ยาบ้าเล็กน้อย ของกลาง 1 - 2 เม็ด และสินบนนำจับ บอกอะไรกับสังคม ?
การให้สินบนนำจับ เป็นแรงจูงใจ (incentive) ให้คนทำงาน การยกเลิกเราก็กล้วว่า จะทำให้คนไม่ทำงาน ทั้งที่ข้าราชการต้องทำงานในหน้าที่หลักอยู่แล้ว ดังนั้นตัว KPI การให้สินบนนำจับ จำเป็นต้องมาหารือกันในวงกว้าง เนื่องจากมีผลประโยชน์มหาศาล
นอกเหนือจากการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อีกภารกิจหนึ่งของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) มีหน้าที่รับผิดชอบ คือ การจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลนำจับ แก่เจ้าพนักงาน ผู้สืบสวนจับกุมคดียาเสพติด ตลอดจนผู้ให้ข่าวสารในเรื่องการค้ายาเสพติด
"เงินสินบนและเงินรางวัล" เป็นมาตรการสำคัญ ใช้กันมานานหวังส่งเสริมการปราบปรามยาเสพติด โดยมี "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด พ.ศ. 2537" กำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ การจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลเอาไว้ และมีปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลคดียาเสพติดมาเป็นระยะๆ ล่าสุด ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและเงินรางวัลคดียาเสพติด (ฉบับที่ 5 )พ.ศ. 2558 เพิ่มเงินรางวัลนำจับคดียาเสพติด หากสั่งฟ้องผู้เสพส่งฟื้นฟูได้คดีละ 360 บาท
เงินสินบน คือ เงินที่จ่ายให้กับบุคคลที่มาแจ้งความนำจับในคดียาเสพติด
เงินรางวัล คือ เงินที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่ที่สืบสวนจับกุมคดียาเสพติด
ขณะที่อัตราการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลคดียาเสพติด ในเว็บไซต์ ปปส. ระบุ ในส่วนของ 'แอมเฟตามีนหรือเมทแอมเฟตามีน' ชนิดผง กรัมละ 100 บาท ชนิดเม็ด คดีไม่เกิน 10 เม็ด จ่าย 200 บาท คดี 11-500 เม็ด จ่ายไม่เกิน 5,000 บาท คดี 501 เม็ดขึ้นไป จ่าย 5,000 บาท ส่วนที่เกิน 500 เม็ด ปริมาณสารบริสุทธิตั้งแต่ 20% ขึ้นไป เม็ดละ 3 บาท แต่รวมแล้วไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทุกวันนี้ เราจะได้เห็นหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันสืบสวนจับกุมคดียาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก และมีความต่อเนื่อง มูลเหตุจูงใจ คือ เงินรางวัลนำจับและเงินสินบน
เงินสินบนและเงินรางวัลเป็นมาตรการสำคัญ ในการส่งเสริมการปราบปรามยาเสพติด แม้ใช้มาหลายปี แต่ถึงวันนี้ จำนวนผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ลดลงเลย
ย้อนหลังไป 2 ปี ปี 2557 จำนวนผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม อยู่ที่ 186,287 ราย และปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 171,924 ราย
เมื่อมาดูจำนวนสถิติการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลนำจับ ของ ปปส. ปีงบประมาณ 2558 พบว่า หน่วยงานที่ยื่นขอเงินสินบนเงินรางวัลคคียาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร เจ้าหน้าที่ปปส. มหาดไทย เจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง และเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ประปราย ที่ยื่นขอรับเงินสินบน
ขณะที่ของกลาง ยาเสพติดที่สำคัญๆ ก็หนีไม่พ้น "เมทแอมเฟตามีน และยาบ้า" พบในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป
แต่ที่น่าสังเกตุ มีการจับของกลางเป็นยาบ้าปริมาณเพียงไม่กี่เม็ดเต็มไปหมด
ยกตัวอย่าง ตำรวจนครบาลแห่งหนึ่ง จับยาบ้าเป็นของกลางล้อตใหญ่ 1 ล้านเม็ด ได้เงินสินบน 1,647,067 เงินรางวัล 578,098 รวม 2,225,165 บาท และจับเมทแอมเฟตามีน 35,089 กรัม ได้เงินสินบน 4,511,405 บาท เงินรางวัล 1,580,616 บาท รวม 6,092,021 บาท
มีอีกหลายแห่ง จับยาบ้าเป็นกลางจำนวนน้อยมาก ไม่ถึง 10 เม็ด
- จับของกลางเป็นยาบ้า เพียงแค่ 1 เม็ด ได้เงินรางวัล 200 บาท
- จับยาบ้า 2 เม็ด ได้ทั้งเงินสินบน 700 บาท และเงินรางวัล 570 รวม 1,270 บาท
- จับยาบ้า 4 เม็ด ได้เงินสินบน 1,200 บาท เงินรางวัล 1,070 บาท รวม 2,270 บาท
เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ปริมาณของกลาง มีที่ไม่ระบุเป็นจำนวนกรัม หรือเม็ดชัดเจนด้วย ระบุเพียง เมทแอมเฟตามีนเล็กน้อย ยาบ้าเล็กน้อย แต่รวมไว้หลายๆ คดี สามารถได้เงินสินบนเช่นกัน (อ่านประกอบ:สถิติการจ่ายเงินสินบนเงินรางวัลตามปีงบประมาณ 2558)
สินบนนำจับคดียาเสพติด ศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล กรรมการบริหาร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) อดีตคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ในเวที เสวนาวิชาการ หัวข้อ "โปรตุเกสโมเดล: กรณีศึกษาทิศทางใหม่นโยบายยาเสพติด" จัดขึ้น ณ ห้องศาลาแดง โรงแรมดุสิตธานี เมื่อเร็วๆนี้ โดยตั้งคำถาม นโยบายให้สินบนนำจับ ทำให้คดียาเสพติดมากขึ้นหรือไม่? เราตั้งคำถามตลอดเวลาว่า ยิ่งปราบทำไมยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนต้องเพิ่มขนาดเรือนจำ เพื่อรองรับผู้ต้องขัง
“การให้สินบนนำจับคดียาเสพติด บางทีควรเปลี่ยนตัวชี้วัด (KPI) ที่ดูจากปริมาณยาเสพติด หรือคดียาเสพติด เปลี่ยนไปวัดความสำเร็จจากการบำบัดผู้ติดยาเสพติดแทน มิเช่นนั้นแล้ว จะมีคดียัดยา ผลักไสไล่ส่งให้เป็นผู้กระทำความผิดติดคุกติดตาราง”
ศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การให้สินบนนำจับ เป็นแรงจูงใจ (incentive) ให้คนทำงาน การยกเลิกเราก็กล้วว่า จะทำให้คนไม่ทำงาน ทั้งที่ข้าราชการต้องทำงานในหน้าที่หลักอยู่แล้ว ดังนั้นตัว KPI การให้สินบนนำจับ จำเป็นต้องมาหารือกันในวงกว้าง เนื่องจากมีผลประโยชน์มหาศาล
ขณะที่ นายนวรัตน์ กลิ่นรัตน์ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา มองผลของการให้คำนิยาม ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ในกฎหมายยาเสพติดบ้านเรา ช่วยผลักดันให้ผู้คนที่เป็นผู้เสพกลายเป็นอาชญากรร้ายแรง ดังนั้น ในคุกจึงเต็มไปด้วยคนที่มียาเสพติดเพียงไม่กี่เม็ด และส่วนใหญ่มีไว้ในครอบครอง หรือจำหน่ายจำนวนไม่มาก
“เหตุนี้เองคดีในศาลกว่า 60-70% กลายเป็นคดียาเสพติด และกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยสำรวจผู้ต้องขังกว่า 1 หมื่นคน พบผู้ต้องขัง 7 พันกว่ารายมีเมทแอมเฟตามีนไม่เกิน 23 เม็ด มีไม่เกิน 5 เม็ด จำนวน 748 ราย และมีเพียง 2 เม็ด 116 คน”
สุดท้ายการหาทางออกแก้ปัญหายาเสพติดโดยไม่ทำลายทรัพยากรมนุษย์นั้น นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ มองว่า เริ่มแรกต้องทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ที่สนุกกับการจับคนใช้ยาเสพติดก่อน การสงสัยใครติดยาบ้าก็เรียกตรวจ รับสารภาพจับนั้น เป็นรายเล็กรายน้อย ขณะที่รายใหญ่ๆทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะรายใหญ่จริงไม่แตะยา ไม่รับเงิน สาวอย่างไรก็ไม่ถึง
"ดังนั้น สังคมไทยต้องทำสงครามยาเสพติดกับผู้ผลิตตัวจริง หรือตัวใหญ่จริงๆ ก่อน อย่ามาทำลายทรัพยากรมนุษย์ไปเรื่อยๆ เรากำลัง ผลักคนติดยาเสพติด 2 ล้านคนให้ไม่มีอนาคต เราผลักให้เขาเป็นอาชญากรทุกวัน วันนี้จึงต้องปรับแก้นโยบายเป็นลำดับแรกก่อน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
TIJ ชูโปรตุเกสโมเดลแก้ยาเสพติดชะงัด ไม่เอาโทษทางอาญามาใช้กับผู้เสพ
เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ