1.25 บาท เมื่อผู้บริโภครายนี้เข้าไปดูบันทึกการใช้งานของตนเอง พบว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เขาใช้บริการโทรไป 473 นาที 27 วินาที ซึ่งถือว่าไม่เกิน 500 นาที แต่ปรากฏว่าตัวผู้ประกอบการมีการชาร์จค่าโทร บอกว่า โทรเกิน คิดเป็น 658 นาที เนื่องจากว่าการคิดค่าการโทรแบบปัดเศษ เลยต้องถูกคิดค่าบริการเกินอีก 158 นาที คิดเป็นเงิน 157.50 บาท แบบนี้ถือเป็นกรณีที่เห็นชัดเจนมากว่า ผู้บริโภคถูกละเมิดการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม”
ผศ.รุจน์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังคงไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นจึงมีข้อเสนอจำนวน 3 ข้อ ในการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่
1. กทค.จะต้องบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายคิดค่าบริการตามจริง โดยไม่ปัดเศษและเป็นการไม่ปัดเศษในทุกค่าบริการด้วย เพราะหากเป็นบางบริการ ผู้ประกอบการทำให้ค่าเฉลี่ยตรงนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าค่าบริการแบบปัดเศษ ค่าบริการที่คิดตามจริงจะต้องเป็นค่าบริการในทุกบริการและจะต้องสามารถทำได้ในตัวโปรโมชั่นเลย
2. กทค. กสทช. ไม่ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เตรียมยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. คสช 2553 มาตราที่7 (9) ซึ่งระบุให้กสทช. นั้นมีหน้าที่กำหนดโครงสร้างและค่าบริการที่เป็นธรรม
3. พร้อมขอให้ สตง.เข้าไปตรวจสอบว่าหน่วยงานราชการทั้งหลายได้ใช้จ่ายเงินไปเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับราชการจริงหรือไม่
ขณะที่นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อดีตประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า การมีมติบังคับค่ายมือถือคิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที ถือเป็นเรื่องที่ต้องกระทำเป็นการเร่งด่ว นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค แม้จะมีทุกหน่วยงานสนับสนุนรวม แต่ผ่านไปเกือบจะ 2 ปี ความคืบหน้าในเรื่องนี้มีน้อยมาก เพราะผู้บริโภคยังคงถูกคิดค่าโทรศัพท์ที่เกินจริงอยู่
พร้อมกันนี้ นางสาวสารี กล่าวด้วยว่า กรณีค่ายมือถือไม่ได้คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที มีการประเมินขั้นต่ำต่อคน พบว่า จะเสียค่าบริการส่วนเกินต่อเดือนประมาณ 40 บาท ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ถูกทางผู้ให้บริการปัดเศษ 1 ครั้ง/วัน ครั้งละ 1.33 บาท หากผู้ใช้บริการเลขหมายมีทั้งหมด 80 ล้านหมายเลข เสียค่าบริการเกินหมายเลขละ 40 บาท มูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 3,200 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 38,200 ล้านบาทต่อปี
"ขณะนี้ผ่านมาเกือบ 2 ปี เรื่องยังไม่ได้รับการแก้ไขก่อให้เกิดความเสียหายตีเป็นจำนวนเงินประมาณ 76,400 ล้านบาท"