บ.อัคราฯ ชี้ 'ฟ้องรัฐ' ทางเลือกสุดท้าย ปมถูกปิดเหมืองทอง พิจิตร
บ.อัคราฯ ขอความเป็นธรรม หลัง ครม.ตอกฝาโลงเหมืองทองชาตรี จ.พิจิตร ยันดำเนินการตามกฎหมาย เรียกร้องรัฐเร่งค้นหาข้อเท็จจริงสาเหตุขัดเเย้งในพื้นที่ บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือ เผย 'ฟ้องร้อง' เป็นทางเลือกสุดท้าย ส่วนร้องเรียนผ่านอนุญาโตตุลาการ รอหนังสือสั่งการทางการ ปรึกษาทนายความ
กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที 10 พฤษภาคม 2559 ให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศ โดยในส่วนของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมจนถึงสิ้นปี 2559 หลังจากนั้นให้บริษัทฯ ปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ทันทีตามแผนดำเนินการที่กำหนดไว้
(อ่านประกอบ:ครม.สั่งปิดเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร อนุญาตให้ บ.อัคราฯ ขนเเร่ถึงสิ้นปี 59)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 พฤษภาคม 2559 บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จัดแถลงข่าว “เปิดใจเหมืองทองอัครา หลังถูกยุติการอนุญาตสัมปทานเหมืองแร่ มีผลสิ้นปี 2559” โดยมีนายสิโรจ ประเสริฐผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก ร่วมให้ข้อมูล
นายเชิดศักดิ์ ระบุว่า บริษัทฯ ประหลาดใจและผิดหวังต่อมติ ครม. ให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมไปจนถึงสิ้นปี 2559 จากนั้นต้องปิดเหมืองทันที แม้จะเข้าใจเหตุผลในการตัดสินใจครั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่กังวลว่า มติที่ออกมานั้นเป็นมติที่มีความชัดเจนหรือไม่ว่ายังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้เกิดอะไรขึ้น จึงขอวิงวอนให้ภาครัฐเห็นใจผู้ประกอบการที่ดำเนินงานตามกฎหมาย และใส่ใจชุมชนบริเวณรอบเหมืองมาโดยตลอด
ทั้งนี้ มีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐให้เร่งดำเนินการหาข้อเท็จจริงของสาเหตุความขัดแย้งด้านผลกระทบที่มีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำชาตรี ตามหลักของวิทยาศาสตร์และธรณีวิทยา เพื่อให้เกิดความกระจ่างและสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะชาวบ้านตัวจริงที่อาศัยบริเวณรอบเหมืองแร่ทองคำและบริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือในทุกด้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้ความจริงปรากฎชัด ซึ่งนำไปสู่มาตรฐานที่เป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยต่อไป
ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูล รายละเอียดแผนการดำเนินงานต่อจากนี้ได้ และยังไม่มีนโยบายแนวทางในการใช้มาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากต้องการดูข้อสั่งการอย่างละเอียด เพราะถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
ส่วนมาตรการฟื้นฟูพื้นที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการฟื้นฟูควบคู่ไปกับการประกอบกิจการอยู่แล้ว ตามแผนการดำเนินงานภายใต้มาตรการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อย่างเคร่งครัด หากเหมืองแร่ทองคำต้องปิดดำเนินการลงในระยะเวลา 7 เดือนข้างหน้า บริษัทจะต้องดำเนินการปรับแผนการทำงานใหม่
เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องภาครัฐหรือไม่ นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยกันมาเป็นอย่างดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การพูดถึงการฟ้องร้องเป็นเรื่องที่ไกลมาก ยังไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคาดหวังให้รัฐมีหนังสือข้อสั่งการที่ชัดเจนเพื่อปฏิบัติได้ มีช่องทางบางประเด็น ฉะนั้น การฟ้องร้องจึงเป็นเรื่องที่คิดหลังสุด
สำหรับการดูแลช่วยเหลือพนักงานของบริษัทฯ นั้น ได้รับการดูแลด้านการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราไม่กังวล แต่ที่กังวลคือการร้องขอความเป็นธรรมให้รัฐเข้าใจข้อเท็จจริงในการดำเนินการมากกว่า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรียกร้องมาตลอด ฉะนั้นจึงอยากให้เร่งสรุปผลการตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น หากพบบริษัทฯ เป็นผู้ผิด จะยอมทุกประตู ไม่เป็นปัญหา แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์มั่นใจทำงานเต็มความสามารถ มีมาตรฐานสูงระดับโลก
“บริษัทฯ มีพื้นที่ประทานบัตร 14 แปลง จากการตรวจสอบพบโลหะทองคำ 80 ตัน ปัจจุบันนำขึ้นมาแล้ว 50 ตัน ยังคงเหลือ 30 ตัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะนำขึ้นมาได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี 2559” ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก ระบุ
ด้านนายสิโรจ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำเป็นธุรกิจที่ลงทุนมาก โดยบริษัทฯ ลงทุนไป 1.4 หมื่นล้านบาท ตามแผนการลงทุนระยะยาว ซึ่งประทานบัตรจะหมดอายุปี 2571 ยืนยันดำเนินการถูกต้อง ฉะนั้นการที่ ครม.มีมติดังกล่าว จึงเป็นเรื่องไม่คาดคิด ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถปรับแผนดำเนินงานได้ทันภายใน 7 เดือน และไม่เห็นด้วยที่ถูกลงโทษลักษณะนี้ ก่อนที่จะทำอะไรผิด มองเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ บริษัทฯ จะดูแลพนักงานและชุมชนตามปกติ เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งที่เป็นทางการใด ๆ
ส่วนบริษัทฯ จะฟ้องไทยด้วยกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนผ่านอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศหรือไม่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ระบุว่า จะต้องปรึกษากับทีมทนายความก่อนว่ามีช่องทางไหนได้บ้าง เเต่เราเริ่มจากจุดที่ว่า ทำทุกอย่างถูกต้อง ฉะนั้นคำสั่งที่ออกมาไม่เป็นธรรมเเละไม่มีเหตุผล เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรผิด อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีเเผนระยะยาว อยู่ดี ๆ ให้หยุด จึงต้องรอศึกษารายละเอียดในหนังสือข้อสั่งการอย่างเป็นทางการก่อน เพื่ออุทธรณ์กับราชการหรือดำเนินการไปตามกฎหมายทั้งในเเละต่างประเทศต่อไป
“การตัดสินใจของ ครม.ครั้งนี้ จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากค่าภาคหลวง 400 ล้านบาท/ปี มั่นใจว่าไม่น่าจะมีธุรกิจใดใน จ.พิจิตร จ่ายค่าภาคหลวงจำนวนมากเท่านี้ และบริษัทฯ ยังเสียภาษีให้แก่รัฐประมาณ 100 ล้านบาท/ปี” นายสิโรจ กล่าว .
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ระบุไม่กังวลหากบริษัทฯ จะฟ้องร้องกลับ หากคิดว่าได้รับความเสียหาย สามารถขอใช้สิทธิทางศาลได้ เหมือนอย่างที่รัฐโดนมาหลายเรื่อง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เเละเมื่อผลการตัดสินศาลสั่งให้ต้องเปิดดำเนินการต่อ รัฐบาลจะเปิดให้ .
อ่านประกอบ:
"เราไม่ได้เตรียมรับผลที่จะออกมาแบบนี้" เปิดใจผู้บริหารเหมืองทองชาตรี
กพร.ยันยังไม่พิจารณาต่อ-ไม่ต่ออายุโรงประกอบโลหกรรม เหมืองทองอัครา
ภรรยายื่น ก.อุตฯ ผลชันสูตร ‘ลุงสมคิด’ อดีต พนง.เหมืองชาตรี พบปอดอักเสบคร่าชีวิต
4 กระทรวง ลงพื้นที่เหมืองทอง พิจิตร อีก 2 สัปดาห์ สรุปต่ออายุ บ.อัคราฯ
BOI ยันไม่มีการส่งเสริมกิจการเหมืองทองในไทยตั้งแต่ปี 58
โวยปิดเหมืองทอง พิจิตร-เพชรบูรณ์ ศก.สูญ 4 พันล.-ภาคปชช.เคลื่อนไหวกดดันต่อเนื่อง
ศ.ระพี สาคริก นำทีมแถลง จี้รัฐหยุดต่อใบอนุญาตเหมืองทองทั่วประเทศ