ป่าในเมืองเป็นจริงได้ นักวิชาการชี้ต้องเริ่มต้นสร้างความเข้าใจ
นักวิจัยโครงการความเต็มใจจ่ายเพื่อพื้นที่ป่าไม้ในเมืองไทย เชื่อป่ากับเมืองอยู่ร่วมกันได้ หวังกระจายแนวคิดไปยังเมืองอื่นๆ ที่กำลังโต ด้านนักเศรษฐศาสตร์ ชี้ป่าในเมืองส่งผลทางเศรษฐกิจ เมื่อคนสุขภาพจิต-สุขภาพกายดี ประหยัดลดต้นทุนการรักษาพยาบาล
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Urban Forest คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดเสวนาโครงการจัดการข้อมูลข่าวสารเชิงประเด็นสู่สาธารณะ ในโครงการความเต็มใจจ่าย เพื่อพื้นที่ป่าไม้ในเมืองไทย (Willingness to pay for Forest Area of Bangkok Dwellers) ณ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ถนนเจริญกรุง 43
รองศาสตราจารย์ ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวถึงการขับเคลื่อนป่าในเมือง คนเกือบทุกจังหวัดยังไม่เข้าใจป่าในเมือง และไม่เข้าใจว่า ป่ากับเมืองนั้นอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งหากแนวคิดป่าในเมืองถูกกระจายไปยังเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือเมืองที่กำลังเติบโตต่างๆ ให้ได้เข้าใจการดูแลต้นไม้ใหญ่ และให้ความสำคัญพื้นที่การพัฒนาทางเศรษฐกิจกับพื้นที่ป่าอยู่ร่วมกันได้ ก็จะน่าสนใจมาก
ขณะที่รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงป่าในเมือง มีลักษณะพิเศษ มีต้นไม้มากกว่าต้นไม้ ไม่ใช่แค่ปลูกต้นไม้และวัดเพียงพื้นที่สีเขียว แต่ต้องมีความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ซึ่งป่าในเมืองใช้ประโยชน์คนละอย่างกับป่าต้นน้ำ หรือป่าชายเลน
สำหรับคำถามทำไมเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ป่าในเมือง รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า มนุษย์มีประเด็นทางสังคม จิตวิทยา มนุษย์ต้องการที่พักผ่อนหย่อนใจ คลายเครียด ซึ่งก็มีงานวิชาการทางจิตวิทยา ระบุว่า เพียงมีต้นไม้เล็กๆ บนโต๊ะทำงานสามารถเปลี่ยนอารมณ์ของคนทำงานได้ ดีกว่าไม่มีเลย อีกทั้งป่าในเมืองยังเป็นที่กรองมลพิษได้อีกด้วย
“เรามีความเชื่อการปลูกต้นไม้ทำให้สุขภาพจิต สุขภาพกายของคนดีขึ้น ซึ่งภาครัฐก็ให้ความสนใจ เช่น กรณีบ้านจัดสรร กฎหมายบังคับให้ต้องจัดให้มีพื้นที่สีเขียว แต่ทำหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง นี่จึงเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้รับทราบ” รศ.ดร.นิรมล กล่าว และว่า ขณะเดียวกันก็มักมีคำว่าย้อนแย้งเถียงกันไม่ตก หากให้คนกรุงเทพฯ เลือกพื้นที่สาธารณะ ระหว่างป่าในเมือง โรงพยาบาล ทางด่วน จะเลือกอย่างไหนก่อน
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงพื้นที่ป่าในเมืองต่อว่า ไม่ได้หมายถึงต้องเป็นพื้นที่ผืนใหญ่ แต่เราสามารถลดขนาดได้ตามความเหมาะสม ซึ่งป่าในเมืองส่งผลทางเศรษฐกิจ หากสามารถทำให้คนในเมืองมีสุขภาพจิต สุขภาพกายดี ต้นทุนการรักษาพยาบาลหายไปเลย
สำหรับค่าบำรุงรักษาป่าในเมือง รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า หากคิดระยะยาวจะมีความคุ้มค่า ซึ่งในงานวิจัยของโครงการความเต็มใจจ่าย เพื่อพื้นที่ป่าไม้ในเมืองไทย ได้ช่างน้ำหนักและวัดระดับภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด ประมาณ 500บาทต่อปี คนกรุงเทพฯ จะใช้จ่ายเงินเพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องป่าไม้มากน้อยแค่ไหนด้วย
“ประโยชน์ของป่า เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งไม่เหมือนซื้ออาหาร ประโยชน์สาธารณะจึงต้องเป็นการระดมทุน โดยหลายคนแม้จะเห็นความสำคัญของป่า แต่ก็เห็นว่า หน้าที่นี้เป็นของภาครัฐ”รศ.ดร.นิรมล กล่าว และว่า การที่ให้รัฐมีหน้าที่จ่ายนั้น ไม่ผิด เพราะเราจ่ายภาษีไปแล้ว แต่เมื่องบประมาณมีอยู่อย่างจำกัด รัฐย่อมเรียงลำดับความสำคัญอะไรก่อนอะไรหลัง และแม้ป่าสำคัญก็จริง รัฐก็จัดไว้หลังสุด นี่จึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยที่อยากให้ทุกคนช่วยกันออกแรง ออกเงิน เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมรับผิดชอบ
ด้านผศ.ประชา คุณธรรมดี อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวยกตัวอย่างป่าในเมืองประเทศสิงคโปร์ แม้จะเล็กแต่สามารถเชื่อมต่อกันได้หมด แต่ในเมืองไทยเวลาพูดถึงป่าในเมือง ภาพสวนสาธารณะจะเกิดก่อน โมเดลบ้านเราคนต้องอยู่แยกจากป่า เราไม่เชื่อคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ วันนี้เรากำลังบอกว่า ป่าในเมืองก็คือเวลาเปิดประตูจะเห็นระบบนิเวศ เป็นกลุ่มของต้นไม้ที่มีการจัดการที่ดี หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ต้นไม้ริมถนนก็มีหลายมิติมาก
“กรุงเทพฯ ที่เราเจอตอนนี้เป็นกลุ่มต้นไม้ ซึ่งแนวคิดป่าในเมือง จะรวมกลุ่มต้นไม้นี้ด้วย แต่ต้องมีการจัดการที่ดี มีบริบทคน สัตว์ และชุมชนพ่วงเข้าไปด้วย แต่หากมีกลุ่มต้นไม้จะเรียกว่า ป่าในเมืองหรือไม่ ผมบอกว่า ไม่ใช่” ผศ.ประชา กล่าว และว่า กรุงเทพฯ รณรงค์เมืองสีเขียวมานานมาก แต่ยิ่งรณรงค์ยิ่งลดลง
ทั้งนี้ ผศ.ประชา กล่าวถึงป่าในเมืองด้วยว่า ส่วนหนึ่งต้องมีรายได้ และอาจแตกต่างกันแต่ละพื้นที่ ตามขนาด เช่น ขนาดเล็ก ขนาดใหญ่อาจต้องการผู้ดูแลมากกว่า 1 กลุ่ม ฉะนั้น ป่าในเมืองมีบริบทครอบคลุมกว้าง ต้องการการจัดการที่ถูกวิธี องค์ความรู้ การมีส่วนร่วม และต้องการรายได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงท้ายมีเปิดให้แลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นขับเคลื่อนป่าในเมือง รศ.วราพร สุรวดี ผู้ก่อตั้ง “พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” ย่านบางรัก กล่าวว่า ป่าในเมืองไม่ยากเกินที่จะทำ ระดมประชาชนช่วยกันปลูกต้นไม้คนละต้น ในบริเวณบ้านของตนเอง เชื่อว่าจะได้ผล