ไทม์ไลน์ 'เรือดำน้ำจีน' โชคชะตาที่สุดฝืนของทัพเรือ?
"...อีกหลายคนมองว่าถ้ากองทัพเรือไม่ได้คราวนี้เห็นที่จะได้อนุมัติในรัฐบาลพลเรือนยาก แต่ถ้ามองมุมกลับถ้าได้มาแล้วเกิดปัญหา กองทัพเรือจะต้องอยู่กับเรือดำน้ำที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพไปถึง 20 – 30 ปี ซึ่งย่อมไม่ได้หมายถึงการหยุดอยู่กับที่แต่เป็นการก้าวถอยหลังอย่างเต็มตัว..."
หากใครจำได้ว่าในช่วงปีที่แล้วมีข่าวเกรียวกราวอยู่ระยะหนึ่งเกี่ยวกับโครงการจัดหาเรือดำน้ำชั้น S26T ของกองทัพเรือจากประเทศจีนจำนวน 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ที่มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงต่อต้าน จนในที่สุดกระแสข่าวดังกล่าวก็เงียบหายไประยะหนึ่งตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้ว หลายคนอาจคิดว่าโครงการดังกล่าวได้ถูกพับไปแล้ว แต่อีกหลายคนที่พิจารณาความเชื่อมโยงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกลับมองว่าการกลบกระแสนี้เป็นเพียงเทคนิคอย่างหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์ และต่อต้านจากฝ่ายต่างๆ ในขณะที่ในความเป็นจริง ณ วันนี้ คือ เรือดำน้ำจีน ผ่าน การพิจารณาอนุมัติจาก ครม. ไปแล้ว เพื่อให้ทันบรรจุอยู่ใน พรบ.งบประมาณประจำปี 2560
เมื่ออาวุธยุทธศาสตร์กลายเป็นเพียงเบี้ยในกระดานการเมืองระหว่างประเทศ
ภายหลังจากการเข้าควบคุมการบริหารราชการในเดือนพฤษภาคม 2557 คสช. ต้องเผชิญกับท่าทีของชาติตะวันตก (รวมถึงสหรัฐ) ที่เรียกร้องให้เร่งเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งและกลับเข้าสู่วิถีทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ในขณะที่จีนกลับแสดงความเห็นอกเห็นใจและยอมรับในบทบาทของ คสช. พร้อมไปกับใช้โอกาสนี้เข้ามาสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ในไทยมากมาย รวมทั้งด้านการทหารในการฝึกและการจัดหายุทโธปกรณ์หลักซึ่งล่าสุดกองทัพบกเพิ่งลงนามจัดซื้อรถถังแบบ VT4/MBT3000 จำนวน 28 คัน ซึ่งข่าวนี้ก็ได้สร้างความประหลาดใจในกับผู้ติดตามข่าวสารอย่างมากเพราะกองทัพบกก็เคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับรถถังจากจีนรุ่น T69 ที่ก็ถูกจัดหามาด้วยเหตุผลระดับนโยบายทางการเมืองยุคที่มีการเผชิญหน้ากันระหว่างไทยกับเวียดนามมากกว่าเหตุผลทางเทคนิค จนในที่สุดรถถังรุ่นนี้ก็มีปัญหาด้านการซ่อมบำรุงจนต้องปลดประจำการและนำไปทำปะการังเทียมในที่สุด
ความร่วมมือที่แนบแน่นในปัจจุบันระหว่างสองประเทศสอดคล้องกับความเป็นจริงที่จีนเองต้องการขยายอิทธิพลเข้ามาในใจกลางอาเซียนในขณะที่กำลังมีปัญหากับประเทศส่วนใหญ่เนื่องจากกรณีพิพาทช่วงชิงอาณาเขตทางทะเลบริเวณหมู่เกาะ Spratly กับหลายประเทศในภูมิภาค ได้แก่ บรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไต้หวัน และ เวียดนาม รวมทั้งจีนยังต้องการสร้างสมดุลอำนาจกับมหาอำนาจอย่างอเมริกา ในขณะที่ คสช. ก็ต้องการหามิตรมหาอำนาจเพื่อชดเชยและตอบโต้ท่าทีของชาติตะวันตก แม้แต่นักข่าวสายทหารชื่อดังอย่าง วาสนา นาน่วม ก็ได้เสนอบทความทางหนังสือพิมพ์บางกอกโพสวันที่ 24 มีนาคม 2559 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า แม้ว่าทางรัฐบาลจะพยายามชี้แจงว่าไม่ได้ดำเนินนโยบายที่ใกล้ชิดจีนเป็นพิเศษแต่ให้ความสัมพันธ์กับทุกๆ ประเทศเท่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ระเบิดที่แยกราชประสงค์ในเดือนสิงหาคม 2558 ที่มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บประมาณ 130 ราย ซึ่งหลายฝ่ายระบุว่าเป็นผลพวงจากการส่งชาวอุยกูร์ไปให้ทางประเทศจีน แต่สิ่งที่แสดงออกก็มีความชัดเจนว่าภายหลังจากการเข้าควบคุมการบริหารราชการโดย คสช. ประเทศจีนได้เข้ามามีบทบาทที่ใกล้ชิดกับไทยมากกว่าชาติตะวันตกที่แสดงจุดยืนที่ต้องการให้ไทยกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง โดยที่ผ่านมาได้มีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนหลายครั้งโดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในระดับเหล่าทัพเองก็ได้มีการขยายความร่วมมือด้านการฝึกมากขึ้นเช่น การฝึก Blue Strike ของกองทัพเรือในปีนี้ทางจีนได้เพิ่มจำนวนกำลังพลจากจำนวน 100 – 200 นาย เป็น 500 นาย และนอกจากนั้นดูเหมือนว่ารัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการจัดหาเรือดำน้ำ งบประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งชะลอมาหลายเดือน โดยรัฐบาลได้สั่งการให้กองทัพเรือปรับแผนการใช้งบประมาณจากการผ่อนชำระ 7 ปี เป็น 11 ปี โดยใช้งบประมาณของกองทัพเรือเองเพื่อลดกระแสต่อต้าน แต่ก็จะทำให้กองทัพเรือต้องยกเลิกการจัดหายุทโธปกรณ์ประเภทอื่นรวมถึงแผนการซ่อมบำรุงต่างๆ โดยในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาผู้ที่มีส่วนร่วมในโครงการจัดหาเรือดำน้ำจากประเทศจีนได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร เพื่อเตรียมการผลักดันวาระดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
โดยล่าสุดในวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 ข้อมูลข้างต้นก็ได้รับการยืนยันจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร ที่ระบุว่า มีความสนใจอยากซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีนจำนวน 3 ลำ วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทัพเรือ โดยกล่าวว่า “ก็อยากซื้อ อยากได้นะเรือดำน้ำ ช่วยรวมตังค์กันซื้อมั้ย ในอาเซียนเขามีกันหมดแล้ว พอจะซื้อก็ยังงั้นยังโง้น โดนโจมตีตลอด ทั้งๆที่จำเป็น เผยพิจารณามาแล้ว ผบ.ทร. ก็อยากได้ วอนสื่อหนุน ถามสื่ออยากได้มั้ย จะได้เชิญ พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. มาบอกว่า สื่อก็อยากให้ซื้อเรือดำน้ำ” (จาก Facebook Wassana Nanuam - 18 พฤษภาคม 2559)
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากภายในกองทัพเรือระบุว่าอาจมีการปรับการลดจำนวนเรือหรือการแยกเสนอขออนุมัติงบประมาณทีละลำเพื่อให้เกิดความอ่อนตัวในภายหลังซึ่งแสดงถึงความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและเปิดประตูทางออกไว้ในอนาคตหากเกิดปัญหาในการใช้งาน
เรือดำน้ำกับฝันค้างที่ยาวนานของกองทัพเรือ
ภายหลังจากที่เรือดำน้ำชุดแรกคือชุดเรือหลวงมัจฉาณุต้องปลดระวางประจำการไปเมื่อปี 2494 เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่จากประเทศผู้ผลิตคือญี่ปุ่นเนื่องจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และพิษการเมืองจากกรณีกบฏแมนฮัตตันที่กองทัพเรือถูกลดบทบาทและหมวดเรือดำน้ำก็เป็นหน่วยหนึ่งที่ถูกยุบในครั้งนั้น ความพยายามที่จะจัดหาเรือดำน้ำอีกครั้งได้เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี ตั้งแต่ช่วงปี 2538 โดยโครงการเรือดำน้ำชั้น Gotland จากสวีเดน และใกล้ความจริงมากที่สุดในช่วงปี 2554 ที่กองทัพเรือเกือบได้เรือดำน้ำชั้น 206A จากเยอรมนีที่เสนอในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม แต่โครงการก็ถูกยื้อมาจนถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนเลยกำหนดเวลาเส้นตายที่ทางเยอรมนีขีดไว้จนต้องพับไปในที่สุด กองทัพเรือเองแม้ดูเหมือนถอดใจที่จะได้เรือดำน้ำมาประจำการในช่วงนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้เสียทีเดียวโดยหันไปวางโครงสร้างพื้นฐานทั้งการจัดตั้งกองเรือดำน้ำที่สัตหีบ การสร้างความรู้ด้วยการส่งกำลังพลไปเรียนวิชาการเรือดำน้ำที่เยอรมนี เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ (Simulator) จากเยอรมนี เพื่อเตรียมองค์ความรู้เกี่ยวกับเรือดำน้ำ และการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรือดำน้ำรวมทั้งชี้แจงเหตุผลความจำเป็นแก่คนทั่วไปเมื่อโอกาสมาถึง น่าสังเกตที่การเตรียมการของกองทัพเรือในช่วงนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับจีนเลย หรืออาจกล่าวได้ว่าจริงๆแล้วเรือดำน้ำจีนไม่เคยเป็นตัวเลือกในใจของกองทัพเรือ
เมื่อมังกรผงาดอย่างคลางแคลง
แต่ในที่สุดแนวโน้มทางการเมืองระหว่างประเทศก็ได้ลามเข้าถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือจนได้ เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 ที่มีการพูดเรื่องเรือดำน้ำขึ้นมาอย่างกะทันหัน โดย พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. ในขณะนั้น ได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ พร้อมแพ็คเกจประกอบด้วย การฝึกกำลังพล ลูกอาวุธ อะไหล่ การซ่อมบำรุง ฯลฯ ไปยังกระทรวงกลาโหม ภายในกรอบวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยภายหลังจากการประกาศเชิญชวนบริษัทต่อเรือดำน้ำเข้าร่วมการเสนอแบบในช่วงต้นปี 2558 ปรากฏว่ามีบริษัทจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมการยื่นแบบแข่งขันจำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เยอรมนี รัสเซีย และ สวีเดน ซึ่งก็ได้มาเสนอแบบเรือของตนพร้อมแพ็คเกจที่ระบุ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ จีน เป็นประเทศเดียวที่สามารถเสนอเรือดำน้ำได้จำนวน 3 ลำ ในกรอบวงเงินดังกล่าว ทั้งๆที่จริงๆ แล้วกองทัพเรือได้ระบุไว้ในหนังสือเชิญเข้าร่วมการเสนอแบบเข้าประกวดว่าต้องการเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ ภายในกรอบวงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท
แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือการพิจารณารายละเอียดทางเทคนิคจากเอกสารข้อเสนอของแต่ละบริษัทภายในกองทัพเรือใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ หลังจากกำหนดการยื่นรายละเอียดข้อเสนอจากบริษัทต่างๆ เมื่อ 29 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) ก็ได้รายงานผลการคัดเลือกต่อกองทัพเรือเมื่อ 15 มิถุนายน 2558 นับว่า “เร็วจนน่าแปลกใจ” เมื่อคำนึงถึงการพิจารณารายละเอียดของระบบอาวุธที่มีความซับซ้อนอย่างเรือดำน้ำที่ประกอบด้วยระบบย่อยจำนวนมาก ตั้งแต่ระบบตัวเรือ ระบบควบคุมเรือ ระบบขับเคลื่อน ระบบอาวุธ ระบบอำนวยการรบ ระบบตรวจจับ ระบบกลจักร ระบบความปลอดภัย ฯลฯ ซึ่งตามหลักความเป็นจริงควรต้องใช้เวลาหลายเดือนในการพิจารณา
ในที่สุด พล.ร.อ.ไกรสร ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 2 กรกฎาคม 2558 ว่ากองทัพเรือได้เลือกเรือดำน้ำจากประเทศจีนโดยใช้ “คณะกรรมการของกองทัพเรือพิจารณา 17 คน ซึ่งเป็นคนที่อยู่บนเรือ เอาทหารเรือที่อยู่ในกองเรือดำน้ำ ที่จะต้องเป็นผู้ไปอยู่บนเรือดำน้ำ เป็นผู้ให้คะแนนเองทั้งหมด ซึ่งการจัดซื้อเรือของประเทศจีนเพราะมีอาวุธครบ โดยงบประมาณที่จะใช้ 7 ปี หรือ 10 ปี ขึ้นอยู่กับรัฐบาล จะซื้อในลักษณะ G2G” รวมทั้งกล่าวเสริมว่า “เรามีคณะกรรมการเดินทางไปดูเรือดำน้ำ 6 ประเทศที่เราสนใจ โดยจัดคณะกรรมการที่เป็นคนรุ่นใหม่ จำนวน 17 คน จากกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ และให้คะแนน 14 คนเลือกเรือดำน้ำของประเทศจีน ประเทศเยอรมัน 2 คน และประเทศสวีเดน 1 คน ยืนยันไม่มีใครไปชักนำเรื่องการลงคะแนน เลือกด้วยตัวเอง เพราะเป็นเรือในอนาคต การคัดเลือกจึงต้องให้เด็กรุ่นใหม่เลือก นอกจากนี้ประเทศจีนให้การดูแลเป็นอย่างดี ทั้งการฝึกอบรม อะไหล่เรือดำน้ำจำนวน 8 ปี อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากองทัพเรือมีประสบการณ์เรื่องการซื้ออาวุธ เมื่อไม่มีเงินเราก็ไม่สามารถจัดซื้อได้ ดังนั้นการจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศจีนครั้งนี้ถือเป็นความฉลาดและคุ้มค่ามากที่สุด”
แน่นอนว่าแถลงการณ์ดังกล่าวได้สร้างความฉงนสงสัยมาสู่ทั้งภายในกองทัพและภายนอกกองทัพโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวสารเทคโนโลยีทางการทหารอยู่เป็นประจำ ในหลายประเด็นทั้งการที่เรือดำน้ำจีนสามารถชนะประเทศผู้ผลิตเรือดำน้ำที่มีประสบการณ์ในการต่อเรือดำน้ำอย่างยาวนานทั้ง ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ เยอรมนี รัสเซีย และ สวีเดน เนื่องจากปัญหาความน่าเชื่อถือของยุทโธปกรณ์จากประเทศจีนมิใช่เรื่องใหม่ที่เป็นความลับ โดยเฉพาะในกองทัพเรือที่มีเรือรบทั้งจากสหรัฐ ยุโรป และจีน ซึ่งที่ผ่านมาเรือรบจีนก็มีปัญหาในแง่ของประสิทธิภาพมาโดยตลอด
นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งว่าการเลือกยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูงระดับนี้แต่กองทัพเรือ “ใจนักเลง” ขนาดให้กำลังพลระดับปฏิบัติเป็นผู้เลือกจริงหรือ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแหล่งข่าวในกองทัพเรือเปิดเผยว่าผู้ที่ทำหน้าที่คัดเลือกแบบก็คือคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำที่เป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ชั้นนายพลเรือเกือบทั้งหมด โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น เป็นประธาน
พล.ร.อ.ไกรสร ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงจุดเด่นของเรือดำน้ำจีนทั้งการที่มีระบบ Air Independent Propulsion - AIP และอาวุธปล่อยนำวิถี รวมทั้งยืนยันว่า “การจัดซื้อเรือดำน้ำของประเทศจีนไม่มีการล็อบบี้จากฝ่ายการเมือง และการจัดซื้อเป็นระบบจีทูจี จ่ายเงินโดยภาครัฐ กองทัพเรือไม่เกี่ยว เพราะกองทัพเรือพิจารณาตาม ครม. ได้สั่งการ” รวมทั้งทางกองทัพเรือก็ได้จัดทำเอกสารสมุดปกเขียวจำนวน 9 หน้า กระดาษ A4 (รวมรูปภาพ) เพื่อชี้แจงเหตุผลที่นำมาในการตัดสินใจ เช่น การมีอาวุธปล่อยนำวิถี หรือการมีระบบ AIP ซึ่งที่จริงแล้วทั้งสองอย่างนี้ก็ไม่ได้อยู่ในข้อกำหนดที่กองทัพเรือตั้งไว้แต่ต้น แต่เป็น”ของแถม” เพราะตามหลักการแล้วอาวุธหลักของเรือดำน้ำคือตอร์ปิโดเนื่องจากการใช้อาวุธปล่อยนำวิถีก็มีข้อเสียคือเป็นการเปิดเผยตัวในขณะที่สิ่งสำคัญที่สุดของเรือดำน้ำคือการซ่อนพราง ส่วนระบบขับเคลื่อนแบบ AIP นั้นก็ถือเป็นเพียงระบบเสริมที่ให้พลังงานจำกัดและเหมาะสำหรับใช้เฉพาะในบางสถานการณ์เท่านั้น รวมทั้งยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นที่กังขาทั้งขนาดตัวเรือที่ใหญ่มากจนขาดความคล่องตัว ไม่เหมาะสมในการปฏิบัติการในพื้นที่จำกัด ความทันสมัยของระบบตรวจจับ ประสิทธิภาพของตอร์ปิโด ระบบความปลอดภัย มาตรฐานและคุณภาพของเหล็กที่ใช้ประกอบตัวเรือ และแน่นอนว่าในโลกโซเชียลก็ได้มีการถกแถลงในเรื่องนี้กันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสในการคัดเลือก เช่น ในหน้า Facebook “ThaiArmedForce.com” “Military Technology Lover Club” “ www.thaifighterclub.org” เป็นต้น
ดราม่าเรือดำน้ำ และเกมอำนาจภายในรั้วประดู่
ย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2558 สำหรับ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง (รองผู้บัญชาการทหารเรือในวันนี้) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งเหมือนจะเป็นเกมการทดสอบที่มีเดิมพันสูงลิ่ว เพราะหากเขาสามารถทำให้โครงการเรือดำน้ำเกิดขึ้นได้ทันก่อนการปรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือในต้นเดือนตุลาคม 2558 ก็จะเป็นบันไดที่อาจนำเขาก้าวข้ามไปสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ ซึ่งในขณะนั้นแคนดิเดตที่ไล่ตามกันมาแบบหายใจรดต้นคอก็คือ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ (ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบัน) ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งที่ พล.ร.อ.ณรงค์พล ต้องพยายามชดเชยด้วยความสำเร็จของโครงการคือความเป็นจริงที่เขาไม่ได้จบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรือไทย แต่จบจากโรงเรียนนายเรือเยอรมัน และตามประเพณีที่ผ่านมาของกองทัพเรือตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังไม่เคยมีนายทหารเรือที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือเลยแม้แต่คนเดียว
แต่แล้วเขาก็ไม่สามารถผลักดันให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นได้รวดเร็วอย่างที่ใจหวัง จนในที่สุด พล.ร.อ. ณะ อารีนิจ ก็ผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทร. ในเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมาเรียกว่าลุ้นกันจนนาทีสุดท้ายเลยทีเดียว
“สั่งเดินหน้าผ่านสื่อ”
เป็นที่น่าสังเกตว่าในการให้สัมภาษณ์ครั้งแรกภายหลังจากการเข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทร. ของ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2558 มีเนื้อหาว่า “เรือดำน้ำยังเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อกองทัพเรือ อีกทั้งยังมีประโยชน์ต่อประเทศ อย่างไรก็ตาม เรายังมีปัญหาเศรษฐกิจ เราคงจำเป็นต้องชะลอและทบทวน แล้วหันมาฝึกกำลังพลให้มีความเชี่ยวชาญ จึงถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องที่เสียโอกาสแต่อย่างใด และยังไม่ได้หารือกับ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม”
แต่ภายหลังจากนั้นเพียง 4 วัน ในวันที่ 6 ตุลาคม 2558 ทั้ง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “เรือดำน้ำเป็นสิ่งจำเป็น” โดย พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องการจัดซื้อโครงการเรือดำน้ำนั้นไม่ได้ให้ชะลอหรือทบทวนว่าไม่เอาเรือดำน้ำจีน แต่ให้ทบทวนเฉพาะงบประมาณใหม่และสร้างการรับรู้กับประชาชนถึงความจำเป็นความสำคัญของเรือดำน้ำ หรือทำโพลก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อถึงเวลาเหมาะสม โดยได้ส่งโครงการเรือดำน้ำจีนกลับให้กองทัพเรือทบทวนงบประมาณใหม่เท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนปีงบประมาณ ผูกพัน และจะดูว่าจะช่วยกันอย่างไรระหว่างรัฐบาลกับกองทัพเรือ
สำหรับการที่จะยืนยันจัดซื้อเรือดำน้ำจีนตามเดิมหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "แล้วแต่ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร. จะทำอะไรก็แล้วแต่ เพราะจะไม่แทรกแซงก้าวก่ายกองทัพเรือ ในฐานะ รมว.กลาโหม ผมสนับสนุนให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำในการดูแลน่านน้ำและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเพราะประเทศอื่นมีหมดแล้ว และเชื่อว่าคงไม่ยื้อเวลา เสียเวลามากเท่าใดนัก เพราะเมื่อถึงจังหวะเหมาะสม สื่อเห็นว่าเหมาะสม และมีความจำเป็นเราก็จะนำเข้า ครม."
ซึ่งถ้าใครติดตามลำดับเหตุการณ์แบบต่อเนื่องก็สามารถอ่านได้ไม่ยากว่าเป็นการสั่งเดินหน้าผ่านสื่อนั่นเอง
แม้ใจจริง พล.ร.อ.ณะ อาจไม่ได้นิยมชมชอบอาวุธจากจีนเป็นพิเศษเหมือนกับคนส่วนมากในกองทัพเรือ เนื่องจากประวัติการรับราชการที่ผ่านงานสำคัญๆ ในกองเรือทุ่นระเบิดที่เป็นกองเรือหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสูงในการปฏิบัติงานที่ล้วนมาจากฝั่งตะวันตกเพราะการค้นหาทุ่นระเบิดใต้น้ำถ้าหาไม่เจอก็คือไม่เจอ รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งเจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือที่ย่อมรู้ข้อมูลที่แท้จริงที่เป็นปัญหาของอาวุธที่กองทัพเรือเคยจัดหาจากประเทศจีน อีกทั้งกำลังพลระดับผู้ปฏิบัติก็ไม่เคยพบกับประสบการณ์ที่น่าประทับใจจากเรือที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งแม้ว่าจะวิ่งได้ ใช้ในงานรักษากฎหมายในทะเลเช่นการจับกุมเรือประมงต่างชาติรุกล้ำน่านน้ำได้ แต่ถ้าเกิดต้องใช้งานในสถานการณ์วิกฤติจริงๆ แล้วนับว่าขีดความสามารถไม่สามารถทัดเทียมกับเรือที่ต่อด้วยมาตรฐานตะวันตกอย่างประเทศเพื่อนบ้านได้เลย แต่ด้วยสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงผลักดันจากบิ๊กป้อมที่ช่วยให้บิ๊กณะก้าวแรงแซงโค้งสุดท้ายในการช่วงชิงเก้าอี้ ผบ.ทร. ทำให้บิ๊กณะต้องเร่งให้โครงการดังกล่าวดำเนินไป โดยมีการวางกำหนดเวลาไว้ว่าต้องลงนามในสัญญาให้ได้ก่อนเลือกตั้ง เพราะหลังจากนั้นคนเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน อะไรก็ไม่แน่นอน
โค้งสุดท้ายก่อนเข้า ครม. เกมวัดใจรัฐบาล
แหล่งข่าวจากกองทัพเรือเปิดเผยเพิ่มเติมว่าด้วยข้อจำกัดด้านเวลาก่อนที่จะมีกำหนดการเลือกตั้ง และความต้องการในระดับกลาโหมที่ต้องการผลักดันโครงการนี้ให้ลงนามในสัญญาซื้อขายได้ทันเวลาให้ได้ จึงมีการคำนวณเวลาย้อนหลังโดยตั้งเป้าให้เสนอ ครม. อนุมัติได้ไม่เกินช่วงกลางปีนี้ แน่นอนว่าการอนุมัติครั้งนี้ดาบสุดท้ายอยู่ที่นายกรัฐมนตรีว่าจะยอมปล่อยผ่านตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอหรือไม่ แลกกับราคาที่ต้องจ่ายในการทำความเข้าใจกับประชาชนในด้านเหตุผลความจำเป็นและยิ่งกว่านั้นคือการกำจัดความเคลือบแคลงสงสัยว่า “ทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำจากประเทศจีน”
กองทัพเรือเองก็ดูจะอ่านเกมออก เพราะประสิทธิภาพของเทคโนโลยีจีนโดยทั่วไปก็เป็นที่รู้กัน ว่าถ้าเรื่องนี้เผยแพร่คงถูกสังคมตั้งคำถามที่อาจตอบได้ในแง่ของเหตุผลความจำเป็น แต่คำถามที่ว่าทำไมต้องของจีนคงตอบยาก เพราะมีประเด็นอีกหลายประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงและยังไม่มีคำตอบที่ฟังได้ลงตัว ดังนั้นกองทัพเรือจึงใช้การทำแบบเงียบๆ ไม่กระโตกกระตาก รอให้ ครม. อนุมัติแบบตูมเดียวจบตอนนั้นถึงโดนวิพากษ์วิจารณ์ก็คง (จำ) ยอม เพราะอย่างน้อยก็ทำงานตามนโยบายของกลาโหมสำเร็จ
เรือดำน้ำจีนอาวุธประสิทธิภาพสูงหรือมรดกแห่งภาระสู่ลูกหลาน
แม้ว่าบางคนอาจมองว่าเรือดำน้ำเป็นอาวุธที่ “มีไว้ให้เกรงใจ ใช้แสดงศักยภาพ ไม่ได้เอาไว้รบ” หรือบอกเป็นนัยๆ ว่า ไม่จำเป็นต้องดีมากก็ได้นั้นเพียงขอให้แค่มีไว้ก็พอ ก็ขอให้กลับไปทบทวนให้ดี เพราะเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วนั้น จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ท่านทรงมีความเชี่ยวชาญด้านเรือดำน้ำจากการศึกษาวิชาการทหารเรือจากเยอรมนี ได้จัดทำเอกสาร “ความเห็นเรื่องเรือ ส” จำนวน 94 หน้า (ส มาจาก สับมารีน – Submarine) ซึ่งเป็นเอกสารฉบับแรกเกี่ยวกับการจัดหาและการใช้งานเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย แม้พระองค์ท่านจะมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่ต้องการให้กองทัพเรือมีเรือดำน้ำเข้าประจำการด้วยทรงเล็งเห็นว่าเป็นอาวุธที่เหมาะกับประเทศไทยที่มีกำลังรบจำกัดจึงต้องการอาวุธจำนวนน้อยแต่ประสิทธิภาพสูง (จะเห็นได้ว่าเมื่อกองทัพเรือในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับพระองค์ก็ทรงเสียพระทัยจนลาออกจากกองทัพเรือแล้วหันไปศึกษาวิชาแพทย์ศาสตร์แทน) แต่สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเอกสารฉบับนี้คือหากจะมีเรือดำน้ำแล้วต้องเลือกแบบที่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพจริงๆ มิฉะนั้นจะเกิดความไม่คุ้มค่า ดังปรากฏตั้งแต่คำนำของเอกสารดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า
...การเรือ “ส” นี้ ถ้าจะทำแล้วเห็นควรจะทำอย่างแข็งแรงให้ใช้ได้จริง ๆ ถ้าไม่ทำก็อย่าทำเลย...
หลายคนอาจสงสัยว่าเรือดำน้ำมีความพิเศษอะไรหนักหนาที่แตกต่างจากอาวุธประเภทอื่นจนดูเหมือนเรื่องราวใหญ่โต ทั้งนี้เกิดจากคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดและเป็นเอกลักษณ์ของเรือดำน้ำคือการเป็นอาวุธที่มองไม่เห็น จึงส่งผลให้ฝ่ายตรงข้ามจำเป็นต้องนำการมีเรือดำน้ำไปพิจารณาตั้งแต่ขั้นการตัดสินใจว่าจะใช้กำลังทางเรือมาใช้ในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศหรือไม่ ซึ่งบทบาทนี้เองที่เรียกว่าการใช้เรือดำน้ำในการป้องปราม (อาวุธยุทธศาสตร์) หรือพูดอีกอย่างก็คือการยับยั้งความตั้งใจในการที่จะรบกันแทนทางออกอื่นๆ เช่น วิถีทางทางการทูต นั่นเอง
ดังนั้นประสิทธิภาพของเรือดำน้ำจึงเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญว่าการป้องปรามนี้จะได้ผลเพียงใด ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วเรือดำน้ำจึงเป็นอาวุธที่ต้องเน้น “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” จึงจะสามารถสร้างความเกรงกลัวให้กับฝ่ายตรงข้ามจากขีดความสามารถที่มีอยู่จริงว่าหากมีการปะทะกันจริงๆ แล้ว เรือดำน้ำจะสร้างความสูญเสียให้กับฝ่ายตน หรือหากสถานการณ์บานปลายจนมีการตกลงใจที่จะใช้กำลังทางเรือจริงๆ เรือดำน้ำก็จะเป็นอาวุธสำคัญที่จะสร้างความยุ่งยากให้กับฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ขั้นการวางแผนไปจนถึงขั้นการปฏิบัติเพราะด้วยความที่มองไม่เห็นจึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากในการค้นหาให้พบ
ซึ่งคุณสมบัติที่กล่าวนี้แลกมาด้วยความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่มีความพิเศษต่างจากยานรบประเภทอื่น ต้องการการบำรุงรักษาเป็นพิเศษ มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง หรือพูดได้ว่าเรือดำน้ำมีราคาที่ต้องจ่าย แต่ถ้าจ่ายแล้วได้ผลตอบแทนคือ “ประสิทธิภาพ” ที่ไม่คุ้มค่าก็นับว่าเสียหายหลายต่อ กล่าวคือ จ่ายเงินไปแล้วแต่กลับได้ของที่ทำงานได้ไม่เต็มที่มาใช้งาน ไม่สามารถสร้างความสมดุลของกำลังรบในภูมิภาคได้จริงอย่างที่ตั้งใจ แต่ได้มาแล้วต้องจ่ายค่าบำรุงรักษา สรุปว่าแทนที่จะได้ของมาใช้กลับกลายเป็นภาระต่อเนื่องไปหลายสิบปี รวมทั้งสูญเสียโอกาสในการที่จะได้มีเรือดำน้ำที่มีคุณลักษณะเหมาะสมมาใช้งานในช่วงระยะเวลาดังกล่าวด้วย
ในขณะที่อีกหลายคนมองว่าถ้ากองทัพเรือไม่ได้คราวนี้เห็นที่จะได้อนุมัติในรัฐบาลพลเรือนยาก แต่ถ้ามองมุมกลับถ้าได้มาแล้วเกิดปัญหา กองทัพเรือจะต้องอยู่กับเรือดำน้ำที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพไปถึง 20 – 30 ปี ซึ่งย่อมไม่ได้หมายถึงการหยุดอยู่กับที่แต่เป็นการก้าวถอยหลังอย่างเต็มตัว เพราะประเทศอื่นที่จัดหาเรือดำน้ำที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมก็จะพัฒนากำลังรบไปอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กองทัพเรือต้องใช้เวลาและงบประมาณในการแก้ไขปัญหามากมายที่จะเกิดขึ้น อย่าลืมว่าเรือดำน้ำต้องการมาตรฐานสูง หากไม่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดก็ไม่สามารถออกปฏิบัติภารกิจได้ เพราะไม่สามารถไปจอดลอยลำซ่อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเรือผิวน้ำได้ และที่สำคัญหากต้องการนำมาใช้ป้องปรามในฐานะอาวุธยุทธศาสตร์ ประเทศที่อาจเป็นคู่ต่อสู้เราเขาย่อมสามารถประเมินขีดความสามารถที่แท้จริงของเรือดำน้ำจีนได้ไม่ยากนัก และถ้าในวันนั้นขีดความสามารถถูกประเมินว่า “ต่ำ”
การลงทุนจัดหาเรือดำน้ำนำมาเพื่อป้องปรามย่อมหมดความหมาย เหลือแต่ภาระอันใหญ่หลวงให้ลูกหลาน และประเทศชาติต่อไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องจะตอบคำถาม มิใช่เพียงในแง่ของเหตุผลความจำเป็นของเรือดำน้ำ แต่ต้องตอบว่าทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำจีนให้ครบถ้วนตามหลักการของเทคโนโลยีทางทหารอย่างละเอียดและตรงไปตรงมามากกว่าเพียงสมุดปกเขียวจำนวน 9 หน้าที่ทำ