เมื่อสังคมไทยสุดโต่ง 2 ข้าง กับแนวคิดแก้ปัญหา 'ยาเสพติด'
"การให้ความหมายของสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาอย่างเช่น คนล้นคุก ซึ่งหากเราดึงหรือแยกผู้ต้องหาคดียาเสพติดส่วนหนึ่งให้เป็นคนไข้ คนป่วย ปัญหาสังคมไทยจะน้อยกว่านี้"
เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี คณะทำงานตรวจรับยาเสพติดให้โทษของกลาง ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีการนำยาเสพติดให้โทษของกลางที่คลังยาเสพติดไปเผาทำลาย ณ ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมนิคม อุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
ปีนี้ก็เช่นกัน นับเป็นครั้งที่ 46 แล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำยาเสพติดไปเผาทำลาย น้ำหนักรวมกว่า 5,136 กิโลกรัม รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 10,961 ล้านบาท จากคดีทั้งสิ้น 231,100 คดี โดยประเภทของกลางยาเสพติดที่มากสุด ได้แก่
- เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า น้ำหนักกว่า 4,240 กิโลกรัม (ประมาณ 47 ล้านเม็ด) มูลค่าประมาณ 9,423 ล้านบาท
- ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 422 กิโลกรัม มูลค่า ประมาณ 1,056 ล้าน บาท
- เฮโรอีน น้ำหนักกว่า 411 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 441 ล้านบาท
- โคคาอีน น้ำหนักกว่า 9 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท
- เอ็กซ์ตาซี่ หรือ ยาอี น้ำหนักกว่า 3 กิโลกรัม (ประมาณ 15,457 เม็ด) มูลค่าประมาณ 12 ล้านบาท
- ฝิ่น น้ำหนักกว่า 38 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 4 แสนบาท
- และอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีกัญชาของกลางที่กองบัญชาการตำรวจ ปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวนกว่า 4,088 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 32 ล้านบาท
ประเทศไทยปัญหาแพร่ระบาดของแมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งตามบัญชีของสหประชาชาติจัดเป็นวัตถุออกฤทธ์ต่อจิตและประสานบัญชีที่ II ไม่ได้จัดเป็นยาเสพติด แต่บ้านเราเมื่อประสบปัญหาสารชนิดนี้ จึงได้ยกระดับขึ้นจากเดิมที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 2515 เป็นยาเสพติดประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 135 ปี 2539 ยุคนายเสนาะ เทียนทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีบทลงโทษทางอาญาสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต
ความร้ายแรงของยาเสพติด การเปลี่ยนชื่อ ประกาศสงครามกับยาเสพติด กำหนดความผิดคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นอาชญากรรมร้ายแรง การเพิ่มงบประมาณปราบปรามผู้กระทำ เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ การให้สินบนนำจับ ฯลฯ สารพัดวิธี จากวันนั้นถึงวันนี้ เกือบ 20 ปี เราก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติดได้
สถิติการจับกุมของกลางคดียาเสพติดในกลุ่มเมทแอมเฟตามีน มีจำนวนสูงขึ้น และปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง กลายเป็นที่มา ผู้ต้องขังล้นคุก
สาเหตุส่วนใหญ่หนีไม่พ้นมาจาก...คดียาเสพติด
ผศ.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำงานวิจัยเรื่อง "การประกอบสร้างทางสังคมของการระบาดของเมทแอมเฟตามีน : บทเรียนจากการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศไทย” ในปี 2555 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ในงานเสวนาวิชาการสาธารณะด้านสังคมวิทยาเรื่อง "Rest In Peace 2: ทรรศนะใหม่ว่าด้วยการเจ็บป่วย ความทุกข์ และความตายในสังคมไทย" ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ นี้
ผศ.นพ.บวรศม กล่าวถึงประเด็นปัญหายาเสพติดในเมืองไทย โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดจากการประกอบสร้างทางสังคม (social construction) ดังนั้นการประกอบสร้างทางสังคมในลักษณะที่แตกต่างกันย่อมนำไปสู่ผลทางสังคมที่แตกต่างกันออกไป
แนวทางที่มีลักษณะเฉพาะของประเทศไทย คือ การเปลี่ยนชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของเมทแอมเฟตามีน ในภาษาไทยจาก “ยาม้าหรือยาขยัน” เป็น “ยาบ้า” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการควบคุมทางสังคมของรัฐบาลที่มุ่งหวังให้สาธารณะรับรู้ถึงผลข้างเคียงที่ร้ายแรงของการเสพยาดังกล่าว
อย่างไรก็ตามชื่อที่บ่งบอกถึงความเร็วร้ายเช่นยาบ้านี้ ผศ.นพ.บวรศม ชี้ว่า อาจมีนัยที่ทำให้เกิดการทอดทิ้งผู้เสพจากการบำบัดรักษาในสถานพยาบาล อาจทำให้การรับรู้ในสังคมเพี้ยนไปจนถึงจุดที่คนส่วนใหญ่ยอมรับการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
"การแก้ไขปัญหาการระบาดของเมทแอมเฟตามีนในประเทศไทย ไม่ควรพิจารณาด้วยโลกทัศน์ทางการแพทย์แต่เพียงอย่างเดียว หรือแยกปัญหาออกจากปัจจัยเฉพาะอื่นๆในบริบทของปัญหาการระบาดของเมทแอมเฟตามีนในประเทศไทย เช่น ปัญหาด้านอาชญากรรม ปัญหาการฟอกเงิน ปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งผลิต เป็นต้น ในทางกลับกัน หากเราเข้าใจถึงข้อจำกัดของโลกทัศน์ทางการแพทย์แล้ว กระบวนการทำให้ปัญหาการเสพติดเมทแอมเฟตามีนกลายเป็นประเด็นทางการแพทย์ ก็อาจมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมที่สลับซับซ้อนนี้ได้"
ฉะนั้น เรื่องปัญหายาเสพติดในบ้านเราที่มองยาบ้า เป็นประเด็นทางอาชญากรรม เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ ยังมีประเด็นทางการแพทย์ด้วยนั้น การให้ความหมายของสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียวไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาอย่างเช่น คนล้นคุก ซึ่งหากเราดึงหรือแยกผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้เป็นคนไข้ คนป่วย ปัญหาสังคมไทยจะน้อยกว่านี้
เขาเห็นว่า การมองเรื่องยาบ้าเป็นเรื่องอาชญากรรมก็อาจยังคงมีความจำเป็น เพราะจะกำหนดให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ป่วยก็คงไม่ได้ คนที่ทำให้สังคมขาดความมั่นคง ขาดความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ก็คงต้องใช้กระบวนการยุติธรรมต่อไป รวมถึงจะให้มีการผลิตยาบ้าออกมาขายกันอย่างเสรีก็คงไม่เหมาะสม
"แน่นอนว่า ผู้กำหนดนโยบายควรจะพัฒนานโยบายให้มีการแยกแยะผู้ป่วยออกจากผู้ผลิตและผู้ขายอย่างเหมาะสมมากกว่าที่เป็นอยู่”
ผศ.นพ.บวรศม เห็นว่า ในอดีตแนวคิดคนขายคืออาชญากร คนเสพยาเสพติด คือผู้ป่วย คอนเซ็ปนี้วันนี้หายไป บวกกับกฎหมายที่ไม่เอื้อ กำหนดโทษหนัก แค่ครอบครองเกินนิดเดียวก็กลายเป็นผู้ค้า ผู้จำหน่าย ไม่ถือว่า เป็นคนป่วย
ส่วนแนวคิดพลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่องแก้ปัญหายาเสพติด ตั้งคำถามสังคมไทยจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดอย่างไรให้สังคมปลอดภัยนั้น ก็เป็นการดึงกลับ แต่กระแสสังคมไทย ขณะนี้ยังไม่ใช่ และตามไม่ทัน
"สังคมไทยมีสุดโต่ง 2 ข้าง คนที่อยู่ตรงกลางจะถูกด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งไม่แปลก คนที่เข้าใจปัญหายาเสพติดจริงๆจะถูกด่าจากทั้ง 2 ฝ่าย การที่สังคมยังเบลอเรื่องนี้ การสื่อสารผิดก็จะถูกรุมแบบนี้ "
ผศ.นพ.บวรศม กล่าวทิ้งท้ายถึงปัญหาคนล้นคุก ที่บ้านเรากำลังเผชิญอยู่ ว่า คนจำนวนหนึ่งไม่จำเป็นต้อง เข้าไปเจอเครือข่ายในคุกแล้วออกมาขายต่อ ขณะที่กฎหมายปัจจุบันทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้ยาทางจิตเวชส่วนหนึ่งได้ เนื่องจากเป็นสารตั้งต้นของยาเหล่านั้นเป็นสารเดียวกันกับสารตั้งต้นของยาบ้า ทำให้เราเสียโอกาสใช้ยาบางตัวในการรักษาโรคซึมเศร้า หรือโรคสมาธิสั้น
และนี่คือ ผลพวงของการแก้ปัญหาหนึ่ง และสร้างอีกปัญหาหนึ่งตามมา..
อ่านประกอบ:การประกอบสร้างทางสังคมของการระบาดของเมทแอมเฟตามีน
ที่มาภาพ:https://borwornsom.wordpress.com/about/
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ถึงเวลาเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีน จากบัญชียาเสพติด หรือยัง ?
ค้นทางออกของปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก "ผู้ต้องขังล้นคุก"
เข้าคิวรอ...พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 ขัดหลักนิติธรรม ?
ยาไอซ์-ยาบ้าระบาด! ‘พล.อ.ไพบูลย์’ ชี้ศูนย์ฟื้นฟูล้มเหลว ลั่นควรถูกยุบ