นักเศรษฐศาสตร์ ชี้คนเต็มใจจ่าย 4-500 บ./คน/ปี เพิ่มพื้นที่ป่าในเมือง
นักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เผยผลวิจัยชี้คนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะช่วยปลูกป่าในหลายรูปแบบ บริจาคเงิน เป็นอีกวิธีหนึ่งเพื่อมีส่วนร่วมปลูก-ดูแลต้นไม้ ขณะที่กลุ่บบิ๊กทรีกังวลต้นไม้ในเมืองลดลงเรื่อยๆ บอกนิมิตรหมายที่ดี กทม.-กฟน.ตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีแล้ว พร้อมเชื่อ ป่าในเมืองเกิดได้ หากทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน
วันที่ 22 ธันวาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณทิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และภาคีเครือข่าย จัดโครงการเสวนา "เดินตามรอยเท้าพ่อ สานต่อป่าในเมือง" ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี นักวิชาการ สกว. และนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวถึง ผลการวิจัยชี้ว่า คนกรุงเทพฯ พร้อมที่จะช่วยกันปลูกป่าในหลายรูปแบบ แต่หน่วยงานต่างๆ ยึดหลักว่า คนกรุงเทพเป็นฝ่ายบริจาคอย่างเดียว ซึ่งยอดเงินอยู่ประมาณ 400-500 บาทต่อคนต่อปี โดยป่าที่ผูกพันธ์กับคนกรุงเทพมากที่สุดกลับได้รับความสนใจน้อยที่สุดนั่นคือ "ป่าในเมือง" รวมไปถึงเรื่องของสวนสาธารณะ และเรื่องของการเชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว ฉะนั้นการพูดถึงป่าในเมืองจะเห็นเป็นพื้นที่สีเขียว จะเห็นสวนสาธารณะ เห็นป่า เห็นระบบนิเวศที่ดี เห็นคนมีปฎิสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ คนต้องมีส่วนร่วมในหลากหลายมิติ เช่นการบริจาคเงิน มีส่วนร่วมในการปลูกต้นไม้และต้องช่วยกันดูแลต้นไม้
ผศ.ดร.ประชา กล่าวอีกว่า ในกรุงเทพมีพื้นที่สีเขียวเยอะ แต่เป็นพื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วยวัชพืช ฉะนั้นการจะเป็นพื้นที่สีเขียวได้จึงต้องมีการจัดการ ต้องมีการปฎิสัมพันธ์ของคนกับต้นไม้ในพื้นที่เหล่านั้น
"ในความเป็นจริงแล้วต้นไม้มีอะไรมากกว่าต้นไม้ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจะช่วยลดอุณหภูมิของกรุงเทพให้ต่ำลง อากาศจะบริสุทธิ์ขึ้น เพราะต้นไม้จะช่วยดักกรองฝุ่นดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ชีวิตคนเมืองน่าอยู่มากยิ่งขึ้น"
ขณะที่นายทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการนิตยสาร a-day กล่าวว่า วันนี้พวกเราทำตัวเหมือนเป็นเจ้าของโลก เรามีสิทธิกำหนดว่า ใครควรอยู่และใครไม่ควรอยู่ มีสิทธิบอกต้นไม้ต้นนี้ควรอยู่หรือควรไป ดูมีอำนาจทุกอย่าง ดังนั้นทุกอย่างตกอยู่ภายใต้การจัดการของเรา แม้แต่การตัดต้นไม้ก็ตัดเพราะคิดว่า มันควรจะเป็นแบบที่เราอยากจะให้เป็น โดยที่ไม่ได้ดูว่า ต้นไม้ก็มีชีวิตและจิตใจ
"ต้นไม้ข้างทาง เรามองแค่เป็นแท่งสีน้ำตาลมียอดสีเขียวๆ ส่วนต้นไม้จะมีนิสัยใจคออย่างไร จะมีชีวิตหรือชื่ออะไร เราก็อาจไม่รู้ เมื่อเราไม่รู้ ก็ยากที่จะรักษาเอาไว้ เพราะเราไม่รู้จักต้นไม้จึงสะท้อนความคิดธรรมชาติเป็นแค่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งของคนเมือง ผมมองว่าสิ่งมีชีวิตต้องมีความเท่าเทียบกัน"
ส่วนนางอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big trees project กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องกรุงเทพฯ ที่มีอากาศร้อนมาก และมีมลภาวะ ขณะเดียวกันเมื่อหันไปมองต้นไม้ใหญ่ที่เคยเห็น ก็เริ่มหายไปเรื่อยๆ
"วันนี้มีเรื่องดีที่กทม.และการไฟฟ้านครหลวงได้มีการตัดแต่งต้นไม้ถูกวิธีแล้ว และเราก็มีโรงเรียนต้นไม้เพื่อผลิตรุกขกรอาชีพ พร้อมกันนี้ เราก็พยายามที่จะสื่อสารกับภาคประชาชนโดยทั่วไปว่า วิธีการช่วยกันเฝ้าระวังดูอย่างไรต้นไม้ต้นนี่้ตัดแต่งถูกวิธีหรือไม่ ด้วยการร่วมเป็นสายตรวจต้นไม้ เพราะในที่สุดองค์ประกอบของป่าในเมือง คือ ต้นไม้ใหญ่"ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Big trees กล่าว พร้อมกับเชื่อว่า ป่าในเมืองสามารถเกิดได้ หากเราทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน เป็นหูเป็นตาค่อยตรวจสอบว่า หน่วยงานไหนตัดต้นไม้ผิดวิธี
นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวถึงพื้นที่ป่าของประเทศไทยในอดีตมีกว่า 70% ด้วยการมองป่าในเชิงเศรษฐกิจทำให้มองทุกอย่างมีมูลค่า แทนที่จะมองในรูปแบบความรักความผูกผันพึ่งพาอาศัยกัน ทำให้สุดท้ายรัฐก็ให้สัมปทานให้เอกชนตัดไม้ ป่าก็ลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้จึงค่อยๆห่างกันออกไป เฉกเช่นเดียวกันกรุงเทพฯ อดีตก็มีป่าเยอะ มีสัตว์หลากหลายชนิด แต่เมื่อป่าในกรุงเทพฯ ถูกทำให้เป็นที่อยู่อาศัย ระบบนิเวศป่าในกรุงเทพฯ จึงไม่เหลือสภาพป่า ยกเว้นที่บางขุนเทียน
"ป่าต้องมีองค์ประกอบที่มีทั้งต้นไม้และสิ่งมีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกัน เป็นระบบที่มีแล้วเกิดความสมดุล ซึ่งทุกวันนี้มีแต่ต้นไม้ระบบนิเวศภายในที่เป็นองค์ประกอบร่วมกันเหลือน้อยเต็มที ป่าธรรมชาติในเมืองไทยเหลืออยู่แค่ 30 % ป่าที่มีพื้นที่ติดกันที่มองไปทางไหนก็เขียวขจีมีน้อยมากเพราะถูกแบ่งเป็นพื้นที่ของถนน ทำเขื่อนและเอาไปปลูกข้าวโพด พืชผลต่างๆ"
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวด้วยว่า การที่มีต้นไม้หวังจะให้เราตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญและมีประโยชน์กับชีวิตของคนมาก ป่าในเมืองไทยเป็นเหมือนดีเอ็นเอของคนไทย ป่ากับน้ำเป็นสิ่งที่สัมผัสมาตั้งแต่เด็กๆ แต่ตอนหลังเราหันหลังให้คลองและไม่สนใจธรรมชาติกันแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ป่าในเมืองเป็นจริงได้ นักวิชาการชี้ต้องเริ่มต้นสร้างความเข้าใจ
ป่าในเมือง สู่การสร้าง “ความเข้าใจ” คน เมือง ป่า อยู่ร่วมกันได้
"วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" ครูต้อ เชิดชูในหลวงร.9 ผู้บุกเบิกป่าในเมือง
เปลี่ยนทัศนคติด้านลบ จัดการกับต้นไม้ในเมือง ที่ทั้งเหี้ยน โกร๋น อุจาดตา