- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- 11 สิ่งประดิษฐ์ กษัตริย์ผู้สร้างสรรค์ เพื่อปวงชน
11 สิ่งประดิษฐ์ กษัตริย์ผู้สร้างสรรค์ เพื่อปวงชน
สิ่งประดิษฐ์สุดยอด ฝีมือพ่อหลวง ทรงประดิษฐ์เพื่อประชาชน ตลอดการครองราชย์ 70 ปี
ตลอดการครองราชย์ 70 ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงงานหนักมากมาย และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีอัจฉริยภาพในทุกด้าน พระองค์ทรงค้นคิดและทรงประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนคนไทย และหวังให้ประชาชนของพระองค์อยู่ดีกินดี
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลกที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล Global Leader Award จากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) รวมถึงสหพันธ์สมาคมนักประดิษฐ์ระหว่างประเทศ (IFIA) ประเทศฮังการี ทูลเกล้าฯถวายถ้วยรางวัล IFIA CUP 2007 สืบเนื่องจากพระอัจฉริยภาพด้านการประดิษฐ์ ทำให้วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2537 คณะรัฐมนตรีในยุคนั้น มีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์โลก” (International inventor's day convention: IIDC)
วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 รัฐบาลถวายพระราชสมัญญา “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เลขที่ 3127 ในการที่ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น ยื่นคำขอรับสิทธิบัตร และได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรแล้วอีกหลายฉบับ รวมทั้งสิ้น 11 ฉบับ และสิ่งประดิษฐ์อีก 2 ชิ้นอยู่ในระหว่างยื่นคำขอจดสิทธิบัตร โดยเรียงตามเลขที่บัตรดังนี้
1. เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย หรือที่รู้จักว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา”
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 3127 เป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับผิวน้ำ เมื่อ 24 ธันวาคม พ.ศ.2531 ได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการใช้เครื่องกลเติมอากาศ ที่เป็นรูปแบบสิ่งประดิษฐ์เรียบง่าย แต่มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่ง กังหันน้ำชัยพัฒนา นำมาใช้ในการปรับปรุงคุณภาพน้ำตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536
2. เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 10304 เป็นเครื่องกลเติมอากาศใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับลึกลงไปใต้ผิวน้ำจนถึงด้านล่างของแหล่งน้ำ ต่อยอดจากแบบทุ่นลอย พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2544
3. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 10764 เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลแทนน้ำมันดีเซล ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ในอนาคตอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน จึงมีพระราชประสงค์ให้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพด้วยการนำอ้อยมาผลิตแอลกอฮอล์เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยพระราชทานเงินทุนวิจัยเริ่มต้นเป็นจำนวน 925,500 บาท พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2544
4. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม
อนุสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 841 เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จากน้ำมัน ปิโตรเลียมสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ เช่น เครื่องรถมอเตอร์ไซค์ และเครื่องสูบน้ำ เป็นต้น พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2545
5. การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน หรือที่รู้จักว่า “ฝนหลวง”
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 13898 เป็นกรรมวิธีการทำฝนหลวงที่มีการทำฝนทั้งในระดับเมฆอุ่นที่ระดับต่ำกว่า 1 หมื่นฟุต และเมฆเย็นที่ระดับสูงกว่า 1 หมื่นฟุตพร้อมกัน ซึ่งทรงเรียกว่า “ซูเปอร์แซนด์วิช” สืบเนื่องมาครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ปี 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้พระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" และยังมีภาพขั้นตอนที่พระองค์ทรงวาดเพื่อความเข้าใจง่ายด้วยเช่นกัน พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2545
6.ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยฉบับนี้ เป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 14859 โดยพระองค์ทรงออกแบบขณะทรงพระประชวร เป็นภาชนะที่ทรงออกแบบไว้เฉพาะสำหรับรองรับปัสสาวะของผู้ป่วย และราคาประหยัดกว่าอุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2546
7. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 16100 เป็นเครื่องยนต์ที่ขับดันน้ำ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเรือจะถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์น้ำท่วม โดยการผลักดันระบายน้ำในแม่น้ำและคูคลองต่าง ๆในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ไหลออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2547
8.กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก หรือที่รู้จักว่า โครงการแกล้งดิน
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 22637 ซึ่งเป็นกระบวกการวิธีการเลียนแบบธรรมชาติ โดยแกล้งให้ดินมีสภาพเปรี้ยวจัดก่อน แล้วทำการชะล้างความเปรี้ยวของดิน และทำการปรับสภาพดินให้เหมาะแก่การเพาะปลูกต่อไป พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2550
9. เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 29162 โดยเครื่องกลมีส่วนประกอบ ใบพัดที่เปลี่ยนพลังงานจากความเร็วของกระแสน้ำให้เป็นพลังงานกล โดยการหมุนเพลาที่ต่อเข้ากับเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า จะมีข้อต่อเพลาเป็นตัวยึดเข้าด้วยกัน ทำให้ทั้งชุดเกียร์เพิ่มรอบและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าถูกประกอบอยู่ภายในห้องติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากันน้ำ ที่ติดตั้งอยู่ใต้น้ำภายใต้ความดันไม่มากกว่า 3 บาร์ ชุดใบพัดจะเป็นแบบหมุนรอบแกนการไหล หรือหมุนขวางการไหลอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ใบพัด และชุดเกียร์เพิ่มรอบได้รับการออกแบบให้เป็นไปตามความสัมพันธ์ของอัตราส่วน ความเร็วปลายใบ พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
10. โครงสร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ "อุทกพลวัต"
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 29163 ซึ่งพระองค์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสิ่งประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์และชุดสำเร็จเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานจลน์ ว่า “อุทกพลวัต” อ่านว่า อุ-ทก-กะ-พน-ละ-วัด หมายถึง กังหันผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำไหล โดยสิ่งประดิษฐ์นี้นำไปติดตั้งที่บริเวณคลองลัดโพธิ์ตามพระราชดำริ ให้มีหน้าที่บริหารจัดการมวลน้ำ ให้ออกสู่ทะเลอย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยของราษฎร และพื้นที่เขตเศรษฐกิจใหญ่ของประเทศ ส่งผลให้เมื่อน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ทำให้น้ำไม่ท่วมในบริเวณนั้น ทั้งที่เกือบทุกปีก่อนหน้านี้น้ำท่วมตลอดมา พระองค์ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
11.ระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยรางพืชร่วมกับเครื่องกลเติมอากาศ
สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยเลขที่ 29091 เป็นการต่อยอดจากสิทธิบัตรเลขที่ 3127 เรื่องเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุดซ้ำแบบทุ่นลอย - “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และ สิทธิบัตรเลขที่ 10304 เรื่องเครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำ โดยมีพระราชดำริในการนำต้นพืชบางชนิดที่สามารถดูดซึมสารปนเปื้อนมาเป็นอาหารในการเจริญเติบโต เช่น ต้นกก ต้นเตย ต้นพุทธรักษา เป็นต้น ทำให้สาหร่ายไม่มีอาหารในการเจริญเติบโต เพราะการเติมอากาศแม้เป็นการเพิ่มศักยภาพของสิ่งมีชีวิตให้ดำรงชีวิตและเติบโต แต่การเติมอากาศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำเขียวอันเกิดจากสาหร่ายออกได้ จึงจำเป็นต้องนำพืชมาช่วยลดปริมาณแร่ธาตุสารอาหารในน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของน้ำเสีย พระองค์ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2553
ส่วนสิ่งประดิษฐ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างยื่นคำขอ มี 2 ชิ้น ได้แก่
1.วุ้นชุ่มปากกลิ่นมิ้นท์ - มะนาว และ 2.วุ้นชุ่มปากกลิ่นสตรอเบอร์รี โดย มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยื่นคำขอวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2556
ที่มาของรูปภาพและเนื้อหา
1.FB:กรมทรัพย์สินทางปัญญา
2.FB:กระทรวงพลังงาน
3.www. prezi.com
4. www.chaipat.or.th