ผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่อาชญากรรม แต่เป็นเรื่องใหญ่-จัดการยาก
“…มันไม่ได้ง่าย ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นภาวะ การออกมาตรการอะไรต่าง ๆ บทลงโทษต่าง ๆ ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ที่อยากสื่อวันนี้คือ ภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่อาชญากรรมในตัวของมัน แต่มีแล้วมันทำให้เกิดอะไรต่างหาก ที่เป็นประเด็นสำคัญ…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาวิชาการ ‘กรณีค่าที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ … ถูกหรือผิด … แก้ได้ หรือ ไร้หวัง’ มีนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขานุการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคิน และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา โดยนายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการ
----
@บัณฑิต นิจถาวร
2-3 เดือนที่ผ่านมา ผลประโยชน์เชิงทับซ้อนมีเยอะมาก ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นธรรมาภิบาลของภาครัฐ บทบาทที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐ ผมมีความห่วงใยอย่างน้อย 2-3 เรื่อง ในลักษณะที่ตั้งข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐไปนั่งตำแหน่งนู่นนี่ทั้งที่ยังเป็นข้าราชการ มันสามารถก่อให้เกิดความห่วงใยได้หรือไม่ เช่น การกำกับดูแล หรือการทำหน้าที่โดยหน่วยงานรัฐอาจอ่อนแอลง เพราะมีคนไปนั่งในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล นำไปสู่การปกป้องช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้องหรือไม่ และจะทำให้การแข่งขันในระบบตลาดเสียหายหรือไม่ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปนั่งอยู่ในบางบริษัท สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหา จึงคิดว่าน่าจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรหรือไม่
เรื่องที่เกิดขึ้น เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของปัญหาความใกล้ชิดระหว่างภาครัฐกับเอกชน มีรูปแบบหลาย ๆ อย่างในประเทศไทยเองเห็นได้ว่า ถ้าจะแก้ไขต้องดูในองค์รวม ยกตัวอย่าง 1-2 รูปแบบที่น่าห่วง
หนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในตำแหน่ง และอดีตเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ เข้าไปรับตำแหน่งในบริษัทเอกชน สามารถให้คุณให้โทษ หรือมีอิทธิพลได้หรือไม่
สอง กรณีผู้บริหารบริษัทเอกชน ไปนั่งตำแหน่งในหน่วยงานรัฐที่อาจเกี่ยวข้องกับนโยบาย การให้คำแนะนำ เปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์ เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเพื่อประโยชน์ของบริษัทหรือไม่
“ภาษาอังกฤษมีคำว่า ประตูหมุน หรือ Revolving Door เหมือนการเข้าออกของคนในภาครัฐ กับเอกชน ถ้าไม่มีประเด็นป้องกัน อาจเกิดปัญหาเหล่านี้ได้”
ในฐานะเป็นประชาชน มีความเสี่ยงหรือไม่ ถ้าการเดินเข้าออกของเอกชน และภาครัฐ ไม่มีกฎระเบียบ หรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีความเสี่ยงอย่างน้อย 3 เรื่อง
หนึ่ง เสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นแน่นอน
สอง เสี่ยงต่อการทำหน้าที่ของหน่วยราชการไม่เป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็น คือไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับหลักที่ควรปฏิบัติต่าง ๆ
สาม ผลประโยชน์ทับซ้อน ชัดเจน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ต่อบุคคล สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา
คำถามคือจะลดทอนความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร เพราะบุคลากรภาครัฐ ที่มีความรู้ ความสามารถ หลังเกษียณแล้ว สามารถใช้ความรู้ทำอะไรได้หลายอย่าง เพื่อหาวิธีการทำให้เกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรประเทศ อย่างไรก็ดีต้องมีหลักการชัดเจนป้องกันการบิดเบือนอำนาจหรือการช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ในต่างประเทศส่วนใหญ่ออกมาในรูปกฎหมายชัดเจน ห้ามข้าราชการ หรือห้ามอะไรชัดเจน ของไทยเท่าที่ตามข่าว กฎหมายก็มี ป.ป.ช. มาตรา 100 (4) มาตรา 103 กฎหมายมี แต่พอดีข่าวออกมาเป็นเรื่องของการตีความ มันไม่ชัด เลยสร้างความคลุมเครือ
จุดนี้ต้องหาวิธีการพยายามดูแลแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อลดผลกระทบต่อสังคม และระบบธรรมาภิบาล มีคำแนะนำบางอย่างในเรื่องที่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ เช่น มีกฎหมายก็จริง แต่ไม่ชัด สิ่งที่ต้องมีคือแนวปฏิบัติ ต้องเขียนให้ชัด ระหว่างอยู่ในราชการทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ซึ่งจะใช้กับข้าราชการทุกคน ตามข่าวมีคำถาม เฉพาะแค่รัฐบาลหรือไม่ แต่ในใจ ถ้ารับเงินเดือนรัฐคือข้าราชการหมด ต้องใช้หมด แนวปฏิบัติสำคัญมาก ในเมืองไทย อยากให้เขียน 3 ฉบับ สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งและเคยดำรงตำแหน่งว่าอะไรควร ไม่ควร ส่วนภาคธุรกิจ รับตำแหน่งภาครัฐมาต้องทำอะไรบ้าง อดีตนักการเมือง เคยตัดสินใจรู้ข้อมูลภายใน พอออกแล้ว ใช้ข้อมูลภายในเหล่านั้นไม่ได้
ถ้ากฏหมายออกมาชัดเจน ทุกคนรับทราบ จะไม่มีประเด็นว่าควรหรือไม่ควร เพราะเขียนชัดเจน ส่วนตำแหน่งสำคัญ ๆ หน่วยงานภาครัฐ ต้องเขียนให้ชัดเจนว่า อย่างน้อยต้องหยุดพัก 2 ปี ไม่สามารถกลับไปทำงานภาคธุกริจที่เคยกำกับดูแลอยู่ได้ ตรงนี้ช่วยลดการใช้เส้นสาย การใช้พลัง หรืออิทธิพลต่าง ๆ ซึ่งต่างประเทศถือเป็นเรื่องปกติ
จุดเริ่มต้นเรื่องนี้อยู่ที่ภาคธุรกิจ บางครั้งคนรับก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด คนตั้งก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด ทำกันค่อนข้างเห็นได้บ่อย อยากแนะนำว่า บริษัทธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องตรวจสอบก่อนว่าคนที่เชิญเป็นที่ปรึกษา กรรมการ หรือ ผู้บริหารที่รับเงินบริษัท ได้ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า จะไม่มีการขัดกันของผลประโยชน์ และขัดกฎหมายทางการ แต่ถ้าไม่ตรวจสอบ แล้วปรากฏว่าผิด ก็ต้องรับโทษไป และเมื่อภาคธุรกิจแต่งตั้งแล้ว ต้องเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัทนี้มีใครมานั่งในตำแหน่งไหนบ้าง เพื่อความโปร่งใส และถ้าเป็นไปได้ อาจให้เหตุผลประกอบด้วย เพราะบางบริษัทจดทะเบียน มีเจ้าของเยอะแยะ ผู้บริหารจะแต่งตั้งใครต้องมีเหตุผล ความโปร่งใสในเรื่องเหล่านี้ ให้เหตุผลประกอบน่าจะสำคัญ
“คือใครก็แล้วแต่เป็นกรรมการ ต้องมีรายชื่อว่าเป็นใครบ้าง มีความพร้อมอย่างไร ประเด็นคือคนที่เข้ามาด้วยความรู้ความสามารถของบริษัทหรือไม่ เป็นเหตุผลที่ผู้บริหารหรือกรรมการต้องยืนยัน แต่การตั้งที่ปรึกษา ถ้าใช้ทรัพยากรของบริษัท จำเป็นต้องมีเหตุผล เท่าที่เช็คประเด็นที่ปรึกษายังไม่มีระเบียบชัดเจน แต่เป็นหน้าที่ผู้ถือหุ้น นักลงทุนรายย่อยจะถามได้ และถือว่าเป็นต้นทุนในบริษัท มีที่ปรึกษาเยอะ จะตั้งคำถามได้ว่า ทำไมต้องแต่งตั้งบุคคลเหล่านั้น”
@ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกรณีเล็ก ๆ แต่ในภาพรวมต้องดูรากฐานความคิดของคนในระบบราชการไทย สมัยก่อนผู้มีอำนาจจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทขนาดใหญ่ เรื่องนี้เป็นประวัติศาสตร์มายาวนาน และสืบเนื่องมาตลอด กระทั่งปัจจุบัน ย้ำว่าในปัจจุบันก็ยังเป็นอยู่ เพียงแต่แฝงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เปิดเผยหรือไม่เปิดเผย ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผลประโยชน์ของบรรดาข้าราชการทั้งหลายที่มาจากภาคเอกชน มากกว่าเงินเดือนประชาชน ใช่หรือไม่ นี่คือหลัก เกิดมาในตลอดสังคมไทย เงินเดือนรายได้ ผลประโยชน์งานราษฎร์ มากกว่างานหลวงหรือไม่ ถึงเกิดปัญหาพวกนี้มาตลอด
ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายที่จะเกี่ยวกับคุณสมบัติและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ห้ามคนหนึ่งดำรงตำแหน่งเกินรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ดูบรรดาปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เป็นคนละ 10 แห่ง ผลประโยชน์จากกรรมการฯ โบนัส มากมหาศาล ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งคนที่เรียกร้องมากคือ อัยการ อัยการมีเงินเดือนและโบนัสรัฐวิสาหกิจประมาณ 5 ล้านบาท/ปี เงินเดือนจากรัฐวิสาหกิจประมาณล้านกว่าบาท/ปี จึงมีการเรียกร้องขออัยการอย่ามาทำ เพราะอาจขัดแย้งหน้าที่อัยการเวลาถูกฟ้อง
สำหรับกรณีนี้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ระบุในบัญชีทรัพย์สินว่ารับเงินค่าที่ปรึกษาประมาณเดือนละ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2558 คือตอนเพิ่งใหญ่ ก่อนหน้านั้นไม่ได้รับ คำถามคือ เอกชนจ่ายตามตำแหน่ง หรือจ่ายเพราะคน คำว่าประมาณ ถ้าชัดเจนก็ไม่ต้องประมาณ แต่ปัจจุบันยังไม่เคยเห็นหลักฐานการจ่ายเงินภาคเอกชน ไม่รู้จ่ายในนามบริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือ เพราะเรียกก็เรียกกว้าง ๆ ดังนั้นไม่มีทางรู้ และที่บอกว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนเพราะ ถ้าเกิดรับเงินค่าที่ปรึกษาเป็นเงินเดือน มันเป็นเงินหลายทาง การยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) ถ้าหลายทาง ต้องยื่นตาม ภ.ง.ด. 90 แต่คนนี้กลับไปยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 หมายถึงได้รับเงินเดือนทางเดียว นี่เป็นปัญหา กรมสรรพากรต้องไปตามดูหรือไม่
“ให้คำปรึกษาอะไร ถ้าไม่มีการปรึกษาแต่รับเงินเฉย ๆ นี่ไม่ใช่ค่าที่ปรึกษา ต้องเป็นค่าอื่น เข้าตามมาตรา 103 พ.ร.บ.ป.ป.ช. หรือไม่ แต่ยังไม่มีคำชี้แจงใด ๆ ทั้งสิ้นจากคนเป็นข่าว และบริษัทที่จ่าย”
ปัจจุบันมีกฎหมายรองรับไว้อยู่แล้ว ถ้าดูระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือกฎหมายหลัก ๆ จะห้ามข้าราชการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจทั้งหมด เพราะต้องเอาเวลามาทำราชการ ถ้าจะเข้าไปถือหุ้น หรือเป็นที่ปรึกษา ห้ามเป็นลูกจ้างที่ขัดแย้งผลประโยชน์กับอำนาจหน้าที่ ดังนั้นการที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทสุรา ขัดแย้งบทบาทหน้าที่หลักหรือไม่ กฎหมายหลักอาจไม่ใช่ แต่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ บัญญัติว่า ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล จะเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. โดยตำแหน่ง
ส่วนมาตรา 100 (4) ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ที่บัญญัติสรุปได้ว่า ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐเป็นกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ปัจจุบัน ป.ป.ช. ก่อตั้งมา 18 ปี ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. บังคับใช้แค่คน 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคณะรัฐมนตรี กลุ่มที่สอง ผู้บริหาร และรองผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
คำถามคือทำไมถึงไม่ประกาศให้ครอบคลุมทั้งหมด ผมเคยคุยกับกรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่าคนหนึ่ง เขาบอกว่า ข้าราชการไม่ได้เงินเดือนเยอะ ถ้าประกาศครอบคลุมทั้งหมด อธิบดี หัวหน้าส่วนราชการ ภรรยา กับลูก ก็ไม่ต้องทำงาน เพราะมีข้าราชการหลายคนสุจริต และทำธุรกิจ และการตีความเรื่องนี้กว้างมาก เช่น อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ต้องให้ภรรยานั่งอยู่เฉย ๆ เพราะดูแลบริษัทหลายพันแห่ง หรืออธิบดีกรมสรรพากร ภรรยาก็ต้องอยู่เฉย ๆ เช่นกัน เพราะกรมสรรพากรเก็บภาษีหมดทุกบริษัท ดังนั้นถ้าครอบคลุมจึงยุ่งไปหมด
“ผมมีข้อเสนอแนะว่า ทำไมไม่ประกาศตำแหน่งสำคัญ ๆ ได้หรือไม่ เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจใหญ่ ๆ ในลักษณะการกำกับดูแลเอกชน ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ มีอดีตผู้ว่าการองค์การโทรศัพท์ฯ หลายคน เมื่อเกษียณไปอยู่ในบริษัทค่ายโทรศัพท์มือถือ ส่วนข้าราชการระดับสูงในกรมสรรพสามิต เกษียณไปอยู่บริษัทเหล้า ดังนั้นประเด็นอยู่ที่ว่าจะอำนวยประโยชน์ได้หรือไม่ ถ้า ป.ป.ช. มีวิธีคิด และศึกษาชัดเจน การประกาศตำแหน่งสำคัญให้ชัดเจน อาจจะแก้ปัญหาได้พอสมควร”
“จะเรียกร้องสำนึกลอย ๆ จากใคร ไม่มีทางเป็นไปได้ สำนึกเกิดจากสังคมต้องช่วยกันบังคับใช้กฎหมาย”
วิธีนี้ถ้ารอแก้กฎหมายก็อีกชาติหนึ่ง แต่ถ้าเชื่อความเป็นชายชาติทหาร ความเป็นลูกผู้ชาย เชื่อวาจาสิ่งที่พูดต่อสังคม ผมขอเสนอมาตรการป้องกัน โดยให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ข้าราชการทั้งหลายที่เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน แจ้งต่อหน่วยงานต้นสังกัดว่า เป็นลูกจ้างที่ไหน อย่างไร แล้วให้รัฐบาลรวมศูนย์ข้อมูลไว้ที่ใดที่หนึ่ง และประกาศเผยแพร่บนเว็บไซต์ให้สังคมตรวจสอบว่า มีข้าราชการรายใดขัดหรือแย้งกับผลประโยชน์บ้าง ถ้าข้าราชการรายใดไม่เปิดเผย ถือว่าผิดวินัย จะออกเป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หรือไม่
“ผมขอยืนยันว่า ไม่ได้ตัดช่องทางทำมาหากินของข้าราชการ และกฎหมายไม่ได้ห้ามข้าราชการทำมาหากิน ให้ทำได้ แต่ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และห้ามใช้เวลาราชการไปทำ ดังนั้นถ้าทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่ตัวเอง เป็นได้ ถ้าแจ้งว่าไม่เกี่ยวข้อง สังคมจะตรวจสอบเอง”
@บรรยง พงษ์พานิช
เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่งในกระบวนการต่อต้านคอร์รัปชั่น คือถ้าออกกฎเฉย ๆ ก็มีผลกระทบเต็มไปหมด เบื้องต้นผมตั้งข้อสังเกตของกรณีนี้ว่า อาจเป็นเรื่องของความไม่รู้ ไม่อย่างนั้นจะเปิดเผยหรือ เพราะไม่รู้ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติของสังคม
ทุกวันนี้ผลประโยชน์ทับซ้อนเต็มไปหมด ต้องเข้าใจก่อนว่าผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่ทุจริต แต่เป็นภาวะ ไม่ใช่การกระทำ ตรงนี้สำคัญมาก หลายอันไม่ได้ทำก็เป็นภาวะ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง การมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่อาชญากรรมในตัวมันเอง แต่ต้องมีการจัดการ ซึ่งการจัดการมีหลายระดับมาก และมีต้นทุน แม้แต่มาตรฐาน OECD (ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) อธิบายถึงผลประโยชน์ทับซ้อนว่า ไม่สามารถดีไซน์ให้เหมือนกันทั้งโลก แม้แต่ประเทศเดียวกัน สังคมเดียวกัน ไม่สามารถดีไซน์ออกมาเป็นกฎตายตัวได้
“ผมเห็นด้วยผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องยากที่จะตั้งหลักจัดการ”
ถ้าหากเพิ่มมาตรา 100 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ให้ครอบคลุมทุกคน จะเกิดผลกระทบมหาศาล เลือกตำแหน่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ และผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดได้หลายภาวะ บางอันเกิดจากงานที่เคยทำ บางอันเกิดจากงานที่จะไปทำ ซับซ้อนมาก ๆ ห้ามมีผลประโยชน์ทับซ้อนทุกกรณี มันเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ดี OECD มีไกด์ไลน์บอกว่า คำนิยามผลประโยชน์ทับซ้อนต้องชัดว่า หน่วยงานไหนนิยามอย่างไร แต่ถ้าใส่นิยามทั่วไปมันมีต้นทุน ไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือการเปิดเผย หน้าที่ของคนที่มีโอกาสที่จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนต้องแจ้งว่า จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ในเรื่องอะไรบ้าง คือ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เช่น ผบช.น. มีผลประโยชน์อะไรทับซ้อนบ้าง ถ้าถามผมอย่างนี้ ไม่ได้มีทางออกแค่วิธีเดียวในการจัดการปัญหา แต่มีหลายทาง เช่น ให้เลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หรือไม่จำเป็นต้องลาออก แต่ห้ามเข้าร่วมการดำเนินงานที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวเอง แต่จะเป็นเรื่องขนาดไหน เป็นเรื่องยากอีก
“มันไม่ได้ง่าย ตัดสินว่าใครผิดใครถูก ผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นภาวะ การออกมาตรการอะไรต่าง ๆ บทลงโทษต่าง ๆ ค่อนข้างละเอียดอ่อน แต่ที่อยากสื่อวันนี้คือ ภาวะผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่ใช่อาชญากรรมในตัวของมัน แต่มีแล้วมันทำให้เกิดอะไรต่างหาก ที่เป็นประเด็นสำคัญ”
ผมตั้งข้อสังเกต ไม่ได้หมายถึงกรณี ผบช.น. ที่รับเงินค่าที่ปรึกษาจากบริษัทผลิตสุรา ทั้งที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีตัวแทนเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. นะ แต่หมายถึงในภาพรวมว่า เงินเหล่านี้ที่ข้าราชการได้รับ ตามข้อเท็จจริงถือเป็นเงินชอบทั้งหมด ดังนั้นถ้าตัดทิ้ง เงินไม่ชอบจะโตขึ้นหรือไม่ การแก้ปัญหาที่ให้ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ จะเป็นไปได้หรือไม่ เรียนให้ทราบว่า เงินสวัสดิการข้าราชการไทยสูงสุดในเอเชีย จากข้าราชการทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน การขึ้นเงินเดือนจึงไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด
“เวลาทำเรื่องพวกนี้ หนีไม่พ้นต้องดูบริบทจริง ๆ ว่า เป็นข้าราชการ ต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อมารับใช้ชาติ มันจะมีหรือไม่ คนดีจริง ๆ ถ้าตัดเงินที่ได้รับโดยชอบออกหมด เงินที่ไม่ชอบจะโตขึ้นอีกหรือไม่”
อ่านประกอบ :
แนะรัฐเขียน กม.ให้ชัดปม ขรก.รับเงินเอกชน-เปิดชื่อทั้งหมดให้สังคมตรวจสอบ
เจาะปมเสียภาษี‘ศานิตย์’รับเงินหลายทาง ไฉนแจ้งได้เงินเดือนอย่างเดียว?
จี้‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ย้าย‘ศานิตย์’! ร้อง ป.ป.ช. สอบปมรับเงินค่าที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
บี้‘ศานิตย์’ไขก๊อก ผบช.น.-สนช.! ร้องผู้ตรวจฯสอบปมรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
โชว์ใบเสียภาษี‘ศานิตย์-ภรรยา’แนบมาไม่ชัด-ป.ป.ช.สั่งยื่นใหม่
เก็บเงินสดให้ลูกน้องทำงานทางลับ! ‘ศานิตย์’ แจงปมรายได้-ทรัพย์สินรวม 93 ล.
สมบัติ 93 ล.‘ศานิตย์’ส่วนใหญ่‘แม่-น้า’ ยกให้-รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ด้วย
กางกฏหมาย-ขมวดปม‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ทำได้จริงหรือ?