'พงศ์ หรดาล' แจง 15 ปัญหา มรภ.พระนคร สภาฯสั่งยุติ 11 เรื่อง - ที่เหลือผู้ร้องยังคาใจ
"...ประเด็นทั้ง 4 ประเด็นนั้น ความจริงควรยุติได้แล้ว เพราะทุกประเด็นเท่าที่คณะกรรมการสรุปผลของการศึกษาข้อร้องเรียนก็ไม่พบเหตุผิดปกติ แต่อย่างใด แต่เพื่อให้สิ้นข้อสงสัยของผู้ร้องเรียน สภามหาวิทยาลัยจึงมอบหมายให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในด้านที่ผู้ร้องเรียนยังคงติดใจ..."
หมายเหตุ : สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เป็นถ้อยคำที่ระบุในหนังสือที่ รศ.ดร.พงศ์ หรดาล อธิการบดี มรภ.พระนคร เข้ายื่นชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้สื่อข่าว เมื่อ 28 ก.ค. 2559 กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการบริหารงานไม่โปร่งใส อาทิ การเช่าที่ดินวัดพระศรีฯ จัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ
วันที่ 25 กรกฎาคม 2559
เรียน ประชาคมมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ตามที่มีผู้ร้องเรียนผมผ่านไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการและสื่อมวลชน ทุกรูปแบบ นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จวบกระทั่งปัจจุบัน รวมแล้วมี 15 เรื่อง ในจำนวน 15 เรื่องนั้น ผมตระหนักดีว่า ประชาคมน่าจะต้องได้รับคำตอบที่ถูกต้อง ตรงตามข้อเท็จจริงที่แท้จริง ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินการของฝ่ายต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือได้เข้าตรวจสอบ จนมีผลแล้ว บัดนี้ มีเรื่องต่าง ๆ 11 เรื่องที่ยุติแล้ว ทั้งจากการตรวจสอบของหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมธนารักษ์ เกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินบางส่วนที่วัดนำออกให้มหาวิทยาลัยเช่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างบางรายกรณี ตลอดจน มติของสภามหาวิทยาลัยที่รับทราบผลการดำเนินการศึกษาข้อร้องเรียนของคณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัยแต่งตั้ง
นับตั้งแต่มีผู้ร้องเรียน นายกสภามหาวิทยาลัยได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อร้องเรียนในเรื่องที่มีผู้ร้องเรียน แล้วรายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ประกอบด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการท่านอื่นประกอบไปด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัย
ครั้นเมื่อกรรมการชุดแรกเสนอรายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อทราบ กรรมการสภามหาวิทยาลัยบางท่าน เห็นว่า การศึกษายังไม่ครบรอบด้าน อีกทั้ง มีความเห็นว่า
สภามหาวิทยาลัยควรจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ สภามหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งกรรมการตามข้อเสนอเป็นชุดที่ 2 หลังจาก ชุดที่ 2 รายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงต่อสภาฯ แต่ยังมีประเด็นที่ผู้ร้องเรียนยังติดใจสงสัย ก็ยังไม่เป็นที่พอใจอีก จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอีก จนกระทั่งปัจจุบัน มีการแต่งตั้งคณะกรรมการถึงชุดที่ 4 แล้ว กรรมการชุดที่ 4 กำลังดำเนินการศึกษาข้อร้องเรียน ต่อไป ซึ่งรวมเวลาที่คณะกรรมการทำการศึกษาข้อร้องเรียนจากคณะกรรมการชุดแรกที่ได้รับการแต่งตั้งนับแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาเกือบ 2 ปี มหาวิทยาลัยได้ใช้จ่ายเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนกรรมการในการประชุมไปแล้วกว่า 4 แสนบาท
กรรมการทั้ง 4 ชุดดังกล่าวข้างต้นได้ศึกษาข้อร้องเรียน และสรุปประเด็นสำคัญ รายงานต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อทราบ รวม 15 ประเด็น และสภามหาวิทยาลัยพิจารณารับทราบและมีมติให้ยุติการศึกษาข้อเท็จจริงแล้วรวม 11 ประเด็น ส่วนอีก 4 ประเด็น เมื่อคณะกรรมการได้เสนอรายงานต่อสภามหาวิทยาลัยแล้วจะนำมาแจ้งให้ประชาคมทราบภายหลัง ทั้ง 15 ประเด็นที่กล่าวถึง ผมขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมทราบพอสังเขปตามลำดับ ดังนี้
1.ประเด็นที่สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ยุติการศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว มีดังนี้
1.1กรณีการเช่าที่ดินวัด โดยนำที่ราชพัสดุไปรวมกับที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร สัญญาเช่าลงนามโดยอธิการบดี กรณีนี้ผู้ร้องเรียนร้องว่า มหาวิทยาลัยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินวัดโดยนำที่ราชพัสดุไปรวมกับที่ดินของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งในสัญญาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าคราวละ 3 ปี หรือคราวละ 1 ปี ก็ไม่เคยปรากฏว่า มีการนำที่ราชพัสดุดังกล่าวรวมเข้าไว้ในสัญญา เพิ่งจะมีการนำเข้าไปรวมไว้ในสัญญาฉบับล่าสุด ที่อธิการบดีปัจจุบันเป็นผู้ลงนามเช่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถึง วันที่ 30 กันยายน 2559
ประเด็นนี้คณะกรรมการได้ทำการศึกษาแล้ว พบว่า “เป็นความจริง” แต่ในสัญญาก็มีเงื่อนไขไว้ว่า “หากกรณีที่มีข้อผิดพลาดในสัญญาเช่าเรื่องเขตที่ดิน คู่สัญญาสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้” ขณะนี้ มหาวิทยาลัยก็กำลังดำเนินการในหลาย ๆ วิธีที่จะดำเนินการจัดทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ให้ถูกต้อง ตรงกับความจริง ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้มีผู้สงสัยและติดตามข่าวคราวอย่างมาก ผมจึงขอประสัมพันธ์ให้ทราบพอสังเขปว่า ตั้งแต่ปี 2499 จนถึงปี 2527 มหาวิทยาลัยได้อยู่ในที่ดินของวัด โดยคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงศึกษาธิการโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ชำระเงินค่าบำรุงรักษาความสะอาดแก่วัดเป็นรายปี
ต่อมา ในปี 2527 วัดได้ฟ้องขับไล่มหาวิทยาลัย ขณะนั้น เป็นวิทยาลัยครู สังกัดกรมการฝึกหัดครู กระทรวงศึกษาธิการ ให้ออกไปจากที่ดินของวัด ศาลพิพากษาให้กระทรวงศึกษาธิการและกรมการฝึกหัดครูแพ้คดี โดยให้ชำระค่าเสียหายแก่วัด เดือนละ 33,000 บาท จนกว่าจะออกไปจากที่ดินของวัด กรมการฝึกหัดครูได้จัดสรรงบประมาณชำระค่าเสียหายให้แก่วัดตลอดมา
จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ได้ตกลงทำสัญญาเช่าที่ดินจากวัด โดยชำระค่าเช่าทั้งแปลง เดือนละ 33,000 บาท สัญญาเช่าคราวละ 3 ปีบ้าง 1 ปีบ้าง ตลอดระยะเวลาที่สัญญาเช่าฉบับเก่าสิ้นสุดลง การจัดทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ก็มีการปรับค่าเช่าขึ้นมาตามลำดับ กระทั่งสัญญาเช่า สัญญาที่ 02/2553 ที่อธิการบดี รองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร ได้ทำกับวัดมีระยะเวลาการเช่า 1 ปี คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2554 ค่าเช่าเดือนละ 261,360 บาท
หลังจาก สัญญาเช่าที่ 02/2553 สิ้นสุดสัญญาลง มหาวิทยาลัยโดย รองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร พยายามขอต่อรองกับวัด เพื่อขอกลับไปจ่ายค่าเช่าเดือนละ 33,000 บาท โดยอ้างคำพิพากษาของศาลเมื่อปี 2528 วัดไม่ตกลงด้วย มหาวิทยาลัยพยายามจ่ายเช็คค่าเช่าที่ค้างจ่ายให้วัด ในค่าเช่าเดือนละ 33,000 บาท วัดก็ส่งคืนเช็คทุกครั้ง ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยมีงบประมาณแผ่นดินของปีงบฯ 2555 (1 ก.ค. 54 – 30 ก.ย. 55) และงบประมาณแผ่นดินของปีงบฯ 2556 (1 ต.ค. 55 - 30 ก.ย. 56) ตามที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้พร้อมจ่ายเป็นค่าเช่าเดือนละ 261,360 บาทอยู่แล้ว
ในที่สุด วัดจึงฟ้องมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นจำเลยที่ 1 นายเปรื่อง กิจรัตน์ภร จำเลยที่ 2 ในข้อหาหรือฐานความผิด ผิดสัญญาเช่า, ขับไล่, ละเมิดเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2555 ก่อนที่ผมจะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีในเดือนมีนาคม 2556 ผมจึงต้องตกเป็นจำเลยในฐานะผู้แทนของมหาวิทยาลัยที่เป็นนิติบุคคล ก่อนที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาตามฟ้องศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลแพ่ง ได้ประชุมไกล่เกลี่ย ในที่สุด วัดและมหาวิทยาลัยสามารถตกลงกันได้ โดย วัดขอถอนฟ้องทั้งมหาวิทยาลัย และนายเปรื่อง กิจรัตน์ภร
ผลของการตกลงมหาวิทยาลัยต้องจ่ายค่าเช่าที่ค้างชำระทั้งหมด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2556 รวมเป็นเงินค่าเช่าทั้งหมด 4,775,760 บาท (สี่ล้านเจ็ดแสนเจ็ดหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยหกสิบบาท) ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินของปีงบฯ 2555 ที่กองคลังขอกันเหลื่อมปีไว้กับกรมบัญชีกลาง และงบประมาณปี 2556 ที่สำนักงบประมาณจัดสรรเป็นค่าเช่าที่มหาวิทยาลัยขอรับการจัดสรรเป็นค่าเช่าเดือนละ 261,360 บาท
นอกจาก ค่าเช่าที่ค้างชำระจำนวนกว่า 4 ล้านบาท ที่มหาวิทยาลัยต้องจ่ายตามข้อตกลงไกล่เกลี่ยของศาลแล้ว มหาวิทยาลัยยังต้องจ่ายค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนวัดอีกเป็นเงิน 520,000 บาท (ห้าแสนสองหมื่นบาท) เงินจำนวนนี้ไม่มีงบประมาณใด ๆ จัดตั้งไว้ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงได้จัดทอดผ้าป่าเพื่อบอกบุญไปยังผู้ศรัทธาทั้งหลาย รวบรวมปัจจัยไปถวายให้แก่วัด เพื่อนำไปจ่ายเป็นค่าฤชาธรรมเนียมศาล และค่าทนายความของวัด
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้มีหนังสือแจ้งมายังสภามหาวิทยาลัย ขอให้สภามหาวิทยาลัยดำเนินการตามสมควรกับอธิการบดีในการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดีที่จัดทำสัญญาเช่าที่ดินกับวัดพระศรีฯ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ และจัดทำสัญญาโดยมีราชพัสดุร่วมอยู่ด้วย สภามหาวิทยาลัยจึงได้แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งคณะกรรมการก็รายงานต่อสภามหาวิทยาลัยว่า เห็นพ้องกับข้อเท็จจริงตามหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภามหาวิทยาลัยจึงมีมติให้กำชับอธิการบดี มีความระมัดระวังให้มีความรอบคอบในการทำสัญญาเช่าครั้งต่อไปให้ถูกต้องตามระเบียบ และให้มหาวิทยาลัยทำหนังสือหารือไปยังกรมธนารักษ์ว่า ในการเช่าที่ดินวัดจะต้องดำเนินการตามระเบียบพัสดุเพียงใด เพราะการเปรียบเทียบอัตราค่าเช่าที่ดินในพื้นที่ใกล้เคียง จะทำให้มหาวิทยาลัยต้องจ่ายค่าเช่าในอัตราที่สูงมาก
กรณีการเช่าที่ดินวัดพระศรีมหาธาตุนี้ สภามหาวิทยาลัยเห็นว่าจะเป็นปัญหาที่ยืดยาวในอนาคต จึงมีมติว่า การร้องเรียนเรื่องที่ดินสมควรยุติ และเห็นชอบให้ตั้งกรรมการศึกษาความเป็นมาของการใช้ที่ดินวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน เมื่อได้แนวทางการแก้ปัญหาแล้วให้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยเพื่อพิจารณาดำเนินการ ต่อไป
1.2 ผู้ร้องคนเดียวกันกับข้อ 1.1 ร้องเรียนว่า การบริหารจัดการศูนย์อาหารเปลี่ยนแปลงจากการใช้บัตรเติมเงินมาเป็นระบบคูปองเป็นการขูดรีดหากำไร ทำให้อาหารมีราคาแพง นักศึกษาไม่สะดวก มหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีค่าพิมพ์คูปองรายวัน ต้องจ้างอาจารย์และพนักงานมาดูแลจัดการ
คณะกรรมการที่สภามหาวิทยาลัย แต่งตั้งได้เสนอผลการศึกษาข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า กรณีของการใช้คูปอง มีเฉพาะโรงอาหาร 3 เท่านั้น ส่วนโรงอาหารอีก 2 แห่งไม่ได้ใช้ระบบคูปอง การใช้ระบบคูปองนั้น มหาวิทยาลัยเรียกเก็บส่วนแบ่งจากคูปองร้อยละ 10 หรือร้อยละ 15 ตามประเภทของอาหาร การเปลี่ยนแปลงเป็นเหตุให้ราคาอาหารแพงขึ้นกว่าเดิม แต่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการควบคุมราคาอาหารแล้ว และผลดีของการใช้ระบบนี้คือ ไม่มีการทุจริต ส่วนปัญหาอื่น ๆ มหาวิทยาลัยก็แก้ไขให้ดีขึ้นแล้ว เช่น ความถูกต้องของการตรวจนับคูปองกับเงินสดให้ตรงกัน
คณะกรรมการเสนอความเห็นว่า มหาวิทยาลัยควรปรับปรุงรายการอาหารให้มีราคาเหมาะสม เพื่อเป็นสวัสดิการแก่นักศึกษาและบุคลากร และการใช้คูปองไม่พบว่ามีการทุจริต แต่ประการใด ส่วนกรณีที่การนับคูปองกับเงินสดไม่ตรงกัน อาจเกิดจากการนับผิดพลาด มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยตรวจสอบค่าใช้จ่ายให้รอบคอบ หากมีรายได้เหลือจึงลดราคาให้ผู้ประกอบการ หากเหมาะสมแล้วก็ไม่จำเป็นต้องลดส่วนแบ่งให้ผู้ประกอบการ แต่ควรจัดสรรสวัสดิการเพิ่มขึ้น เช่น บริการน้ำแข็ง น้ำดื่มแก่บุคลากรและนักศึกษาที่ใช้บริการในโรงอาหาร
1.3 ประเด็นที่ผู้ร้องเรียนร้องว่า อธิการบดีเอื้อประโยชน์ให้บุคคลภายนอกที่มาใช้สถานที่โดยลดค่าบำรุงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้นั้นไม่ถูกต้องด้วยระเบียบ คณะกรรมการมีความเห็นว่า เป็นอำนาจของอธิการบดีที่สามารถกระทำได้ ตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เรื่อง อัตราค่าบำรุงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ข้อร้องเรียนนี้ตกไป
1.4 ประเด็นการบริหารศูนย์วัฒนธรรมพระนคร เป็นหน่วยงานที่ระบบการเงินและบัญชีที่ไม่ต้องผ่านกองคลัง ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดการรั่วไหลทางการเงินได้ง่าย คณะกรรมการศึกษาข้อร้องเรียน ดำเนินการศึกษาแล้วสรุปว่า เพราะไม่มีการจัดการการเงินและบัญชีตามระเบียบฯ แล้วมิได้กำกับติดตามอย่างเคร่งครัด จึงทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินในสองโครงการ คือ โครงการขนมดอกปีบ และโครงการวิจัยกาซะลองสปา
คณะกรรมการมีความเห็นว่า การดำเนินการของศูนย์วัฒนธรรมพระนคร ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจนแน่นอน ทำให้เกิดการรั่วไหลของเงินที่พบใน 2 โครงการดังกล่าว ทราบว่า ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนหาผู้รับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
กรณีการบริหารศูนย์วัฒนธรรมพระนครที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลของเงินนั้น ผมขอชี้แจงเพิ่มเติม 2 ประเด็น คือ ประเด็นแรกที่ว่าการบริหารไม่มีรูปแบบที่แน่นอน และประเด็นที่สองที่เกี่ยวกับการรั่วไหลของเงิน ซึ่งผมขอประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นลำดับ ดังนี้
ประเด็นแรกที่ว่า การบริหารไม่มีรูปแบบที่แน่นอนนั้นคงไม่ใช่ ทั้งนี้เพราะศูนย์วัฒนธรรมพระนครมีระเบียบมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ว่าด้วยศูนย์วัฒนธรรมพระนคร พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระเบียบดังกล่าวได้จัดตั้งศูนย์ฯ และกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการไว้อย่างชัดเจนในข้อ 11 ว่า ให้มีคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ ซึ่งมีองค์ประกอบของคณะกรรมการชัดเจนว่า ประกอบด้วยบุคคลใดบ้าง ส่วนอำนาจหน้าที่ก็มีกำหนดไว้ในข้อ 13 ดังนั้น จะเห็นว่า การบริหารศูนย์มีรูปแบบที่แน่นอน แต่การปฏิบัติของคณะกรรมการเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามข้อ 13 เคร่งครัดครบถ้วนเพียงใดนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากได้ปฏิบัติเคร่งครัดครบถ้วนแล้วปัญหาการรั่วไหลของเงินคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ประเด็นที่สอง เรื่องการรั่วไหลของเงินของศูนย์ฯ นั้น ผมขอเรียนว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะเข้ารับตำแหน่ง แต่มาทราบผลการรั่วไหลเมื่อผมตรวจสอบ และเร่งรัดให้ปฏิบัติตามระเบียบ กล่าวคือ ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ฯ ในปี 2552 และมีการจ้างผู้อำนวยการศูนย์ฯ ตามสัญญาจ้างเป็นระยะเวลาการจ้าง 3 ปี ตลอดระยะเวลาที่รับจ้าง ผู้อำนวยการศูนย์มิได้จัดทำรายงานการเงินที่เป็นสากลเสนอคณะกรรมการบริหารฯ และสภามหาวิทยาลัยเลย พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่เคยปิดบัญชีในแต่ละรอบปีทางบัญชีเลย ทั้ง ๆ ที่ระเบียบกำหนดให้ต้องทำทุกปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมให้หน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่จัดทำบัญชีของศูนย์ฯ ปิดบัญชีในปีแรกที่ผมเข้ารับตำแหน่ง และให้ปิดบัญชีย้อนหลังให้ครบทุกปี จึงปรากฏผลว่า มีการรั่วไหลของเงินตลอดมา ซึ่งผมยังไม่สมควรที่จะชี้แจงในขณะนี้ เพราะเรื่องอยู่ในระหว่างดำเนินการของศาล อยู่ระหว่างการดำเนินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่มหาวิทยาลัยได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์กับผู้เกี่ยวข้อง แต่ที่ผมยืนยันได้คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นขณะผมรับหน้าที่ผู้บริหาร จึงไม่น่าจะมาร้องเรียนผมในกรณีนี้
ฉะนั้น คณะกรรมการจึงได้ไม่ชี้ว่า ผมบริหารศูนย์ฯ ผิดพลาดตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง พูดง่าย ๆ ก็คือ ร้องผิดตัว หรือการร้องเป็นเท็จก็เห็นจะได้
1.5 ผู้ร้องเรียนร้องว่า อธิการบดีไม่เอาใจใส่ในการบริหารพุทธวิชชาลัย การดำเนินการยุบเลิกต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพุทธวิชชาลัย และต้องผ่านสภามหาวิทยาลัยวินิจฉัย ทำให้นักศึกษาเกิดความสงสัย เกิดความแตกแยก
คณะกรรมการได้ศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว เห็นว่า ข้อร้องเรียนไม่มีมูลความจริงตามที่ร้องเรียน
1.6 ผู้ร้องเรียนร้องว่า หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากอธิการบดี รองอธิการบดี และอาจารย์ชาติเมธี หงษา ซึ่งเป็นประธานกรรมการ
ประจำหลักสูตร
คณะกรรมการศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว พบว่า มหาวิทยาลัยเอาใจใส่หลักสูตรนี้มาโดยตลอด
1.7 การติดตั้งป้ายบัณฑิตวิทยาลัย เหนือพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 และการให้หน่วยงานอื่น ๆ มาใช้อาคารเป็นการไม่เคารพ เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของผู้บริจาคที่ดินให้มหาวิทยาลัยเพื่อการศาสนา
คณะกรรมการได้ศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว ไม่พบหลักฐานว่า ที่ดินที่ตั้งอาคารพุทธวิชชาลัย เป็นที่ดินที่มหาวิทยาลัยได้รับบริจาคจากผู้ใด หากแต่มหาวิทยาลัยได้เช่าที่ดินจากวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร คณะกรรมการจึงสรุปความเห็นว่า ผู้ร้องเรียนไม่มีหลักฐานประกอบข้อร้องเรียน และเห็นว่า ข้อร้องเรียนไม่เป็นความจริง
เกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่ตั้งอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรม ผมขอขยายความให้เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า มหาวิทยาลัยได้ทำสัญญาเช่ากับวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ก่อนที่ผมมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี กล่าวคือ สัญญาเช่าได้ทำขึ้นตั้งแต่ปี 2552 แต่แบ่งการคิดค่าเช่าเป็นระยะ ๆ ละ 5 ปี ปรับค่าเช่าทุก ๆ 5 ปี รวม 6 ระยะ โดยเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2551 สิ้นสุดสัญญาเช่า วันที่ 31 สิงหาคม 2581
การชำระค่าเช่าให้ชำระเป็นรายเดือน ดังนี้
ระยะที่ 1 (5 ปีแรก) ค่าเช่าปีละ 4,816,000.00 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 401,326.00 บาท
ระยะที่ 2 (1 ก.ย. 56 - 31 ส.ค. 61) ค่าเช่าปีละ 6,501,600.00 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 541,800.00 บาท
ระยะที่ 3 (1 ก.ย. 61 - 31 ส.ค. 66) ค่าเช่าปีละ 8,777,160.00 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 731,430.00 บาท
ระยะที่ 4 (1 ก.ย. 66 - 31 ส.ค. 71) ค่าเช่าปีละ 11,849,200.00 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 987,437.00 บาท
ระยะที่ 5 (1 ก.ย. 71 - 31 ส.ค. 76) ค่าเช่าปีละ 15,996,400.00 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 1,333,035.00 บาท
ระยะที่ 6 (1 ก.ย.76 - 31 ส.ค. 81) ค่าเช่าปีละ 21,595,170.จ0 บาท ชำระรายเดือน ๆ ละ 1,799,597.50 บาท
รวมค่าเช่าทั้ง 30 ปี เป็นเงิน 347,677,750.00 บาท (สามร้อยสี่สิบเจ็ดล้านหกแสนเจ็ดหมื่นเจ็ดพันเจ็ดร้อยห้าสิบบาทถ้วน) รายละเอียดตามสัญญาที่ 1/2552 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ระหว่างวัดพระศรีมหาธาตุฯ โดย น.อ.ประสาน ประพันธ์รัตน์ กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร โดยรองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร
1.8 ประเด็นที่สมัยอดีตอธิการบดี (รองศาสตราจารย์เปรื่อง กิจรัตน์ภร) อาจารย์ชาติเมธี หงษา ร่วมกับ รองศาสตราจารย์พงศ์ หรดาล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีระศักดิ์ อาภาวัฒนาสกุล ซึ่งขณะนั้น เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจากคณาจารย์ประจำ ทั้งสามคนได้กระทำให้พระแตกแยก โดยทำบัตรสนเท่ห์ โจมตีพระสงฆ์ที่มาทำงานให้แก่ พุทธวิชชาลัย
คณะกรรมการได้ศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว ไม่พบว่าผู้ร้องเรียนไม่มีหลักฐานใดมาแสดงยืนยันข้อร้องเรียนประกอบกับผู้ถูกร้องเรียนทั้งสามท่านที่กรรมการเชิญมาพบเพื่อให้ถ้อยคำได้ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง คณะกรรมการจึงสรุปว่า ข้อร้องเรียนไม่เป็นความจริง
1.9 ประเด็นความไม่มีคุณภาพในการต่อเวลาราชการ โดยการนำความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินประเมินการต่อเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา และกลัวว่า ผู้ขอต่อเวลาราชการจะทำเหมือนตน คือ ต่อเวลาราชการได้แล้วจะสมัครเป็นอธิการบดีในอนาคต โดยขอร้องให้คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมต่อเวลาราชการให้ ซึ่งจะต้องลาออกจากการขอต่อเวลาราชการก่อน แล้วจึงสมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี
คณะกรรมการได้ทำการศึกษาข้อร้องเรียนแล้ว พบว่า การอนุมัติให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต่อเวลาราชการ นั้น เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัย อธิการบดีไม่มีอำนาจพิจารณาแต่ประการใด อีกทั้ง ไม่มีระเบียบใดกำหนดให้ผู้ที่ได้รับอนุมัติให้ต่อเวลาราชการต้องลาออกก่อนการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี และผู้ร้องได้เข้าให้ถ้อยคำและแจ้งว่าไม่ติดใจแล้ว และข้อร้องเรียนไม่เป็นความจริง
1.10 ประเด็นที่ร้องเรียนว่า รองอธิการบดีสั่งการไม่ให้อาจารย์ปรับปรุงหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาพุทธศาสนา
รองอธิการบดีที่เกี่ยวข้องให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการว่า ได้สั่งการให้ไม่ต้องปรับปรุงหลักสูตรนี้ พร้อมให้ปิดหลักสูตร เนื่องจาก ไม่มีนักศึกษาสมัครเข้าเรียนหลักสูตรดังกล่าว แต่ให้อาจารย์ไปสอนหลักสูตรใหม่ คือ หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
1.11 ประเด็นนี้ยกมาจากประเด็นที่ 4 ในบันทึกรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ ครั้งที่ 13/2558 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2558 สาระสำคัญของข้อร้องเรียนอาจสรุปได้ ดังนี้
(ก) การจัดทำห้องรับรองกาสะลองที่อาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพ “พระนครแกรนด์วิว” ไม่มีการจัดทำ TOR
(ข) การจัดซื้อจัดจ้างไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ กล่าวคือ เป็นการแบ่งการจัดซื้อจัดจ้าง
(ค) การจัดซื้อจัดจ้างมีการชำระด้วยเงินสด ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
(ง) การนิมนต์พระมาทำพิธีเปิดใช้ห้อง ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ปิดม่านไม่ให้คนภายนอกเห็น เป็นการปิดบังซ่อนเร้น
การศึกษาของคณะกรรมการ พบว่า มีการปรับปรุงจริง โดยมีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 10 รายการ แต่มีเพียง 2 รายการที่มีการดำเนินการสอบราคา และมีการกำหนด TOR ถูกต้อง ส่วนอีก 8 รายการ คณะกรรมการเห็นว่า การจัดซื้อจัดจ้างไม่ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจริงตาม (ข) กรณีนี้มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการ
ส่วนเรื่องการชำระราคาซื้อ-จ้างด้วยเงินสด ตาม (ค) นั้น อธิการบดีสามารถอนุมัติได้ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ว่าด้วยการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2548 ข้อ 34 วรรคแรก และกรณีนี้ไม่มีหลักฐานว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่พวกพ้องแต่ประการใด และการกระทำพิธีเปิดใช้ห้องตามที่ร้องใน (ง) ได้กระทำโดยเปิดเผย มีหลักฐานภาพถ่ายแสดงอย่างชัดแจ้ง
สรุป ผมได้แจ้งมาแต่ต้นแล้วว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ผมถูกร้องเรียนรวมทั้งหมด 15 ประเด็น คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากสภามหาวิทยาลัย ได้นำเสนอผลการศึกษาข้อร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งที่ 13/2558 เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม 2558 โดยมีมติ ดังนี้
1) เรื่องร้องเรียนเห็นสมควรยุติ และมอบให้ผู้บริหารไปดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการให้เรียบร้อย
2) มอบประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการไปแจ้งผู้ร้องเรียนทราบว่า
2.1) สภามหาวิทยาลัยเข้าใจเจตนาของผู้ร้องเรียนที่จะรักษาผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
2.2) ผู้ร้องเรียนในฐานะกรรมการสภาคณาจารย์และข้าราชการ ควรใช้วิธีเสนอแนะผ่านทางสภาคณาจารย์และข้าราชการ ซึ่งมีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของอธิการบดี ตามพระราชบัญญัติอยู่แล้ว ไม่ควรใช้วิธีร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งหากเป็นเรื่องไม่จริง ผู้ร้องเรียนต้องรับผิดชอบ
2.3) ให้แจ้งผู้ร้องเรียนทราบด้วยว่า เมื่อร้องเรียนว่าผู้อื่นทำผิดกฎระเบียบ ตนเองก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วย มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาต่อตนเองได้
3) ข้อสังเกตอื่น ๆ ที่สภามหาวิทยาลัย เสนอแนะต่อผมและผู้บริหาร ผมได้รับไปพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดมาก หากมีโอกาสจะได้ชี้แจงต่อที่ประชุมคณาจารย์ ต่อไป
2.มีประเด็นที่ผู้ร้องเรียนติดใจสงสัยอีก 4 ประเด็น สภามหาวิทยาลัยฯ จึงมอบหมายให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงอีกเป็นครั้งสุดท้าย ตามที่ผู้ร้องเรียนร้องขอ คือ
2.1 การบริหารพุทธวิชชาลัย
2.2 การจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงห้องรับรอง
2.3 การบริหารศูนย์วัฒนธรรมพระนคร
2.4 การจัดซื้อจัดจ้างทำความสะอาดอาคารฝึกประสบการณ์วิชาชีพพระนครแกรนด์วิว และอาคารเรียนรวมและศูนย์วัฒนธรรมพระนคร
ประเด็นทั้ง 4 ประเด็นนั้น ความจริงควรยุติได้แล้ว เพราะทุกประเด็นเท่าที่คณะกรรมการสรุปผลของการศึกษาข้อร้องเรียนก็ไม่พบเหตุผิดปกติ แต่อย่างใด แต่เพื่อให้สิ้นข้อสงสัยของผู้ร้องเรียน สภามหาวิทยาลัยจึงมอบหมายให้คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในด้านที่ผู้ร้องเรียนยังคงติดใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการพิจารณารับทราบจากสภามหาวิทยาลัยแล้ว ผมจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครได้ทราบ ต่อไป
อ่านประกอบ :
'อาจารย์-นศ.'มรภ.พระนครถือป้ายประท้วงไล่อธิการฯปมบริหารงานไม่โปร่งใส
ถ้าผิดจริงโดนไปแล้ว! อธิการบดี มรภ.พระนครแจงปมถูกร้องบริหารไม่โปร่งใส
เปิดผลสอบปมมรภ.พระนคร เช่าที่ดินวัดพระศรีฯ ฉบับ‘มีชัย' กำชับอธิการฯต่อไปทำให้ถูกต้อง
2ดร.'มรภ.พระนคร'รุกยื่นป.ป.ช.-สำนักราชเลขาฯสอบผู้บริหาร-อธิการฯ นัดแจงแล้ว
เปิดคะแนน‘ภาวะผู้นำ-ธรรมาภิบาล’ผู้บริหาร มรภ.พระนคร ยกชุด -‘อธิการฯ’2.94
อาจารย์ มรภ.พระนคร หอบข้อมูลยื่น 'ป๋าเปรม'ขอความเป็นธรรม-ร้องเรียนผู้บริหาร
ประเดิมแจ้ง ป.ป.ช.ฟันคดีที่ราชพัสดุ! สตง.รับสางปัญหาใต้พรม 'มรภ.พระนคร'
ถึงคิว!เผยโฉม'ชุดฝึกไมโครคอนโทรลเลอร์' ราคาปกติ 1 พัน มรภ.พระนคร จัดซื้อ6หมื่น?
เปิดครุภัณฑ์ 25 รายการ 10 ล.-ชุดสาธิตแอร์ตัวละ 8 แสน มรภ.พระนครจัดซื้อ ปมถูกร้องสอบ
มรภ.พระนครอีก!จัดซื้อแอร์สาธิตตัวละ 8 แสน ราคาตลาดหมื่นบ. - ปธ.สาขาฯยันจบแล้ว
เปิดผลสอบ สตง. ชี้ความผิด‘อธิการฯ’ มรภ.พระนคร ปมเช่าที่ดิน 162 ไร่วัดพระศรีฯ
หนังสือเลขาฯ กกอ.จัดการ‘อธิการ มรภ.พระนคร’ -วัดใจ‘มีชัย-ดาว์พงษ์’กู้‘ธรรมาภิบาล’?
ปะทุอีก! มรภ.พระนคร อธิการฯตั้ง กก.สอบ ปธ.สภาอาจารย์-เจ้าตัวโวยมุ่งเอาผิด
ย้อนขัดแย้งใน 'มรภ.พระนคร' จากปลด ผอ.-3 ศพ ดร.! สะท้อนล้มเหลว นักบริหาร?
เปิดสัญญาเช่าที่ดินวัดพระศรีฯ162 ไร่ ชนวนชงสตง.สอบ‘มรภ.พระนคร’
อาจารย์สาวยื่นสตง.สอบ5 ปมรวด อธิการฯ มรภ.พระนคร-เช่าที่ดินวัดพระศรีฯด้วย