- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- “ในหลวงของคนหนังสือพิมพ์”
“ในหลวงของคนหนังสือพิมพ์”
พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักหนังสือพิมพ์เป็นล้นพ้น ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเครื่องผูกมัดให้คนหนังสือพิมพ์ตั้งมั่นอยู่ด้วยความจงรักภักดี ซึ่งความจงรักภักดีนั้น นอกจากจะมีอยู่อย่างมั่นคงในฐานะคนไทยแล้ว ก็ยังมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ในฐานะที่เป็นคนอยู่ในอาชีพที่อยู่ในข่ายพระมหากรุณาอีกด้วย
ในหนังสือรายงานประจำปี ฉบับเทอดพระเกียรติของสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2539 มีการนำบทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นักหนังสือพิมพ์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ชื่อ “พระมหากรุณาธิคุณต่อนักหนังสือพิมพ์” ตีพิมพ์เมื่อ 2512 มาตีพิมพ์อีกครั้ง เพื่อให้เห็นว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเมตตา "สื่อมวลชน" มากน้อยเพียงไร
“ประมาณ 25 ปีมาแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 8 ช่างภาพหนังสือพิมพ์ที่ไปถ่ายภาพงานพระราชพิธี และงานเสด็จพระราชดำเนินต่าง ๆ รู้สึกตัวว่า มีช่างภาพอีกคนหนึ่งเข้ามาอยู่ในกลุ่มของตน
ช่างภาพคนนั้น พูดจาแต่น้อย ถ่ายภาพเอาจริงเอาจัง คนหนังสือพิมพ์เห็นแล้วก็เกิดความเลื่อมใส ครั้นเข้าไปพูดจาด้วย ช่างภาพนั้นก็ปราศรัยแต่โดยดี ให้ความสนิทสนมด้วยทุกครั้งไป
คนหนังสือพิมพ์นั้นเป็นคนใจคอกว้างขวาง เมื่อเห็นใครที่กระทำกิจการอย่างเดียวกับตน อย่างเอาจริงเอาจัง ไม่ถือเนื้อถือตัว ก็กำหนดหมายว่า คน ๆ นั้นเป็นพวกเดียวกัน เกิดความเคารพนับถือ และความสนิทสนมทางใจ ผูกพันกับผู้คนมาจนถึงบัดนี้
ถึงแม้ว่า ผู้ที่คนหนังสือพิมพ์ยอมรับเข้าพวกแล้วนั้น จะได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตราธิราชเจ้า รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนั้น ก็ยังคงมีอยู่ตลอดมา จนตราบเท่าถึงทุกวันนี้ในใจของคนหนังสือพิมพ์โดยทั่วไป
พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อนักหนังสือพิมพ์เป็นล้นพ้น ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นเครื่องผูกมัดให้คนหนังสือพิมพ์ตั้งมั่นอยู่ด้วยความจงรักภักดี ซึ่งความจงรักภักดีนั้นนอกจากจะมีอยู่อย่างมั่นคงในฐานะคนไทยแล้ว ก็ยังมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติม ในฐานะที่เป็นคนอยู่ในอาชีพที่อยู่ในข่ายพระมหากรุณาอีกด้วย คือ ความหวงแหน ความรู้สึกใกล้ชิด และความรู้สึกที่พอจะสรุปได้ว่า “ในหลวงเป็นของคนหนังสือพิมพ์” พระราชจริยวัตรทั้งปวง และพระมหาการุณาธิคุณอันล้นพ้นต่อคนหนังสือพิมพ์เป็นรากฐานแห่งความรู้สึกเช่นนั้น
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาเป็นทางการครั้งแรกได้มีพระราชดำรัสต่อสมาคมหนังสือพิมพ์ที่กรุงวอชิงตัน ตอนหนึ่งว่า
“หน้าที่ของคนหนังสือพิมพ์กับหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินนั้น มีลักษณะอย่างเดียวกัน คือทำให้เกิดความเข้าใจอันดี และถูกต้องขึ้นในมวลชน ข้าพเจ้าเองก็พยายามทำหน้าที่เช่นนั้น ชั่วแต่ว่า เราต้องทำด้วยพิธีรีตอง และยศอย่างมากไปหน่อยตามธรรมเนียม”
พระราชดำรัสนี้ ถึงแม้จะได้พระราชทานแก่หนังสือพิมพ์ชาวต่างประเทศ ก็แสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่มีต่ออาชีพหนังสือพิมพ์และคนหนังสือพิมพ์ เป็นเหตุแห่งพระมหากรุณาธิคุณที่มีคนหนังสือพิมพ์ตลอดมาไม่เคยขาด
ทุกครั้งที่คนหนังสือพิมพ์ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ก็จะทรงมีพระราชปฎิสันถารอย่างใกล้ชิดสนิทสนมเป็นกันเองเสมอมา เมื่อนักหนังสือพิมพ์กราบบังคมทูลถามความอันใด ก็มีพระราชดำรัชตอบโดยเปิดเผยไม่มีสิ่งใดปิดบัง ซ่อนเร้น หรือแสดงให้เห็นว่า ทรงรังเกียจ หรือสงสัยคลางแคลงพระราชหฤทัยในเจตนาของคนหนังสือพิมพ์
ในยามเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ใด ที่มีช่างนักหนังสือพิมพ์และคนข่าวหนังสือพิมพ์ก็ทรงแสดงพระเมตตากรุณาภาพให้ประจักษ์ชัดต่อคนหนังสือพิมพ์ทุกครั้ง
การทำหน้าที่กิจการของหนังสือพิมพ์นั้น ต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว คนหนังสือพิมพ์อาจกระทำการละลาบละล้วง ล่วงเกิน หรือขัดต่อขนบธรรมเนียมราชประเพณีได้บ่อย ๆ โดยมิได้เจตนาที่ล่วงเกิน เช่น วิ่งเกินพระองค์ขึ้นไปขณะเสด็จพระราชดำเนิน หรือวิ่งตัดหน้าฉาก ซึ่งแต่ก่อนเคยถือว่า เป็นโทษร้ายแรง แต่ปรากฏว่า ทรงพร้อมด้วยพระขันติธรรม มิได้ถือสา และพระราชทานอภัยให้แก่ผู้ที่พยายามปฏิบัติหน้าที่ของตนทุกครั้ง
คนหนังสือพิมพ์รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ในการวางศิลาฤกษ์ อาคารของสมาคมนักหนังสือพิมพ์นี้ ก็ทรงเป็นพระมหากรุณาฯ มีพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินมาวางศิลาฤกษ์เป็นศิริมงคลแก่สมาคม
พระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ นักหนังสือพิมพ์ย่อมจารึกไว้เหนือเกล้า โดยไม่มีวันลืม และจะเป็นพลังใจที่ทำให้นักหนังสือพิมพ์ปฏิบัติหน้าที่ตนต่อไปด้วยความจงรักภักดีแน่นแฟ้น คือการตั้งตนอยู่ในศีลและจริยะของนักหนังสือพิมพ์ให้พร้อมทุกทุกประการ”