เจาะแฟ้มประชุมกมธ.ไขปริศนากรมทางหลวงโผล่รับงานส.กีฬาจว.-ทหารทิ้งงาน?
เจาะแฟ้มประชุมกมธ.กีฬา วุฒิสภา ปี 56 ตามรอยไขปริศนา กกท.ทำเอ็มโอยู ให้ กรมทางหลวง รับงานส.กีฬาจว. ระบุชัดเกิดขึ้นหลังทหารทิ้งงาน?
"เท่าที่ทราบสาเหตุที่กรมทางหลวง เข้าไปรับงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของ กกท.เป็นเพราะว่า ผู้รับจ้างก่อนหน้านี้ คือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เข้ามาทำงานได้เพียงแค่ปีเดียวก็เลิกไม่ทำงานต่อ และกกท.ไม่สามารถหาตัวผู้รับเหมาเข้ามาทำงานได้ จึงเอางานมาให้กรมทางหลวงทำ"
คือ คำชี้แจงล่าสุดที่ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับทราบจาก นายสถาพร เชื้อผู้ดี อดีตผู้อำนวยการ ศูนย์สร้างทางลำปาง กรมทางหลวง ถึงปริศนาสำคัญเกี่ยวกับการเข้ามางานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 8 แห่ง คือ มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส และลำปาง รวมวงเงินกว่า 1,351,641,900 บาท ของกรมทางหลวง จากภาพรวมวงเงินงบประมาณทั้งหมดกว่า 22,407 ล้านบาท ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ได้รับอนุมัติให้ดำเนินงานโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ตามแผนงานรวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (2554-2559)
(อ่านประกอบ : ผู้ใหญ่สั่งให้รับ-หลังทหารเลิกทำงาน!อดีตผอ.ศูนย์ฯลำปางแจงปมสร้างส.กีฬานราธิวาส
ข้อมูลชุดนี้ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่คณะอนุกรรมาธิการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ช่วงปี 2556 ที่เคยมีการตรวจสอบติดตามการดำเนินงานโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของกกท.เช่นกัน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลจากเอกสารการประชุมคณะอนุกรรมาธิการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ช่วงปี 2556 ที่มีการบันทึกรายงานการประชุมเกี่ยวกับ โครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ของกกท. มานำเสนออีกครั้ง ณ ที่นี้
----------------------------
สรุปผลการประชุม
คณะอนุกรรมาธิการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา
ครั้งที่ 5/2556
วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 ณ ห้องประชุม หมายเลข 2503 ชั้น 25 อาคารสุขประพฤติ
-------------------
เรื่องที่พิจารณา : พิจารณาติดตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด โดยเชิญผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือผู้แทนเข้าร่วมประชุม
ผลการพิจารณา : ที่มาของการพิจารณาศึกษาติดตามโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด 7 จังหวัด (มหาสารคาม สระแก้ว สมุทรปราการ อำนาจเจริญ สกลนคร เพชชรบูรณ์ นราธิวาส ยังไม่รวมในส่วนของลำปาง) โดยริเริ่มจากจังหวัดสมุทรปราการในการเริ่มต้นจัดทำโครงการ แต่จากการลงพื้นที่และติดตามความ คืบหน้าที่จังหวัดสมุทรปราการ พบว่า มีความคืบหน้าการก่อสร้างน้อยมาก ซึ่งได้เคยหารือกับทาง องค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งได้มีการเขียนแบบที่สมบูรณ์แบบ และได้มาตรฐานไว้แล้ว และมี งบประมาณการก่อสร้างแล้ว จังหวัดสมุทรปราการมีที่ตั้งที่เหมาะสม แต่เมื่อมีการเลือกต้องผู้นำท้องถิ่น และได้ผู้นำท้องถิ่นนชุดใหม่ ได้มีการก่อสร้างสนามฝึกซ้อม
จากการติดตามความคืบหน้าที่ผ่านมาได้เชิญ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนทั้ง 7 จังหวัด เข้าร่วมประชุม โดยหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาได้ตกลงทำความร่วมมือ (MOU) กับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และต่อมาจังหวัดสมุทรปราการ ได้เปลี่ยนหน่วยงานที่ก่อสร้างเป็นกรมทางหลวง และบางจังหวัดมีบริษัท รับช่วงทำต่ออีก
นอกจากนี้ยังพบว่าทางจังหวัดไม่ได้มีส่วนร่วมในการรับทราบข้อมูลการก่อสร้าง หรือเข้า ร่วมเป็นคณะกรรมการ แต่จะมีกกท. เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเพียงผู้เดียว เช่น จังหวัดมหาสารคาม ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ไม่สามารถรับมอบงานได้ เนื่องจากการก่อสร้างไม่เรียบร้อย
สำหรับจังหวัดสมุทรปราการ สิ่งที่ต้องการ คือ สนามฟุตบอลมาตรฐาน ซึ่งทำไม่สำเร็จ เพราะได้รับงบประมาณมาจำนวน 250 ล้านบาท และนำมาเป็นงบผูกพัน 3 ปี เมื่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รับทราบข้อมูลครบถ้วนจากทุกฝ่ายจะรวบรวมข้อมูลและจัดทำผลการพิจารณาศึกษาเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะที่ นายสังเวียน บุญโต รองผู้ว่า กกท. ในขณะนั้น ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสนามกีฬา ทั้ง 7 จังหวัด สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
งบประมาณการก่อสร้างในชุดแรก 7 จังหวัด อยู่ในความรับผิดชอบการก่อสร้างของ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ในชุดแรกงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2554 ไม่ใช่งบประมาณต่อเนื่องและผูกพัน แต่เป็นงบประมาณในปีนั้นปีเดียวเท่านั้น และในปีนั้นแผนการ ก่อสร้างสนามกีฬาแต่ละแห่งมีทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยโครงการก่อสร้างมีตั้งแต่ 400 ล้านบาท 600 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงปี เดียว จึงมีปัญหาเรื่องการปลูกสิ่งปลูกสร้างว่าจะดำเนินรายการใดก่อน และปัญหาที่ตามมา คือ กกท. ได้รับการยืนยันว่าให้สร้างสิ่งปลูกสร้างตรงจุดที่กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2554 บางจังหวัดมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ กกท. จึงต้องดำเนินการขอปรับพื้นที่ในการก่อสร้างไปยัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้ความ เห็นชอบ
ขณะที่ การขาดการมีส่วนร่วมจากทางจังหวัด ถือเป็นปัญหาสำคัญเพราะหากให้จังหวัดมีส่วน ร่วมมากงานจะสำเร็จด้วยดี กรณีการก่อสร้างที่จังหวัดมหาสารคามเนื่องจากมีงบประมาณจํากัดเฉพาะ งบประมาณปี 2554 จึงไม่สามารถดำเนินการในปี 2555 ได้ ทาง กกท. ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการขอตั้ง งบประมาณใหม่ โดยสนามกีฬา 7 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรีจะต้องเอางบผูกพันเพิ่มเติมซึ่งจะเกิด ในปี 2555 – 2557 และในช่วงนี้ได้ทำสัญญาการก่อสร้างกับกรมทางหลวง (เพราะงบในปี 2554 ซึ่งไม่ใช่งบผูกพันแล้ว) งบผูกพันจะเริ่มในปี 2555 และเนื่องจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนามีภารกิจไม่ สามารถรับงานได้ จึงต้องหาผู้รับจ้างต่อ คือ กรมทางหลวง
กล่าวโดยสรุป คือ การที่สนามกีฬาไม่สามารถ สมบูรณ์ได้ทั้งหมด เพราะงบประมาณที่ตั้งไว้ได้จํากัดในปีนั้น ต่อจากนี้สิ่งที่ กกท. ต้องดำเนินการ คือ ให้ ฝ่ายกีฬาสถานและผู้รับผิดชอบติดตามงานให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนที่จะถ่ายโอนงานให้กรมทางหลวง ทั้งนี้งบประมาณจะเสร็จสิ้นปี 2554 ทั้งหมดเพราะฉะนั้นแผนงานในการก่อสร้าง ที่ไปสำรวจแต่ละจังหวัดที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องระบบสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในภาพรวม หรือ ยังขาดตกบกพร่องในบางอยาง เช่น ระบบสนามฟุตบอล ระบบไฟฟ้า เนื่องจากอยู่ในงบประมาณการ ก่อสร้างของงบประมาณจํากัด โดยงบประมาณของทุกจังหวัดจะถูกเพิ่มงบประมาณไว้ในปีสุดท้าย ดังนั้น สิ่งปลูกสร้างที่แต่ละจังหวัดได้รับในแต่ละปีจังยังไม่สมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ กกท. จึงมอบให้ ฝ่ายกีฬาสถานไปหารือทำความเข้าใจกับทางจังหวัดว่าแต่ละจังหวัดต้องการรายการใดก่อนหลัง และได้มี การปรับกระบวนการและรูปแบบในการก่อสร้างเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของคนในท้องถิ่น
ส่วน นายอาจิณ โพธิ์พานิช ผู้อำนวยการฝ่ายกีฬาสถาน กกท. ในขณะนั้น ได้ให้ข้อมูลดังนี้ เมื่อกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างในเบื้องต้น ได้มีการเตรียมพื้นที่ปรับพื้นที่ถมดิน ปรับลด – เพิ่มงานตามสภาพจริง การก่อสร้างสนามกีฬาทั้ง 7 จังหวัด กกท. ได้พยายามติดตามและดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการคุมงานเพื่อติดตาม การทำงานของกรมทางหลวงโดยตลอด ซึ่งทุกจังหวัดจะมีบริษัทคุมงานเข้าไปประจำและทุก 15 วัน จะมีการสรุปรายงานมาที่ กกท. เพื่อรับทราบความก้าวหน้าและเมื่อดำเนินการครบ 3 ปีแล้ว เนื้องาน ทั้งหมดต้องครบถ้วนสมบูรณ์ตามรายการที่ ระบุตาม MOU สำหรับขนาดของรายละเอียดในแต่ละรายการที่ แตกต่างกันของแต่ละจังหวัด เนื่องจาก บางจังหวัดถูกกำหนดกรอบของขนาด กรอบของงบประมาณและขนาดพื้นที่ซึ่งสนามกีฬาแต่ละขนาด จะกำหนดว่าต้องประกอบด้วยอะไรบ้างตามแบบที่ได้ขอไว้ในเบื้องต้น และในขณะนี้ฝ่ายกีฬาสถานกำลัง สำรวจความชัดเจนอีกครั้งว่างบประมาณที่ได้รับตรงกับกรอบที่กำหนดหรือไม่ และ กกท. ต้องการให้ จังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมให้มาก มิฉะนั้น การทำงานจะไม่สำเร็จเช่นที่ผ่านมา ทั้งนี้ในส่วนของรายละเอียด จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยจะได้ประชุมร่วมกับทางจังหวัดอีกครั้ง แต่มิได้หมายความว่าเป็นการ เปลี่ยนแปลงสิ่งปลูกสร้างซึ่งยังคงเดิม แต่จะเปลี่ยนแปลงว่าจะดำเนินการสิ่งใดก่อน – หลัง ในส่วนของการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดสมุทรปราการรูปแบบเดิมเป็นระบบปรับอากาศ ทั้งหลัง จำนวน 4,000 ที่นั่ง โดยได้ออกแบบไว้แต่เดิมราคา 130 – 140 ล้านบาท เป็นอาคารเก่า ขณะนี้ได้ออกแบบใหม่เป็นอาคารที่ออกแบบเพื่อให้รองรับฟุตซอลได้ เพราะโรงยิมเดิม 100 กว่าล้าน บาท เป็นระบบปรับอากาศไม่สามารถแข่งขันฟุตซอลได้ โดยบริษัทที่จัดจ้างใช้วิธียื่นซองเสนอราคา และ กำลังจะส่งมอบงาน ในส่วนของโรงยิมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแบบ มีความจุ 5,000 ที่นั่ง วงเงิน 250 ล้านบาท
ทั้งนี้ รูปแบบรายการทุกสนามกีฬาทั้งเก่าและใหม่ที่กำลังสร้างอยู่ถูกเปลี่ยนแปลงโดย กฎ กติกา ของสหพันธ์กีฬาทั้งหมด จึงต้องจ้างบริษัทออกแบบในภาพรวมการก่อสร้างทั้งหมด และ ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนจากก่อสร้าง 7 จังหวัด ตามมติครม. เป็น 9 จังหวัด และปรับเปลี่ยนเป็นการจัดซื้อ จัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) และให้จังหวัดมีส่วนร่วมทั้งหมดในการก่อสร้าง ส่วน จังหวัดที่ก่อสร้างไปก่อนแล้วจะของบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมให้ได้มาตรฐานตามที่สหพันธ์รองรับ กิจกรรมกีฬาของกลุ่มประชาคมอาเซียน
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ สรุปดังนี้
- เนื่องจากจังหวัดขาดข้อมูลและขาดการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องการสื่อสาร ระหว่าง กกท. กับจังหวัด และบริษัทคุมงานจะต้องมีตัวแทนจากจังหวัดเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งหากมีตัวแทน จังหวัดจะทำให้สามารถวางแผนในการเข้าใช้พื้นที่ได้ ดังนั้น ในการบริหารจัดการต้องชี้ให้เห็นถึงกระบวนการ ใช้งบประมาณและการให้รู้ข้อมูลล่วงหน้า
- สนามลู่วิ่งควรปรับลู่วิ่งจาก 9 ช่อง เป็น 10 ช่อง เพื่อให้ได้มาตรฐานนานาชาติ และงานก่อสร้างสนาม Main Stadium ควรออกแบบลู่ใหม่เพื่อไม่ให้การรับเหรียญรางวัลรบกวน ขณะมีการวิ่งแข่งขัน รวมทั้งควรคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลกลุ่มพิเศษด้วย
ทั้งหมด คือ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดของ กกท. ที่มีการว่าจ้างให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ก่อนที่จะมีเป็นกรมทางหลวง จากการตรวจสอบของ คณะอนุกรรมาธิการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ในคณะกรรมาธิการการกีฬา วุฒิสภา ที่บันทึกไว้เป็นหลักฐานสำคัญ
แต่เหตุผลสำคัญว่า ทำไมกกท.ถึงไม่เลือกที่จะเปิดประกวดราคาหาผู้รับเหมาเข้ามารับงานตั้งแต่ต้น แต่ใช้วิธีทำบันทึกข้อตกลง กับ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา และกรมทางหลวงตามลำดับ ดูเหมือนยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน และที่สำคัญใครเป็นผู้ริเริ่มนโยบายการดำเนินงานลักษณะนี้
เงื่อนงำทั้ง 2 ประเด็นนี้ เป็นสิ่งที่จะต้องค้นหาความจริงกันต่อไป
อ่านประกอบ :
ไม่จัดประกวดราคา ให้กรมทางหลวงรับงานตรง! สตง.พบพิรุธสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
เปิดปม!สตง.จับพิรุธ กกท. ประเคนงานกรมทางหลวง สร้างสนามกีฬาจว.2.2 หมื่นล.
ข้องใจให้ศูนย์ฯลำปางรับงานนราธิวาส!สตง.จี้กรมทางหลวงส่งหลักฐานสนามกีฬาจว.
ขมวดปม!หนังสือ สตง.3ฉบับ ลุยสอบ กกท. จ้างกรมทางหลวงสร้างส.กีฬา 8จว.พันล.
ผู้ใหญ่สั่งให้รับ-หลังทหารเลิกทำงาน!อดีตผอ.ศูนย์ฯลำปางแจงปมสร้างส.กีฬานราธิวาส