ก้าวไปอีกขั้น มิติด้านกฎหมายกับการแก้ปัญหายาเสพติด
เราใช้เงิน 9.2พันล้านบาทในการแก้ปัญหายาเสพติดในช่วง 8 ปีความเสียหายอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ถึง9.4แสนล้านบาท แถมมีนักโทษเพิ่มขึ้นจนเกิดปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ สะท้อน “การเสพติดกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการลงโทษ”
ย้อนไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษจิกายน 2259 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบให้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2559 รอประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งเป็นการแก้ไขพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เพื่อการแบ่งประเภทของยาเสพติดไว้อย่างชัดเจน รวมถึงกำหนดโทษให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะที่แก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายของยาเสพติดให้โทษทุกประเภท และอัตราความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออกยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่เบาลงกว่ากฎหมายเดิม
ที่ผ่านมาโครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้พยายามขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการยุติธรรมมาโดยตลอด อีกทั้งแสดงผลการศึกษาการลงโทษหนักเกินไปอย่างไม่ได้สัดส่วน โดยเฉพาะผู้เสพแมทแอมเฟตามีน ซึ่งต้องโทษในความผิดฐานนำเข้ายาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ถูกจับกุมในเรือนจำถึงร้อยละ 72
สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยพึ่งพากระบวนการยุติธรรมทางอาญาเพื่อตอบโต้ปัญหาดังกล่าวมากไป จนเรียกได้ว่า “เสพติดกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการลงโทษ”
การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ถือว่าเป็นการตื่นตัวเพื่อการปฏิรูประบบควมคุมยาเสพติดครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ยืนยันว่า ช่วงกว่าสามทศวรรษ ที่ผ่านมากับการแก้ไขปัญหายาเสพติดของสังคมไทย มีปัญหาเรื่องขององค์ความรู้ การที่เราถูกสอนมาในความรู้เเบบแยกส่วน ทำให้เราไม่สามารถเอาชนะปัญหายาเสพติดได้
"คนที่เรียนมาทางกฎหมาย คิดว่าถ้าจะจัดการต้องใช้กฎหมาย ยิ่งแรงเท่าไร จะมีความหวาดกลัวมากขึ้น ส่วนคนที่เรียนวิทยาศาสตร์ก็เชื่ออีกแบบด้วย" รศ.ดร.สังศิต ระบุชัด ระบบการศึกษาของเราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้
การแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด เขาเห็นว่า ต้องลดอคติ อัตตาของเราลงเสียบ้าง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา ถ้าเราไม่ยอมเปิดใจรับความแตกต่างอะไรเลย ไม่กล้าที่จะคิดให้อยู่นอกกรอบ การแก้ปัญหาจะทำได้ยาก
"วันนี้ก็มีแค่องค์กรเดียว คือโครงการของพระองค์ภาฯ ที่คอยพยายามสร้างความใจใหม่ๆ ให้สังคม คือการสร้างคามรู้ การผลิตความรู้ และนี่คือสิ่งที่ดีที่สุดในการเอาชนะยาเสพติด"
รศ.ดร.สังศิต คำนวณงบประมาณการแก้ปัญหายาเสพติด พบว่า เราขาดทุนมาทุกปี สมมติประเทศไทยเป็นองค์กรธุรกิจหนึ่ง ขาดทุนเป็นสิบๆ ปี ไม่มีองค์กรไหนอยู่ต่อ เราใช้เงิน 9.2 พันล้านบาทในการแก้ปัญหา แต่สิ่งที่มีการประเมินนโยบายช่วง 8 ปี ตัวเลขความเสียหายน่าจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท ถึง 9.4 แสนล้านบาท
“งบพวกนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลผลิตอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้นถ้าเรามอง ปัญหายาเสพติดจากมุมเศรษฐศาสตร์ ประเทศชาติเสียหายหนักมาก แทนที่จะเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เรื่องสวัสดิการ ส่งเสริมการศึกษา ความเป็นอยู่ให้คนไทย”
ความเสียหายยาเสพติดไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ในทางสังคมรศ.ดร.สังศิต ชี้ว่า ก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ต้นทุนในการที่เราต้องใช้จ่ายในการป้องกัน ยาเสพติด ต้นทุนทางด้านนโยบายของภาครัฐ ต้นทุนผลผลิต ต้นทุนของสังคม ต้นทุนของนักโทษในคุก
ต้นทุนที่กล่าวมานี้ อาจประเมินยาก
แค่ต้นทุนอย่าง ต้นทุนนโบายยาเสพติด หากดูรัฐบาลไทยตั้งแต่ปี 2542-2559 เป็นเวลา 18 ปี หมดงบไป 9.2 หมื่นล้านบาท แต่ต้นทุนของผลผลิตที่สูญเสียจากการจำคุก เอาแค่ 8 ปี ตกประมาณ 3 แสนล้านบาท ถึง 8 แสนล้านบาท
นี่คือความสูญเสียมากที่สุดของสังคม
ต้นทุนอาชกรรม จะมองว่า การก่ออาชญากรรมของเอกชนมีมูลค่าเท่าไร คนเสพยาก่ออาชญากรรมจริง แต่ไทยไม่ได้มีแค่เอกชนหรือรายบุคคล เจ้าหน้าที่รัฐก่ออาชญากรรมด้วยเช่นกัน ต้นทุนสองอันนี้ใครก่อความเสียหายมากกว่ากัน
"ในปี 2550-2558 ความเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 6 หมื่นล้านบาทถึงกว่าแสนล้านบาท ถ้าเทียบกันของเอกชนความเสียหายที่เกิดขึ้นราว 2 หมื่นล้านบาท คิดเป็น18% ขณะที่รัฐก่อความเสียหายเชิงอาชญกรรมราว 4 หมื่นล้านบาทถึงแสนล้านบาท โดยพอจะสรุปได้ว่าปัญหายาเสพติด ต้นทุนนโยบายรัฐก่อมากกว่า"
ยิ่งเมื่อมีการประกาศทำสงครามยาเสพติดกลับทำให้นักโทษยาเสพติดเกิดขึ้นเร็ว เพิ่ม 55% -77% งบประมาณของภาครัฐในการจัดการเพิ่มขึ้น 49% ตัวเลขพวกนี้เขาสะท้อนว่า เราจ่ายมากเพื่อกวาดขึ้นมากขึ้น
แต่สถานการณ์ 20 ปีก็ยังไม่คลี่คลาย คำถามคือจะคลี่คลายอย่างไร ถ้าเราใช้หลักคิดแบบนี้ ปัญหาก็ไม่ได้ถูกแก้ไข แต่เราต้องจ้างมากขึ้น แถมยัง unproductive หรือไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ถือเป็นความไม่คุ้ม
นี่เป็นปัญหาที่ รศ.ดร.สังศิต มองว่า หากไม่มีการคิดถึงมุมทางด้านเศรษฐศาสตร์ ประเทศนี้ไม่มีทางรอด หากจะเปรียบเทียบต้นทุนในปี 2551-2558 เทียบกับ GDP ประเทศเเล้ว เราจะพบว่า งบประมาณที่ใช้จ่ายด้านนี้สูงถึง 0.76-1.54ของ GDP ในขณะที่งบประมาณด้านป้องกันยาเสพติดในประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 0.9% หรือในออสเตรเลียอยู่ที่ 0.3 ของ GDP เท่านั้น
"ต้นทุนแก้ปัญหายาเสพติดของเราสูงกว่าเขา ความเสียหายเราสูงกว่า 2-3 เท่า ถ้าเราไม่มีการทบทวนแนวคิดใหม่ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดไทย เราไม่มีทางอยู่กันได้อย่างสงบ"รศ.ดร.สังศิต ระบุ และชวนตั้งคำถามให้คิดต่อ เวลานึกถึงการแก้ปัญหายาเสพติด คนที่รับผิดชอบใจถึงหรือเปล่า การจะแก้ปัญหาให้เรามองสรรพสิ่งอย่างเป็นจริง อย่ามองด้วยอคติ ถ้าเราเพียงใช้ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ได้ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องมองคนติดยาเสพติด ในฐานะมนุษยธรรรมด้วย ถ้ามองเห็นเป็นแค่สิ่งของ ผิดต้องลงโทษ ต้องคิดว่า อันที่หนึ่ง เราจะแก้ปัญหา สังคม สันติสุข แล้วมองมันอย่างว่า โทษจริงๆ แค่ไหน
เขาเชื่อว่า เรื่องนี้แบบนี้จะแก้ไม่ได้ อยู่ที่รัฐบาลต้อง "ทุบโต๊ะ" การแก้ปัญหายาเสพติดต้องเห็นผลใน 365 วัน ถ้ารัฐบาลตัดสินใจเดินหน้า ปัญหายาเสพติดจะไม่ใช่ปัญหารุนแรงต่อไป เปลี่ยนหลักคิดนิดเดียว อย่าคิดว่าคนที่โดนข้อหาหนักๆ ของไทยแรงที่สุด เราอยู่ในประชาคมโลก ถ้าเราต้องการให้เจริญรุ่งเรือง ต้องยอมเปิดใจ มองคนเสพยาเสพติด เป็นผู้ป่วย เอาเขาไปรักษา เอาไปอยู่คุกไม่มีประโยชน์
"ผมไม่ได้บอกว่า ผู้ค้ารายใหญ่จะได้รับการเอาใจ เรื่องนั้นก็ต้องจัดการ เพียงแต่วันนี้เราต้องเพิ่มมิติทางสังคม มนุษยธรรมเข้าไป" นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย
การแก้ปัญหายาเสพติดมิติทางกฎหมาย ถือว่า มีการเปลี่ยนแปลงระดับหนึ่งแล้ว เช่น ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ รอประกาศใช้เป็นกฎหมาย ขณะที่ร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ก็กำลังลุ้นเข้าสู่การพิจารณาของสนช. แต่ยังมีมิติที่สังคมไทยยังต้องผลักดันกันต่อไป ก็คือองค์ความรู้ด้านยาเสพติดที่ถูกต้อง ทั้ง Drug Prevention, Drug Education และ Drugs Use...
อ่านประกอบ
2 ทศวรรษแห่งโศกนาฏกรรมสงครามยาเสพติด ถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่
หยุดโลกสวย ศ.ดร.คาร์ล ฮาร์ท แนะไทย แก้ปัญหายาเสพติด ต้องกล้าหาญ กล้าพูด กล้าทำ
สินบนนำจับคดียาเสพติด ศ.ดร.คาร์ล ฮาร์ท ชี้ไทยสร้างแรงจูงใจที่ผิดทาง
พล.อ.ไพบูลย์ ประกาศชัดเลิกเงินสินบนนำจับคดียาเสพติด
ยาบ้าเล็กน้อย ของกลาง 1 - 2 เม็ด และสินบนนำจับ บอกอะไรกับสังคม ?
ยธ.-สธ.จับมือแก้นโยบายยาเสพติด เล็งลดระดับยาบ้า-ยส.ประเภท2
TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ
ภาพประกอบจาก
http://www.stock2morrow.com/forums/filedata/fetch?id=766239&d=1294838963