- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช : ผ่าแนวคิด "พื้นที่ปลอดภัย" ชายแดนใต้
เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช : ผ่าแนวคิด "พื้นที่ปลอดภัย" ชายแดนใต้
การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินการอยู่ในสัปดาห์นี้ หัวข้อสำคัญที่ทั้งตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยและผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี” หยิบยกขึ้นมาหารือกันอย่างต่อเนื่องก็คือเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย”
หากเชื่อตามข้อมูลที่ อัศโตรา ยาบัต ซึ่งนิยามตัวเองว่าเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศอาวุโสผู้เข้าถึงแหล่งข่าวสำคัญในคณะพูดคุยฯได้ โพสต์ข้อความไว้ในเฟซบุ๊คของเขา ก็มีความหวังว่า “พื้นที่ปลอดภัย” ใกล้เป็นรูปเป็นร่างเต็มที หลังจากทั้งสองฝ่ายหารือกันมาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และมีข่าวเห็นไม่ตรงกันในรายละเอียด
“ขณะนี้การพูดคุยสันติภาพเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยนั้นคืบหน้าไประดับหนึ่งแล้ว คือได้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเรียบร้อยไปแล้ว และการพูดคุยสันติภาพครั้งนี้จะมีการคุยและถกต่อประเด็นนี้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการดูแลบริหารจัดการ”
เป็นข้อความที่เขาโพสต์ในวันแรกของการพูดคุยรอบใหม่ที่มาเลเซีย ก่อนจะบอกในวันต่อมาว่า...
“ต้องทำใจหน่อย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพื้นปลอดภัยนี้ยังอยู่ในขั้นตอนแรกของการเคลื่อนไหวเพื่อจะสร้างให้เกิดมาขึ้นมา ถึงแม้ผลการเจรจาบนโต๊ะคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 80% เพราะการเอาลงจากโต๊ะเจรจามาปฏิบัติในพื้นที่ไม่ใช่เรื่อง่าย และต้องผ่านขั้นตอนอีกมากมาย”
จากข้อมูลของ อัศโตรา และการประเมินแนวโน้มการพูดคุยฯของ “ทีมข่าวอิศรา” เชื่อว่าหลังจบการพบปะเที่ยวนี้ น่าจะมีการแถลงให้เห็นความคืบหน้าของการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัย” อย่างน้อยก็กรอบแนวคิดที่ตกลงกันได้ เพื่อให้เป็นสัญญาณที่ดีในการพูดคุยกันต่อในปีหน้า
เมื่อ “พื้นที่ปลอดภัย” น่าจะกลายเป็นทิศทางหลักบริบทหนึ่งของปัญหาชายแดนใต้ในปี 2560 จึงน่ามาทำความเข้าใจเรื่องนี้ว่า “พื้นที่ปลอดภัย” คืออะไรกันแน่ มีขอบเขตแค่ไหน และมีองค์ประกอบกับแนวปฏิบัติอย่างไร
หลักคิด กับ รูปแบบ
ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจง่ายๆ โดยเริ่มจากหลักการและทฤษฎีที่ว่าด้วยพื้นที่ปลอดภัย
“พื้นที่ปลอดภัยเป็นทฤษฎีที่ใช้กันในหลายพื้นที่ขัดแย้งที่มีความรุนแรงหรือการใช้อาวุธ ในลักษณะที่ว่าสู้รบกันมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว บางที่อาจจะหลายชั่วอายุคน จนแต่ละฝ่ายรู้สึกเหนื่อย คนในพื้นที่ก็เหนื่้อย ก็หาวิธีว่าทำอย่างไรที่จะเลิกใช้ความรุนแรง เลิกฆ่า แนวคิดนี้ก็จะถูกนำมาใช้งาน”
ดร.เอกพันธุ์ บอกว่า รูปแบบของพื้นที่ปลอดภัย แบ่งอย่างหยาบๆ เป็น 2 รูปแบบ คือ พื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพ หมายถึงว่าถ้าคู่ขัดแย้งหรือทุกฝ่ายในพื้นที่ขัดแย้งเห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่จะหยุดรบราฆ่าฟัน ก็จะมาคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรให้มีพื้นที่หยุดยิง ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางกายภาพ ไม่มีการใช้อาวุธ ไม่มีการฆ่าฟันกันในพื้นที่ที่กำหนดนั้น
ส่วนพื้นที่ปลอดภัยอีกประเภทหนึ่ง คือ พื้นที่ปลอดภัยทางความคิดและความรู้สึก เป็นเหมือนช่องทางหนึ่งที่ผู้คนสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้อย่างอิสระเสรี เป็นพื้นที่ที่ผู้คนมาทำงานด้านสันติวิธีได้ ทั้งผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้ง คู่กรณี หรือผู้ได้รับผลกระทบ สามารถใช้พื้นที่นี้แสดงความเห็น หรือแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ
“ฉะนั้นพื้นที่ปลอดภัยจึงมี 2 รูปแบบ คือปลอดภัยกับชีวิตและทรัพย์สิน หยุดรบราฆ่าฟัน หรือปลอดภัยทางสิทธิเสรีภาพ แสดงออกได้อย่างเสรี”
ดร.เอกพันธุ์ ชี้ว่า แนวคิดทางการเมืองหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง ควรได้รับการยอมรับและมีพื้นที่บางพื้นที่ที่สามารถแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างสุจริตได้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกจับ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามรัฐ
“เราควรมีพื้นที่ปลอดภัยตรงนี้เพื่อแสดงความเป็นมิตรจิตมิตรใจของคนที่มีความแตกต่างกัน รวมถึงความต่างทางความคิดและจิตวิญญาณ”
“สิบกว่าปีของปัญหาชายแดนใต้มีผู้คนล้มตายไปไม่น้อย ส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตเป็นเป้าหมายเปราะบาง เป้าหมายอ่อนแอ ไม่ได้ติดอาวุธ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการสู้รบหรือการต่อสู้กัน ผู้สูญเสียชีวิตหรือบาดเจ็บเหล่านี้ล้วนมีญาติพี่น้อง มีความเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ทำให้จำนวนผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนมาก ฉะนั้นถ้าเป็นไปได้จึงควรมีพื้นที่ความปลอดภัยทางกายภาพให้กับพวกเขา อาจจะสามารถเดินทางได้โดยปลอดภัย หรือไม่มีการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ที่กำหนด เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ที่เราเชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายไปใชับริการได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต”
ที่ไหน (ควร) ปลอดภัย?
ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา บอกว่า แนวคิดการเลือกสถานที่ใดเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ขึ้นอยู่กับปัจจัยและความตกลงของผู้ที่เกี่ยวข้อง
“หลายๆ ที่เขาใช้แนวความคิดเอาสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมของผู้อ่อนแอ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ที่เด็กและสตรีไปอยู่ เช่น สนามเด็กเล่น หรือจะใช้เป็นพื้นที่ทั่วไป เป็นเขตอำเภอ จังหวัดก็ได้ ขึ้นกับความเหมาะสมของสถานการณ์”
“สำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่แน่ใจว่าจริงๆ แล้วแบบไหนเหมาะสมกับพื้นที่ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าเด็ก สตรี คนชรา นักบวชในทุกๆ ศาสนา ถือว่าเป็นผู้ที่ควรได้รับการละเว้น แม้กระทั่งในสงคราม ผู้คนเหล่านี้ควรได้รับการปกป้องดูแลไว้ก่อน ฉะนั้นโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล ศาสนสถาน สถานที่เหล่านี้ควรได้รับการยอมับจากทุกฝ่ายว่าเป็นพื้นที่ปลอดการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน”
ใครกำหนด?
ประเด็นต่อมาที่ต้องพิจารณาก็คือ ใครคือผู้ร่วมกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ดร.เอกพันธุ์ บอกว่าต้องมาจากผู้มีส่วนร่วมหลักในความขัดแย้ง
“พื้นที่ปลอดภัยควรมาจากผู้มีส่วนร่วมหลักๆ คือรัฐ และกลุ่มขบวนการ แต่กลุ่มขบวนการอาจจะดูว่ามีหลายองค์กร ถึงแม้ว่ากระบวนการพูดคุยจะมีกลุ่มมารา ปาตานี แสดงออกมาว่าเป็นตัวแทน แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีอีกหลายกลุ่มที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในปัญหาสามจังหวัด ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจะเป็นกระบวนการที่มีการมีส่วนร่วม ตกลงพูดคุยกันระหว่างภาคีคู่กรณีหลัก ซึ่งอาจจะมีมากกว่า 2 ฝ่าย ถ้าตกลงกันได้ โดยมีภาคประชาสังคมให้ความเห็นหรือเสนอแนวทางบางอย่างที่เหมาะสม ก็อาจจะช่วยได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้น”
เขามองว่าพลังจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะช่วยอุดช่องโหว่ที่ว่าผู้มีส่วนร่วมในความขัดแย้งบางกลุ่มไม่มีศักยภาพมากพอในการทำให้พื้นที่ปลอดภัยได้จริง
“ผมไม่แน่ใจว่าผู้มีส่วนร่วมต่างๆ จะมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหนในการดำเนินการให้บรรลุข้อตกลงพื้นที่ปลอดภัย ฉะนั้นต้องมีการผลักดันจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย”
ข้อน่ากังวล
อุปสรรคหรือความท้าทายของ “พื้นที่ปลอดภัย” ในความเห็นของ ดร.เอกพันธุ์ ก็คือ พื้นที่ที่ถูกขีดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยแล้ว มีโอกาสเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัยด้วยในเวลาเดียวกัน
“อาจเป็นความพยายามของกลุ่มขบวนการ หรือแม้กระทั่งภาครัฐเองที่เน้นวิธีการเรื่องการใช้กำลังต่อกัน ภาครัฐเน้นปราบปราม กลุ่มขบวนการก็ใช้กำลังตอบโต้ฝ่ายรัฐบาล แน่นอนย่อมส่งผลกระทบถึงชาวบ้านด้วย ถามว่าถ้าทั้งสองฝ่ายใช้ความรุนแรงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือต่อรองซึ่งกันและกัน การไปบอกให้ผู้ที่นิยมใช้ความรุนแรง หยุดใช้ความรุนแรง มันก็เป็นไปได้ยาก เพราะความรุนแรงเป็นเครื่องมือการต่อรองของเขา หากถูกลดทอนศักยภาพบางอย่างลงไป ก็จะสูญเสียอำนาจการต่อรองไปด้วย ฉะนั้นต้องคิดว่าทำอย่างไรให้กระบวนการทางการเมืองเข้ามาทดแทนความรุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสีย”
จากบทเรียนในต่างประเทศ พื้นที่ขัดแย้งหลายๆ แห่ง การสู้รบดำเนินควบคู่ไปกับการขีดเส้นพื้นที่ปลอดภัย
“ไม่ว่าจะสเปนหรือไอร์แลนด์เหนือ การเคลื่อนไหวส่วนมากจะทำควบคู่กันไป กลุ่มนิยมความรุนแรงหรือกลุ่มสู้รบก็รบกันไป กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองก็เคลื่อนไหวได้อิสระ”
“จากประสบการณ์หลายๆ ที่ ความรุนแรงทางกายภาพจะลดลงเมื่อปีกทางการเมืองมีความเข้มแข็งพอประมาณ พอปีกการเมืองเข้มแข็ง ขบวนการที่เห็นต่างจากรัฐก็จะเห็นว่าพวกเขาสามารถต่อสู้โดยไม่ต้องใช้อาวุธได้ เขาก็จะลดการใช้อาวุธและความรุนแรงลง เป็นคล้ายๆ สมการ เพิ่มข้างซ้ายก็ลดทางขวา ถ้ามีศักยภาพทางการเมืองมากขึ้น โอกาสใช้ความรุนแรงทางกายภาพก็จะลดน้อยลงไปด้วย”
เสริมศักยภาพขบวนการ
จากความท้าทายของการมีพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูญเสียอำนาจการต่อรอง การบรรลุข้อตกลงแบบนี้ย่อมเป็นไปได้ยาก จึงต้องมีปัจจัยอื่นเข้าไปหนุนเสริม
“อาจต้องเสริมสร้างศักยภาพให้กับฝายขบวนการให้สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบสันติวิธีได้มากขึ้น เช่น เคลื่อนไหวทางการเมืองได้โดยไม่ถูกตามจับ ไม่ถูกข่มขู่คุกคาม ตามเก็บ ตามอุ้ม จนมีพื้นที่ทางการเมืองที่สามารถบอกได้อย่างเปิดเผยว่าแนวคิดของเขาไม่ตรงกับแนวคิดสังคมกระแสหลักอย่างไร ถ้าเกิดพื้นที่พวกนี้ ผมคิดว่าฝ่ายขบวนการก็จะลดการใช้ความรุนแรงลง เพราะมีพื้นที่อื่นให้แสดงตัวตนมากกว่าการใช้ความรุนแรงในการแสดงตัวตน”
ดร.เอกพันธุ์ กล่าวปิดท้ายว่า แนวคิดนี้ไม่ขัดกับหลักกฎหมายภายใน เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็รับรองเรื่องเหล่านี้เอาไว้
“การเคารพสิทธิของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง เคารพสิทธิการปกครองท้องถิ่นด้วยตนเอง เคารพสิทธิการแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผยสุจริต เรื่องเหล่านี้มีรับรองในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่าเป็นการยอมอ่อนข้อให้ผู้เห็นต่าง แต่เพราะเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นต่าง”
“สิ่งสำคัญก็คือรัฐไทยเป็นรัฐอำนาจนิยม โดยเฉพาะในยุคไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลใช้อำนาจเยอะมาก รัฐบาลแบบนี้จะรู้สึกว่าการไปเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนหรือขบวนการพูดคุยในสิ่งที่ไม่ตรงกับแนวคิดของตนเองมากนัก อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันห่างไกลจากความหมายของการเป็นภัยต่อความมั่นคงมากพอสมควร”
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
*นัฏฐิกา โล่ห์วีระ เป็นผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ NOW26
บรรยายภาพ : ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ขอบคุณ : ภาพจากสถานีโทรทัศน์ NOW26