อดีตอธิบดีกรมผังเมือง หวั่นโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา ทำแม่น้ำแคบลง 20%
อดีตอธิบดีกรมการผังเมือง เผย 5 เดือนก่อน สนช.ทำหนังสือเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงรูปแบบพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยาใหม่ ทั้งเรื่องโครงสร้างควรอยู่บนฝั่ง ยันยื่นไปในแม่น้ำ ทำให้ความกว้างของเจ้าพระยาหายไปเกือบ 20% ส่งผลกระทบการระบายช่วงน้ำหลาก ชี้ออกแบบให้ดีก่อนไม่ควรเร่งรีบทำ
วันที่ 20 สิงหาคม ภาคีมหาวิทยาลัยคิดเพื่อแม่น้ำ 14 กม. และกลุ่ม Friend for the river จัดกิจกรรมเสวนา "10 มหาวิทยาลัย 14 กิโลเมตร:River Lecture and discussion" โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ ร่วมเสนอการศึกษาและร่วมพูดคุยต่อการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยผศ.ดร.ปริญญา ปริญญา เทวานฤฒิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานโดยสนับสนุนการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา
นายรัชทิน ศยามานนท์ อดีตอธิบดีกรมการผังเมือง และกรรการธิการการศึกษาการผังเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ของกทม.ที่มีเสียงไม่เห็นด้วยจำนวนมากนั้น โดยเฉพาะมีการเสนอให้ปรับปรุงแบบ ซึ่งเมื่อ 5 เดือนที่แล้ว สนช.ทำหนังสือเสนอแนะให้รัฐบาลปรับปรุงรูปแบบเสียใหม่
“เรารู้รัฐบาลเจตนาดีต้องการจัดเรียบสองฝั่งแม่น้ำให้เรียบร้อย ซึ่งได้มีการเสนอให้แก้ไข ทั้งเรื่องโครงสร้างควรอยู่บนฝั่ง หากโครงสร้างยื่นไปในแม่น้ำเจ้าพระยาจะทำให้ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาหายไปเกือบ 20% ส่งผลกระทบการระบายช่วงน้ำหลาก รวมถึงเรื่องภูมิสถาปัตย์ ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดียวในโลกที่มีโบราณสถาน วัดวาอารามแบบเอเชียสวยงามทั้ง 2 ฝั่ง ดังนั้น โครงการนี้ควรวางรูปแบบให้ดีเสียก่อน ไม่ควรเร่งรีบทำ เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้หายไปไหน ”
ด้านผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ กับแม่น้ำตั้งแต่ในอดีต การอยู่ของชุมชนริมน้ำ การส่งสินค้าทางน้ำ ถือได้ว่า คนทุกระดับชั้นของสังคมไทย ใช้แม่น้ำร่วมกัน พิธีกรรม ขบวนเรือราชพิธี โดยปรากฎการณ์ของเมืองที่โตอย่างมหาศาล ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองโตแบบไร้การควบคุม ทั้งหมดทำให้เราอยู่เมืองแบบปัจจุบัน จนแม่น้ำถูกลืม
ส่วนนาวาเอกดร.พินัย จินชัย กองวิชาการวิศวกรรมอุทกศาสตร์ฝ่ายการศึกษา โรงเรียนนายเรือ กล่าวแสดงความเป็นห่วงการออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมเพื่อลดการกัดเซาะ โดยเฉพาะกับต่อม่อของโครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร จะป้องกันอย่างไร เนื่องจากบางวิธีการมีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งโครงสร้างทางวิศวกรรมที่ไปบีบช่องทางน้ำ จะทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องระวังสิ่งก่อสร้างอะไรที่ยื่นไปในแม่น้ำ ช่วงหัวและท้าย กระแสน้ำจะเกิดการปั่นป่วนมากที่สุด
ขณะที่ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวถึงความสำคัญของระบบนิเวศชายน้ำที่ช่วยยึดเกาะตลิ่ง เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ เป็นแนวกันชนดักตะกอน สารพิษ ที่เกิดจากการชะล้างหน้าดิน
“แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำที่มีความโดเด่นมาก จนประเทศไทยได้ชื่อว่า มีปลาน้ำจืดหลากหลายอันดับ 9 ของโลก เฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยามีพันธุ์ปลาที่หลากหลายถึง 280 ชนิด มีปลาท้องถิ่น ที่จะไม่พบที่ใดในโลก แม้ปัจจุบันนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างกลายเป็นเมืองไปหมดแล้ว แต่ก็ยังเป็นเป็นพื้นที่ชายขอบของน้ำกับบก ชายขอบระหว่างน้ำจืดกับทะเล ระบบนิเวศ 3 น้ำ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำทะเล จึงเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มากๆ เป็นแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำหลายชนิด เป็นคอมเพล็กซ์ระบบนิเวศที่ซับซ้อนมหาศาล”
เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันริมฝั่งเจ้าพระยาเขตกรุงเทพฯ แทบไม่เหลือแนวกันชนตามธรรมชาติให้เห็นแล้ว ผลกระทบไม่ใช่เกิดจากสิ่งที่เราทำ ระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านมามีปัจจัยหลายๆ อย่างที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของแม่น้ำเรา การสร้างเขื่อน สร้างกำแพงบีบแม่น้ำ ทำให้ปลาหลายชนิดสูญพันธุ์มากมาย
“ แม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเจ๋งระดับท็อปเท็น ขณะนี้เราสูญเสียชนิดพันธุ์ปลาไปแล้วกว่า 30ชนิด โดยเฉพาะปลาพื้นถิ่น เช่น ปลากะโห้ สัญลักษณ์ของปลาในแม่น้ำเจ้าพระยา สูญพันธุ์ไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว และเราก็รู้สึกเฉยๆ ทุกวันนี้แค่คิดว่า น้ำเสียไม่ดำ มีปลาสวายหน้าวัดก็ดีแล้ว นี่คือภูมิปัญญาที่หายไปจากสังคม”
สำหรับผศ.ดร.รุจิโรจน์ อนามบุตร ภาควิชาการออกแบบและวางแผนชุมชนเมือง คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเพื่อการฟื้นฟูเมือง ให้ประสบความสำเร็จต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ ความเข้าใจที่แท้จริง ทั้งเข้าใจชีวิตและการใช้งานที่แท้จริง เห็นถึงวิถีชีวิตชุมชน พานิชกรรม การท่องเที่ยว การเดินทาง นันทนาการ
“การที่ผู้นำเล็งพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเป็นเรื่องดีมาก เพราะปลุกให้คนสนใจแม่น้ำ แต่ยังขาดความเห็นและการสนับสนุนของพลเมือง ผมเข้าใจรัฐบาลอยากใช้แม่น้ำกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่พื้นที่ริมน้ำเกิดการใช้งานที่หลากหลายแล้วหรือไม่ บางที่ต้องการพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ บางที่ต้องการพื้นที่ธรรมชาติ และเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะเข้าด้วยกัน จึงจะเป็นตัวหลักกระตุ้นเศรษฐกิจ"
ผศ.ดร.รุจิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ดังนั้น โครงการพัฒนาริมแม่น้ำต้องมองลึกเข้าไปพื้นที่ข้างใน เพราะพื้นที่ข้างในพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยามีศักยภาพมหาศาล เช่น บางรัก สีลม สาธร ทำดีๆ ออกแบบดีๆ มากกว่าทางจักรยาน จะพลิกโฉมหน้ากทม.ได้มากกว่างบประมาณโครงการฯ 1.4 หมื่นล้านบาทเสียอีก