ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคง กับ เรือดำน้ำ
ถ้าเราไม่จำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเหลือข้อพิจารณาเพียงอย่างเดียวคือ จะจัดหาเรือดำน้ำอย่างไรจึงจะทำให้ชาติมั่นคง อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งได้ด้วย...
การดำรงจุดมุ่งหมาย ไม่ท้อถอย ไม่รวนเร เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานให้สำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติการทางทหาร การทำธุรกิจ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน แต่ อุปสรรค ความยากลำบาก ความเหนื่อย ความหิว ความไม่แน่นอนของสภาวะแวดล้อม และฯลฯ มักทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายและละทิ้งความตั้งใจเดิม นั่นคือไม่ดำรงจุดมุ่งหมายทำให้ทำงานไม่สำเร็จ
ปัญหาของจุดมุ่งหมายที่คนทั่วไปมักจะนึกไม่ถึงและอาจเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวได้เช่นกัน คือการกำหนดจุดมุ่งหมายที่ผิดพลาดแล้วมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ ซึ่งถ้าสำเร็จกลับทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องเสียหายไปด้วย
ในสงครามจุดมุ่งคือการทำให้ข้าศึกยอมจำนน ไม่ใช่การทำลายให้ย่อยยับ ในธุรกิจจุดมุ่งคือสร้างกำไร ไม่ใช่ทำลายคู่แข่ง ทางเลือกทั้งสองอย่างไม่เหมือนกัน ใช้ทรัพยากรต่างกัน ให้ผลต่างกัน แต่บางครั้งเรามักจะสับสนและเพลินไปกับสถานการณ์จนลืมจุดหมายที่ถูกต้อง
การบริหารประเทศหรือกองทัพก็เหมือนกัน ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก และต้องกำหนดจุดมุ่งหมาย ให้ถูกต้องเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติเอาไว้
“มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” เป็นจุดมุ่งหมายของประเทศที่ดี ทุกประเทศต้องการแบบนี้ มั่นคงต้องมาก่อนจึงจะสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้ แต่อย่าหลงกับความมั่นคงจนไปทำลายเศรษฐกิจ ความมั่งคั่งจะหมดไปและความมั่นคงก็จะถูกทำลายไปด้วย และต้องไม่สับสนกับจุดมุ่งหมายนั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นผลมาจากการดำเนินการทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งของรัฐ (การเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร) เครื่องมือทั้ง 3 ชนิด ต้องมุ่งไปสู่ความสำเร็จในจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้คือ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” การสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นเป็นวิธีการที่นำไปสู่จุดมุ่งหมายคือความมั่นคงของเราไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่จะทำ เราไม่ได้ลงทุนเพื่อให้เขาเป็นมิตรกับเราแต่ทำเพื่อผลประโยชน์ของเราเอง
ทุกประเทศทำเช่นนี้ ทำให้บางครั้งเรารู้สึกว่าประเทศมหามิตรกลับไม่ช่วยเหลือยามที่เราลำบากนั่นเป็นเพราะเขาต้องมองถึงผลตอบแทนที่เขาจะได้รับว่าคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์จึงต้องระมัดระวัง รอบคอบ อย่าทุ่มสุดตัว อย่าลืมว่าจุดมุ่งคือความมั่นคงไม่ใช่ความสัมพันธ์
การพูดคุยทางการทูต การติดต่อค้าขายสินค้า เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดี แต่การเจาะจงให้ลงทุนมหาศาลในการซื้ออาวุธที่สำคัญอาจไม่เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อตัวเราเอง เพราะจะทำให้ประเทศอื่นรู้สึกว่าเราเลือกข้างอย่างชัดเจน จึงทำให้ดุลอำนาจสูญเสียไป
ถ้าจะสร้างดุลอำนาจเพื่อความมั่นคงของเราต้องย้อนกลับมาดูตัวเองด้วยว่าเรามีความสำคัญกับมหาอำนาจที่เราเกรงแค่ไหน เขาจะทุ่มเทกับเราทั้งดีหรือร้ายอย่างไร สหรัฐฯคงไม่เห็นเราสำคัญไปกว่า ตะวันออกกลาง เกาหลี ญี่ปุ่น
แม้กระทั่งฟิลิปปินส์ ส่วนจีนคงไม่ให้ความสำคัญต่อเรามากกว่าปากีสถาน เกาหลีเหนือ หรือแม้แต่ พม่า และเขมร ทั้งสหรัฐฯและจีนจะทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองเสมอ อย่าหลงไปกับการแสดงออกทางการทูต ที่อ้างว่าเราเป็นพันธมิตรเก่าแก่ หรือมีสายสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ ดังนั้นเราต้องสร้างสัมพันธ์อย่างรอบคอบเพื่อความมั่นคงไม่ใช่เพื่อความสัมพันธ์
สมัยสงครามเวียดนาม ไทยมีความสำคัญกับสหรัฐฯเพราะสหรัฐฯต้องการใช้เราเป็นฐานทัพเพื่อส่งกำลังไปโจมตีเวียดนามเหนือ เขมร และลาว ที่จีนและรัสเซียหนุนหลัง โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประเทศทั้งสาม ตามนโยบายสกัดการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ (Policy of Containment) แต่เมื่อเผด็จศึกเวียดนามไม่สำเร็จ ทหารสหรัฐฯก็ถอนตัวอย่างไม่มีเยื่อใย ปล่อยให้ เวียดนามใต้ เขมร ลาว และไทยเผชิญชะตากรรมตามลำพัง จนเวียดนามใต้แตกและเวียดนามเหนือเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้เมื่อ 30 เมษายน 2518 เขมร ลาว ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามในเวลาต่อมา และไทยต้องเผชิญหน้ากับกองทัพเวียดนามตามลำพัง
การที่จีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2522 ไม่ใช่เพราะจีนต้องการช่วยเหลือไทยจากการรุกรานของเวียดนาม แต่เป็นเพราะตอนนั้นจีนมีปัญหาเรื่องแนวคิดของการขยายอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ และปัญหาชายแดนกับโซเวียต และเวียดนามซึ่งเอนเอียงไปทางโซเวียตส่งกำลังเข้าไปยึดกัมพูชา โค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงของนายพอล พต (Pol Pot) ที่จีนหนุนหลังในปลายเดือนธันวาคม 2521 และเวียดนามยังมีข้อขัดแย้งในหมู่เกาะสแปรตลีและพาราเซลที่จีนอ้างสิทธิเป็นเจ้าของ กับทั้งเวียดนามได้สังหารชาวจีนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดน จีน-เวียดนาม เป็นจำนวนมาก แม้จีนจะเตือนแล้วแต่เวียดนามไม่สนใจ ในเวลานั้นไทยสำคัญกับจีนเพียงเป็นประเทศเล็กๆที่จีนอยากจะขยายอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์มาครอบครองเท่านั้น การอ้างว่าเราส่งทูตไปขอให้จีนยับยั้งเวียดนามแล้วจีนยอมลงทุนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามนั้นมีเหตุผลไม่เพียงพอ และมีแต่การกล่าวอ้างของคนไทยแต่ไม่ปรากฏในเอกสารของต่างประเทศเลย เวียดนามเองก็ไม่ได้ถอนทหารในกัมพูชาและบริเวณชายแดนไทยไปรบกับจีน
อย่างไรก็ตามสงครามสั่งสอนครั้งนี้ก็เป็นผลดีกับไทย เพราะ ”กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เผาทำลายโรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมทางภาคเหนือของเวียดนามทั้งหมดอย่างยับเยิน ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามต้องถดถอยหลังจากสงครามครั้งนี้ต่อเนื่องอีกหลายปี และเวียดนามยังติดหล่มอยู่ในสงครามในกัมพูชากับเขมรแดงซึ่งบั่นทอนเศรษฐกิจเวียดนามที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก มีข้อมูลยืนยันว่าช่วงระหว่างสิบปีหลังจากสงครามครั้งนี้มีชาวเวียดนามที่ต้องเสียชีวิตเพราะความอดอยากนับล้านคน กองทัพประชาชนเวียดนามจึงไม่มีทางเลือกนอกจากถอนทหารออกจากกัมพูชาทั้งหมด” (วิกิพีเดีย)
แม้เราจะไม่ซื้ออาวุธหรือรถไฟจีน เราก็ยังมีการค้าขายอย่างอื่น มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งไทย จีน ฝรั่งไม่มีใครเดือดร้อน ถึงเราจะซื้อเรือดำน้ำจีน รถไฟจีน เราก็ไม่มีความสำคัญมากไปกว่าเดิมสำหรับจีน และไม่ถึงกับจะทำให้สหรัฐฯเดือดร้อน แต่คนที่จะเดือดร้อนคือไทยเองที่อาจได้ของที่ยังมีข้อสงสัยในคุณภาพ เกินความจำเป็น และราคาสูงเกินสมควรจนส่งผลให้การพัฒนาด้านอื่นหยุดชะงักลง และคนที่จะผิดหวังที่สุดคือบริษัทนายหน้าของจีน
ดังนั้น ถ้าเราไม่จำเป็นต้องซื้อเรือดำน้ำเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเหลือข้อพิจารณาเพียงอย่างเดียวคือ จะจัดหาเรือดำน้ำอย่างไรจึงจะทำให้ชาติมั่นคง อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมสร้างความมั่งคั่งได้ด้วย
คำตอบง่ายมากคือเราต้องพึ่งพาตนเอง ต้องทำอย่างพอเพียง ไม่อยากได้จนเกินกำลังตนเอง สอดคล้องตามหลักแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้องและควรยึดถือนำไปปฏิบัติ
“เศรษฐกิจพอเพียง คือ พระราชปรัชญาซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อให้สังคมไทยมีชีวิตดำรงอยู่ได้ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ หรือ การเปลี่ยนแปลงใด ๆ บนพื้นฐานวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทยนำมาประยุกต์ใช้……"ความพอเพียง" หมายถึง ความพอประมาณอย่างมีเหตุผล………ต้องยึดหลัก "พึ่งตนเอง" คือ พยายามพึ่งตนเองให้ได้ก่อน…….การพัฒนาตนเองให้สามารถ "อยู่ได้อย่างพอเพียง"
อย่าซื้อเรือดำน้ำเพราะต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นไม่ทำให้ประเทศเกิดความมั่นคง แต่เป็นการกำหนดจุดมุ่งหมายที่ผิดพลาดและจะเกิดความเสียหายระยะยาวตามมา
อ่านประกอบ :
เรือดำน้ำ : สาระที่ควรรู้
แฉปม 'ฮั้ว' ?...ทัพเรือเลือกเรือดำน้ำจีน S26T
มองย้อนเวลาโครงการเรือดำน้ำจีน...สิ่งที่คุณเห็น...กับสิ่งที่เป็นจริง
ไทม์ไลน์ 'เรือดำน้ำจีน' โชคชะตาที่สุดฝืนของทัพเรือ?
เรือดำน้ำจีน "ถูกและดี" แต่มีคำถามเรื่องความจำเป็น?