อุปนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยยันต้องแก้ทีโออาร์โครงการริมน้ำเจ้าพระยา
อุปนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยเสนอใช้บัญญัติท้องถิ่นร่วมกับผังเมืองแก้ปัญหาโครงสร้างทางกายภาพ สร้างความกลมกลืนให้ชุมชน ยันจุดยืนโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยากทม. ต้องแก้ทีโออาร์ หวั่นไม่เกิดการรับฟังความเห็นจากประชาชน
14 กรกฎาคม 2558 สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยจัดงาน“TUDA 2015” โดยภานในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “เจ้าพระยากับสถาปัตยกรรมผังเมือง”ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
รศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ อุปนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และหัวหน้าภาควิชาวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการจัดสรรพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของชุมชนจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อกฎหมายเข้ามาช่วย โดยเห็นว่าจำเป็นต้องให้มีข้อบัญญัติท้องถิ่น เนื่องจากข้อบัญญัติท้องถิ่นจะเป็นตัวกำหนดลักษณะรูปแบบอาคารว่าควรจะเป็นลักษณะเป็นอย่างไร การใช้วัสดุในพื้นที่แบบนี้ควรเป็นวัสดุแบบไหน ซึ่งการกำหนดข้อบัญญัติท้องถิ่นนั้นจะเป็นในลักษณะคล้ายๆ ผังเมืองเฉพาะไม่ใช่ผังเมืองรวมแบบที่ใช้กันในปัจจุบัน
"บัญญัติท้องถิ่นจะเป็นลักษณะในการดำเนินการสร้างใดๆก็ตามจะต้องได้รับฉันทามติจากชุมชนก่อน และประกาศใช้ได้เป็นร้อยปี และจะหมดอายุทุกๆ 5 ปี ดังนั้นจึงมีความเหมะสมกับพื้นที่ที่อ่อนไหวได้ง่าย อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร หรือประกาศเฉพาะพื้นที่ริมน้ำ เช่น อัมพวา ปัจจุบันนี้จะเห็นว่า มีโครงการสร้างโรงแรมขึ้นมากมายและการก่อสร้างอาคารนั้นรูปร่างหน้าตาไม่สอดคล้องไปกับวิถีชุมชน สาเหตุเป็นเพราะเราใช้แต่ผังเมืองรวม"
ผศ.ดร.ไขศรี กล่าวถึงผังเมืองรวมนั้นจะเป็นการกำหนดพื้นที่ใช้ประโยชน์การใช้ที่ดิน พื้นที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย ศูนย์กลางเมือง แต่ไม่ได้กำหนดในสิ่งที่เป็นกายภาพ ความงาม ความกลมกลืนของสถาปัตยกรรมกับวิถีชีวิต ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมายในเรื่องบัญญัติท้องถิ่นเข้ามาช่วย
ดร.ไขศรี กล่าวภายหลังการบรรยายถึงโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยาด้วยว่า จุดยืนของสภาวิชาชีพ หรือสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยคิดว่าไม่ควรจะสร้างเฉพาะเส้นบริเวณถนนแต่ควรเข้าไปดูในพื้นที่ย่านชุมชนด้านในด้วย อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ ทั้งนี้หากมีข้อบัญญัติท้องถิ่นเจาะจงไปในแต่ละพื้นที่ก็จะทำให้เกิดการบูรณาการไปกับตัวอาคาร ลานชุมชน การลดหลั่นของตัวอาคารกับทางเดินริมน้ำ รูปแบบริมน้ำจะมีพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละย่านชุมชน
ส่วนกรณีที่สำนักงานโยธาของกรุงเทพฯออกมาเปิดเผยว่าทางองค์กรวิชาชีพเห็นด้วยกับหลักการของร่างทีโออาร์ของกรุงเทพฯนั้น ดร.ไขศรี กล่าวว่า จริงๆเห็นใจกทม. และพยายามที่จะช่วยปรับแก้ทีโออาร์ เพื่อที่จะให้สามารถกำหนดกระบวนการที่จะเกิดขึ้นสู่รูปแบบของการรับฟังความคิดเห็นว่าจะต้องมีกี่ครั้ง ต้องมีใครเข้าร่วมฟังบ้าง โดยที่ผ่านมามีการเสนอกทม.และคิดว่านะจะต้องมีการแก้ไขทีโออาร์
“ตอนนี้รูปแบบของทีโออาร์เป็นมาตรฐานของการสร้างถนน ไม่ใช่ทีโออาร์สำหรับพื้นที่สาธารณะ ซึ่งทางองค์กรวิชาชีพเห็นว่า การพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่แค่การสร้างถนนแต่คือการสร้างพื้นที่สาธารณะระดับเมือง ดังนั้นจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรม และยังต้องมีวิศวกรเข้ามาร่วมเพื่อดูเรื่องเขื่อนกั้นน้ำและความปลอดภัย”
อุปนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวอีกว่า ต้องการให้แก้ทีโออาร์เพื่อจะได้กำหนดขั้นตอนของบุคลากร ทางเลือก บรรยากาศของการรับฟังที่ผ่านมาถือว่าดี แต่ต้องยืนยันว่าองค์กรวิชาชีพเสนอให้ปรับแต่ไม่เคยสนับสนุนทีโออาร์ฉบับนี้ของกทม.เพราะยังไม่ได้มีการแก้ไขตามที่เราเสนอแนะหรือให้ทางเลือก และหากยังไม่แก้ไขก็จะนำไปสู่โครงสร้างกระบวนการรับฟังความเห็นอย่างไม่เพียงพอ จุดยืนชัดๆวันนี้คือต้องมีการปรับแก้ทีโออาร์
เมื่อถามว่าหากทางสำนักงานโยธาของกทม.ไม่ปรับแก้ทีโออาร์ตามคำแนะนำจะทำอย่างไรต่อไป ดร.ไขศรี กล่าวว่า สภาวิชาชีพและสมาคมวิชาชีพก็จะให้ข้อมูลและขอเข้าพบผู้รับผิดชอบโครงการทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา และให้ข้อมูลไปตามลำดับขั้นตอน ทำหนังสือราชการให้ตอบ คอยติดตาม หากไม่แก้ก็จะทวงถามเรื่อยๆ
“ทุกคนที่ออกมาพูด ล้วนมีความหวังดี และมองเห็นว่า โครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาคือไม่รับข้อมูลเท่าไหร่ ที่สำคัญคือโยนโครงการไปผิดที่ ความจริงแล้วพื้นที่สาธารณะระดับเมืองต้องเข้าไปในสำนักงานผังเมือง ไม่ใช่โยธาที่ทำเกี่ยวกับถนน สะพาน หรือเขื่อน แบบนี้ไม่ใช่ เพราะโครงการนี้ไม่ใช่เพียงแค่ถนนเส้นหนึ่ง ในแง่สถาปนิกเป็นมากกว่าถนน สามารถเป็นลานกิจกรรมร่วมกับสาธารณะชุมชน และเป็นโครงการที่เกินกว่าเรื่องของระบบวิศวกรรมด้วย”
หัวหน้าภาควิชาวางผังและเมือง กล่าวด้วยว่า เข้าใจรัฐบาลดีว่ามีความหวังดีอยากจะลงทุนพื้นที่สาธารณะ แต่เพราะอาจจะเป็นขั้นตอนที่ไม่คุ้นเคยว่า การสร้างพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพนั้นจะต้องมีอะไรบ้างต้องมีการร่วมหารือ ดังนั้นจึงไม่ถือว่า เขามีความตั้งใจแย่หรือจะบิดเบือนกระบวนการอะไร เพียงแต่ไม่มีประสบการณ์เรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะมากกว่า ทุกอย่างยังคงปรับได้หากทุกคนมีความปรารถนาดี และจริงใจต่อกัน