สุรชาติ บำรุงสุข: พื้นที่ปลอดภัยไม่มีจริง
สถานการณ์ชายแดนใต้วันนี้ เดินทางมาถึงการกำหนด “พื้นที่ปลอดภัย” หรือ “เซฟตี้ โซน” ระหว่างคณะพูดคุยของรัฐบาลไทยกับผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี”
ภายหลังการพบปะพูดคุยเพื่อสันติสุขรอบล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อนสุดท้ายปลายเดือน ธ.ค.59 ที่ประชุมได้ข้อสรุปเห็นชอบในหลักการเรื่องการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ข้อมูลบางแหล่งอ้างว่ามีการตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่ายเพื่อพิจารณารายละเอียดแล้ว และคาดว่าต้นปีหน้า ประเด็นนี้จะเป็นวาระหารือหลักระหว่างรัฐบาลไทยกับ มารา ปาตานี
แต่คำถามก็คือ โอกาสความเป็นไปได้ของการเกิด “พื้นที่ปลอดภัย” มีมากน้อยแค่ไหน และในสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจุบัน ที่คู่ขัดแย้งใช้ยุทธวิธีก่อการร้ายในการสร้างอำนาจต่อรอง เราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยได้จริงหรือ?
คำถามนี้ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคำตอบพร้อมเหตุผลประกอบที่น่ารับฟัง
“เรื่องพื้นที่ปลอดภัยเป็นเงื่อนไขที่ผมเข้าใจว่า ฝั่งรัฐบาลไทยพยายามผลักดันอย่างมาก โดยมีความคาดหวังว่าถ้าจะให้การเจรจาเดินหน้า (หมายถึงการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ) ต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัย”
“แต่ผมกำลังตั้งข้อสงสัย เพราะถ้าเราดูข่าวจากทั่วโลก ในสถานการณ์ขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถ้าดูข่าวต่อเนื่องสักระยะ เราจะตอบได้ชัดว่าในพื้นที่ขัดแย้ง มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัยเลย ผมไม่ได้บอกว่าการเสนอประเด็นนี้ไม่ดี แต่ผมกำลังสงสัยว่าการนำเสนอประเด็นอย่างนี้ ในความเป็นจริงเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด”
อาจารย์สุรชาติ บอกว่า ไม่ได้เปรียบเทียบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กับอะเลปโป ในซีเรีย ซึ่งไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่สู้รบอย่างเดียว เพราะเป็นการเปรียบเทียบที่สุดโต่งเกินไป แต่ในมุมมองทางความมั่นคงแล้ว ภายใต้บริบทความขัดแย้งสมัยใหม่ทั่วๆ ไปที่กลุ่มต่อต้านรัฐใช้การก่อความไม่สงบด้วยยุทธวิธีก่อการร้าย ย่อมสวนทางกับแนวคิดสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างสิ้นเชิง
“ถ้าเราคาดหวังว่าพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดขึ้นจริง ก็เกิดบนเงื่อนไขเดียว คือฝ่ายรัฐต้องสามารถควบคุมพื้นที่ได้ด้วยงานความมั่นคง แปลว่าฝ่ายรัฐสามารถสกรีนคนและพื้นที่ได้ทั้งหมด อันจะทำให้ความรุนแรงไม่เกิด แต่ถ้าเราเรียกร้องให้ฝ่ายตรงยข้ามร่วมกับเราในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ทั้งๆ ที่ในบริบทความเป็นจริงแล้ว ผู้ก่อความไม่สงบไม่เคยยอมรับเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นเงื่อนไขที่เขาได้เปรียบ ถ้าคิดพื้นๆ อย่างนี้ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเป็นอะไรที่ต้องยอมรับว่าลำบาก”
“ผมเห็นใจฝ่ายรัฐ ไม่ว่าจะระดับส่วนกลางที่กรุงเทพฯ หรือระดับพื้นที่ คงอยากควบคุมความเสียหาย อยากควบคุมการก่อเหตุร้าย แต่ต้องตระหนักว่าในสงครามก่อความไม่สงบที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือของการรบนั้น พื้นที่ปลอดภัยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ในบริบทอย่างนี้ ประเด็นจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยจะเป็นปัญหา และเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีวันจบ ปัญหานี้จะจบในพื้นที่ที่เราเป็นฝ่ายเหนือกว่า และควบคุมพื้นที่ได้เท่านั้น ถ้าเราคุมพื้นที่ไม่ได้ ก็ไม่มีทางเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าจะเจรจาสักกี่ครั้ง หรือฝ่ายตรงข้ามจะยอมรับสักกี่ครั้งก็ไม่แตกต่างกัน”
อาจารย์สุรชาติ มองว่า เรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย” เป็นมรดกของชุดความคิดกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ แต่น่าจะใช้ไม่ได้แล้วกับสถานการณ์ความขัดแย้งในโลกสมัยใหม่
“คิดเหมือนงานรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ เช่น เวลาเจ้าหน้าที่ยูเอ็นไปเป็น peace keeper ทำงานรักษาสันติภาพ และลงไปในพื้นที่ขัดแย้ง อาจจะมีการขีดเส้นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อแยกคู่ขัดแย้งออก แล้วก็จะมี peace zone เกิดขึ้น แต่ในสถานการณ์บ้านเราไม่ได้อยู่ในสถาวะอย่างนั้น”
“ชุดความคิดที่เรารับมาเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เป็นมรดกชุดความคิด peace keeping ของยูเอ็นหรือไม่ ทั้งที่วันนี้ถ้าเรามองงานรักษาสันติภาพของยูเอ็นในโลกสมัยใหม่ พื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัยก็แทบไม่มี ตัวอย่างชัดเจนคือปัญหาในซูดาน ทำให้เห็นว่าแม้มีกองกำลังของยูเอ็นอยู่ เอาเข้าจริงๆ ก็ควบคุมพื้นที่ไม่ได้”
“เรื่องนี้มองในบริบทโลก แม้กระทั่งงานรักษาสันติภาพของยูเอ็น ก็ยังลำบากที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในสถานการณ์ขัดแย้งในโลกปัจจุบัน แล้วถ้าเป็นสถานการณ์แบบไทย ผมคิดว่าเวลาเราคิด ผมคิดว่าคำตอบอยู่ในเวทีโลกพอสมควร เอาเข้าจริงๆ อาจจะเป็นไปได้ยาก”
“เราจินตนาการกับเรื่องพวกนี้เยอะ ประชาชนทุกพื้นที่ทั่วโลกอยากมีพื้นที่ปลอดภัย แต่เอาเข้าจริงทำได้ลำบาก ไม่ได้ต่อว่าว่าความฝันชุดนี้ไม่ดี แต่ข้อสังเกตผมมาจากสถานการณ์ในเวทีโลกปัจจุบัน มันเป็นความลำบากที่จะสร้างพื้นที่แบบนี้ แต่ถ้าเป็นในอดีต เวลากองกำลังของสหประชาชาติเข้าไป เขาจะหย่าศึกแล้วแยกคู่ขัดแย้งออก แล้วสร้างพื้นที่ที่เป็นเขตพื้นที่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันโอกาสทำอย่างนั้นยากมาก ดูข่าวในเวทีโลกทั้งหมดวันนี้ เราแทบไม่เห็นเลยว่าพื้นที่ขัดแย้งตรงไหนบ้างที่มีพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ปลอดภัย”
อาจารย์สุรชาติ ย้ำว่า สถานการณ์ที่ซูดานใต้เป็นตัวอย่างปัจจุบันที่มองเห็นชัดที่สุดเรื่องพื้นที่ปลอดภัยว่าเป็นไปได้ยากมาก
“ตัวแบบของซูดานน่าสนใจ ประชาชนลำบาก อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง แม้กระทั่งกลุ่มงานเอ็นจีโอที่เข้าไปทำงานก็ถูกบุกโดยกองกำลังของอีกฝ่าย บริบทอย่างนี้ผมคิดว่าต้องการการคิด เนื่องจากเราไม่ใช่ฝ่ายที่มีอำนาจคุมพื้นที่ได้เด็ดขาด พื้นที่ปลอดภัยจะเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายรัฐคุมพื้นที่ได้เด็ดขาด สกรีนคน กระทั่งป้องกันความรุนแรงไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ได้”
“การสร้างเขตขาวในสถานการณ์ความขัดแย้งในเวทีโลกปัจจุบัน คำตอบสำหรับผมคือไม่ง่าย ไม่ได้ปฏิเสธว่าพื้นที่นี้ไม่ดี จริงๆ แล้วอยากเห็น เพราะเป็นพื้นที่ที่อย่างน้อยก็มีความคาดหวังว่าเราจะรักษาชีวิตประชาชน รักษาโอกาสทางเศรษฐกิจได้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตว่าไม่ง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน” ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวในที่สุด
สุดท้ายคงหนีไม่พ้นต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพื้นที่ปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือประเด็นนี้เป็นหนังเรื่องยาว!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
1 เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช : ผ่าแนวคิด "พื้นที่ปลอดภัย" ชายแดนใต้
2 "พื้นที่ปลอดภัย"ยังไร้รูปร่าง "มาราฯ"จัดประชุมใหญ่วางยุทธศาสตร์พูดคุย
3 มุมมองที่แตกต่างเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ผลวิจัย vs ฝ่ายความมั่นคง