กสทช.เสนอคิดส่วนเกินโปรโมชั่นต้องไม่เกินเพดาน -ค่าบริการตามจริงรายวินาที
อัตราค่าโทรไม่ลดลงจริง! สำนักงาน กสทช.เสนอ กทค. 3 เเนวทาง กำกับดูเเลคิดค่าโทร 3G เเละ 4G เชื่อเป็นประโยชน์ผู้ใช้บริการ ส่วนเกินโปรโมชั่นต้องไม่เกินเพดาน 82 สต.หรือ 69 สต.และให้คิดค่าบริการตามจริงรายวินาที
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 13/2559 วันที่ 22 มิถุนายน 2559 จะมีวาระต้องพิจารณาเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 หรือ 3G MHz, 1800 MHz และ 900 Mhz หรือ 4G
โดยวาระดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในสังคมว่า ทั้งที่มีเงื่อนไขกำกับราคาค่าบริการให้ลดลง แต่จากการใช้งานของผู้ใช้บริการจำนวนมากกลับพบว่า อัตราค่าบริการไม่ได้ลดลงจริงตามเงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้
โดยในส่วนของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตจากการประมูลคลื่น 2100 MHz กำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตรา ค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 นับจากวันที่ได้รับใบอนุญาต
ส่วนกรณีคลื่น 1800MHz และ 900 MHz ระบุว่า ผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ 2100 MHz รวมทั้งต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง
(อ่านประกอบ:กสทช.ประกาศชัด! ห้ามคิดค่าโทร 3G เกินนาทีละ 82 สตางค์ -4G เกิน 69 สตางค์)
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2559 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 กทค. จึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางการตรวจสอบการกำหนดอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต
โดยในจัดทำวาระนี้ขึ้นมาเสนอ กทค. เพื่อพิจารณา สำนักงาน กสทช. ได้นำเสนอแนวทางการกำกับดูแลไว้ 3 แนวทาง ดังนี้
1) ปรับเปลี่ยนการกำกับดูแลอัตราค่าบริการจากเดิมที่ตรวจสอบค่าบริการเฉลี่ยรวมทั้งตลาดต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด มาเป็นการตรวจสอบค่าบริการเป็นรายโปรโมชั่น นั่นคือทุกโปรโมชั่นต้องไม่เกินอัตราที่กำหนด ซึ่งรวมไปถึงค่าบริการส่วนเกินจากโปรโมชั่น และค่าบริการประเภท on-top ด้วย
2) ผู้ให้บริการต้องระบุคลื่นความถี่ที่ให้บริการควบคู่กับอัตราค่าบริการให้สำนักงาน กสทช. สามารถตรวจสอบได้ รวมทั้งแจ้งผู้ใช้บริการ เหมือนกับกรณีที่ธนาคารระบุอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้ลูกค้าธนาคารรับรู้
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีข้อมูลที่ชัดเจนในการตัดสินใจเลือกใช้บริการ หากผู้ให้บริการไม่ระบุ สำนักงาน กสทช. ก็จะนำอัตราค่าบริการที่ใช้กำกับดูแลการให้บริการบนคลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz มาใช้ในการตรวจสอบค่าบริการ
3) ส่วนแนวทางการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาที โดยไม่มีการปัดเศษนั้น กำหนดให้คิดตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีทั้งการให้บริการบนคลื่น 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
พร้อมกับมีข้อน่าสังเกตว่า ในประเด็นการกำกับดูแลเรื่องการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงนี้ มิได้กำหนดเงื่อนไขรวมไปถึงการใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย ทั้งที่ทราบกันดีกว่าทิศทางการใช้บริการมีแนวโน้มการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งผู้ให้บริการก็มีวัตถุประสงค์นำคลื่นความถี่ย่านต่างๆ เหล่านี้ไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ดังนั้นเพื่อความรัดกุม ก็ควรมีการกำหนดเงื่อนไขกำกับเพิ่มเติมในส่วนนี้ด้วย
อย่างไรก็ดี แนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช.นำเสนอในวาระนี้ น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สามารถแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดในการตรวจสอบอัตราค่าบริการแบบเดิม รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ .
อ่านประกอบ:เปิดความเห็นอนุฯ ให้ กสทช.สั่ง บ.มือถือเช็คย้อนหลัง คิดค่าโทรเกินจริง ฝ่าฝืนส่อละเว้นหน้าที่
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ค่ายมือถือรีเช็คคิดค่าโทรเกินจริง ไม่เฉพาะผู้ร้อง ให้ชดใช้คืนทุกราย
AIS ยอมคืนเงิน ผอ.อิศรา คิดค่าโทรเกินเพดาน ร้อง กสทช.ตรวจสอบทั้งระบบ
‘ผอ.อิศรา’ ส่งหนังสือ ‘ฐากร’ ปมค่ายมือถือคิดค่าโทรเกินประกาศ กสทช.-ให้ชดใช้คืนผู้บริโภค
ไม่ใช่คนเดียวที่โดน!'ผอ.อิศรา'ยื่นกสทช.สอบปมคิดค่าโทรเกินทุกค่ายมือถือ
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ไทยพีบีเอส