- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เปลี่ยนทัศนคติด้านลบ จัดการกับต้นไม้ในเมือง ที่ทั้งเหี้ยน โกร๋น อุจาดตา
เปลี่ยนทัศนคติด้านลบ จัดการกับต้นไม้ในเมือง ที่ทั้งเหี้ยน โกร๋น อุจาดตา
ก่อนที่เราจะไปสรุปว่า เราจะเอาสายไฟลงดิน เราต้องกลับไปดูว่า ในสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ณ ตอนนี้ เราทำได้แล้วหรือยัง เรามีงบประมาณเหลือเฝือที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้นหรือไม่ ถ้ามี เรามาหาทางที่จะทำให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับสายไฟ อยู่ร่วมกับสังคมของมนุษย์ได้ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสุขกันทั้งสอง จะไม่ดีกว่าหรือ?
1.
เชื่อว่า ภาพจำของต้นไม้ในเมืองของคนส่วนใหญ่คือ ไม้ยืนต้นที่ถูดตัดจนเหี้ยน โกร๋น เห็นแล้วช่างน่าหดหู่ ทั้งยังสวนทางกับสภาพอากาศที่ทวีความร้อนอบอ้าวเพิ่มขึ้นทุกวัน
องค์การอนามัยโลก World Health Organization (WHO) ได้กำหนดค่ามาตรฐานอัตราพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน แต่จากการสำรวจตัวเลขล่าสุด 7 สิงหาคม 2557 โดยสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่สีเขียว 5.42 ตร.ม. ต่อจำนวนประชากร ซึ่งหากมองดูพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่ของกรุงเทพ อยู่ในรูปของสวนสาธารณะที่มีอยู่ในปัจจุบันประมาณ 30 แห่ง
อัตราที่ต่ำกว่ามาตรฐานของ WHO แน่นอนว่าเมื่อเทียบกับขนาดของเมืองเเล้ว ย่อมส่งผลต่อสุขภาพคนเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังส่งผลให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีภาวะเป็น เกาะเมืองร้อน (Urban Heat Island)
สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เกาะความร้อนเกิดขึ้นเมื่อพืชพรรณถูกแทนที่ด้วยแอสฟัลท์และคอนกรีตที่ใช้ทำถนน อาคาร และโครงสร้างอื่นที่มีความจำเป็นสำหรับการเพิ่มที่อยู่อาศัยและที่ทำงานของประชากร ผิวพื้นเหล่านี้ดูดซับ มากกว่าสะท้อนความร้อนจากแสงแดด ทำให้อุณหภูมิผิวพื้นและอุณหภูมิของอากาศเพิ่มขึ้น
หากเรามามองดูในกรอบแนวคิดการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียวในร่าง แผนแม่บทโครงข่ายพื้นที่สีเขียวในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งทาง ผศ.ดร พนิต ภู่จินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองได้ให้นิยามของคำว่า "เมือง" ว่า เมืองคือพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากร และเมื่อเมืองมีประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การรองรับของระบบสิ่งแวดล้อมก็น้อยลง ถ้าเราอยู่ตามบ้านนอกเราคงไม่ต้องมาคิดในเรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียว เพราะเรามีพื้นที่สีเขียวกันอยู่เเล้ว
แต่เมื่อเป็นเมือง เราต้องกลับมาคิดกันต่อไปว่า จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับจำนวนของประชากรที่มีอยู่ จะทำอย่างไรให้พื้นที่สีเขียวเชื่อมต่อกัน เพื่อยกระดับชีวิตของคน ซึ่งนั่นคือกรอบคิดในการพัฒนาแผนแม่บท โดยแนวคิดการเชื่อมต่อโครงข่ายพื้นที่สีเขียวของเมืองเข้าด้วยกันที่ว่าคือ กระรอกตัวหนึ่งต้องสามารถเดินทางไปรอบกรุงเทพได้โดยปลอดภัย
แม้ว่าที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานคร โดย ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพฯ มีแนวคิด เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ปีละ 1,000 ไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มพื้นที่ให้ได้ 5,000 ไร่ ในปี 2559 แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นการพัฒนาที่ยังตามหลังการเจริญเติบโตของเมืองหลายช่วงตัว
2.
10 มิถุนายน 2559 ในช่วงหนึ่งของรายการคืนความสุขให้คนในชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงเรื่องของการดูแลต้นไม้ในเมืองว่า "ต้นไม้ในเมืองอย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก เพราะต้นไม้กว่าจะโตต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะโตเป็นต้นใหญ่ได้ การตัดต้นไม้แบบบั่นยอด ตัดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ หน่วยงานที่รับผิชอบควรมี วิธีการดูแลการตัดต้นไม้อย่างมีศิลปะ เพื่อจะอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ไว้"
นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด กรมทางหลวง รวมถึงกรมทางหลวงชนบท กระทรวงพลังงาน สร้างระบบการจัดการบริหารต้นไม้ในเมือง เป็นไปเช่นเดียวกับนานาชาติ ทำในหลายๆ ประเทศ โดยนำความรู้ด้านรุกขกรรม เพิ่มตำแหน่งรุกขกร หรือ หมอต้นไม้ มาทำหน้าที่ดังกล่าว
“วันนี้เราเวนคืนที่สำหรับทำถนน ทำทางรถไฟ แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการปักเสาไฟฟ้า หรือปลูกต้นไม้อะไรต่าง ๆ ก็ปลูกเข้าไปพื้นที่ก็เล็ก พอโตก็ต้องตัดทิ้ง นั่นแหละปัญหาต้องแก้ตั้งแต่ต้นเหตุว่าจะต้องทำอย่างไรให้ลงตัว อาจจะต้องมีการจ้างคนตัดแต่งต้นไม้ ให้สวยงามมีศิลปะ ไม่ใช้จ้างใครก็ได้มาตัดต้นไม้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีคนที่เรียกว่า รุกขกร ออกแบบตัดให้เป็นศิลปะ มีช่องให้สายไฟลอดได้อย่างไร"
นายกฯ ประยุทธ์ ยังระบุถึงการสั่งงานของผู้บังคับบัญชาที่รับผิดชอบด้วยว่า ต่อไปนี้ถ้าเห็นที่ไหนก็คงจะต้องมีการสอบสวนกัน
3.
เว็บไซด์วิกิพีเดีย ได้ให้ความหมายของ คำว่า รุกขกรรม (Arboriculture) คือ วิชาชีพว่าด้วยการปลูกและจัดการเกี่ยวกับต้นไม้ใหญ่ (trees) ในงานภูมิทัศน์ เป็นต้น
งานรุกขกรรมเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของต้นไม้ ดูแลตั้งแต่การคัดเลือก การปลูก การเจริญเติบโต การศัลยกรรม การตัดโค่น การควบคุมโรคและแมลง และรวมถึงการจัดการเกี่ยวกับอันตรายและการพิจารณาในด้านสุนทรียภาพ
วิชารุกขกรรมจึงแตกต่างจากวิชาการป่าไม้ ซึ่งเน้นการผลิตเนื้อไม้เชิงพาณิชย์และผลผลิตจากป่าหรือการทำป่าปลูก
ในขณะที่ รุกขกร (arborist) หรือนักศัลยกรรมต้นไม้ใหญ่ (tree surgeon) คือ นักวิชาชีพที่มีหน้าที่จัดการและดูแลต้นไม้ใหญ่ (ปกติเป็นต้นไม้ใหญ่ในเมืองและในบริเวณอาคารสถานที่ รวมถึงไม้เลื้อยและไม้พุ่มมีแก่นที่เป็นไม้ยืนต้น) ซึ่งรวมถึงงานปลูก งานตัดแต่ง งานค้ำจุน งานป้องกันและรักษาโรคและแมลง หรือโรคพืชอื่น งานป้องกันการถูกฟ้าผ่า และงานโค่นต้นไม้
นอกจากนี้ยังรวมงานวางแผน งานให้คำปรึกษา การทำรายงานและการเป็นพยานศาลในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากต้นไม้ใหญ่มีคุณประโยชน์แก่มวลมนุษย์มาก แต่ต้นไม้ใหญ่ก็มีการดำรงชีวิตที่ซับซ้อน มีขนาดใหญ่โต และมีน้ำหนักมาก
ต้นไม้ใหญ่ในเมืองจึงต้องการการเฝ้าระมัดระวังและการดูแลเพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ที่มา: เดชา บุญค้ำ ต้นไม้ใหญ่ในงานก่อสร้างและพัฒนาเมือง สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2543)
4.
ปัญหาการตัดต้นไม้จนเหี้ยน โกร๋น คือหนึ่งในปัญหาแก้ไม่ตกของกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงในอีกหลายๆ เมืองใหญ่ของไทย
นางสาวอรยา สูตะบุตร ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี (Big Trees Project) ระบุถึงการดูเเลรักษาต้นไม้ในเมือง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมักพบปัญหาการตัดเหี้ยนอยู่บ่อยครั้งว่า เกิดจากปัญหาความไม่เข้าใจของคนงานที่จ้างตัดไม้ คนของ กทม.ที่ผ่านมาอบรมเรื่องการตัดแต่งกิ่งไม้ ก็ไม่ได้ทำงานเชิงบูรณาการร่วมกับลูกจ้างรายวัน รวมถึงการที่กทม.ขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและเข้าใจในเรื่องนี้อีกมาก
เธอย้ำว่า หากมีการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกต้อง กทม.จะสามารถลดภาระการตัดแต่งลงได้อย่างมาก เพราะการตัดที่ถูกต้องจะเลือกตัดในส่วนที่มีปัญหาเท่านั้น เช่น กิ่งที่เสีย หรือกิ่งที่ยื่นเข้าไปในตัวอาคารบ้านเรือนหรือขวางทางสัญจร อีกทั้งการตัดที่ถูกต้องจะไม่ตัดยอดของต้นไม้ ซึ่งการตัดที่ดีจะทำให้ต้นไม้แข็งแรง ในหนึ่งต้นอาจตัดแต่งแค่ปีละครั้งเท่านั้น
"แต่การที่ตัดจนเหี้ยนทั้งต้น ยิ่งก่อให้เกิดกิ่งสาขามากกว่าเดิม มิหนำซ้ำยังเป็นกิ่งเล็กๆ ที่ไม่แข็งแรง ในหนึ่งปีจึงต้องตัดหลายครั้ง ส่งผลให้กทม.สูญเสียงบประมาณเพิ่มสูงมากขึ้นอีกด้วย"
ผู้ก่อตั้งกลุ่มบิ๊กทรี ชี้ว่า สิ่งที่ต้องทำอีกอย่างคือการปรับทัศนคติของประชาชน และกทม.ที่มีต่อต้นไม้ วันนี้เราคิดว่า ต้นไม้เป็นฆาตกร แค่กิ่งไม้ ใบไม้หล่นร่วงในพื้นที่ส่วนตัว เราร้องเรียนให้ตัดทิ้งๆ ทั้งๆ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีที่ดีกว่า
และประเด็นเรื่องสายไฟฟ้า คิดว่า ต้นไม้กับสายไฟอยู่กันได้ มีตัวอย่างหลายประเทศที่ทำได้ แต่เราไม่ทำ
5.
“ การพัฒนาเมืองที่ดี ควรคำนึงเรื่องพื้นที่สีเขียวอย่างไร” ครูต้อ หรือ นายธราดล ทันด่วน รุกขกร ผู้ชำนาญการด้านการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ตอบข้อสงสัยว่า ต้นไม้หรือป่าในเมือง มีความสำคัญเท่าๆ กับงานระดับเสื้อผ้าหน้าผมของมนุษย์
"เป็นความงาม เป็นหน้าตาของเมือง เพราะฉะนั้นหากเราไม่สนใจตรงนี้ ต่อให้เราหิ้วกระเป๋าแบรนด์เนม เรามีโครงการหมื่นล้าน พันล้าน หรูหรา แต่เมื่อพ้นจากเปลือกนอกตรงนั้นไป เราจะพบว่า มันมีอะไรที่ไม่น่ารื่นรมณ์ ไม่สมดุลกับการก่อสร้างที่เกิดขึ้น และที่ผ่านมา น่าเศร้าที่เราไปเจอว่า ต้นไม่ในเมืองมีน้อยกว่าสิ่งก่อสร้างเหล่านั้น"
ครูต้อได้ยกตัวอย่าง โครงการใหญ่ๆ อย่างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีต้นไม้ริมฝั่งแม่น้ำ ที่ต้องอาศัยทั้งแผ่นดินและการขึ้นลงของน้ำ ถามว่า วันนี้เราได้สนใจเรื่องไหมว่า มีกี่ต้น และเส้นทางที่จะสร้างจะส่งผลกระทบอะไรต่อต้นไม้เหล่านี้บ้าง ไม้ชายฝั่งทั่วๆ ไปเราไม่ได้คิด เราคิดแค่เรื่องการก่อสร้างมากกว่า
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงผลกระทบด้านอื่นๆอีกมากมาย
เมื่อถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารเมืองที่บิดเบี้ยวให้เกิดขึ้นเช่นนี้ ครูต้อ ชี้ว่า มีปัจจัยอยู่ 2 ประการ อย่างแรกเกิดจาก ผู้บริหารเมืองให้ความสนใจในเรื่องน้อยกว่าที่ควร เราจะเห็นว่าเทศบาล กทม.หรือว่าการไฟฟ้าฯ กรมทางหลวงให้น้ำหนักคุณค่าของต้นไม้น้อยกว่าที่คิด
"เมื่อผู้บริหารไม่มียุทธศาสตร์ที่จะอยากรักษาต้นไม้เอาไว้ เลยพาเรามาอยู่จุดนี้"
ประการที่ 2 ระบบการศึกษาของเราไม่ได้ให้น้ำหนักของป่าในเขตเมือง ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ที่ไปไกลมาก เทียบกันแล้วเรายังอยู่ในระดับอนุบาล
วันนี้เราต้องกลับมามองที่ปัญหาว่า ผู้บริหารเมืองได้ให้ความสนใจไหม กรุงเทพฯ ต้องถามคำถามง่ายๆ ว่า วันนี้อายุของกรุงเทพจะเข้าสู่ 250 ปี ถามว่า เรามีต้นไม้ใหญ่ที่มีอายุเกินร้อยปี หนึ่งต้นต่อหนึ่งตารางกิโลเมตรหรือไม่
คำตอบคือไม่มี
เพราะการพัฒนาเมืองของเราให้ความสนใจกับการตัดถนน ให้ความสนใจกับการก่อสร้าง และเมื่อต้นไม้ขวางการก่อสร้าง เราก็เลือกให้ความสำคัญกับการก่อสร้างมากกว่า แต่หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่ าบางเทศบาล บางเขตที่ผู้บริหารใส่ใจ ต้นไม้ก็เติบโตสวยงามขึ้นมาได้
ปัญหาทัศนคติด้านลบต่อต้นไม่ส่งผลต่อการจัดการที่ดีหรือไม่ ครูต้อ มองว่า ทุกวันนี้เราไม่ได้คิดว่า ความร่มรื่นเหล่านี้จะมีส่วนช่วยอย่างไรต่อเมือง ส่วนใหญ่เรามักจะคิดเรื่องทำให้คนไปได้เร็ว ตัดถนนเพื่อให้คนเดินทางได้เร็ว แต่ไม่คิดว่า ความร่มรื่นของเมือง ทำให้เศรษฐกิจของเมืองนั้นดี
"เขาไม่รู้ว่าเมืองที่ร่มรื่นจะจูงใจให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนในเมืองนั้นมากขึ้น ไม่รู้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ว่าจะตอบกลับมาให้เมืองอย่างไร"
ครูต้อ เห็นว่า หากเราลงทุนดูเเลต้นไม้ เมื่อเมืองร่มรื่น นักท่องเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจก็ดี หน่วยงานทั้งรัฐบาลกลางและท้องถิ่นก็สามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ถ้าเราลงทุนเรื่องพื้นที่สีเขียวในระยะยาวมันก็จะตอบกลับมาให้แง่ของเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้
ในส่วนความรู้สึกทางลบต่อต้นไม้ที่เกิดขึ้นในใจของบางคน เราต้องถามต้วเราเองว่า หากตัวเราเองหรือลูกหลานของเราไปประสบอุบัติเหตุอันเนื่องจากต้นไม้ เราก็จะรู้สึกทางลบ เช่น หากเราไปถามคนที่อยู่บริเวณสารพี เชียงใหม่ ที่มีต้นยางนา ทุกคนจะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่ากลัวต้นยางจะล้มทับ หากคนยังกลัวต้นไม้ ต้นไม้จะยืนอยู่ไม่ได้
สิ่งที่เราต้องทำคือการขจัดความกลัวออกไป เราจำเป็นต้องตัดแต่งต้นไม้ ดูเเลรักษา เพื่อให้คนไว้ใจต้นไม้ ต้นไม้สามารถยืนอยู่ได้ โดยไม่ก่ออันตรายใดๆ ให้เขา ไม่ให้เกิดความรู้สึกทางลบ
ในขณะที่ฝ่ายวิชาการต้องตอบให้ได้ว่า เวลาสร้างเมืองเราต้องการพื้นที่ให้รากไม้เท่าไร ฟุตบาทมีความกว้างแค่ไหน ต้นไม้จะได้ยืนต้นได้อย่างมั่นคง การเลือกต้นไม้มาปลูกก็สำคัญ
เพราะฉะนั้น เขาเห็นว่า นักวิชาชีพด้านนี้ต้องเข้ามาจัดการด้วยเหตุผลทางวิชาการไม่ใช่เอาผ้าเหลืองไปห่อลำต้น ซึ่งทำกับป่าอาจจะได้ แต่ในเมืองเมืองจะทำแบบนั้นไม่ได้
"ในเมืองถ้าเราเก็บต้นไม้โดยไม่ดูเเลรักษา วันหนึ่งก็จะเกิดอุบัติเหตุ วันหนึ่งจะรบกวนระบบสาธารณูปโภค คนก็จะมีความคิดด้านลบกับต้นไม้"
ในทางสถาปัตย์ฯ มีส่วนหนึ่งระบุว่า ถ้าต้นไม้ในเมืองใหญ่ร่มรื่นจะช่วยระบบระบายน้ำเล็กลง เพราะว่าฝนที่ตกมา ต้นไม้จะรับไว้ส่วนหนึ่ง แต่นั้นหมายความว่า รากของต้นไม้จะต้องไม่เข้าไปรบกวนระบบระบายน้ำของเมืองเช่นกัน ดังนั้น เมื่อต้นไม้ในเมืองไม่ได้มีแค่เรื่องดีอย่างเดียว เป็นเรื่องร้ายด้วย ถ้าเราไม่ขจัดเรื่องเหล่านี้ออกไป ถ้าเรายังไม่ได้ดูเเลต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนส่วนหนึ่ง ต่อต้านการเติบโตของต้นไม้ในเขตเมือง
ครูต้อ กล่าวทิ้งท้ายว่า ก่อนที่เราจะไปสรุปว่า เราจะเอาสายไฟลงดิน เราต้องกลับไปดูว่าในสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ ณ ตอนนี้ เราทำได้แล้วหรือยัง เรามีงบประมาณเหลือเฝือที่จะพัฒนาไปถึงจุดนั้น หรือเรามีความเร่งด่วนในการใช้เงินที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าไหม ถ้ามีเรามาหาทางที่จะทำให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับสายไฟ อยู่ร่วมกับสังคมของมนุษย์ ได้ โดยทั้งสองฝ่ายมีความสุขกันทั้งสอง จะไม่ดีกว่าหรือ?
“ ผมอยากจะขอให้ผู้บริหารเมืองตั้งเป้าที่ชัดเจนว่า เราอยากให้กรุงเทพฯ หรือจังหวัดนั่นนี่ เขียวร่มรื่น กำหนดเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม สัมผัสได้ จับต้องได้ อย่าพูดรวมๆ และดูเหมือนไม่ได้จริงจังกับมัน
ยกตัวอย่างเช่น เราบอกว่ากรุงเทพฯ จะเพิ่มพื้นที่สีเขียว จะปลูกต้นไม้สามแสนต้น ผมว่ามันสะเปะสะปะ แต่ถ้าเราบอกว่า เราจะสร้างเกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นสีเขียว แบบนี้จะชัดเจนและเป็นตัวสร้างให้เรารู้ว่า ถ้าเราทำได้ใน 4 ปี และจะทำให้เชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ เมืองเราจะเขียวมากขึ้น แต่น่าเสียดายที่วันนี้คำพูดเหล่านั้น เป็นแค่คำโฆษณาลอยๆ ไม่มีความตั้งใจจริง ประชาชนเดินไปไกลแล้ว แต่ผู้บริหารเมืองยังไม่มีแนวคิดที่จับต้องได้สักที”
ขอบคุณภาพแผนที่จากสำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร