รมว.พาณิชย์ กระตุ้นคนไทยสร้าง ผลิต จดสิทธิบัตร เดินตามรอย "อัจฉริยราชา"
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เชิญชม นิทรรศการ “อัจฉริยราชา ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพสกนิกรไทย” อภิรดี ตันตราภรณ์ ชี้พระปรีชาสามารถของพระองค์ เป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยรู้จักริเริ่ม สร้าง ผลิตและนำมาจดสิทธิบัตร
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดแถลงข่าวเปิดงานการแสดงนิทรรศการ “อัจฉริยราชา ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพสกนิกรไทย” เพื่อแสดงความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเทิดพระเกียรติพระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการจัดพื้นที่จัดแสดงผลงานด้านสิทธิบัตร 11 ชิ้น อาทิ กังหันน้ำชัยพัฒนา และฝนหลวง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รวมทั้งแบบจำลองเหรียญรางวัลผู้นำโลก ด้านทรัพย์สินทางปัญญา จากพระปรีชาสามารถของพระองค์เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยรู้จักริเริ่ม สร้าง ผลิตและนำมาจดสิทธิบัตรบ้าง
นางอภิรดี กล่าวถึงพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตร "เครื่องกลเติมอากาศ แบบอัดอากาศและดูดน้ำ" ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2544 ความว่า "ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความสำคัญมาก เมื่อตอนปี พ.ศ. 2500 พูดกันว่า เราไปลอกจากต่างประเทศ มาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าคิดที่จะจดทะเบียนสิทธิบัตร เราสามารถใช้อะไรจากต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้สิทธิ การพูดอย่างนี้ไม่ถูก เป็นการดูถูกคนไทย"
นางอภิรดี กล่าวอีกว่า สิ่งประดิษฐ์และแนวคิดริเริ่มต่าง ๆ ของพระองค์ ต่างประเทศยอมรับและยกย่องมาก เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา โครงการฝนหลวง โครงการแก้มลิง และโครงการแกล้งดิน โดยเฉพาะโครงการฝนหลวง หลายประเทศมีหนังสือผ่านรัฐบาลไทย เพื่อขอพระราชทานฝนหลวงไปแก้ไขปัญหาภาวะแห้งแล้งในประเทศของตนเอง เช่น ประเทศแทนซาเนีย ในทวีปแอฟริกา รัฐบาลรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น นำไปเป็นแบบการพัฒนา โดยพระองค์ไม่หวงสูตร แต่กลับยินดีที่โครงการหรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ จะนำไปช่วยผู้คนได้มากมาย แม้จะขึ้นชื่อว่าจดลิขสิทธิ์ และได้รับการจดสิทธิบัตรก็ตาม
" ไม่มีเพียงผลงานด้านสิทธิบัตร เพราะยังมีผลงานที่ทรงได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในผลงานพระราชนิพนธ์เป็นจำนวนมาก เช่น เพลงพระราชนิพนธ์มากกว่า 40 บทเพลง งานวรรณกรรม ภาพถ่าย และภาพวาดฝีพระหัตถ์ รวมถึงผลงานที่บันทึกในฐานข้อมูลการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น หนังสือแนวคิดทฤษฎีใหม่ , โครงการทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระมหาชนก"
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ม้จะยังไม่มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการในพระปรมาภิไธย แต่ทรงพระราชทานให้บริษัท สุวรรณชาด จำกัด บริษัท ชัยมงคลพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เช่น เครื่องหมายการค้าสุวรรณชาด ทองแดง โกลเด้นเพลส ธรรมชาติ และปันสุข โดยนำมาจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ เป็นการรวมผลงานที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตร กฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎหมายเครื่องหมายการค้า
ด้านนายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมถึงงานแสดงนิทรรศการ จัดขึ้นโดยวัตถุประสงค์ ต้องการการเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและพระปรีชาสามารถด้านทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อราษฎรพ้นทุกข์ โดยได้รวบรวมข้อมูลผลงานต่าง ๆ มาจัดแสดงนิทรรศการ ซึ่งช่วงเวลานี้นับว่าเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ กำลังสนใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ ทำให้คิดว่านิทรรศการครั้งนี้ นอกจากซึมซับเรื่องราวและพอจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กและเยาวชน รู้จักการคิดริเริ่ม เพราการสนใจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การพัฒนาและความก้าวหน้า ชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลที่ประเทศจะต้องก้าวหน้าพร้อมนวัตกรรม โดยอยากให้คิดทำอะไรก็ทำ ทำแล้วตัวเองได้ คนอื่นได้ด้วย รวมถึงเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตร ไม่ได้หมายความว่า จดแล้ว ต้องหวงไม่ให้ใครแตะ แต่เมื่อจดแล้วต้องรู้ว่าสิ่งนี้จะทำประโยชน์อะไรให้กับคนอื่นได้บ้าง เริ่มจากศึกษาผลงานของพระอง
"การจัดนิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ท่านที่อยากให้คนไทยทุกคนไม่ว่าจะอายุไหนโดยเฉพาะเยาวชนอยากให้เข้ามาดูและศึกษาไว้เพื่อเป็นต้นแบบ ของแนวคิดการริเริ่ม"
ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้าชมงานนิทรรศการ ได้ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายนณ ลานอีเดน 3 ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดนำร่องก่อนจะเวียนจัดอีก 4 ครั้ง โดยปลายเดือนพฤศจิกายน จัดขึ้นที่สยามพารากอน และต่างจังหวัดอีก 3 แห่ง คือจังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี และสงขลา รวมทั้งเร็วๆ จะจัดที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
11 สิ่งประดิษฐ์ กษัตริย์ผู้สร้างสรรค์ เพื่อปวงชน
กว่า 50 ปี ในหลวงพระราชทานปริญญาบัตร "มือต่อมือ จับกระดาษที่เดียวกัน"
แลรูปเล่าเรื่อง โดยศ.(พิเศษ) ธงทอง จันทรางศุ
ศิษย์เก่าศิลปากร วาดเพิ่ม ภาพในหลวงร.9 แสดงความอาลัย
คึกฤทธิ์พูด ฉบับรวมปาฐกถา เล่าเรื่องบุญญาภินิหาร รัชกาลที่ 9 ที่เห็นมากับตา