แนะรัฐเขียน กม.ให้ชัดปม ขรก.รับเงินเอกชน-เปิดชื่อทั้งหมดให้สังคมตรวจสอบ
ACT จัดเสวนาปม ขรก. รับเงินค่าที่ปรึกษาเอกชน ‘บัณฑิต นิจถาวร’ ยันปัญหานี้ทำการกำกับภาครัฐอ่อนแอ อาจเกิดการทุจริตขึ้นได้ ‘ประสงค์’ แนะ ป.ป.ช. แก้กฏหมาย ‘บรรยง’ ถามถ้าตัดเงินชอบออก เงินใต้โต๊ะจะโตหรือไม่ ประสานเสียงรัฐเขียนกฎหมายให้ชัดเจน-เปิดชื่อคนรับเงินทั้งหมดให้สังคมตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวสำนักอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่โรงแรมดุสิตธานี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) จัดงานเสวนาวิชาการ ‘กรณีค่าที่ปรึกษาเจ้าหน้าที่ … ถูกหรือผิด … แก้ได้ หรือ ไร้หวัง’ มีนายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการและเลขานุการโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกลุ่มธุรกิจการเงินธนาคารเกียรตินาคิน และนายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา โดยนายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายบัณฑิต กล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญ เป็นธรรมาภิบาลของภาครัฐ ด้วยบทบาทที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐ มีความห่วงใยอย่างน้อย 2-3 เรื่อง เช่น การทำหน้าที่กำกับดูแลอาจอ่อนแอลงหรือไม่ นำไปสู่การปกป้องช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่สมควร ไม่ถูกต้องหรือไม่ ทำให้การแข่งขันในระบบตลาดเสียหายหรือไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงปัญหา และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ปัญหาความใกล้ชิดระหว่างภาครัฐกับเอกชน เห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งดำรงตำแหน่งในปัจจุบันหรือในอดีต ไปดำรงตำแหน่งในบริษัทเอกชน สามารถให้คุณให้โทษ หรือมีอิทธิพลได้ ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยทำงานเกี่ยวข้องเชิงนโยบาย อาจผลักดันให้เปลี่ยนกฏเกณฑ์เพื่อประโยชน์ตัวเอง หรือประโยชน์ของบริษัท ส่วนกรณีนักการเมืองที่รู้วิธี รู้ข้อมูลนโยบายต่าง ๆ ใช้ประสบการณ์หรือคอนเน็คชั่นเพื่อปกป้องหรือให้คุณให้โทษในการทำธุรกิจได้ ดังนั้นถ้าไม่มีการป้องกันอาจเกิดปัญหาเหล่านี้
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า ถ้าภาครัฐไม่มีกฎระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่ชัดเจนจะมีความเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชั่นแน่นอน รวมถึงหน่วยงานราชการไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม และไม่สอดคล้องกับหลักที่ควรปฏิบัติต่าง ๆ และเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนชัดเจน สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา คำถามคือจะลดทอนความเสี่ยงเหล่านี้อย่างไร เพราะบุคลากรภาครัฐที่มีความสามารถภายหลังการเกษียณแล้ว จะใช้ความรู้อย่างไรไม่ให้เสียทรัพยากรประเทศ ดังนั้นเพื่อป้องกันการบิดเบือนอำนาจหรือการช่วยเหลือในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าดูในต่างประเทศมีรูปแบบกฎหมายที่ชัดเจน ส่วนของไทยมีกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 100 (4) และมาตรา 103 แต่พอมีข่าวออกมากลายเป็นไม่ชัด มีความคลุมเครือ ดังนั้นถ้าจะแก้ไขเรื่องนี้ต้องเขียนแนวปฏิบัติให้ชัด ระหว่างในราชการทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ ถ้าออกมาชัดเจน ทุกคนรับทราบ ก็ไม่มีประเด็นเรื่องควรหรือไม่ควร
นายประสงค์ กล่าวว่า กรณีปรากฏเป็นข่าวผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) แจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินแก่ ป.ป.ช. ว่า รับเงินเดือนเป็นค่าที่ปรึกษาจากบริษัทเอกชนประมาณ 5 หมื่นบาท ตั้งแต่ปี 2558 คือตอนที่เพิ่งใหญ่ ก่อนหน้านั้นไม่ได้รับ คำถามคือ เอกชนจ่ายตามตำแหน่ง หรือจ่ายเพราะบุคคล และให้คำปรึกษาเรื่องอะไร ถ้าแค่รับเงินเฉย ๆ ก็ไม่ใช่ค่าที่ปรึกษา แต่เป็นค่าอื่น เข้าตามมาตรา 103 ของ ป.ป.ช. หรือไม่ อีกเรื่องคำว่าประมาณ ถ้าไม่ชัดเจนก็ไม่ต้องประมาณ และยังไม่เคยเห็นหลักฐานจากบริษัทเอกชนว่า จ่ายจากบริษัทแม่ หรือบริษัทในเครือ เพราะเรียกกว้าง ๆ ไม่มีทางรู้ และไม่มีหลักฐานชัดเจน ถ้าเกิดรับเงินค่าที่ปรึกษาเป็นรายเดือน ถือเป็นเงินได้หลายทาง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.) ต้องใช้แบบ ภ.ง.ด.90 แต่บุคคลรายนี้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 นี่เป็นปัญหา กรมสรรพากรต้องไปตามดูหรือไม่ ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงใด ๆ ทั้งสิ้นจากบุคคลที่เป็นข่าว และบริษัทที่จ่ายเงิน
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า กรณีนี้มีกฎหมายรองรับไว้อยู่แล้ว ถ้าดูตามระเบียบข้าราชการพลเรือน หรือกฎหมายหลัก ๆ จะห้ามข้าราชการเป็นกรรมการ ผู้บริหาร ในบริษัทเอกชน เพราะต้องเอาเวลามาทำราชการ ถ้าจะเป็นลูกจ้างรับเงินเดือนจากเอกชนต้องห้ามขัดหรือแย้งผลประโยชน์ในอำนาจหน้าที่ ดังนั้นการเป็นที่ปรึกษาบริษัทสุรา ขัดแย้งบทบาทหน้าที่หลักหรือไม่ กฎหมายหลักอาจไม่ใช่ แต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่ระบุให้ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นกรรมการควบคุมฯ ในเขต กทม.
นายประสงค์ เสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีอย่างน้อย 2 วิธี ได้แก่การแก้ไขมาตรา 100 (4) ของ ป.ป.ช. ที่ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐดำรงตำแหน่งกรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือลูกจ้างของบริษัทเอกชน โดยปัจจุบันตามประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. บัญญัติให้คณะรัฐมนตรี และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และรองผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เท่านั้น แต่ถ้าเพิ่มบทบัญญัติเฉพาะตำแหน่งสำคัญ ๆ โดยไม่ต้องเหมารวมทั้งหมด เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นต้น ก็อาจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ส่วนหนึ่ง
“วิธีนี้ถ้ารอแก้กฎหมายก็อีกชาติหนึ่ง ถ้าเชื่อความเป็นชายชาติทหาร ความเป็นลูกผู้ชาย เชื่อวาจาที่พูดต่อสังคม ควรให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้บรรดาข้าราชการทั้งหลายเป็นลูกจ้างเอกชนควรแจ้งกับหน่วยงานต้นสังกัดว่า เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา หรือผู้ถือหุ้น ในบริษัทเอกชนที่ไหน อย่างไร แล้วให้รวบรวมข้อมูลที่ใดที่หนึ่ง ประกาศขึ้นเว็บไซต์ ให้สังคมดูว่า ใครบ้างที่รับงานขัดแย้งกับผลประโยชน์ ถ้ามีใครไม่เปิดเผยก็ผิดวินัย อาจใช้เป็นมติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง คสช. ก็ได้” นายประสงค์ กล่าว
นายบรรยง กล่าว ต้องเข้าใจก่อนว่าผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่การทุจริต แต่เป็นภาวะ ตรงนี้สำคัญมาก การมีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ใช่อาชญากรรมในตัวมันเอง แต่ต้องมีการจัดการ ซึ่งการจัดการมีหลายระดับมาก และมีต้นทุน ไม่สามารถดีไซน์ให้เหมือนกันได้ แม้ในประเทศเดียวหรือในสังคมเดียวกัน เริ่มตั้งแต่ผลประโยชน์ทับซ้อนที่จำเป็นต้องสลาย เช่น ผบช.น. พอถูกตรวจสอบพบ ก็ควรลาออกจากที่ปรึกษา ตรงนี้ก็มีหลายระดับมาก เพราะถ้าจะห้ามเลยโดยมีระยะเวลา หรือหลายกรณีไม่ห้ามเลย เพราะมันมากไป ทุกอย่างมีต้นทุนเสมอ การห้าม ผบช.น. เป็นที่ปรึกษา ต้องดูว่าใช่หรือไม่ ไม่ได้เรียกร้องให้สังคมเชื่อใจ แต่ต้องแจ้งให้สังคมทราบด้วย เช่น การเลือกตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แล้วลาออกอีกตำแหน่ง อีกวิธีหนึ่งการให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นมีกระบวนการตัดสินเรื่องนี้ ไม่ต้องลาออกก็ได้ แต่ไม่เข้าไปตัดสินใจในส่วนที่ได้เสีย
นายบรรยง กล่าวว่า สำหรับกรณีข้าราชการทั่ว ๆ ไป มันไม่ง่ายจะตัดสินว่า ใครผิดหรือใครถูก แต่ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นภาวะ การออกมาตรการต่าง ๆ บทลงโทษต่าง ๆ ค่อนข้างละเอียดอ่อน และมีอีกข้อสังเกตคือ เงินเหล่านี้ที่ข้าราชการบางคนได้ ที่ไม่เกี่ยวกับกรณี ผบช.น. นั้น เป็นเงินชอบ ดังนั้นหากตัดเงินชอบทิ้งไป เงินไม่ชอบจะโตขึ้นหรือไม่ เวลาทำเรื่องพวกนี้หนีไม่พ้นต้องดูบริบทจริงว่า การปฏิรูปทำได้มากน้อยแค่ไหน เป็นข้าราชการต้องเสียสละทุกอย่างเพื่อมารับใช้ชาติ มันมีหรือไม่ คนดี ถ้าตัดเงินชอบทั้งหมดออก เงินไม่ชอบจะโตขึ้นอีกหรือไม่
อ่านประกอบ :
เจาะปมเสียภาษี‘ศานิตย์’รับเงินหลายทาง ไฉนแจ้งได้เงินเดือนอย่างเดียว?
จี้‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ย้าย‘ศานิตย์’! ร้อง ป.ป.ช. สอบปมรับเงินค่าที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
บี้‘ศานิตย์’ไขก๊อก ผบช.น.-สนช.! ร้องผู้ตรวจฯสอบปมรับเงินที่ปรึกษาไทยเบฟฯ
โชว์ใบเสียภาษี‘ศานิตย์-ภรรยา’แนบมาไม่ชัด-ป.ป.ช.สั่งยื่นใหม่
เก็บเงินสดให้ลูกน้องทำงานทางลับ! ‘ศานิตย์’ แจงปมรายได้-ทรัพย์สินรวม 93 ล.
สมบัติ 93 ล.‘ศานิตย์’ส่วนใหญ่‘แม่-น้า’ ยกให้-รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ด้วย
กางกฏหมาย-ขมวดปม‘ศานิตย์’ รับเงินที่ปรึกษา‘ไทยเบฟ’ทำได้จริงหรือ?