ทรงกลด บางยี่ขัน: "กรุงเทพฯควรต้องจัดตู้เย็นก่อนหรือเปล่า ก่อนจะซื้ออะไรมาเพิ่ม"
"อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯก่อนไหม แล้วค่อยมาทำทางจักรยาน ไม่ใช่คิดแต่จะทำทางเลียบริมแม่น้ำเพียงอย่าเดียว ควรจัดการเรื่องแม่น้ำก่อน ควรจัดระเบียบให้กับคนทุกกลุ่มให้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างแท้จริง"
"คุ้มแล้วหรือกับเงินที่เสียไป 1.4 หมื่นล้านบาท สามารถนำไปทำอะไรได้มากมาย"
"ทรงกลด บางยี่ขัน" บรรณาธิการบริหารนิตยสาร a day ตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางจักรยานที่กำลังสร้างนั้น คนจะใช้จริงหรือไม่
เขาเห็นว่า สิ่งที่ดีกว่าคือเราควรมองคนใช้ถนนทุกๆ กลุ่ม พัฒนาเพื่อคนทุกกลุ่มได้ประโยชน์ ไม่ใช่แค่กลุ่มที่ใช้จักรยาน ซึ่งหากภาครัฐมองอย่างครบถ้วนทุกกระบวนคิดผลที่ออกมาจะไม่ใช่แค่ทางจักรยาน แต่จะเป็นทางที่ทุกคนสามารถใช้ประโยชน์ได้หมด
"ถ้ารัฐบาลทำในลักษณะนั้นก็จะไม่มีคนค้าน เพราะทุกคนได้ประโยชน์ ถ้ามองถึงทางจักรยานมีที่อยู่ก็จะมีแค่จักรยานเท่านั้นที่ได้ใช้ พอมาดูถึงโปรเจคนี้ที่ทำทางปั่นจักรยาน 14 กิโลเมตร ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำขนาดใหญ่ ไม่มีที่ไหนเขาทำทางเลียบริมแม่น้ำในกลางเมืองหลวงกัน อย่างที่เห็นชัดๆ คือ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และ เมืองไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นทางขนาดใหญ่จริง แต่นั้นเป็นทางนอกเมือง เป็นพื้นที่รับน้ำแบบฟลัดเวย์ ดังนั้นจึงทำทางขนาดใหญ่ได้ เป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่ที่คนไม่ได้ใช้งาน และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้"
สำหรับประเทศที่อายุประมาณร้อยปีสองร้อยปีอย่างกรุงเทพ ทรงกลด บอกว่า เมืองที่อายุประมาณเท่านี้ไม่มีใครทำทางจักรยานริมน้ำยาวๆกัน เพราะว่าเป็นเมืองเก่า มีตึกเก่ามากมายสองข้างทาง มีประวัติศาสตร์ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ก็ไปดูไม่มีใครทำแบบนี้กัน อย่างเช่นลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระยะทางจากบิ๊กเบนไปกรีนิช ประมาณสัก 12 กิโลเมตร ริมแม่น้ำเทมส์ หรืออย่างอัมสเตอร์ดัม มีทุ่งซานส์ สคันส์ (กังหันลม) 16 กิโลเมตร ซึ่งสองเส้นนี้มีวิธีการจัดการจักรยานที่ง่ายมากๆ ก็คืออนุญาตให้จักรยานลงเรือได้ เขามีเรือที่วิ่งบนแม่น้ำอยู่แล้ว ดังนั้นแค่จักรยานลงเรือได้ ใครจะไปตรงนั้นก็ลงเรือไป ซึ่งง่ายมากๆ
"ถ้าอยากให้จักรยานเคลื่อนที่ 14 กิโลเมตร ก็อนุญาตให้เอาจักรยานลงเรือด่วนเจ้าพระยาก่อนได้ไหม ซึ่งปัจจุบันจักรยานลงไม่ได้ ถ้าเอาเงินมาพัฒนาเรือ ระบบเรือจะดีขึ้นหรือเปล่า เพราะอย่างอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจุดหนึ่งที่เขามีเรือข้ามฟาก เรือยนต์ใช้ได้ จักรยานใช้ได้ คนใช้ได้ ข้ามฟรี คล้ายๆ กรุงเทพจะมีทางจักรยานริมน้ำสองฝั่งพอสมควร
แต่ทว่าทางจำนวนมากก็ไม่ได้เลียบน้ำ เป็นทางขนาดเล็กที่อยู่ริมน้ำ เช่นเวลาผ่านช่วงที่สำคัญเขาจะไปอ้อมข้างหลัง เพราะทำริมน้ำไม่ได้เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ บางช่วงติดคอนโดติดอพาร์ทเม้นท์ ก็อ้อมข้างหลังซึ่งก็ทำกันได้
เราลองคิดกลับกันถ้าเอาเงิน 1.4 หมื่นล้านบาทมาสร้างเรือ ขนส่งจักรยานฟรีสองฝั่ง วิ่งไปกี่ปีไม่รู้ถึงจะหมดงบ จะดีกว่าไหม นั่นคือในแง่ของทางจักรยาน ซึ่งเราจะเห็นว่า มีหลายทางที่เป็นทางออกทางแก้ที่ดีมาก "
บก.นิตยสาร a day แสดงความเห็นถึงการที่ประเทศเราไปดูทางจักรยานของต่างประเทศที่ยิ่งใหญ่ เลยรู้สึกว่าดี คนใช้เยอะ น่าทำ แต่สิ่งที่เราเอามาคือเราเอามาแต่แบบ โดยที่เราไม่ได้กลับหาแก่นว่า ทำไมคนใช้เยอะ เพราะอะไร ออกแบบอย่างไร ทำไมคนถึงใช้เยอะ ใช่เพราะตอบโจทย์ในการใช้ชีวิตเขาหรือเปล่า
"คำถามว่า ถ้าสร้างทางโครงการนี้ได้ แล้วมีนักปั่นจะมาใช้จริงๆ หรือ มาใช้เพราะอะไร มาปั่นออกกำลังกาย ปั่นเสร็จแล้วจะไปไหนต่อ มีทางเชื่อมไปที่อื่นได้ไหม ก็ไม่มีทางเชื่อม เลยไม่แปลกถ้าคนจะมาใช้ไม่เยอะ เพราะไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้ ออกแบบมาแค่เพื่อจะทำ การออกแบบทางจักรยานที่ดีไม่ควรคิดว่าทางแบบแปลนเส้นนี้จะเป็นยังไง แต่ควรคิดว่าจะไปเชื่อมกับจุดต่างๆต่ออย่างไร"
ทั้งนี้ เขายังตั้งข้อสงสัยในการสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาว่า คนใช้งานจริงๆ เป็นใคร ทำไมต้องทำสองฝั่ง ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์คือ 1.4 หมื่นล้านบาท ถ้ามองในผลได้ของมันได้อะไรบ้าง ในเชิงภาพลักษณ์ได้จริงหรือเปล่า หรือในเชิงเราได้อะไรจากสิ่งนี้ ในเชิงประโยชน์มันน้อยมาก ก็อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลเอาตัวเลขของประโยชน์ที่จะได้จริงๆมาดูเหมือนกันว่าทำไปแล้วคุ้มได้หรือคุ้มเสีย และลองมองในเชิงผลกระทบของสังคม เห็นเยอะมาก ทั้งทัศนียภาพ ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป และเกิดทางเน่ากองขยะเต็มไปหมดสองข้างทาง
"รัฐบาลควรจะแสดงถึงผลเสียมีอะไรบ้างและผลดีมีอะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ให้สังคมตัดสินว่า คุ้มหรือไม่คุ้มกับการเอาเงินก้อนนี้ลงไปทำ"
"ทรงกลด" ยังมองว่า กรุงเทพฯเหมือนตู้เย็น ถนนทั้งหลายเหมือนกองอาหารเน่าๆ ในตู้เย็น พี่เปิดตู้เย็นมาก็เจออะไรเต็มไปหมด แออัดไปหมด ก็ไม่เห็นอะไรที่น่ากิน อะไรดีบ้างเน่าบ้างเราก็ไม่รู้ แต่วันหนึ่งมีคนมาบอกว่าอาหารคลีนฮิต ซึ่งก็คือทางจักรยาน เราก็ไปซื้อมาเพิ่ม และก็ยัดไปในตู้เย็นที่เน่าๆใบเดิม
"อาหารที่มาใหม่มันก็หายไปกับกองอาหารกองนั้นและสุดท้ายก็ใช้อะไรไม่ได้เลย เราเลยตั้งคำถามว่า กรุงเทพฯควรต้องจัดตู้เย็นก่อนหรือเปล่าก่อนจะซื้ออะไรมาเพิ่ม ควรต้องจัดระเบียบอะไรก่อนหรือเปล่า"
พร้อมกันนี้ เขาอยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ก่อน แล้วค่อยมาทำทางจักรยาน ไม่ใช่คิดแต่จะทำทางเลียบริมแม่น้ำเพียงอย่าเดียว ควรจัดการเรื่องแม่น้ำก่อน ควรจัดระเบียบให้กับคนทุกกลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งคำตอบที่ได้อาจจะไม่ใช่ทางจักรยาน 14 กิโลเมตรก็ได้ อาจจะเป็นรูปแบบอื่นที่ง่ายกว่านี้ เกิดประโยชน์จริงๆมากกว่านี้
บก.นิตยสาร a day ทิ้งท้ายโดยอยากฝากถึงรัฐบาลว่า อย่ามองแคบๆให้มองให้รอบด้านในการทำโปรเจคพัฒนาบางอย่าง การเอาโปรเจคจากต่างประเทศมาใช้น่าสนใจ แต่ต้องเอาแก่นมาด้วยไม่ใช่เอามาแค่เปลือกเขามา อย่างทางจักรยานริมน้ำก็ไปดูว่าแก่นเขาคืออะไร เขาไม่ได้สร้างทางจักรยาน เขาสร้างพื้นที่สาธารณะจากพื้นที่ริมน้ำที่ไม่มีคนใช้ประโยชน์ อันนี้คือพูดถึงเกาหลีกับไต้หวัน แต่ในแง่ในเมือง ก็เป็นการเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนมาใช้มากขึ้น ให้คนมาชื่นชมทัศนียภาพในเมืองมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ที่คุณบอกว่าสร้างมาเพื่อให้คนมาใช้เป็นสาธารณะ ทุกวันนี้ที่ราชการจำนวนมากก็ไม่ได้ให้คนเข้าไปใช้ ทั้งๆที่เป็นพื้นที่สาธารณะชัดๆ ถ้าเปิดพื้นที่พวกนี้เราจะมีที่สาธารณะมากมายโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากเท่ากับเงินก้อนนี้ก็ได้
อ่านประกอบ :
มท.1 ยันทางเลียบเจ้าพระยา งบฯ ไม่ถึง 1.4 หมื่นล้าน โครงสร้างสูงน้อยกว่าเขื่อนริมฝั่ง
อดีตอธิบดีกรมผังเมือง หวั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ทำแม่น้ำแคบลง 20%
อุปนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยยันต้องแก้ทีโออาร์โครงการริมน้ำเจ้าพระยา
ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ชี้แลนด์มาร์กเจ้าพระยาต้องศึกษาผลกระทบ ฉะอย่าอ้างกม.แบบไม่รู้ไม่ชี้