- Home
- South
- เวทีวิชาการ
- มุมมองที่แตกต่างเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ผลวิจัย vs ฝ่ายความมั่นคง
มุมมองที่แตกต่างเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ผลวิจัย vs ฝ่ายความมั่นคง
ยังคงมีความเห็นแตกต่างเกี่ยวกับ “พื้นที่ปลอดภัย” ทั้งในแง่นิยาม ขอบเขต และผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการ ท่ามกลางความพยายามเดินหน้ากำหนด “พื้นที่ปลอดภัยชายแดนใต้” บนโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ระหว่างคณะผู้แทนของรัฐบาลไทย กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐในนาม “มารา ปาตานี”
เป็นความพยายามบนความคาดหวังของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกความรุนแรงกระหน่ำซ้ำเติมมานานกว่า 1 ทศวรรษ
3 ตัวแบบ “พื้นที่ปลอดภัย”
จากรายงานการวิจัยเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัยในปาตานี/จังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งศึกษาโดย อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิเอเชีย โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร และการประชุมเฉพาะกลุ่มกับบางภาคส่วน ได้แก่ คณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ นักการเมืองชายแดนใต้ ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กำนันผู้ใหญ่บ้านชายแดนใต้ เจ้าหน้าที่รัฐจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และกลุ่มไทยพุทธในพื้นที่ พบข้อเสนอแนวทางการสร้างพื้นที่ปลอดภัย 3 แนวทาง คือ
1.พื้นที่สาธารณะปลอดภัย เป็นตัวแบบที่ถูกผลักดันอย่างมากจากคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ เพื่อกันการดำเนินชีวิตของผู้หญิง รวมทั้งพลเรือนทั่วไป ออกจากการเป็นเป้าของความรุนแรง
ฉะนั้นพื้นที่ปลอดภัยตามแนวทางนี้ที่มีความสำคัญสูงสุด 4 อันดับแรก คือ ตลาด ถนน โรงเรียน และสถานประกอบศาสนกิจของทุกศาสนา โดยกดดันเรียกร้องผู้ใช้กำลังอาวุธทุกฝ่ายยุติการก่อเหตุรุนแรงและปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่สาธารณะ
แต่แนวทางนี้มีอุปสรรคสำคัญคือ เป็นการสร้างอำนาจต่อรองและท้าทายกับคู่ขัดแย้ง รวมทั้งความขาดแคลนทรัพยากรสำหรับรักษาความปลอดภัย อุปสรรคข้อหลังนี้โยงมาสู่สิ่งที่ต้องแลกคือ อาจทำให้ชุมชนตกอยู่ในสภาวการณ์ต้องพึ่งพิงการสนับสนุนและการเป็นพี่เลี้ยงจากรัฐ จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะถูกมองเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐ หรือกระทั่งเป็นเครื่องมือของรัฐ
2.พื้นที่ปลอดภัยภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจ เป็นตัวแบบที่ถูกผลักดันไปแล้วตั้งแต่เดือน ธ.ค.2558 โดยภาครัฐจากการกำหนด 5 อำเภอสันติสุขนำร่อง คือ อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา
แนวทางนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการประเมินสภาพการณ์ของรัฐว่าในระยะปัจจุบัน รัฐกับภาคประชาชนมีขีดอำนาจมาก ในขณะที่ฝ่ายผู้คิดต่างจากรัฐมีอำนาจน้อยลง จึงเป็นห้วงเวลาเหมาะสมต่อการรุกคืบ โดยให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นคนในเป็นผู้เล่นหลัก
พื้นที่ปลอดภัยในตัวแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข โดยอาศัยการผนึกกำลังร่วมกัน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ (ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง), ภาคประชาชน (ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น), และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มาร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
แต่อุปสรรคสำคัญของแนวทางนี้ คือ ความเป็นไปได้ที่ชุมชนอาจไม่ให้ความร่วมมือด้วยเหตุผลหรือความกังวลต่างๆ เพราะในทางปฏิบัติย่อมถูกตีความไม่ยากว่าเป็นการร่วมมือกันเพียง 2 ฝ่าย คือ รัฐกับภาคประชาชน เพื่อรุกคืบกดดันฝ่ายของผู้เห็นต่างฯ อันอาจทำให้ความรุนแรงกระจายตัวลงสู่ระดับชุมชนมากขึ้น คู่ขนานไปกับความเป็นไปได้ที่พลเรือนจะเข้าถึงอาวุธมากขึ้น
3.พื้นที่สันติ แนวทางนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภาคประชาสังคม ให้น้ำหนักกับคุณลักษณะนามธรรมของพื้นที่ปลอดภัย เช่น การรับประกันคุณค่าสิทธิมนุษยชน การเปิดกว้างและผนวกรวมการทำงานหลายฝ่าย พร้อมกับยอมรับให้ความขัดแย้งยังคงสามารถดำเนินได้ต่อไป แต่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาบางอย่าง และไม่เพียงมุ่งจำกัดความรุนแรงต่อสถานที่และตัวบุคคลเท่านั้น หากแต่มุ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการกระบวนการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งโดยสันติวิธี พร้อมกับมุ่งหวังที่จะเพิ่มอำนาจให้กับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งรุนแรงด้วย
แนวทางนี้ ชุมชนจะร่วมมือกับ "หน่วยงานที่เป็นกลาง" กำหนด “พื้นที่สันติ” ขึ้นมาในชุมชนนั้น และตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐ ภาคประชาชน และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ ควบคู่กับการดำเนินงาน 3 เรื่องหลัก คือ ควบคุมกำกับการเคลื่อนไหวของบรรดากลุ่มที่ติดอาวุธ, ส่งเสริมการพูดคุยสานเสวนา และสนับสนุนการพัฒนาทางสังคมและเศรษฐกิจ
แต่อุปสรรคสำคัญของแนวคิดนี้ คือ ไม่มีหน่วยงานที่เป็นกลาง ขณะที่เหตุรุนแรงในพื้นที่มีลักษณะตัดข้ามเส้นภูมิศาสตร์ทางการปกครอง จึงมิอาจจำกัดกำหนดเขตแค่ชุมชนใดชุมชนหนึ่งเป็นพื้นที่สันติได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องแลกคือ ตัวแบบนี้จะพาชุมชนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนก้าวไปสู่การเป็นตัวแสดงอีก 1 ฝ่าย ผงาดขึ้นมาระหว่างการขัดแย้งปะทะกันของคู่ขัดแย้ง ดังนั้น ชุมชนมีแนวโน้มถูกตั้งคำถามและเจอแรงเสียดทานอย่างมากจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย
6 ปัจจัยความสำเร็จ “พื้นที่ปลอดภัย”
งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จสำหรับการจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย ว่าต้องประกอบด้วยปัจจัย 6 ประการ คือ
1.ข้อเสนอพื้นที่ปลอดภัยใดๆ ต้องมีความสามารถพอสมควรในการจัดการกับรากเหง้าของความรุนแรง
2.ระบุวิธีการและมีกลไกตรวจสอบกรณีผู้ละเมิดก่อเหตุรุนแรง ทั้งในและต่อพื้นที่ปลอดภัยที่กำหนด
3.การพิจารณารูปแบบของกลไกกลาง และกลไกร่วม ซึ่งชุมชนเจ้าของพื้นที่ต้องมีส่วนออกแบบ
4.พื้นที่ที่ไม่ค่อยมีเหตุรุนแรง มักเป็นพื้นที่ที่ชุมชนมีอำนาจ และทักษะในการสื่อสารต่อรองกับรัฐค่อนข้างดี รัฐต้องเปิดให้ผู้นำชุมชน ปัจจุบัน ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนาสามารถเล่นบทบาทนำในพื้นที่ได้มากพอสมควร โดยลดความหวาดระแวง
5.ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับ command & control และความชอบธรรมของมารา ปาตานี ที่จะกระทำการในนามตัวแทนของผู้เห็นต่างจากรัฐ
และ 6.ต้องมีกลไกหนุนเสริมให้ประชาชนตรงกลางที่เป็นคนส่วนใหญ่มีความสามารถกดดันบังคับวิถีของคู่ขัดแย้ง
ข้อค้นพบที่สำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ “ความไม่ปลอดภัย” ของพื้นที่ชายแดนใต้พัวพันอยู่กับสาเหตุรากเหง้าหลายประการในทางการเมือง ฉะนั้นการพูดถึงและเร่งรัดผลักดันการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” โดยไม่ได้จัดการกับรากเหง้าของปัญหาความรุนแรง จึงเป็นเสมือนความพยายามเพียงแค่บำบัดอาการของโรค หรือเป็นการรักษาตามอาการไปพลางเท่านั้น อาจหยุดปฏิบัติการก่อเหตุรุนแรงไปได้สักพัก เช่น 5 ปี หรือ 10 ปี แต่ในเมื่อรากของปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ความรุนแรงก็อาจเกิดระลอกใหม่ขึ้นอีก
มุมมองรัฐ...คุมพื้นที่ได้คือตัวจริง
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” ความเห็นของเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบงานความมั่นคงของประเทศ ให้น้ำหนักการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ไปที่บทบาทของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เพราะมองว่าฝ่ายรัฐไม่ได้เป็นผู้ทำให้เกิดภาวะ “ไม่ปลอดภัย”
ยิ่งไปกว่านั้น การทำให้พื้นที่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้ คือบทพิสูจน์ความเป็น “ตัวจริง” ของคู่เจรจาบนโต๊ะพูดคุย นั่นก็คือ มารา ปาตานี
“การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น สิ่งที่ต้องการผลสัมฤทธิ์อยู่ที่เมื่อกำหนดพื้นที่แล้วต้องควบคุมเหตุการณ์ได้จริง เพราะนี่คือข้อพิสูจน์ว่าทีมพูดคุยของเรากำลังคุยกับตัวจริงหรือตัวปลอม”
“สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแน่หลังกำหนดพื้นที่ปลอดภัย คือ เมื่อเกิดเหตุรุนแรง ฝ่ายเห็นต่างจะอ้างเสมอว่าเป็นฝีมือพวกที่ต่อต้านการพูดคุย ฉะนั้นฝ่ายรัฐต้องรับมือกับข้ออ้างทำนองนี้ โดยกดดันให้ มารา ปาตานี ต้องสามารถระบุตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคลให้ได้ว่าฝ่ายไหนลงมือ เพื่อประสานความร่วมมือกับมาเลเซียไม่ให้คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหว เพื่อขจัดอุปสรรคของการพูดคุย”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง บอกอีกว่า การร่วมกันกำหนดพื้นที่ปลอดภัย ไม่ควรจัดทำข้อตกลงใดๆ เป็นแค่บันทึกความเข้าใจก็เพียงพอ เพราะมิฉะนั้นอาจกระทบอธิปไตยหรือบูรณภาพแห่งดินแดนได้
“แต่ยืนยันว่าเราต้องเดินหน้าเรื่องพื้นที่ปลอดภัย เพราะถ้าทำได้จริงจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย สำหรับรัฐไทยเองอาจใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่าการพูดคุยไม่ผิดตัว และหากพื้นที่ไม่มีเหตุร้ายหรือมีน้อยมาก คนในพื้นที่ก็จะมีความเชื่อมั่น ส่วน มารา ปาตานี ก็จะได้ชื่อว่าเขาคือตัวจริง และเป็นสัญญาณบวกว่ามาราฯ คุยกับกองกำลังในพื้นที่ได้ ขณะที่มาเลเซียก็ถือเป็นความสำเร็จในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ”
มุมมองทหาร...ปลอดภัยจริง ไม่มีทางเกิด
ด้านความเห็นของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งคลุกคลีกับงานการข่าวชายแดนใต้มานาน บอกว่า เรื่องพื้นที่ปลอดภัยในความหมายของ “ปลอดเหตุรุนแรงจริงๆ” ไม่มีทางเกิดได้จากโต๊ะพูดคุยกับ มารา ปาตานี เพราะคนเหล่านี้ไม่ใช่ “ตัวจริง” ที่คุมกองกำลังกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่
“แกนนำมาราฯ บางคนเป็นตัวจริงในอดีต และไม่ใช่ระดับสูง มาเลเซียเป็นคนจัดให้มาเจรจากับคณะพูดคุยของเราซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาล ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความสำคัญคนละระดับกันด้วยซ้ำ” เจ้าหน้าที่รายนี้ ระบุ
สอดคล้องกับทัศนะของ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเคยมีบทบาทพูดคุยเจรจากับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนในอดีต ที่บอกว่า การพูดคุยเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ แต่การจะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในแง่ของพื้นที่ปลอดเหตุรุนแรงจริงๆ นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะกลุ่มที่มาเลเซียจัดมาพูดคุยกับคณะผู้แทนรัฐบาลไทย ล้วนเป็นพวกหมดน้ำยาไปแล้ว
ส่วนที่บางฝ่ายมองว่าการพูดคุย แม้กับไม่ใช่ตัวจริง แต่ก็เป็นประโยชน์ในแง่ของการโดดเดี่ยวกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรง ซึ่งเชื่อว่ากองกำลังหลักอยู่ในความควบคุมของบีอาร์เอ็นนั้น
ประเด็นนี้ พล.อ.อกนิษฐ์ ตอบสั้นๆ แต่ใจความว่า “ในทางทฤษฎีก็เป็นอย่างนั้น แต่กับพื้นที่สามจังหวัดอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะบีอาร์เอ็นก็สู้อยู่กลุ่มเดียวมานานแล้ว เรียกว่าโดดเดี่ยวตัวเองมานานแล้ว ฉะนั้นวิธีการแบบนี้คงไม่สำเร็จ”